เลือกตั้งและการเมือง

นายกฯ แจงตั้งงบรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 67 1.22 แสนล้าน - “ศิริกัญญา” จัดหนักรัฐบาล ไล่ไปแก้กฎหมายให้ถูกใจก่อน

โดย kanyapak_w

17 ก.ค. 2567

155 views

การประชุมสภาพิจารณาพิจารณาร่างพ.ร.บ.บงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้เสนอวงเงินจำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท



นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมสภาพิจารณาพิจารณาร่างพ.ร.บ.บงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอวงเงินจำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท



โดย นายกรัฐมนตรี แถลงหลักการและเหตุผลระบุว่ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท



โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 122,000ล้านบาท จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



สำหรับประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้



1. ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 10,000 ล้านบาท



2. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท



ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ

ยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ



พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม



สำหรับภาวะเศรษฐกิจทั่วไป เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วง ร้อยละ 2.0 - 3.0 (ค่ากลางร้อยละ 2.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภค บริโภค และการลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก


อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 - 1.1 (ค่ากลางร้อยละ 0.6) และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ



ดังนั้นภายใต้สภาวะ เศรษฐกิจดังกล่าวรัฐบาลจึงมีความจำเป็น ต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง โดยงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้รัฐบาล จำนวน 10,000 ล้านบาทและเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 112,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิม ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท จะทำให้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3,602,000 ล้านบาท



แม้ว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น

แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 97,600 ล้านบาท โดยเมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี

งบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 710,080.5 ล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 807,680.5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ร้อยละ 17.1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.4

ของวงเงินงบประมาณรวมการบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ



โดยรัฐบาลยืนยันจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงิน ไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาตามศักยภาพอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามกฎหมาย


โดย นายกรัฐมนตรีใช้เวลาชี้แจง 13 นาที ก่อนจะเดินทางกลับเข้าปฏิบัติงานที่ ทำเนียบรัฐบาล โดยก่อนกลับได้แวะหยอดตู้ร่วมทำบุญถวายเทียนพรรษา วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ของวัดแก้วฟ้าจุฬามณี จำนวน 1,000 บาท



“ศิริกัญญา” จัดหนักรัฐบาล ไล่ไปแก้กฎหมายให้ถูกใจก่อน ค่อยทำ “ดิจิทัลวอลเล็ต” แนะเติมคำสร้อยไปท้ายมาตรา ใส่ชื่อ “ครม.-นายกรัฐมนตรี” ไปด้วย จะได้ชัดเจนว่าใครต้องเอา “คอ” ไปขึ้นเขียง โวยคิดอะไรไม่ออกก็เอาแต่เบ่งงบ กั๊กงบฉุกเฉินรอโครงการเงินหมื่น ลั่น ถึงว่า ออกมาบ่นเศรษฐกิจแย่ แต่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ถาม ยังมาขอกู้สภาแบบเต็มเพดานกันอีกเหรอคะ ไม่เหลือให้บริหารความเสี่ยงเลยหรือ ยังดีไม่ใช่งบ ธกส. วิงวอนพรรคร่วมคว่ำร่าง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น “ผู้สมรู้ร่วมคิด”



17 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีวาระพิจารณาเป็นพิเศษ คือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... หรืองบกลางเพิ่มเติม เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านกว่า 20 นาทีว่า ไม่รู้โครงการนี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ ซึ่งวงเงินมีการเปลี่ยนแปลงตลอด งบปี 68 ที่เราเพิ่งผ่านวาระหนึ่งไม่นาน กู้เพิ่ม 152,700 ล้านบาท ยังต้องกลับไปบริหารจัดการภายในงบประมาณปี 68 อีก 132,300 ล้านบาท วันนี้รัฐบาลมาขอกู้เพิ่ม 112,000 ล้านบาท และไปหารายได้อื่นมาอีก 10,000 ล้านบาท



"จะเห็นได้ว่าพอไม่มีเงินจาก ธกส.แล้ว ซึ่งก็เป็นการดีแล้วที่ไม่ได้ใช้เงินจาก ธกส. เพราะเราได้ท้วงติงมาโดยตลอดว่าผิดวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ. ของ ธกส.เอง และสภาพคล่องก็อาจจะไม่ได้เพียงพอที่สุดท้ายถ้าจะใช้ก็อาจจะต้องให้กระทรวงการคลังไปกู้มาให้ ธกส.กู้ต่ออยู่ดี” นางสาวศิริกัญญา กล่าว



นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่ปีนี้จะมีการกู้เพิ่มอีก 112,000 ล้านบาท เท่ากับว่างบประมาณของ ปี 67 จะมีการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลทั้งสิ้น 805,000 ล้านบาท ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ดี หากไม่นับของ ปี 68



