เลือกตั้งและการเมือง
‘พริษฐ์’ โวยเว็บทำเนียบฯ เสนอข่าวชี้นำ ศาล รธน. - รัฐบาลแจง UN ยันศาลพิจารณาปมยุบก้าวไกล เป็นไปตาม กม.
โดย petchpawee_k
6 ส.ค. 2567
167 views
‘วิสุทธิ์’ ให้กำลังใจ ‘ก้าวไกล’ ผ่านพ้นคดียุบพรรค เตรียมปิดประชุมเร็วขึ้นวันพุธนี้ ตามคำขอ
วานนี้ 5 สิงหาคม 2567 ที่รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า วิปรัฐบาลได้รับการประสานงานจากพรรคก้าวไกล ขออนุญาตให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธนี้จบไว ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงบ่าย ซึ่งเราก็ยินดีและสนับสนุนที่จะปรับเวลาให้ตรงกันแต่ก็ให้กำลังใจพรรคก้าวไกลและสมาชิกพรรคก้าวไกลตลอดจนโหวตเตอร์ของพรรคก้าวไกลที่จะต้องถูกพิพากษานี้ และก็ไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นทางบวกหรือลบอย่างไร ได้แต่ให้กำลังใจซึ่งในอดีตพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทยก็เคยโดนมาก่อนแล้วเราไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาเราก็ยอมรับแต่ครั้งนี้ตนไม่ทราบว่าจะออกมาในรูปแบบไหน
ทั้งนี้ กับสส.ด้วยกันก็ได้มีการพบปะพูดจากันบ้าง ซึ่งในทางการเมืองก็เป็นนักการเมืองเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลต่างคนต่างทำหน้าที่ บางครั้งเรามองสมัยนี้เป็นฝ่ายค้านอีกสมัยเป็นรัฐบาล ก็จับมือกันเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ก็ถือว่ารู้จักกัน หลายคนก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานดีมากก็ให้กำลังใจ
--------------------------------
‘พริษฐ์’ โวยเว็บทำเนียบฯ เสนอข่าว ชี้นำ ศาล รธน. "ยุบพรรคก้าวไกล" ก่อนลบทิ้งแต่แคปทัน ซัด ‘คารม พลพรกลาง’ แสดงความเห็นส่วนตนแต่มาละเลงผ่านสื่อรัฐได้อย่างไร
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความ แสดงความเห็น หลังตรวจพบข่าวในเว็ปไซต์ทำเนียบรัฐบาล แสดงความเห็นเกี่ยวกับ ศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล
ระบุว่า “ผมขอถามไปยังรัฐบาล ว่าความเห็นและคำแถลงของ "คุณคารม พลพรกลาง" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของรัฐบาลไทยเป็นความเห็นของรัฐบาลหรือไม่? (เพราะแม้คุณคารมจะออกมาให้ข่าวเมื่อเช้าว่าเป็นความเห็นส่วนตน แต่เช็คล่าสุดตอนเที่ยงวันนี้ ข่าวดังกล่าวยังคงอยู่ในเว็บไซต์ของรัฐบาล
หากใช่ ผมขออนุญาตถามต่อว่า:
ตกลงรัฐบาลจะยืนยันใช่หรือไม่ ว่ารัฐบาลเห็นว่าพรรคก้าวไกลมีพฤติกรรม "ท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์” และ จงใจสื่อสารในทางที่ทำให้เข้าใจได้ว่ารัฐบาลเห็นว่าพรรคก้าวไกล "เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ
ตกลงรัฐบาลไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ สส.ก้าวไกลเคยเสนอต่อสภาฯ จึงได้มีการพยายามสร้างความเข้าใจผิดกับสังคม ว่าร่างดังกล่าวจะทำให้พระมหากษัตริย์ไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายและการปกป้องจากการหมิ่นประมาท (ในขณะที่คนทั่วไปได้รับการคุ้มครองโดย ปอ. มาตรา 326) ซึ่งไม่เป็นความจริง
ตกลงรัฐบาลกังวลเรื่องการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่อย่างไร เพราะในขณะที่รัฐบาลแสดงความกังวลต่อการกระทำของพรรคก้าวไกลทั้งๆที่เราเป็นคู่กรณีและข้อมูล-ความเห็น-เอกสารทั้งหมดที่เราเผยแพร่ ก็เป็นข้อมูล-ความเห็น-เอกสาร ชุดเดียวกับที่เรายื่นให้ศาล รธน. แต่รัฐบาลกลับมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาในคดีนี้ที่อาจถูกมองว่าเป็นการชี้นำศาล ทั้งที่รัฐบาลเองไม่ได้เป็นคู่กรณีและถืออำนาจรัฐฝ่ายบริหารอยู่
ตกลงรัฐบาลให้ความสำคัญกับมุมมองต่อประเทศไทยในสายตาโลกหรือไม่ เพราะในขณะที่รัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่ย่อมให้ความสำคัญกับสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในประเทศไทย แต่รัฐบาลกลับสื่อสารในลักษณะที่ดูจะมีความกังวลเป็นพิเศษกับการที่ต่างประเทศกำลังสนใจจับตาดูสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย
หากรัฐบาลยืนยันว่าทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของทางคุณคารม ก็ต้องถามว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไรกับการที่รองโฆษก ใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ของรัฐบาล มานำเสนอความเห็นส่วนตัว?
