เลือกตั้งและการเมือง

กมธ.นิรโทษกรรม ยังไม่ตัดนิรโทษ ม.112 เตรียมนำ 3 แนวทาง โยนเข้าสภาชี้ขาด

โดย nattachat_c

19 ก.ค. 2567

24 views

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน บุก สภาฯ เรียกร้อง กมธ.นิรโทษกรรม รวมคดี 112 ด้วย ขณะ “ตะวัน” ยกเหตุ “บุ้ง” เสียชีวิต มีคนตายทั้งเป็น ขอพลังอำนาจ สส.คืนความยุติธรรม แม้ไม่มีพลังวิเศษ คืนชีวิตกลับมา


วานนี้ (18 ก.ค.67) เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เข้ายื่นข้อเรียกร้องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยมีนางศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล รับหนังสือ


พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมายื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนต่อสภาฯ แล้ว แต่ผ่านมาเกือบ 6 เดือน และเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายที่คณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ จะมีผลของการศึกษาพิจารณาว่าจะมีแนวทางอย่างไร เรามีข้อกังวล เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการนิรโทษกรรมฯ มีมติว่าจะไม่มีมติให้รวมเอาความผิดในคดีมาตรา 112 และมาตรา 110 


ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวยืนยันว่า การนิรโทษกรรมจำเป็นต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย เพราะหากไม่รวม ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่รัฐบาลอยากให้จบลง ก็จะไม่มีวันจบ เพียงเพราะมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ต้องให้ประชาชนมีพื้นที่ในการพูดคุย และใช้เสรีภาพได้อย่างเสมอภาค หากรัฐบาลและคณะกรรมาธิการไม่เหลือพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องนี้ เท่ากับผลักดันเรื่องนี้ให้ต้องไปคุยกันบนถนน รัฐบาลชุดใหม่ควรจริงจังกับการคืนความปกติให้เรื่องนี้

-------------

วานนี้ (18 ก.ค.67) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม


นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมธิการฯ ได้กล่าวถึงผลสรุปของกรรมาธิการที่ได้ประชุมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ เกือบได้ข้อยุติทั้งหมด สรุปได้ คือ


1. ควรมีการนิรโทษกรรมการกระทำที่มีเหตุแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีคำนิยามความผิดที่ชัดเจน จะกำหนดในผนวกแนบท้ายรายงาน ซึ่งมติในที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์


2. ที่ประชุมมีมติในกรณีความผิดต่อชีวิต ความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น ความผิดกรณีตามมาตรา 288 และมาตรา 289 ไม่รวมเข้ามาอยู่ในการนิรโทษกรรม เนื่องจากเป็นการประทุษร้ายต่อชีวิต ไม่ใช่การกระทำผิดต่อรัฐฝ่ายเดียว ทำให้บุคคลล้มตาย


3. ความผิดที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ มาตรา 112 คณะกรรมาธิการเห็นว่าเป็นความผิดที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง และการทำงานของกรรมการเป็นการศึกษาหาแนวทางตรากฏหมาย จึงมีมติว่าไม่โหวตว่าชนะแพ้


แต่จะส่งความเห็น 3 ประเภท ประกอบด้วย  

ประเภทแรก เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม

ประเภทที่สอง ให้ในรัฐกรโดยไม่มีเงื่อนไข

ประเภทที่สาม ให้นิรโทษกรรมแบบมีมาตรการเงื่อนไข เช่น ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ให้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ และมาตรการป้องกันกระทำความผิดซ้ำ


นายชูศักดิ์ กล่าวว่า โดยรวมคณะกรรมการเห็นว่า เรามีหน้าที่ศึกษา เราควรจะส่งความเห็นทั้งหมดให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา จะเห็นเป็นประการใดก็สุดแล้วแต่ ไม่ปิดกั้นความเห็นของฝ่ายใด และท้ายที่สุดได้มอบหมายให้เลขานุการจัดทำรายงาน มาตรวจสรุปรายงานในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะจะส่งรายงานทันภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

-------------

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า  หลังจากนี้ แต่ละพรรคการเมืองจะกลับไปทำร่างกฎหมายในแบบฉบับของตนเอง โดยนำข้อมูลข้อเสนอ และความเห็น ทั้งความเห็นที่เป็นเอกภาพ หรือความเห็นต่าง ร่างเป็นกฏหมาย


ส่วนการส่งให้สภาพิจารณา คงจะเป็นการลงมติรับรายงานหรือไม่ พร้อมกับให้ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะต่อรายงาน


ส่วนการนิรโทษกรรมตามมาตรา 112 และมาตรา 110 อาจจะต้องมีการพิจารณาถึงเงื่อนไขมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ได้มีความเห็น และเสนอเป็นรูปธรรม โดยได้รับมอบหมายจากประธานให้ไปรวบรวมความเห็นให้มาประกอบรายงานในสัปดาห์หน้า เช่น การที่นิทรรศการแบบมีเงื่อนไข  จะต้องแถลงข้อเท็จจริงของผู้กระทำผิดว่า เหตุใดกระทำการเช่นนั้นมีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างไร หรืออาจถูกซักถามว่า มีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และเปิดโอกาสให้คู่กรณีให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง


จะเป็นความเห็นในฝั่งที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ซึ่งผมเองเห็นว่า ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่มีความสำคัญ เนื่องจากการนิรโทษกรรมในคดี 112 ต้องยอมรับว่ามีข้อถกเถียงพอสมควร แต่รายละเอียดที่เกี่ยวว่า หากจะยอมนำมาพิจารณาว่านิรโทษกรรมหรือไม่ โดยมีการลงรายละเอียดควรมีตัวอย่างการกำหนดเงื่อนไข หรือมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ น่าจะเป็นข้อดี ซึ่งเป็นข้อเสนอใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย เพื่อให้ฝ่ายที่เห็นต่างได้พิจารณา และอาจยอมรับได้


นายชัยธวัช ระบุว่า ส่วนตัวเชื่อว่าหลังจากที่กรรมาธิการได้นำเสนอรายงาน และสภาได้พิจารณาแล้ว คิดว่าอาจจะมีหลายพรรคการเมืองยื่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของตัวเอง ซึ่งหลักการใหญ่เห็นตรงกันว่า การนิรโทษกรรมจะเป็นมาตรการคลี่คลายความขัดแย้ง แต่อาจจะเห็นไม่ตรงกันในรายละเอียดในบางอย่าง ซึ่งหลังจากนี้ ร่างของพรรคก้าวไกล จะหารือที่ประชุม สส.พรรค ปรับปรุงร่างให้สอดคล้องกับรายงานกรรมาธิการ

------------

ขณะเดียวกัน นายนิกร จำนง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการเปิดเผยว่าได้เตรียมจัดทำรายงาน 3 เล่ม เสนอที่ประชุมสภา ประกอบไปด้วย

1. สถิติข้อมูลเกี่ยวกับความผิด

2. การจำแนกคดี

3. เล่มกลางของที่ประชุมกรรมาธิการชุดใหญ่ ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการลงโทษมาตรา 112 ให้กรรมาธิการทุกคนให้ความเห็น และบันทึกไว้  

------------

วานนี้ (18 ก.ค. 67) นายประดิษฐ์ สังขจาย สส.พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พร้อมด้วยนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร  


ได้แถลงย้ำจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ต่อแนวทางตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมว่า พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในความผิด ในคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 ซึ่งเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย


ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ให้กับผู้ที่กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112

------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/cLauq407gbE


คุณอาจสนใจ

Related News