"เป็นการทำสถิติอีกแล้วนะคะ ถ้าเรามองย้อนกลับไป เราไม่เคยตั้งงบประมาณเพื่อที่จะขาดทุนสูงขนาดนี้ ปกติมันต้องกดลงมาให้เหลือ 3% แต่ของท่านน่าจะติดใจกับการที่สามารถเบ่งงบออกไปเรื่อยๆ และกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึง 4.3% มันจะเป็นปัญหาในการเพิ่มหนี้สาธารณะเพิ่มภาระในการชำระดอกเบี้ยชำระหนี้ตามมา” นางสาวศิริกัญญา กล่าว



นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ที่เป็นปัญหามากกว่านั้นคือปัญหาเฉพาะหน้าในการที่เรากู้จนเต็มเพดาน งบปี 67 เราเพิ่งผ่านไปเมื่อต้นปีและประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เม.ย. เอง ตอนนั้นสภาอนุมัติไป 3.48 ล้านล้านบาท มันจะกลายเป็นเพิ่มขึ้นไปถึง 3.6 ล้านล้านบาท / กู้เพิ่มจะเพิ่มขึ้นจาก 693,000 ล้านบาท เป็น 805,000 ล้านบาท แต่หากไปดูเพดานการกู้จากเดิมถ้ายังไม่ได้ขยายเพดาน จะกู้ได้แค่ 790,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ จึงต้องขยายเพดานเป็น 815,056 ล้านบาท เหลือเพดานให้กู้เพิ่มได้อีกแค่ 10,056 ล้านบาท



"มันเหมือนกับว่ารัฐบาลคิดอะไรไม่ออกก็ใช้วิธีการเบ่งงบ เบ่งรายจ่ายให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีรายได้เพิ่ม รายได้ที่เพิ่มขึ้นเพิ่มเพียงแค่ 10,000 ล้านบาท เท่านั้นเอง และถ้ารายได้ไม่มาเท่ากับว่า เราจะไม่เหลือพื้นที่ให้กู้เพิ่มได้อีกเลย” นางสาวศิริกัญญา กล่าว



ปัญหาคือพอเราหาเงินไม่ทันแบบนี้ ต้องไปดูที่ฝั่งรายได้ด้วยว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณเหลือเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงเวลาจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าได้หรือไม่ ทำให้งบประมาณที่สภาอนุมัติไปแล้วสุดท้ายมันอาจจะใช้ได้ไม่ครบ 3.48ล้านล้านบาท เพราะรายได้ไม่เข้าเป้า เเละเรากู้โปะได้ไม่เพียงพอ หน่วยงานไหนที่มาเบิกจ่ายตอนหลังอาจจะโชคร้าย เงินอาจจะไม่มีแล้ว ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ไม่ได้สนใจไม่ได้แคร์อะไรว่าประเทศจะต้องมาอยู่กับความเสี่ยงแบบนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตทำให้ต้องกู้จนสุดเพดาน



นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ตามเอกสารที่สภาได้รับมาจากรัฐบาล มีการประมาณการ GDP ใหม่ด้วย เปลี่ยนสมมุติฐานทางเศรษฐกิจบอกว่า GDP จากเดิมที่จะโตได้ 2.7% มาเหลือ 2.5% เงินเฟ้อก็ลดลง แต่พอไปดูเอกสารประมาณการงบประมาณรายได้ ปรากฏว่าไม่มีการประมาณการรายได้ใหม่บอกว่าจะจัดเก็บรายได้เท่าเดิม ทั้งที่เศรษฐกิจไม่ได้โตตามคาด



"มันเป็นไปได้ยังไงที่เราไม่ได้ประมาณการรายได้ใหม่เลย ทั้งที่ระยะเวลามันล่วงเลยมาหลายเดือนแล้ว จากที่เคยได้ประมาณการครั้งล่าสุด ผลการจัดเก็บก็เห็นอยู่ว่ามันไม่ได้เท่าเดิม เมื่อตอนต้นปีดิฉันเคยอภิปรายเอาไว้ว่ารายได้มาจากจัดเก็บได้ไม่เข้าเป้า เพราะภาษีขายหุ้นไม่มีแล้ว” นางสาวศิริกัญญา กล่าว