ล่าสุด ข่าวดังกล่าวถูกดึงออกจากเว็บไซต์รัฐบาลแล้ว (ยังเผยแพร่อยู่ตอน 12:52 น. ที่ผมโพสต์) ซึ่งน่าจะเป็นการยืนยันว่าทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวของ "คุณคารม"
หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนของ รบ.ในการกำชับไม่ให้นำความเห็นส่วนตัวของใคร (ที่ไม่ใช่ความเห็นของ รบ.) มาเผยแพร่ในเว็บไซต์ รบ.
------------------------------
รัฐบาลแจงยูเอ็น ปมศาลรธน.พิจารณายุบก้าวไกล เป็นไปตามกฎหมาย ย้ำมีเสรีภาพแสดงออก
ilaw ได้เผยแพร่หนังสือตอบกลับสหประชาชาติของประเทศไทย กรณียื่นยุบพรรคก้าวไกล ที่ได้ชี้แจงไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) ส่งข้อแสดงความกังวลถึง รัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน ในประเด็นการใช้ข้อกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกล
ทั้งนี้ ข้อกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ถูกส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านกลไกลพิเศษ ภายใต้ประเด็นหลัก 2 ด้าน คือ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มโดยสงบ ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุว่า การยุบพรรคก้าวไกล และการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านและเป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอะที่สุดอาจจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตย พื้นที่สาธารณะ เสรีภาพในการแสดงออก และยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการเลือกตั้งของประเทศไทย
โดยรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติจึงเรียกร้องให้ประเทศไทยชี้แจงข้อกล่าวหาข้างต้นภายใน 60 วัน
ilaw ได้เปิดเผยว่าสำหรับรายงานตอบกลับของประเทศไทย นั้น มีคำตอบที่สำคัญๆ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า การหาเสียงโดยสัญญาว่าจะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคก้าวไกล ละเมิดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ที่ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” อีกทั้งการที่ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิของพลเมืองเอาไว้หลายประการอยู่แล้ว รวมถึงสิทธิที่จะถกเถียงในแง่มุมที่หลากหลายของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
อย่างไรก็ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19(3) ระบุว่า สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของบุคคลต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบพิเศษว่าสิทธิดังกล่าวอาจจะมีข้อจำกัดในบางเรื่อง ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวต้องถูกระบุไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น เพื่อการรักษาความมั่นคงของชาติ และรักษาความสงบเรียบร้อย
ในเอกสารชี้แจงดังกล่าวรัฐบาลไทยยังได้ชี้แจงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้เพียงแค่ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท แบบเดียวกับที่ปกป้องประชาชนทั่วไปในกฎหมายหมิ่นประมาทเท่านั้น แต่ยังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นเสาหลักของชาติสำหรับประชาชนคนไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งกฎหมายนี้ยังมีไว้สำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ จึงมีบทลงโทษที่รุนแรงหลังจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว
รัฐบาลไทยยืนยันว่า คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยอธิบายว่าหลังเจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนเหตุการณ์ที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษว่าผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว คณะกรรมการพิจารณาที่ถูกออกแบบมาเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติจะร่วมกันพิจารณาว่า เหตุการณ์ที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมานี้เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ หลังคณะกรรมการพิจารณา แล้วไม่ว่าผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรอัยการก็ยังเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่อีกชั้นหนึ่งอยู่ดี ทำให้กระบวนการทั้งหมดมีการพิจารณาอย่างเคร่งครัดและรัดกุม
ในประเด็นที่ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มอย่างสงบของประเทศไทย เนื่องจากหลังการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลที่มีจำนวนส.ส. เยอะที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรถูกกีดกันจากการจัดตั้งเป็นรัฐบาล รัฐบาลไทยจึงชี้แจงยืนยันว่าสิทธิเสรีภาพทั้งสองประการยังคงอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 รับรองสิทธิเสรีภาพนั้นไว้แล้ว ดังนี้
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 มาตรา 42 และมาตรา 44 รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมชุมนุมรวมกลุ่มกันอย่างสงบเอาไว้แล้ว ขณะเดียวกันก็รับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองเอาไว้แล้วเช่นกันในมาตรา 45 อีกทั้งยังรับรองเอกสิทธิ์ความคุ้มครองสส. และสมาชิกวุฒิสภาในการอภิปราย แสดงความคิดเห็น หรือลงคะแนน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 124 สิทธินี้รับประกันว่าจะไม่มีการดำเนินคดีต่อผู้แทนของประชาชนไทยได้ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย
สุดท้าย ข้อกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติที่ต้องการจะทราบว่ารัฐบาลไทยจะมีแผนรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการชุมนุมรวมกลุ่มอย่างสงบอย่างไร โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของนักการเมืองฝ่ายค้าน บุคคลทั่วไปผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และผู้ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลไทยชี้แจงเพียงว่า “ใช้หลักการเดียวกันกับที่ได้ตอบไปข้างต้น” คือ การปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายเกี่ยวกับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางที่ได้ชี้แจงก่อนหน้านี้
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/7hWr6SMnP_E