เลือกตั้งและการเมือง

ปชน.ยื่นแล้ว แก้ร่าง รธน.รายมาตรา ปมจริยธรรมทั้งระบบ หั่นอำนาจ ป.ป.ช. สอบจริยธรรมสส.

โดย nattachat_c

18 ก.ย. 2567

11 views

วานนี้ (17 ก.ย. 67) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการยกร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ว่า พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งเรากำลังยกร่างอยู่ เข้าใจว่าใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 4-5 มาตรา โดยจะกำหนดกรอบกฎหมายให้มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความอะไรมาก ขณะที่ฝ่ายค้านก็กำลังพิจารณายกร่างกฎหมายเรื่องนี้เช่นกัน โดยแต่ละพรรคจะต่างคนต่างยื่นร่างเข้าสภาแล้วจึงไปว่ากันในการพิจารณาของรัฐสภา


เมื่อถามย้ำว่า หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องร้องเรียนหรือชี้มูลว่าฝ่าฝืนจริยธรรมแล้ว จะถือว่ายังไม่มีความผิดใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ใช่ เพราะการร้องไปที่ ป.ป.ช. ยังไม่รู้ว่าเขามีความผิดแล้วหรือยัง ดังนั้น ถ้าจะสกัดกั้นคนด้วยวิธีการนี้ก็เป็นเรื่องง่ายๆ คือมีคนไปร้อง ป.ป.ช. ก็จะทำให้คนที่ถูกร้องได้รับผลกระทบและจบเลย


ผู้สื่อข่าวถามถึงการแก้ไขประเด็นเสียงข้างมากของรัฐธรรมนูญในการลงมติเรื่องสำคัญ เช่น การยุบพรรค หรือเอาคนออกจากตำแหน่ง จะต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด แทนการใช้มติเสียงข้างมากธรรมดา นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเช่นกัน โดยความคิดเรื่องสำคัญใหญ่ ๆ ใช้เสียงข้างมากธรรมดาทั่วไป ยกตัวอย่างกรณีของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พ้นจากตำแหน่งด้วยมติศาลรัฐธรรมนูญ 5-4 เสียง ซึ่งเราก็ใช้วิจารณญาณคิดดูว่าเรื่องใหญ่แบบนี้ควรหรือไม่ จึงมีแนวความคิดว่า ให้มติมากขึ้นหน่อยดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้กับเรื่องจริยธรรม ต้องทำให้ชัดเจน และจะทำไปพร้อมกัน


เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่สังคมมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้นักการเมืองเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราคิดว่าเราไม่ได้ประโยชน์อะไร และเราก็ระมัดระวังไม่ให้เป็นการแก้เพื่อประโยชน์ตัวเอง พรรคเพื่อไทยจึงขอแก้แค่พอดี ๆ ให้มีเกณฑ์มาตรฐานรับได้ ไม่ใช่เราไปยกเลิกเขาทั้งหมด และต้องการแก้ไขให้เกิดความชัดเจน ทำให้การปฎิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และป้องกันไม่ให้การบริหารประเทศลำบาก ซึ่งเรามองว่ามีความจำเป็น ไม่ใช่ทำเพื่อให้เราได้รับประโยชน์ และเพื่อให้บ้านเมืองมีกฎหมายที่เป็นธรรมยุติธรรมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่


ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ พูดถึงเรื่องนี้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นมาตรฐานจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากตีความกว้างเกินไป ฉะนั้น จึงควรมีการกำหนดนิยามให้ชัดเจน เพราะถ้ากฎหมายเขียนคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ก็จะทำให้เป็นสมบัติส่วนตัวขององค์กรอิสระ ที่จะเอาไปใช้อย่างไรก็ได้


ด้าน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะประธาน วิปฝ่ายค้าน กล่าวยอมรับว่า พรรคได้ยื่นร่างแก้ไขรายมาตรา กลุ่มประเด็นว่าด้วยจริยธรรมทั้งระบบ ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาแล้ว ทั้งนี้ตามกระบวนการต้องตรวจสอบรายละเอียดก่อนและบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระภายใน 15 วัน ดังนั้นตนเชื่อว่าหากจะนำเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่กำหนดไว้เบื้องต้นวันที่ 25 ก.ย. นี้อาจจะทัน แต่ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อรัฐสภา ในสัปดาห์หน้านั้น และมีเวลา 2-3 วัน เวลาอาจไม่พอกับการตรวจสอบและบรรจุวาระ ดังนั้น ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมวิปร่วมอีกครั้ง ซึ่งตนรับได้หากจะเลื่อนการประชุมร่วมรัฐสภาออกไปอีก 1 สัปดาห์


สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับล่าสุดที่เสนอนั้นเป็นรายละเอียดเรื่องจริยธรรมทั้งระบบ ซึ่งตนจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมดว่ามีกี่มาตรา เพราะกรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องหลายมาตรา รวมถึงเกี่ยวกับการใช้อำนาจขององค์กรรอิสระที่ตัดสินผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองที่เป็นนามธรรมมากเกินไป ทั้งนี้ในประเด็นที่แก้ไขกับอำนาจขององค์กรอิสระดังกล่าวตามเงื่อนไขต้องทำประชามติ ซึ่งอาจเป็นการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง นายกอบจ.ทั้งประเทศตามที่รัฐบาลวางไทม์ไลน์ไว้


เมื่อถามว่ามีประเด็นที่จะตัดในส่วนของข้อกำหนดในคุณสมบัติที่ต้องซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ด้วยหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ไม่ได้ปิดการแก้ไขในส่วนดังกล่าว แต่ต้องพูดคุยในชั้นกรรมาธิการว่าทุกพรรคเห็นอย่างไร ส่วนใหญ่ใช้หลักการกว้างและต้องพิจาณาแก้ไขในชั้นกรรมาธิการได้


เมื่อถามว่าบางประเด็นการแก้ไขจริยธรรมนั้น พรรคเพื่อไทยระบุว่า ไม่เห็นด้วยเนื่องจากอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หากจะมองแบบนั้น การแก้ประเด็นอื่นๆ ก็อาจถูกโยงว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้ทั้งสิ้น และสส.จะแก้อะไรไม่ได้ อย่างไรก็ดีในประเด็นที่ไม่เห็นตรงกันนั้น รายละเอียดอาจนำไปพูดคุยในชั้นกรรมาธิการเพื่อหาจุดลงตัวได้


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/AkOreuHmzB0




คุณอาจสนใจ

Related News