เลือกตั้งและการเมือง
'ภูมิธรรม' ชี้อย่าเอาการเมืองมารื้อฟื้นอดีต หลัง 'เรืองไกร' ยื่นสอบนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ตั้งเป็น รมว.กลาโหม
โดย nattachat_c
10 ก.ย. 2567
17 views
วันที่ 8 กันยายน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีเสนอชื่อ นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า
- เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
- เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่
- เข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว
ซึ่งการที่นายกฯ เลือกนายภูมิธรรม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งก่อนและหลังการแต่งตั้ง อีกทั้งเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยที่ 21/2567 แล้ว คำวินิจฉัยคดีนี้ทำให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีทั้งสิ้น 29 หน้า
โดยมีคำวินิจฉัยบางส่วนบางตอนตั้งแต่หน้า 17-28 ตีความเกี่ยวกับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 นำไปสู่การวินิจฉัยเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ไว้เป็นแนวบรรทัดฐาน
นายเรืองไกร กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องรู้หรือควรรู้ประวัติของนายภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งเป็นคนของพรรคเพื่อไทย เคยมีชื่อสหายใหญ่ ซึ่งตามข่าวที่ปรากฏโดยทั่วไป สหายใหญ่ เคยร่วมกระทำการในลักษณะที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการล้มล้าง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่อาจยกเลิกเพิกถอนได้ ประกอบกับต้องรู้ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีด้วย
ดังนั้น การที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี เสนอชื่อ นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต.ตรวจสอบว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี มีเหตุสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
ต่อมา วานนี้ (9 ก..ย. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตามข้างต้น ว่า
ก่อนจะร้องคุณเรืองไกรควรทำความเข้าใจกับขบวนการทั้งหมดก่อน กรณีที่กล่าวหาว่าผมฝักใฝ่นั้นผมไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย ผมเป็นนักศึกษาซึ่งเป็นเหยื่อของเหตุการณ์เมื่อปี 2519 ซึ่งเพื่อนผม พี่น้องผม หลายคนถูกฆ่าตาย และมีการไล่จับกันจำนวนมาก ทำให้นักศึกษาจำนวนมากต้องหนีเข้าป่า ผมไม่ได้ฝักใฝ่ แต่ความตั้งใจเรื่องของการรักชาติ อยากเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้น อยากเห็นประชาธิปไตย แต่หลังจากนั้น กลับก่อให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งกันมากในสังคมไทย ดีที่ผู้บัญชาการทหารระดับสูงไม่จะว่า พลเอกเปรมติณสูลานนท์ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้เปิดให้มีนโยบาย 66/23 เปิดทางสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น ลดความขัดแย้ง พยายามที่จะเดินไปข้างหน้าให้ทุกคนได้ออกมาจากป่า
หลังจากออกมา ผมและทุกคน ทุกคนได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว ผมก็อยู่กับระบบการเมือง ระบบประชาธิปไตยที่เปิดเผยมาตลอดเวลาที่ออกมา ผมคิดว่าไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งแรกที่ผมเป็นรัฐมนตรีมา ผมเป็นรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว การไปเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ไม่น่าจะเป็นเหตุให้คุณเรืองไกรต้องร้อง ผมก็ไม่ทราบว่าท่านเรืองไกรมีวัตถุประสงค์อะไร อยากกลับไปดูว่าเรื่องนี้ มันสงบ จบไปแล้ว อย่าใช้ประเด็นทางการเมืองมารื้อฟื้นความขัดแย้งในอดีตเลย มันไม่เป็นผลดีต่อใคร
อยากให้คุณเรืองไกรทบทวน ส่วนตัวผม เรื่องนี้ผมพร้อมพิสูจน์ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีอย่างไร ผมเชื่อว่าผมบริสุทธิ์ใจเพียงพอ เชื่อว่าสาธารณชนได้เห็นความเป็นจริงอันนี้
ส่วนความเคลื่อนไหววันที่ 17 ก.ย.นั้น ไม่กังวล เพราะระบอบประชาธิปไตยมีความเห็นต่างได้ แต่คงจะต้องหาทางในการสื่อสาร อยากให้ประเด็นต่าง ๆ ถ้าเป็นเรื่องอะไรที่รัฐบาลขัดขวางระบอบประชาธิปไตย หรือสร้างความขัดแย้งค่อยมาแสดงออกบอกเรา แต่ขณะนี้ เศรษฐกิจประเทศกำลังเดิน คนในโลกกำลังมองความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ไม่อยากให้ใช้ประเด็นทางการเมืองเข้ามาทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในประเทศ ทำให้เกิดความสูญเสียความเชื่อมั่นในประเทศเลย มันไม่เป็นผลดีต่อใครเลย
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/-Vp3OYoRpaY