เลือกตั้งและการเมือง
กรรมการสิทธิฯ เปิดผลสอบ”ทักษิณ“ นอน รพ.ตำรวจ ชั้น14 ได้สิทธิรักษาดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น
โดย kanyapak_w
2 ส.ค. 2567
586 views
กรรมการสิทธิฯ เปิดผลสอบ "ทักษิณ" นอน รพ.ตำรวจ ชั้น14 ได้สิทธิรักษาดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ชี้ เรือนจำพิเศษ- รพ.ตำรวจ เข้าข่ายเลือกปฏิบัติ ยื่น ปปช. ดำเนินการต่อ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและนายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 26/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนว่านายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ชี้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และ รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติ ส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ระบุว่า การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกร้องที่ 1) อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขัง เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจ (ผู้ถูกร้องที่ 2) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และได้รับการรักษาที่ดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่นอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้
สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีอาการป่วย พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 และมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง วางหลักไว้ว่า ผู้ต้องขังย่อมมีสิทธิได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว และหากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำที่ถูกควบคุมตัวจะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์และต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำเสียก่อน กรณีการส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อพิจารณาจากการชี้แจงของแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ประกอบความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม.
ซึ่งเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อาการป่วยของนายทักษิณเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยเฉพาะค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 95 ประกอบกับความดันโลหิตสูง ถือว่าอยู่ในภาวะอันตรายเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการช็อกได้ การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาภายนอกเรือนจำเมื่อวันที่ 22 ต่อเนื่องวันที่ 23 สิงหาคม 2566 เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น อันถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามสมควรแล้ว
อย่างไรก็ดี กรณีโรงพยาบาลตำรวจรับตัวนายทักษิณไว้รักษาที่ห้องพิเศษชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา นั้น เห็นว่า การที่นายทักษิณเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤติซึ่งในช่วงแรกเข้าพักที่ชั้น 14 เนื่องจากโรงพยาบาลฯ ให้ข้อมูลว่าเป็นเพียงชั้นเดียวที่มีห้องว่าง แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า นายทักษิณยังพักที่ห้องพิเศษดังกล่าวมาโดยตลอด โดยโรงพยาบาลฯ ชี้แจงว่านายทักษิณมีภาวะวิกฤติสลับปกติ ซึ่งหากนายทักษิณป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติตามที่มีการชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษซึ่งตามปกติควรมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤติและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว
อีกทั้งกรมราชทัณฑ์ก็ไม่สามารถทราบได้ว่ามีผู้ต้องขังป่วยคนใดบ้างที่เข้าพักรักษาตัวในห้องพิเศษเนื่องจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ไม่ได้กำหนดให้เรือนจำที่ส่งตัวหรือสถานพยาบาลที่รับตัวผู้ต้องขังไว้ต้องรายงานให้ทราบ ทั้งที่กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากมีผลทำให้ผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งอาจได้รับสิทธิที่ดีกว่าผู้ต้องขังอื่น ๆ ที่มีอาการป่วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอดีตผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่อาจได้รับการดูแลแตกต่างหรือเป็นพิเศษมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป จึงเห็นว่า การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยเรือนจำฯ ไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำหรับกรณีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ อนุญาตให้นายทักษิณพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน เห็นว่า แม้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง กสม. ไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของนายทักษิณ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างถึงข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย แต่หากนายทักษิณมีอาการป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติสลับปกติจริงตามอ้าง ก็ควรได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณสามารถออกจากการควบคุมของเรือนจำฯ ตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์ นายทักษิณสามารถเดินทางกลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันทีโดยไม่พบว่าต้องเข้าไปรับการรักษาตัวในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก
รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ซึ่งใช้เป็นเหตุผลในการพักรักษาตัวกับโรงพยาบาลตำรวจมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ จึงยังมิอาจเชื่อได้ว่า นายทักษิณมีอาการป่วยจนถึงขนาดที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ นานถึง 181 วัน โดยไม่สามารถออกไปรับการรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือกลับไปคุมขังต่อที่เรือนจำฯ ได้ ในชั้นนี้ จึงเห็นว่า การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อันถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นกัน
