เลือกตั้งและการเมือง
134 คณาจารย์นิติฯ-นัก กม. แถลงไม่เห็นด้วย ปมศาลวินิจฉัยยุบก้าวไกล-ถอดเศรษฐา
โดย nattachat_c
20 ส.ค. 2567
45 views
วานนี้ (19 ส.ค. 67) เพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า
แถลงการณ์ กรณีการยุบพรรคก้าวไกล และกรณีความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 (“คำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล”) และวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 (“คำวินิจฉัยปลดนายกฯ) นั้น คณาจารย์และนักกฎหมายซึ่งมีรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองคดี ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับใช้กฎหมายและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งกฎหมายและมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาอย่างร้ายแรงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญตีความขยายเขตอำนาจของตัวเองและตีความบทบัญญัติของกฎหมายให้มีขอบเขตการบังคับใช้ที่กว้างขวางจนไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนเพื่อยุบพรรคและตัดสิทธินายกรัฐมนตรี ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานแห่งกฎหมายที่การใช้การตีความกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะต้องตีความอย่างแคบและด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
ในคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ทั้งที่มีแนวทางในการตีความการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาชาธิปไตยอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ศาลกลับตีความขยายความให้รวมถึง การเสนอนโยบายของพรรคการเมืองและการเสนอแก้ไขกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ในคำวินิจฉัยปลดนายกฯ ศาลตีความการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้รวมถึงการขาดความระมัดระวังในการเสนอชื่อบุคคลที่ศาลเชื่อว่าน่าจะมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี โดยศาลอ้างอิงความคิดเห็นของสาธารณชนเพื่อสนับสนุนความเชื่อดังกล่าว ทั้งที่ไม่เคยมีการพิสูจน์การขาดคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
ประการที่สอง คำวินิจฉัยทั้งสองคดีเป็นผลของการดำเนินการกระบวนพิจารณาที่ไม่สอดคล้องกับหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (due process) โดยศาลอ้างอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดกระบวนพิจารณาตามที่เห็นสมควรเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เพียงพอในการตัดสินคดี การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจึงเกิดความไม่แน่นอนทั้งต่อการเตรียมการต่อสู้คดีของผู้ที่ถูกกล่าวหาและการติดตามความคืบหน้าของสาธารณชน
ทั้ง ๆ ที่ตามหลักการพื้นฐานของกฎหมายนั้น กระบวนพิจารณาคดีที่จะนำไปสู่การจำกัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหา จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้นำเสนอพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม พยานหลักฐานบางส่วนที่ศาลรับในคดีล้มล้างการปกครองซึ่งมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 และถูกอ้างอิงในคดียุบพรรคก้าวไกลในเวลาต่อมา เช่น พยานหลักฐานจากหน่วยงานความมั่นคง เป็นพยานหลักฐานที่ศาลรับฟังโดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ถามค้านหรือโต้แย้ง ภายใต้หลักการพื้นฐานแห่งกฎหมาย คำวินิจฉัยที่เป็นผลจากกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่ชอบย่อมเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประการที่สาม การที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความขยายเขตอำนาจของตนเองให้เข้าไปตรวจสอบการกระทำทางนิติบัญญัติและการกระทำทางรัฐบาล เกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจและไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจและเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารเกิดความไม่แน่นอนและไม่เป็นอิสระ
ประการสุดท้าย คำวินิจฉัยทั้งสองคดีของศาลรัฐธรรมนูญลดทอนความเชื่อมั่นศรัทธาที่ประชาชนชาวไทยและต่างชาติมีต่อระบบกฎหมายและการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยอย่างรุนแรง คำวินิจฉัยที่มีผลให้พรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดต้องสิ้นสุดลงและมีผลให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะการตีความกฎหมายและวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมายย่อมทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีต่อระบบกฎหมายและระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดความรู้สึกหดหู่และสิ้นหวังจากการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารทางการเมือง ทำลายคู่ต่อสู้ในทางการเมือง
การที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำนายผลคดีได้อย่างแม่นยำ และเห็นได้ว่าเป็นการตัดสินคดีที่เป็นเพียงเกมการเมือง ไม่ใช่การตัดสินคดีอันเป็นกระบวนการทางกฎหมาย ทัศนคติเช่นนี้เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมและประชาชนขาดความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อระบบกฎหมายและระบบการเมืองอย่างรุนแรง ระบบกฎหมายที่อาศัยเฉพาะแต่อำนาจแต่ขาดซึ่งความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนย่อมไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและในท้ายที่สุดแล้วจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้งทางสังคมและการเมืองใด ๆ ได้เลย
คณาจารย์นิติศาสตร์และนักกฎหมายดังมีรายนามแนบท้ายนี้ ขอยืนยันถึงความไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคก้าวไกล และการวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และต้องการชี้ให้สังคมไทยได้เห็นว่าการใช้และตีความกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญผิดหลักการทางนิติวิธีที่ได้รับการยอมรับซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวิชานิติศาสตร์ ดังได้แสดงเหตุผลไว้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยได้ถกเถียงในประเด็นดังกล่าวบนพื้นฐานของเหตุและผลอย่างจริงจัง รวมถึงการถกเถียงในประเด็นเรื่องการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตต่อไปด้วย
ด้วยความเชื่อมันในนิติรัฐ ประชาธิปไตย และอำนาจสูงสุดของประชาชน
----------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/U2Ry9vBtCiY