นางสาวศิริกัญญา ย้ำว่า ตอนนี้ตัวเลขทางการของ 8 เดือนแรกก็ต่ำกว่าเป้า ผล 9 เดือนก็น่าจะออกวันนี้พรุ่งนี้แล้ว แต่ละกรมเขาทอยอยออกมาแถลงข่าวกันแล้วว่าเขาจัดเก็บได้เท่าไหร่ ดูท่าทีไม่มีทางที่จะเก็บภาษีได้ตามเป้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมสรรพสามิต พี่เพิ่งแถลงข่าวว่าจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้า 58,000 ล้านบาท ท่านอธิบดียังมาชี้แจงที่ห้องงบประมาณด้วยว่าทั้งปีอาจจะหลุดเป้าไปที่ 60,000-70,000 ล้านบาท ด้วยสถานการณ์แบบนี้ที่เรายังไม่รู้ว่าเราจะมีรายได้เพียงพอที่จะใช้สำหรับปีงบ 67 หรือไม่



"ท่านก็ยังมาขอกู้สภาแบบเต็มเพดานกันอีกเหรอคะ จะไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้บริหารความเสี่ยงอะไรเลยใช่หรือไม่คะ" นางสาวศิริกัญญา กล่าว



นางสาวศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ท้ายที่สุดผ่านมา 7 เดือนแล้วงบกลางยังใช้ไม่ถึงไหน ยังอนุมัติแค่ 17,991 ล้านบาท บางโครงการยังไม่ได้เบิกจ่ายด้วยซ้ำไป



"ก็ถึงว่าท่านบอกว่าเศรษฐกิจแย่ แต่ไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือประชาชนเลย พอเราตั้งกระทู้ถามสดหน่อย โอ้โฮ เมื่อวานนี้ออกมาหลายเรื่องเลย เพื่อจะช่วยปัญหาประชาชน แต่เท่าที่ดูก็มีแต่มาตรการเดิมๆ ไม่ได้มีอะไรที่น่าจะช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่จะต้องรอดิจิทัลวอลเล็ตได้ ไม่มีมาตรการช่วยเศรษฐกิจแต่อย่างใด ที่เป็นแบบนี้ก็ช่วยไม่ได้ค่ะ เราก็คงต้องสรุปว่างบกลางเงินสำรองที่สภาอนุมัติไว้เกือบ 100,000 ล้านบาท มันไม่ออกมาเลยก็เพราะว่ารัฐบาลยังไม่รู้ ณ ตอนนั้นว่าตกลงจะต้องเอามาใช้กับดิจิทัลวอลเล็ตกี่บาท ตอนนี้น่าจะเคาะแล้วว่าใช้แค่ 43,000 ล้านบาท เท่ากับว่าเงินส่วนนี้ จะไม่ได้ออกไปกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไปสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงปีงบประมาณนี้ใช่หรือไม่ ก็ต้องถูกกั๊กเอาไว้ ไปจนถึงปลายปีอยู่ดี" นางสาวศิริกัญญา กล่าว



นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า งบกลางปี จะไปใช้ข้ามปีก็คงไม่ได้ มันก็ผิดมาตรา 21 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังอย่างชัดเจน และไม่สามารถรอใช้พร้อมงบประมาณในปีถัดไปได้ด้วย หรือจะให้ใช้การก่อหนี้ผูกพันก็ทำไม่ได้ เพราะมันต้องทำสัญญาทั้งสองฝ่าย แค่การลงทะเบียนถือเป็นการทำสัญญาฝ่ายเดียว ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ บริหารผิดพลาด



นางสาวศิริกัญญา ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่แก้กฎหมายไม่ถูกใจก่อนค่อยทำ ตนเสนอว่าให้รัฐบาลแก้ไข มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังไปเลย เติมท่อนสร้อยว่า เว้นแต่มีเหตุให้เป็นอย่างอื่น โดยต้องให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะได้เห็นชัดไปเลยว่าเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายการเมือง หรือเปลี่ยนเป็นนายกรัฐมนตรี จะได้เห็นชัดว่าใครที่ต้องเอาคอขึ้นเขียง เวลาทำผิดกฏหมายแบบนี้



"เพราะตอนนี้เวลาที่เราเดินหน้าลุยไฟ ทำผิดกฎหมายอยู่แบบนี้ คนที่เดือดร้อนที่สุดคือข้าราชการประจำตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นคนชงเรื่องต่างๆ ทุกวันนี้ฝ่ายการเมืองไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไรเลย เวลาที่ตัดสินใจจะทำอะไรที่มันเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย" นางสาวศิริกัญญา กล่าว



นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนเดียวคือต้องรักษาหน้า ใช้เงินสำรองจ่ายแบบยืมเงินข้ามปี แต่หากไม่เคยคิดจะใช้เงินทุนสำรอง ตนก็ถือว่าดี ถือเป็นวาสนาประเทศที่ไม่ใช้เงินทุนสำรอง