กสม. เห็นว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีตามคำร้องนี้ นอกจากจะมีสาเหตุเกิดจากการกระทำหรือละเลยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญเกิดจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 5 (2) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ ซึ่งเปิดโอกาสให้สถานที่รักษาใช้ดุลยพินิจโดยขาดการพิจารณาจากเรือนจำที่ส่งตัวผู้ต้องขังออกไป และข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานเกิน 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน
ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบตามลำดับชั้น พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีข้อกำหนดว่าหากเลยระยะเวลา 120 วันไปแล้วต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้ผู้ต้องขังรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ อีกทั้งหากการรักษาตัวเกิน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อทราบเท่านั้น อาจก่อให้เกิดภาวะขาดการตรวจสอบถ่วงดุลและนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณีดังกล่าว
กสม. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) โดยได้ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ กสม. จึงมีมติให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 221 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบประกาศองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เรื่อง แนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้อ 6
นอกจากนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ยังมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
(1) มาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และกรมราชทัณฑ์ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำของโรงพยาบาลตำรวจ ตามหน้าที่และอำนาจ และกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นว่านี้อีก โดยต้องเปิดเผยความคืบหน้าเป็นระยะและแจ้งผลการดำเนินการต่อสาธารณะภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย รวมทั้งให้แพทยสภาตรวจสอบการกระทำของแพทย์สังกัดโรงพยาบาลตำรวจ ผู้ทำการรักษาหรือมีความเห็นทางการแพทย์ในกรณีตามคำร้องนี้ แล้วดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ทั้งนี้ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้
(2) มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล กรณีมีเหตุยกเว้นตามนัยมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส ป้องกันการเลือกปฏิบัติ และคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
(3) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง ให้กระทรวงยุติธรรมแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 โดยแก้ไขข้อ 5 (2) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ โดยควรกำหนดว่า “ในกรณีสถานที่รักษาผู้ต้องขังมีความจำเป็นต้องให้ผู้ต้องขังพักรักษาในห้องพิเศษหรือห้องอื่นนอกเหนือจากห้องปกติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากเรือนจำและกรมราชทัณฑ์เสียก่อน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่หากไม่ดำเนินการทันทีจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ต้องขังป่วย ให้ดำเนินการไปก่อนแล้วรีบขอความเห็นชอบ โดยต้องระบุเหตุผลความจำเป็นประกอบการขอความเห็นชอบนั้นด้วย”
และให้แก้ไขข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณี ต้องใช้อำนาจในการพิจารณาความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ประกอบความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา แทนการรับทราบเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ต้องขังรายหนึ่งรายใดได้ออกไปรักษาพยาบาลนอกเรือนจำโดยไม่มีเหตุอันควร
2. กสม. ชงแก้ไขกฎหมายให้ผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้โดยไม่จำกัดสิทธิว่าเป็นผู้กระทำผิด ตามหลักสากล “ผู้เสพคือผู้ป่วย”
นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง เมื่อเดือนมกราคม 2567 ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ออกประกาศเรื่อง กำหนดแบบบันทึกการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดในร่างกาย การตรวจสอบพฤติการณ์และสอบถามความสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา พ.ศ. 2565 และแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อนำผู้เสพหรือผู้ติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ขัดหรือแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชน และเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด และกรณีหน่วยงานของรัฐบังคับให้ผู้ต้องสงสัยว่าติดยาเสพติด ต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด จึงมีมติให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
กสม. ได้พิจารณาบทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี มาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นยาเสพติด และการประชุมรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า มี 3 ประเด็นที่ควรพิจารณา ดังนี้
