เลือกตั้งและการเมือง

นายกฯ คุย กกร. เสนอแก้เศรษฐกิจ ชงไม่ให้ยึดรถกระบะ หวั่นกระทบอาชีพ

โดย passamon_a

29 ต.ค. 2567

189 views

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.67 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ในฐานะประธาน กกร. และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และ นายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงาน กกร.


โดยก่อนเริ่มหารือ นายสนั่นได้มอบสมุดปกขาว ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ จัดทำโดย กกร. ให้กับนายกรัฐมนตรี


ขณะที่ นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ดีใจที่ได้เจอที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง เพราะได้เจอครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยก่อนแถลงนโยบายรัฐบาล ก็อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งครั้งที่แล้วก็ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี และแน่นอนว่าผลกระทบนี้ส่งผลถึงประชาชนมีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้พูดคุยร่วมมือกัน เราไม่สามารถจะพูดได้แค่เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวที่เป็นปัญหา แต่ต้องมีการหารายได้ใหม่เข้าสู่ประเทศ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้


และสิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้ก็มีเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ และมีความร่วมมือกับเอกชนจำนวนมาก เพราะมองว่าเอกชนคือภาคสำคัญที่จะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มและสนับสนุนประชาชนด้วย จึงอยากจะให้รัฐกับเอกชนทำงานร่วมกันเยอะขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจและโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก วันนี้รัฐบาลพร้อมที่จะซัพพอร์ตรับฟังจากภาคเอกชน เพื่อให้สามารถปรับให้เข้านโยบายของรัฐบาลต่อไป


ด้าน นายสนั่น กล่าวว่า เชื่อมั่นรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯแพทองธาร ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลากหลายมิติ กกร.จึงได้ระดมความคิดเห็นจากภาคธุรกิจในสาขาต่าง ๆ จัดทำเป็นสมุดปกขาว เสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs การบริหารจัดการน้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


เช่น ระยะเร่งด่วน เสนอมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งการควบคุมราคาสินค้าพื้นฐาน และบริการที่จำเป็น ตรึงราคาค่าไฟ น้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการ และลดภาระประชาชน รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเอกชนขอให้เป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการไตรภาคี


ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรแยกวิธีให้เหมาะสม และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเป้ากระตุ้นไปยังกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นสิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว ขณะที่ประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อสามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสอง เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณมาก สำหรับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงสามารถออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการทางภาษี ที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณเลย


ต่อมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธาน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรี


โดย นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้เป็นการหารือเบื้องต้นจากที่เคยคุยกัน เพื่อดูว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องทำ เช่น การเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และ เอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลธนาคารแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย จะเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่กู้ซื้อรถกระบะ ที่มียอดซื้อจำนวนมาก แสดงว่ามีคนต้องการนำไปประกอบอาชีพ รวมถึงการค้าขายกับประเทศจีน ซึ่ง นายสนั่น ได้ให้คำแนะนำหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแก้กฎหมายการทำธุรกิจระหว่างไทยกับจีน ซึ่งจีนเข้าใจสถานการณ์และยินดีให้ไทยแก้กฎหมาย แปลว่าจีนไว้ใจประเทศไทยมาก เพราะเป็นการออกมาประกอบธุรกิจนอกประเทศของบริษัทรายใหญ่จำนวนมาก ซึ่งอาจจะเตรียมตัวไม่ทันและยินดีปรับตัวให้เข้ากับประเทศไทย


ด้าน นายสนั่น กล่าวว่า สภาหอการค้าไทย มีกลไกที่จะประสานงานกับหอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และยังมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มาลงทุนในประเทศไทยกว่า 300 บริษัท ซึ่งเป็นวิสาหกิจ ก็ได้ตั้งกลไกและพูดคุยกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่จีนให้ความสำคัญในการลงทุน ดังนั้นถ้าไทยออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลสินค้าให้มีคุณภาพ รวมถึงอีคอมเมอรส์ ที่ไม่ผ่านระบบธนาคาร ทางรัฐบาลจีนพร้อมที่จะให้การสนับสนุน จะได้เก็บรายได้และเก็บภาษี ซึ่งจากนี้จะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ตามมา เช่น รถไฟฟ้า ซึ่งไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วน และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนราคาสินค้าที่ผิดกฎหมาย ก็อยากจะให้ไทยปราบปรามเต็มที่ ซึ่งจีนจะให้ความร่วมมือ เพราะฉะนั้นเขามาด้วยความสุจริตใจ เราก็คิดว่าปัญหาต่าง ๆ คงจะสามารถแก้ไขได้


ขณะที่ นายเกรียงไกร เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมได้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขกฎหมายและเพิ่มขีดความสามารถให้กับ SMEs เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง อ่อนแอ และได้รับผลกระทบหนักมาก ทาง SMEs จึงต้องการที่จะเข้าถึงแหล่งเงินมากยิ่งขึ้น ผ่านการแก้ไขกฎหมายและกติกาต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนแฝง ทางสภาอุตสาหกรรมจึงได้ผลักดัน 4 เป้าหมาย ซึ่งเป็นมาตรการเปลี่ยนผ่าน SMEs ให้เป็น Smart SMEs ที่สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่


ประกอบด้วย 1. Go digital -Ai 2. Go innovation 3. Go global และ 4. Go Green ขณะเดียวกัน ก็ได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำด้วย เพราะเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม แต่ไทยถือเป็นประเทศที่มีน้ำมากและน้ำแล้งสลับกัน ฉะนั้นเราต้องนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นจุดแข็งของประเทศให้ได้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพราะปัจจุบันภาคการเกษตร โดยเฉพาะด้านอาหารกลายเป็นดาวรุ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องการ


นอกจากนี้ นายผยง ยังกล่าวเสริมว่า ตามที่ได้รับข้อห่วงใยมาจากนายกรัฐมนตรี และนายพิชัย ทางสมาคมธนาคารไทยจึงได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ และเครดิตบูโรทันที โดยได้วิเคราะห์กลุ่มเปราะบางและความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเร่งหาข้อสรุป จึงคาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะมีผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะครอบคลุมไปจนถึงเรื่องบ้านหลังแรก รถยนต์ทำมาหากิน และผู้ประกอบการ SMEs รายเล็ก ที่จะสามารถทำให้คนกลุ่มเหล่านี้ขึ้นมาประกอบอาชีพ มีรายได้ และมีความมั่นคงของชีวิตมากยิ่งขึ้น


ดังนั้นเราจะทำคู่ขนานกันไปกับการหาแหล่งเงินทุน ทั้งจากทางภาครัฐและระบบธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงร่วมมือกับกลุ่มบริษัทรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกลุ่มของ Supply chain เรื่องของการจัดซื้อ เพื่อให้มีการดำเนินการในระยะเวลาที่เหมาะสม สอดรับกับมาตรการในระยะกลางของทางรัฐบาล อาทิ เพิ่มรายได้ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ที่จะเข้ามาเสริม เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/cNT34an8NGg

คุณอาจสนใจ

Related News