เลือกตั้งและการเมือง
โฆษก รบ.ชี้ยอดลงทะเบียน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เป็นกำลังใจสู้เสียงด้อยค่า - ยันแอปทางรัฐปลอดภัย ข้อมูลไม่รั่ว
โดย nattachat_c
5 ส.ค. 2567
51 views
วานนี้ (4 ส.ค. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเลื่อนแถลงลงทะเบียนร้านค้าเข้าร่วมดิจิทัลวอลเล็ตในวันพรุ่งนี้ว่า เรื่องการเตรียมร้านค้าเป็นภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้เตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีปัญหาอะไร และสิ่งที่ประเมินคือไม่อยากให้ประชาชนสับสน เพราะตอนนี้ ประชาชนทะลักเข้ามาลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตจนถึงวันนี้ 20 กว่าล้านคนแล้ว มีความสนใจลงทะเบียนเยอะ
ขณะเดียวกัน ก็ได้รับคำถามต่าง ๆ ผ่านสายด่วน 1111 ว่า มีปัญหาอะไร ซึ่งเป็นธรรมดาที่เรากำลังทำเรื่องใหม่ ประชาชนอาจจะยังมีความต้องการเข้าใจมากขึ้น เพื่อให้การใช้งานดิจิทัลวอลเล็ตได้ผลมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้คิดว่า ให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน ซึ่งกว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะออกประมาณเดือนพฤศจิกายน และช่วง 1 ตุลาคม เป็นช่วงที่เราลงทะเบียนร้านค้า ยังมีเวลาเหลืออีก 2 เดือน จึงคิดว่าเลื่อนไปก่อนไม่ให้สับสน เอาเรื่องคนลงทะเบียนให้จบ จากนั้นเอาเรื่องร้านค้ามาทีเดียว ที่ขณะนี้ เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ทั้งกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เดินเรื่องมีการสอบถามหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ รวมทั้งร้านค้าแล้ว
โดยตอนนี้ มีการแสดงตนมาเป็นล้านรายแล้ว และหลังจากที่เคลียร์ชัดเจน จะบอกว่าประเภทร้านค้าแบบไหนอยู่ในลำดับที่เท่าไร และจะซื้ออะไรได้บ้าง ให้ร้านค้าสามารถเข้าใจ และดำเนินการได้ ประชาชนต้องเข้าใจด้วย มีโลโก้กับร้านค้าให้เกิดความชัดเจน
ทั้งนี้ โดยสรุปแล้ว ได้มีการเลื่อนแถลงการลงทะเบียนร้านค้าจากวันที่ 5 สิงหาคม 67 เป็น เดือนกันยายน 67
-----------
ในวันเดียวกัน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอบคุณความร่วมมือของทุกหน่วยงาน รวมทั้งภาคเอกชน ช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนในการลงทะเบียนรับสิทธิ์ Digital Wallet
โดยข้อมูลล่าสุดมีคนลงทะเบียนตรวจสอบตัวตนแล้วกว่า 24 ล้านคน (สถานะ) รวมทั้ง โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า กระแสตอบรับยอดลงทะเบียนของประชาชนเป็นกำลังใจในการเดินหน้าทำงาน สู้กับเสียงคัดค้าน ด้อยค่า หวังผลทางการเมือง แต่ไม่ได้ทำให้กำลังใจของรัฐบาลลดลง เพราะมีเสียงสะท้อนที่มีค่าจากประชาชน ซึ่งขอให้ประชาชนรับฟังการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐบาล อย่าหลงเชื่อข่าวลวงสร้างความสับสน
-----------
ในขณะที่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA แจ้งว่า แอปพลิเคชัน 'ทางรัฐ' เป็นแอปพลิเคชันของภาครัฐ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน ที่มีการเชื่อมข้อมูล และบริการจากส่วนราชการต่าง ๆ มาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้ประชาชนในทุกช่วงวัยสามารถใช้บริการออนไลน์ของภาครัฐได้ในแอปฯ เดียว อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมถึงเป็นช่องทางในการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet
ดังนั้น การที่ประชาชนจะเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ว่าผู้ที่กำลังจะเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ เป็นประชาชนตัวจริงหรือไม่ โดยการให้ประชาชนผู้นั้น ถ่ายภาพใบหน้า และภาพบัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง เพื่อเอาไปเปรียบเทียบกับภาพใบหน้า และข้อมูลบัตรประชาชน ของประชาชนผู้นั้น ที่มีอยู่ในระบบของภาครัฐว่า ตรงกันหรือไม่ หรือที่เรียกว่าการทำ KYC (Know Your Customer) เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลของประชาชนผู้นั้น หรือสวมสิทธิ์ ซึ่งเป็นมาตรการการป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือแบบเดียวกับที่ธนาคารในประเทศไทยใช้ (IAL 2.3) ตามประกาศของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ในปัจจุบัน แอปฯ ทางรัฐเป็นเพียงช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูล และบริการจากหน่วยงานต้นทางโดยไม่ได้เก็บข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานต้นทางมาไว้ที่แอปฯ ทางรัฐแต่อย่างใด และข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในแอปฯ ทางรัฐสามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูล และผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น
นอกจากนี้ แอปฯ ทางรัฐมีมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบและข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ และพัฒนาระบบที่มีการเข้ารหัสข้อมูลและใช้เทคโนโลยีการยืนยันตัวตนที่ทันสมัยโดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ร่วมกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
โดยเน้นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและระบบเป็นหลัก มีการตรวจสอบและทดสอบระบบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทดสอบเจาะระบบ และแก้ไขช่องโหว่ต่างๆ ทั้งก่อนให้บริการ และระหว่างการให้บริการเพื่อป้องกันการแฮ็ก และการเข้าถึงข้อมูล และบริการ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรฐานสากล
อีกทั้ง ยังมีการใช้เทคโนโลยีป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ในระดับสูง (State-of-the-Art Cybersecurity Protection) ตลอดจนการบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้แนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กำหนด และเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 รวมถึงตามมาตรฐานที่ DGA ได้รับการรับรอง เช่น ISO 27001 (Security Management) เป็นต้น
นอกจากนี้ แอปฯ ทางรัฐมีการติดตั้งอยู่บนผู้ให้บริการระบบคลาวด์ที่มีความน่าเชื่อถือ มีเสถียรภาพแล้ว ยังมีการตั้ง war room เฝ้าระวังระบบและภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของ DGA ร่วมกับ สกมช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยสามารถพิสูจน์ได้จากวันแรกที่เปิดรับลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซี่งมีผู้ไม่ประสงค์ดีพยายามโจมตีระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างหนัก ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เปิดรับลงทะเบียน โดยเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนกดเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐเป็นจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน แต่แอปฯ ทางรัฐก็ยังสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถรองรับการลงทะเบียนฯ ได้ถึง 18.8 ล้านคน ภายใน 24 ชั่วโมงโดยระบบไม่ล่ม และไม่มีปัญหาเรื่องข้อมูลรั่วไหล
---------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/uBCeLzUFo20