เลือกตั้งและการเมือง

ถกเดือด! แก้ปัญหา 'ปลาหมอคางดำ' ซีพีเอฟยันไม่ใช่ต้นตอระบาด กรมประมงยันไม่เคยได้รับตัวอย่างปลา

โดย nattachat_c

17 ก.ค. 2567

74 views

กระทรวงเกษตรและสหรณ์ ประกาศมาตรการเร่งด่วนล่า 'ปลาหมอคางดำ' พร้อมเคาะราคารับซื้อ 15 บาทต่อกก. บรรยากาศถกเดือด ตัวแทนประมงถามหาต้นตอรับผิดชอบ - ด้าน 'ธรรมนัส' รุดสังเกตการณ์ ก่อนลั่น หากชัดเจนบริษัทต้นเรื่อง ไม่เอาไว้แน่ - ขณะที่ 'อธิบดีประมง' เผย กรมประมงไม่พบตัวอย่างปลา ตามที่เอกชนอ้างส่งมอบให้เมื่อปี 2554 เตรียมแถลงละเอียดวันนี้ (17 ก.ค. 67)


วานนี้ (16 ก.ค. 67) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา  รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ปลาหมอคางดำ ว่า 


จากข้อมูลทางวิชาการ ปลาสายพันธุ์นี้อยู่ได้ทั้ง 3 น้ำ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย แต่ ณ ปัจจุบัน ตนคิดว่าอยู่ได้ 4 น้ำด้วยซ้ำ น้ำเน่าก็อยู่ได้ น้ำเสียก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้น มันมีความคงทน เรียกว่าอึด เผชิญต่อทุกสภาพแวดล้อม ที่สำคัญ ปลาตัวเมียท้องทุก 2 เดือน เพราะฉะนั้น มันปล่อยลูกตัวเล็กให้ตัวผู้อม เพื่อป้องกันอันตราย จนกว่าจะแข็งแรงจำนวน 200-300 ตัว อัตราการเจริญเติบโต หรือขยายพันธุ์มันทวีคูณมาก


อานุภาพการทำลายล้างของปลาชนิดนี้มันจะไม่กินกันเอง เมื่อหิวไม่กินปลาสายพันธุ์เดียวกันเอง แต่จะไปกินปลาสายพันธุ์อื่น และระยะเวลาในการหิว จากที่มีรายงานเข้ามา ปลาชนิดนี้หิวทุกชั่วโมง เพราะฉะนั้น ทุกชั่วโมง ปลาที่กำลังจะขยายพันธุ์ มันหิว มันก็ต้องกินทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก พืช พี่พบเจอกันในคลองธรรมชาติ


นายณัฐชา กล่าวอีกว่า หากไปในลำคลองสาธารณะตอนนี้ ต้องพบปลาอย่างน้อย 5-6 สายพันธุ์ แต่ตอนนี้มีเพียงปลาหมอคางดำ 90-95%


นายณัฐชา ระบุว่า บริษัทที่นำเข้ามาทำการทดลองในตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และแจ้งว่าได้ทำลายทิ้งไปหมดแล้ว  ซึ่งปี 2555 เกษตรกรในตำบลยี่สาร ก็พบปลาสายพันธุ์นี้ครั้งแรก โดยไม่ทราบชื่อ และแจ้งต่อกรมประมงว่า ในตำบล พบปลาสายพันธุ์นี้เยอะมาก คล้ายปลาหมอเทศ แต่มีคางสีดำ ไม่แน่ใจว่าเป็นปลาชนิดอะไร


“มันบังเอิญอยู่ตำบลเดียวกัน อำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน ระยะเวลาไล่เลี่ยกัน อันนี้คือข้อสงสัยที่น่าตั้งข้อสังเกตอย่างยิ่ง” 
--------------

นอกจากนี้ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา อนุ กมธ. ได้เรียกบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มาชี้แจงถึงกรณีการนำเข้าปลาหมอคางดำต่ออนุฯ


อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทไม่ได้มาด้วยตัวเอง แต่ขอชี้แจงเป็นเอกสาร ซึ่งเขาให้ข้อมูลว่าได้มีการขออนุญาตนำเข้าจริง จากคณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อปี 2549 หลังจากนั้นเมื่อขออนุญาตแล้วก็ไม่ได้นำเข้าเลย แต่มานำเข้าในปี 2553 ซึ่งขออนุญาตนำเข้าจากประเทศกานามาทั้งหมด 2,000 ตัว หลังจากนำเข้าพอมาถึงแล้ว ยังไม่ได้เริ่มต้นโครงการวิจัยปลาก็อ่อนแอ และทยอยตายไปทั้งหมด