ประเด็นที่ 1 กฎกระทรวงการดำเนินการเพื่อบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2565 ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการนำตัวผู้ที่มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพให้อยู่ในความดูแลเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ตรวจหรือทดสอบว่ามีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย ซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ครอบครองเพื่อเสพหรือไม่ ไม่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) นอกจากนี้ กฎกระทรวงฯ ข้อ 16 วรรคสอง ให้ใช้สถานที่ดูแลเป็นการชั่วคราวในสถานที่ราชการหรือสถานที่อื่นใดซึ่งเจ้าพนักงานเห็นสมควร มีลักษณะเปิดกว้างในการให้ดุลพินิจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่ 2 ประกาศสำนักงาน ป.ป.ส. เรื่อง กำหนดแบบบันทึกการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดในร่างกาย การตรวจสอบพฤติการณ์และสอบถามความสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา พ.ศ. 2565 แบบบันทึกการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดฯ หรือ แบบ ปยส. 115 มีข้อความว่า “กรณีที่ไม่ได้เข้ารับการบำบัดรักษา หลบหนี หรือไม่ได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาจนเป็นที่น่าพอใจ หากเจ้าพนักงานตรวจพบว่าเสพหรือครอบครองเพื่อเสพอีก จะไม่สามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในครั้งต่อไปได้และต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย” เป็นการจำกัดสิทธิในการเข้ารับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ในครั้งต่อไป ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ให้ถือว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” และให้บำบัดรักษายิ่งกว่าการลงโทษ
ประเด็นที่ 3 แนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อนำผู้เสพหรือผู้ติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด กรณีเคยถูกตรวจพบและสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษามาก่อน แต่ไม่ให้ความร่วมมือหรือหลบหนี ให้ถือว่ามีพฤติกรรมต้องห้ามและให้ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี เป็นการจำกัดสิทธิการเข้ารับการบำบัดรักษา และเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสุขภาวะและภาวะพึ่งพิงยาเสพติด อันไม่สอดคล้องกับกติกา ICESCR และมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ การกำหนดให้การมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ซึ่งแม้มีปริมาณน้อยกว่าที่กำหนดในบทสันนิษฐานตามร่างกฎกระทรวง แต่หากผู้กระทำความผิดนั้นมีพฤติการณ์และพยานหลักฐานรวมถึงประวัติในการกระทำความผิดว่าเป็นผู้ค้าหรือผู้จำหน่ายยาเสพติดมาก่อน ต้องถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ใช่ฐานครอบครองเพื่อเสพ ต้องนำตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีเป็นการให้อำนาจเจ้าพนักงานเกินสมควรโดยยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการกำกับ อีกทั้งการดูพยานหลักฐานและประวัติในการกระทำความผิด ถือเป็นการตีตราผู้ที่กระทำความผิดมาก่อนว่าต้องเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ อันไม่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
(1) ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายกระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส. หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ไขมาตรา 115 (6) แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด หากจำเป็นต้องคงบทบัญญัติดังกล่าวไว้ให้กำหนดแนวปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงฯ ให้ชัดเจนว่า กรณีใดต้องให้บุคคลอยู่ในความดูแลเป็นการชั่วคราว และสถานที่ซึ่งใช้ดูแลเป็นการชั่วคราวตั้งอยู่ที่ใดบ้าง รวมทั้งต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด และกำหนดมาตรการให้มีหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานอื่นควบคุมหรือถ่วงดุลเพื่อตรวจสอบและป้องกันการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน
นอกจากนี้ ให้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเปลี่ยนมาตรการลงโทษเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นการใช้นโยบายที่มีพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสาธารณสุข หรือพิจารณาส่งเสริมบทบาทของสถาบันครอบครัว สถาบันชุมชนให้ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ส่วนกรณีที่ผู้ต้องสงสัยว่าเสพหรือครอบครองเพื่อเสพยืนยันว่าไม่เข้ารับการบำบัดรักษา หน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายควรนำมาตรการทางปกครองหรือมาตรการทางเลือกที่เหมาะสมมาใช้แทนการลงโทษทางอาญา เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ
(2) ให้กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ตัดข้อความแบบ ปยส. 115 ที่เป็นการตัดสิทธิของผู้เสพหรือผู้ครอบครองเพื่อเสพในการเข้ารับการบำบัดรักษา ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และให้พิจารณาเพิ่มข้อความแบบ ปยส. 115 การนัดหมายกรณีไม่สามารถส่งตัวไปคัดกรองยังสถานพยาบาลยาเสพติด/ศูนย์คัดกรอง เป็น “กรณีไม่มารายงานตัวและรับการคัดกรองในวันและเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนด โดยไม่มีเหตุจำเป็น และไม่มีเหตุผลอันสมควรจะถือว่าไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาและจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย...” เพื่อให้ผู้ถูกจับกุมและประสงค์จะเข้ารับการบำบัดรักษา แต่มีเหตุจำเป็นและเหตุผลอันสมควรที่ไม่อาจมารายงานตัวและรับการคัดกรองในวันและเวลาที่กำหนด มีโอกาสในการเข้ารับการบำบัดรักษาต่อไป
รวมทั้งให้แก้ไขแนวปฏิบัติ หัวข้อ การพิจารณาพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเพื่อการดำเนินคดี หรือเพื่อส่งตัวไปเข้ารับการบำบัดรักษา ให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” “การลดบทลงโทษทางอาญาของผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด” เพื่อมิให้เป็นการตัดโอกาสการเข้ารับการบำบัดรักษา และลดการตีตราผู้เคยมีประวัติเป็นผู้ขายหรือผู้จำหน่ายยาเสพติดมาก่อน ทั้งนี้ ให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือกระบวนการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานด้านการสาธารณสุขและผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย
(3) ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำรายชื่อสถานพยาบาลหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นข้อมูลในการเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟู อันเป็นมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป
แท็กที่เกี่ยวข้อง ทักษิณชินวัตร ,กรรมการสิทธิฯ ,ทักษิณชั้น14