เลือกตั้งและการเมือง
“เท้ง ณัฐพงษ์” ถามมาตรการเยียวยาหลังน้ำลด ทวงสัญญา Cell Broadcast เตือนภัยพิบัติพร้อมใช้เมื่อใด
โดย gamonthip_s
19 ก.ย. 2567
96 views
19 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย
นายณัฐพงษ์ เริ่มต้นด้วยการชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่ออกคำสั่งแต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เพราะการช่วยเหลือประชาชนยังขาดศูนย์ประสานงาน และคาดหวังว่า ศปช. จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาล ที่ในเดือนกันยายนจะยกเว้นค่าน้ำค่าไฟให้ทั้งเดือน และเดือนตุลาคมจะลดให้ 30% แต่รับฟังจากประชาชนทราบมาว่า อยากให้งดเว้นขั้นต่ำ 3 เดือนหรือ 6 เดือนขึ้นไป และรัฐบาลมีมาตรการส่งงบประมาณชดเชยไปให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วหรือไม่ ขณะที่ค่าซ่อมแซมบ้าน ยังมองว่ามาตรการมีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องรอถึง 90 วัน คิดว่าล่าช้าเกินไป เสนอแนะว่าหากพบว่าบ้านหลังนั้นอยู่ในพื้นที่อุทกภัย จ่ายขั้นต่ำก่อน 10,000 บาท และสำรวจความเสียหายภายหลังเพื่อจ่ายตามจริง
นายณัฐพงษ์ ยังสอบถามว่า มีความเป็นไปได้เพียงไรที่รัฐบาลจะเจรจากับธนาคารทุกภาคส่วน ให้ช่วยพักหนี้ทั้งต้น และดอกเพื่อเยียวยาประชาชน ตลอดจนเกษตรกรก็ประสบความเสียหายเกินกว่าเงินชดเชย รวมถึงการฟื้นฟูสภาพถนน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณหรืออุดหนุนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนนี้แล้วหรือไม่
นายณัฐพงษ์ ยังเสนอเพิ่มเติมถึงมาตรการระยะสั้น จากนโยบายท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล ต่อยอดเป็น “ท่องเที่ยวเมืองน้ำลด” ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังถามความเป็นไปได้ในการเพิ่มงบประมาณให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินกู้ 0% เพื่อฟื้นฟูกิจการหลังน้ำลด
นอกจากนี้ มาตรการในการรับมือและลดความเสี่ยงในอนาคต โดยเฉพาะพายุซูลิก ที่กำลังจะเข้าสู่ประเทศไทยเร็วๆ นี้ จึงสอบถามว่ารัฐบาลมีมาตรการติดตั้งและรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ในการวัดน้ำฝนหรือไม่ สำหรับน้ำท่า กรมชลประทานมีระบบโทรมาตรอยู่แล้ว แต่ยังขาดการบูรณาการ และน้ำเทศ หรือน้ำจากประเทศข้างเคียง รัฐบาลมีแนวเจรจาในพหุภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำร่วมกันหรือไม่
นายณัฐพงษ์ ยังเน้นย้ำถึงแนวทางการเปิดเผยข้อมูล Geocoding หรือใส่ข้อมูลทะเบียนบ้านเพื่อให้รับทราบตำแหน่ง ซึ่งจะมีประโยชน์ทั้งในการเบิกเงินเยียวยาอย่างรวดเร็ว สามารถน้ำข้อมูลทะเบียนบ้านจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นข้อมูลเปิดหรือ Open Data ได้ทันที และสามารถต่อยอดเป็น Cell Broadcast ซึ่งจะขอสอบถามรัฐบาลว่าจะพร้อมใช้เมื่อใด
จากนั้น นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีตอบกระทู้แทน โดยยืนยันว่า คิดไม่ต่างจากนายณัฐพงษ์คือรัฐบาลควรมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ในเรื่องค่าน้ำค่าไฟ มีข้อสรุปจากการประเมินหน้างาน สามารถปรับเปลี่ยนมาตรการตามสถานการณ์จริงได้ จึงขอให้ประชาชนสบายใจ และทางการประปาส่วนภูมิภาคได้มีการผลิตน้ำประปาให้ประชาชนอุปโภคบริโภคโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นางสาวธีรรัตน์ ยังกล่าวถึงแอปฯ ทางรัฐ ซึ่งขณะนี้กำลังพยายามรวบรวมฐานข้อมูลของประชาชนเอาไว้ ไม่ใช่เพียงเพื่อรับเงินดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำไปใช้ในเหตุฉุกเฉินเช่นในขณะนี้ และแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว
สำหรับการพักชำระหนี้เกษตรกร นางสาวธีรรัตน์ เผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมาตรการสนับสนุนงบประมาณและปัจจัยในการผลิตพันธุ์พืชไร่สวนให้ประชาชน รวมถึงอีกหลายมาตรการของหลายกระทรวง ในด้านข้อมูลเองก็มีสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ที่มีข้อมูลพร้อม แต่ประชาชนยังขาดการเข้าถึง ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งทำงาน และไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ ต้องพัฒนาระบบที่ยังติดขัดให้ดีขึ้น
ขณะที่ประเด็นของ Cell Broadcast นั้น ทราบมาว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีการวางระบบไว้แล้ว ส่วนระยะเวลาที่ชัดเจนนั้น นางสาวธีรรัตน์ระบุว่า การจัดซื้อจัดจ้าง และการวางระบบทุกอย่าง ไม่ช้าไปกว่ากลางปีหน้าแล้ว
“ในใจของดิฉันก็ว่าช้า แต่ในส่วนของผู้ปฏิบัติการเราก็ต้องเข้าใจเขาในเรื่องของระบบระเบียบ และการปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอน แต่หากว่าเร็วกว่านี้ได้ ดิฉันก็จะให้เร็วกว่านี้แน่นอน ก่อนกลางปีหน้า ปี 2568 นี้ เราจะได้ใช้ Cell Broadcast กัน” นางสาวธีรรัตน์ยืนยัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หากมีพายุที่เกิดขึ้นตามหลังสถานการณ์น้ำท่วม สามารถใช้ระบบ SMS เตือนภัยประชาชนได้ทันที ทุกหน่วยงานได้มีการพูดคุยกัน และทางโอเปอร์เรเตอร์ก็มีความพร้อมสนับสนุน และขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาลว่า ทั้งผู้ที่มีโทรศัพท์มือถือและไม่มี จะต้องได้รับระบบเตือนภัยอย่างทั่วถึงเช่นกัน
แท็กที่เกี่ยวข้อง