นายณัฐชา กล่าวต่อว่า เริ่มต้นมาถึงแล็บก็เหลือเพียง 600 ตัว หลังจากนั้นก็ทยอยตายอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ทางแล็บยกเลิกโครงการไป แล้วได้ทำลายซากปลาที่เหลือด้วยการฝังกลบ โรยปูนขาว หลังจากนั้นก็ได้เก็บตัวอย่างจำนวน 50 ตัว ใส่ขวดโหล ดองฟอร์มาลีนโหลละ 25 ตัวส่งให้กรมประมง ตามกระบวนการขั้นตอนที่กรมประมงระบุไว้ในปี 2554


และขอยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด เนื่องจากทำตามขั้นตอนของกรมประมงทั้งหมด และยืนยันว่าทำลายซากปลาเสร็จสิ้นแล้ว นี่คือข้อมูลตามเอกสารที่ทางซีพีเอฟส่งมายังอนุฯ


นายณัฐชา กล่าวว่า ดังนั้น หลังจากเราได้รับการชี้แจงเป็นเอกสารมา ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ เราจะเชิญ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมประมง มาสอบข้อมูลตามเอกสารที่เอกชนแจ้งเข้ามา เพราะว่าเขาแจ้งว่าได้ส่งซากปลา จำนวน 50 ตัว  ให้กรมประมงตั้งแต่ปี 2554


และกรมประมงก็มีเอกสารงานวิจัยตั้งแต่ปี 65 ว่าปลาที่ระบาดอยู่ทั่วประเทศในเวลานี้ คาดว่ามีแหล่งกำเนิดเดียวกัน เพราะว่าสัดส่วนทางพันธุกรรม ดีเอ็นเอ ต่างๆ ที่ได้ศึกษาไว้ตรงกัน เมื่อเราเจอดีเอ็นเอปลายทางแล้ว สิ่งที่เราต้องการหาต่อ คือ ดีเอ็นเอต้นทางว่า ที่มีการระบาดอยู่ทั่วประเทศมันมาจากจำนวน 2,000 ตัว ที่นำเข้าหรือไม่ ซึ่งต้องใช้ซากปลาตรงนั้น แต่เหตุใดจึงไม่ได้มีการนำมาเทียบเคียงกับงานวิจัยเมื่อ 65 หลังปี 65 งานวิจัยก็เงียบหาย และจบไป


เมื่อถามว่า ซากปลาหมอคางดำในขวดโหลมีอยู่จริงหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า เรื่องซากปลานั้น ทางเอกชนยืนยันว่าส่งให้กรมประมงแล้ว ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ได้ลงพื้นที่ไปที่แล็บนี้ และได้ให้ข้อมูลไว้ตั้งแต่ปี 61 บอกว่ามีการส่งตัวอย่างไปให้ทางกรมประมงเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น กรมประมงต้องมี ไม่มีไม่ได้ เพราะว่าเอกสาร ทั้งการสืบค้นของ อสม.ทั้งแล็บเอกชน ยืนยันว่าอยู่ที่คุณ  


แต่ล่าสุด อธิบดีกรมประมงให้สัมภาษณ์ในสื่อต่าง ๆ ว่า ไม่เคยได้รับ และไม่เคยรู้ว่ามีการส่งตัวอย่างพันธุ์ปลามาที่กรมประมง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่า วิธีการหรือกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ของการนำเข้าปลาจากต่างประเทศ มันมีวิธีการที่รัดกุมมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าสุดท้ายพอมันส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ แล้วมันสร้างผลกระทบอย่างมากทางเศรษฐกิจ


แต่ว่าสิ่งที่เราต้องการตามต่อจากกรมประมง  คือ เขาแจ้งว่าทำลายทิ้งหมดแล้ว กรมประมงได้ไปดู และตรวจสอบหรือไม่ เพราะว่าปลาสายพันธุ์นี้อานุภาพทำลายล้างมันสูง หากปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจสอบจริง แล้วมันหลุดออกมา มันสร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนจำนวนมาก


