เลือกตั้งและการเมือง
'อดีตพิราบขาว' ยื่น กกต.ยุบ 6 พรรค ดอดพบ 'ทักษิณ' ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ก่อนจัดตั้งรัฐบาล
โดย nattachat_c
10 ก.ย. 2567
21 views
วานนี้ (9 ก.ย. 67) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นหลักฐานต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบพรรคการเมือง 4 พรรค ประกอบด้วย
- พรรคเพื่อไทย
- พรรคภูมิใจไทย
- พรรครวมไทยสร้างชาติ
- พรรคชาติไทยพัฒนา
จากกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกหัวหน้าพรรคการเมือง รวมถึงบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทย เข้ามาพูดคุยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 เป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21, 28, 29 โดยขอให้ กกต.สั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92
อีกทั้ง ขอให้พิจารณาเพิ่มเติมอีก 2 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาชาติ และพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากหัวหน้าพรรคไม่ได้เดินทางเข้าพบ แม้จะยังไม่มีหลักฐานเบื้องต้นว่า เข้าข่ายยุบพรรคการเมือง แต่ตามมาตรา 21 ระบุว่า ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก หัวหน้าพรรคจะมอบหมายเป็นหนังสือให้เลขาธิการพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้ทำการแทนได้ หากหัวหน้าพรรคไม่ได้ไปพบปะบุคคลภายนอก จะต้องทำหนังสือให้เลขาธิการพรรคเป็นผู้เดินทางไป จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการเสาะแสวงหาหลักฐานหนังสือมอบอำนาจ
หมายเหต กลุ่มพิราบขาว 2006 คือกลุ่มที่รวมตัวกันคัดค้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และต่อต้านคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) โดยทำการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2550
นายนพรุจ กล่าวว่า การที่นายทักษิณ เรียกแกนนำรักษาการรัฐบาลในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่ง เข้ามาพูดคุยในการจัดตั้งรัฐบาล และผลักดันนายชัยเกษม นิติศิริ เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 แม้นายทักษิณจะเป็นบิดาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ระหว่างไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 12-15 ส.ค.
แต่การกระทำของนายทักษิณ เปรียบเสมือนเป็นการกระทำของพ่อกับลูก และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 ที่ระบุว่าพรรคการเมืองจะต้องไม่ยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามาควบคุม ครอบงำ สั่งการ ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการไปด้วยความอิสระได้
และมาตรา 29 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองขาดความอิสระ ซึ่งนายทักษิณเป็นบุคคลภายนอกไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซง หรือกระทำการใด ๆ ได้ และนายทักษิณเข้ากระทำการเปรียบเสมือนเจ้าของพรรค หรือผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคจึงมายื่นให้ กกต. พิจารณาตรวจสอบในเรื่องนี้
“ระยะเวลาดำเนินการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลก็ดี จะต้องมาพบนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้าทุกครั้ง เมื่อครั้งที่นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีการเข้าพบปะ มาหาในเหตุการณ์ต่าง ๆ ต่อเนื่องมา บ่งบอกชัดว่าการกระทำของนายทักษิณส่อไปในทางครอบงำ สั่งการ ควบคุม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าเขาเป็นเจ้าของพรรค ซึ่งมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง รวมทั้งการเป็นบิดาของ น.ส.แพทองธาร ย่อมมีอิทธิพลเหนือ น.ส.แพทองธาร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงเป็นอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยมาก่อน”
นายนพรุจ กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการจัดตั้งรัฐบาล หรือมีการออกนโยบายต่าง ๆ ที่พรรคเพื่อไทยดำเนินการอยู่ นายทักษิณเป็นผู้แสดงความคิดเห็นก่อนพรรคเสมอ เสมือนเป็นมติก่อนที่พรรคจะลงมติ
นายนพรุจ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้มีบุคคลขอสงวนนามมายื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย กรณีนายทักษิณเข้าครอบงำพรรคชี้นำผู้บริหารทำให้ขาดความอิสระ ซึ่งตนได้แนบหลักฐานนี้มาด้วย จากการตรวจสอบข้อมูลมีความละเอียดครบถ้วนที่บ่งบอกว่านายทักษิณ ครอบงำพรรค
การกระทำของนายทักษิณ ในขณะนั้นซึ่งเป็นนักโทษการเมืองที่ได้รับการพักโทษเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งตามระเบียบของกรมคุมประพฤติเป็นข้อห้าม แม้แต่ตนซึ่งเคยเป็นนักโทษที่ได้รับการพักโทษมาเช่นเดียวกัน ตนได้อ่านระเบียบของกรมคุมประพฤติมาทั้งหมด นายทักษิณจะทำการฝ่าฝืนระเบียบ ซึ่งกรมคุมประพฤติจะต้องเป็นผู้ชี้แจงในประเด็นนี้
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/VTtkyuZJ_aU