วันนี้ตนไม่ได้อยากมาพูดแต่เรื่องกฎหมาย แต่มันปรากฏขึ้นอยู่ตลอดเวลา วันนี้คนใช้ดิจิทัลวอลเล็ต ก็ทราบกันอยู่แล้วว่าใช้เพื่ออุปโภคบริโภค แต่ก็ยังสามารถตีความเป็นรายจ่ายลงทุนได้ถึง 80% กลับหัวกลับหางกันไปหมด ซึ่งถือเป็นปัญหาว่าอะไรคือรายจ่ายลงทุน และหากไม่ใช่จะถือเป็นการทำผิด พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง



นางสาวศิริกัญญา ระบุอีกว่า นายกรัฐมนตรีประกาศไปแล้วว่าจะได้ อีก 15 วันจะลงทะเบียน แต่ยังหาเจ้าภาพไม่ได้ ระบบลงทะเบียนเพิ่งจะได้ผู้ชนะการประมูล เป็นไปได้อย่างไร ระบบชำระเงินก็ยังไม่ได้ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งข้อสงสัยว่าระบบที่ซับซ้อนมาก ใช้เงินเพียง 95 ล้านบาท



"อาจจะตีความได้ว่าคนที่เข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบอาจจะกลายมาเป็นเจ้าของระบบในที่สุด แล้ว 95 ล้านบาทในการพัฒนาระบบก็ถือว่าเป็นการทำบุญไปกับบริษัทเอกชนที่จะได้เป็นเจ้าของ หรือบริษัทเอกชนนั้น ก็อาจจะเป็นการทำการกุศลก็ได้ เพราะต้นทุนแท้จริงแล้วอาจจะมากกว่านั้น" นางสาวศิริกัญญา กล่าว



ตนกังวลที่สุดในส่วนร้านค้า เพราะยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้ามาร่วมโครงการได้ ระบบที่ถูกออกแบบมามันเอื้อให้กับร้านค้าที่เขามีสายป่านยาว แต่ร้านค้าหลายๆรายย่อยที่เป็นเงินหมุนเงินสดเขาจะอยู่ไม่ได้ ถือเป็นการกีดกันรายย่อย



นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ตนยังแทงว่ารัฐบาลใช้งบ 5 แสนล้านบาททำดิจิทัลวอลเล็ต ถามว่าได้อะไรบ้าง ได้เพิ่ม GDP เต็มที่ 350,000 ล้านบาท



"วิญญูชนไงคะท่านประธาน ลงทุน 500,000 ล้าน ได้คืน 350,000 ล้าน เรียกคุ้มหรือไม่คะ แล้วสิ่งที่เราจะเสีย เราเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังให้กับประเทศ ตอนนี้ไม่มีปัญญาจะรับมือกับอะไรที่มันฉุกเฉินเข้ามา แค่ฝ่ายค้านพูดว่าต้องมีมาตรการเฉพาะหน้า วิ่งหาเงิน อ้าว เงินไม่เหลือแล้ว เพราะต้องเก็บไว้ทำดิจิทัลวอลเล็ต ยังต้องทำผิดกฎหมายอีกหลายข้อ" นางสาวศิริกัญญา กล่าว



เมื่อนางสาวศิริกัญญากล่าวจบ นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ลุกประท้วงว่า นางสาวศิริกัญญาพูดคำว่าร่าง พ.ร.บ. ผิดกฎหมายไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง จะทำให้คนที่ชมเข้าใจผิด เป็นการใส่ร้าย แต่นายพิเชษฐ์ วินิจฉัยว่าเดี๋ยวรัฐบาลจะได้ตอบเอง



ทำให้นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า หากทำได้จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิดในการบริหารงบประมาณในอนาคต เสียโอกาสในการทำนโยบายช่วยเหลือประชาชน ทำให้พื้นที่ที่จะมีงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่างๆลดน้อยถอยลง จะเป็นกระสุนนัดใหญ่ นัดแรก นัดเดียวและหน้าสุดท้ายของทางรัฐบาลที่จะได้มีโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้



"วันนี้ดิฉันจะขอส่งความห่วงใยผ่านท่านประธานไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล ว่าท่านจะกลายมาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำผิดกฏหมายครั้งนี้ สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าท่านเองก็ยังพอยึดถือหลักการอะไรอยู่ในหัวใจ นับถือหลักวิชาการ มีความรู้เรื่องงบประมาณการคลัง ท่านคงดูได้โดยไม่ต้องสงสัยว่าทำแบบนี้มันจะทำให้ประเทศเราสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร ก็ต้องขอโน้มน้าวผ่านท่านประธานไปนะคะให้ สส. ฝ่ายรัฐบาลคว่ำร่าง" นางสาวศิริกัญญา กล่าว

คุณอาจสนใจ

Related News