อีกทั้ง วิธีการทำลายของเขา เป็นการฝังกลบทั้งเป็นหรือไม่ หรือเป็นการฝังกลบแบบไหนอย่างไร วิธีการถูกต้องหรือไม่ ทางกรมได้เข้าไปตรวจสอบ หรือมีเอกสารการดำเนินการในวันนั้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราต้องการจะสืบค้นต่อไปในวันที่ 18 ก.ค. นี้

-------------

วานนี้ (16 ก.ค. 67) นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  กล่าวว่า ในส่วนงานสัตว์น้ำ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยได้ทบทวนย้อนหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2553 ถึงวันทำลายในเดือนมกราคม 2554 มั่นใจได้ว่า บริษัทได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง และด้วยความรอบคอบ ตามหนังสือชี้แจงที่ได้นำส่งไปยัง คณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.)


นายเปรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  บริษัทยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานรัฐตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ด้าน ประกอบด้วยง


1. ทำงานร่วมกับกรมประมงในการสนับสนุนให้มีการรับซื้อปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นปลาป่น

2. ทำงานร่วมกับภาครัฐในการสนับสนุนการปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ

3. สนับสนุนภาครัฐในการจัดกิจกรรมจับปลา

4. สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำร่วมกับสถาบันการศึกษา

5. สนับสนุนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ

--------------

โดย หนังสือชี้แจงไปยัง กมธ. มีรายละเอียด ดังนี้ :


ในปี 2553 บริษัทได้นำเข้าปลาจำนวน 2,000 ตัว  ซึ่งพบว่า มีปลาสุขภาพไม่แข็งแรงและตายจำนวนมากในระหว่างทาง  ทำให้เหลือปลาที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัว  ซึ่งได้รับการตรวจสอบ ณ ด่านกักกันโดยกรมประมง ทั้งนี้ เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงตายต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้ โดยทำลายซากปลาตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปยังกรมประมงในปี 2554


นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ คณะผู้ตรวจเยี่ยมจากกรมประมง เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของบริษัท ณ จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขอข้อมูลจำนวนลูกปลาหมอคางดำที่นำเข้าเมื่อปี 2553 และการบริหารจัดการ ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด


ต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มอีกครั้ง ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้ชี้แจงถึงวิธีการทำลายปลาทั้งหมด โดยใช้สารคลอรีนเข้มข้น และฝังกลบซากปลาโรยด้วยปูนขาว และยืนยันว่า ไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดดังกล่าว

------------------

วานนี้ ร.อ.ธรรมนัส  กล่าวสรุปว่า ตนได้ปรึกษานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแล้ว  ในส่วนของมาตรการที่ 1 และ 3 นั้น  เห็นชอบให้รับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาท


โดยจะมีงบประมาณการซื้อจากงบกองทุนสวนยางแห่งประเทศไทย ซึ่งจะซื้อไปทำปุ๋ยและทำต่อเนื่อง ในระหว่างที่รองบกลางในการรับซื้อ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

------------------

เวลา 13:00 น. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  มีการประชุมคณะทำงานชุดใหญ่แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาดและมาตรการป้องกัน  โดยมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานฯ ร่วมด้วย นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง และตัวแทนคณะทำงาน ซึ่งเป็นประมงของจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้ง 16 จังหวัด  ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสงคราม / จันทบุรี / ระยอง / ฉะเชิงเทรา / สมุทรปราการ / ราชบุรี / สมุทรสาคร / เพชรบุรี / ประจวบคีรีขันธ์ / ชุมพร / สุราษฎร์ธานี/ นครศรีธรรมราช / สงขลา / ตราด / ชลบุรี และ กทม. 


โดย เวลาประมาณ 16.00 น.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาสังเกตการณ์การประชุมด้วย ซึ่งตรงกับช่วงการประชุมวาระสุดท้าย คือ วาระที่ 5.1 ร่างแผนปฎิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ.2567-2568 ซึ่งมีการเสนอทั้งหมด 5 มาตรการด้วยกัน ประกอบด้วย


1. การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด งบประมาณ 50,720,050 บาท

2. การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติหรือการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง งบประมาณ 75,196,400 บาท

3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ งบประมาณ 39,327,400 บาท

4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน งบประมาณ 4,428,250 บาท

5. การสร้างความรู้ความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ งบประมาณ 12,335,700 บาท


รวมงบประมาณทั้งหมด 181,907,800 บาท


ช่วงหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ขณะนี้กำลังติดต่อพี่น้องทางภาคอีสาน  ว่าสนใจนำไปทำปลาร้าหรือไม่   ในขณะที่ตัวแทนประมง ซึ่งเป็นคณะทำงานการแก้ปัญหา บอก ร.อ.ธรรมนัส ว่า ข้อเสนอนี้ยังมีข้อกังวลคือการเคลื่อนย้ายข้ามถิ่น


หากมีการเคลื่อนย้ายไปทางภาคอีสานต้องมีขั้นตอนในการหมัก มีสถานที่ให้ชัดเจน หากล้างแล้วไข่ไหลลงแหล่งน้ำธรรมชาติ อาจระบาดได้


ร.อ.ธรรมนัส จึงกล่าวว่า “ดังนั้นเรื่องนี้กรมประมงต้องให้ความรู้นะ ไม่ใช่ว่าซื้อไปแล้วไปแพร่กระจายต่ออีก เพราะปลาพวกนี้มันฉลาดมันอมไข่ไปด้วยนะ” ก่อนจะสรุปว่า สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนตอนนี้คือเรื่องการรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 15 บาท


ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567)  กำจัดปลาหมอคางดำได้ทั้งสิ้น 623,370 กิโลกรัม จำแนกเป็นปริมาณปลาหมอคางดำที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 325,668 กิโลกรัม และปริมาณปลาหมอคางดำที่จับจากบ่อเพาะเลี้ยง 297,702 กิโลกรัม


ต่อมา ช่วงหนึ่งในที่ประชุม ตัวแทนประมงที่เป็นคณะทำงานพูดว่า ในเมื่อรัฐมนตรีมาแล้ว จึงอยากสอบถามเรื่องสำคัญ คือ ต้นตอของการระบาด ตอนนี้ทุกสื่อมีการพูดถึงชื่อบริษัทดังกล่าวแล้ว แต่ในที่ประชุมนี้ยังไม่กล้าพูดเลย จึงอยากสอบถามท่านรัฐมนตรีว่า จะมีวิธีการอย่างไร เพราะกรมประมงเป็นจำเลยของสังคมอยู่ อยากสอบถามว่าจะจัดการกับบริษัทเอกชนรายนี้อย่างไร


ร.อ.ธรรมนัส  บอกว่า  เรื่องนี้ต้องไปพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าที่พูดถึงบริษัทนั้นบริษัทนี้ ต้องช่วยกันเอาหลักฐานมา รวมทั้งข้อมูลที่ว่า มีการส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำ 50 ตัวให้กรมประมง กรมประมงก็ต้องตอบให้ได้อย่างชัดเจนว่าส่งตอนไหน อย่างไร รับมาแล้วอยู่ตรงไหน มี-ไม่มีต้องบอกให้ชัดเจน


กรมประมงเองต้องกล้าโต้ตอบ ต้องเอาความจริงมาพูด ไม่ต้องกลัวใคร บริษัทจะใหญ่แค่ไหนไม่จำเป็น และไม่สำคัญ สำคัญแค่ว่าปัญหามันเกิด บริษัทที่นำเข้ามาต้องรับผิดชอบ และยิ่งเป็นต้นตอทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศ ต้องลงโทษให้ได้  และหากตนได้ข้อมูลชัดเจนแล้วว่าเป็นบริษัท ก. หรือ ข. ตนก็ไม่ปล่อยเหมือนกัน


จากนั้น ตัวแทนประมงเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนเรื่องนี้โดยเฉพาะ   ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า มีคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.) จัดการเรื่องนี้ หากบทสรุปทราบแล้วว่าเป็นบริษัทใด จากนั้น เป็นหน้าที่ของกรมประมงที่ต้องดำเนินการต่อไป


ต่อมา นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงประเด็นที่บริษัทเอกชนยืนยันว่า ส่งตัวอย่างปลาให้กับกรมประมงแล้ว เมื่อปี 2554  ซึ่งตนได้เรียกข้อมูลมาดูหมดแล้วในส่วนของระบบการส่งตัวอย่าง แต่ไม่พบว่ามีการนำส่ง ส่วนระบบการควบคุม DNA ของกรมประมง ก็ไม่มีเช่นกัน  ซึ่งเรื่องนี้จะมีการแถลงข่าวความชัดเจน ในวันนี้ 17 ก.ค.เวลา 10.30 น. ที่กรมประมง

------------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/vUsRfMjjJTA


คุณอาจสนใจ