เลือกตั้งและการเมือง

'เศรษฐา' มอง 'ทักษิณ' พูดถึงปมความขัดแย้ง เหตุเป็นห่วงบ้านเมือง ไม่ใช่ปลุกปั่น

โดย passamon_a

10 มิ.ย. 2567

32 views

เศรษฐา มอง ทักษิณ พูดถึงปมความขัดแย้ง เหตุเป็นห่วงบ้านเมือง ไม่ใช่ปลุกปั่น ชี้วิธีการพูด-ตักเตือน แต่ละคนต่างกัน ไม่ขอพูดอำนาจเชิงซ้อน แต่อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ตน ยอมรับต่างชาติตั้งคำถาม ลั่นทำงานไม่ย่อท้อ ยังยิ้มได้ รับบางทีก็กัดฟันเหมือนกัน


เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่จังหวัดลำปาง ถึงความเคลื่อนล่าสุดของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปพูดในงานบวชที่จังหวัดปทุมธานี ทำให้นักวิชาการบางคนมองว่าเป็นเรื่องของการปลุกปั่น ว่า อย่างที่ตนเรียน ไม่ได้มองเป็นลักษณะของการปลุกปั่น แต่เชื่อว่าแต่ละคนมีหลักความคิดและวิธีคิดแตกต่างกันไป และเชื่อว่านายทักษิณ อดีตนายกฯ หรือหลาย ๆ ท่านที่ออกมาให้ข่าวในช่วงหลังนี้ เชื่อว่าทุกคนเป็นห่วงบ้านเมือง แต่วิธีการพูดวิธีการตักเตือนก็มีหลาย ๆ วิธีที่แตกต่างกัน ในหน้าที่ของฝ่ายบริหารก็มีหน้าที่รับฟังและอะไรที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ หรือสถานการณ์โดยรวมของประเทศ ก็เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องรับไปพิจารณา รับไปปฏิบัติ


เมื่อถามว่าดูเหมือนจะกระทบชิ่งไปทางพรรคร่วมรัฐบาลด้วย จะกระทบต่อเสถียรภาพ ต่อพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนอยู่ด้วยกันก็มีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง ตนในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็มีหน้าที่ใช้คำว่าประสานใจก็แล้วกัน หากมีเรื่องข้องใจก็มานั่งพูดคุยกัน ซึ่งตนก็พยายามที่จะต้องมีการพูดคุยกันกับทุกพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว


ส่วนประเด็นทางการเมืองจะท้าทายกับการทำงานของนายกฯ จนทำให้การทำงานสะดุดลงไปหรือไม่ ถึงเวลานี้มั่นใจใช่หรือไม่จะไม่ทำให้สะดุดลง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "สองคำถามคือท้าทายกับสะดุดหรือไม่ ท้าทายแน่นอน และที่ถามว่าเป็นห่วงไหมก็เป็นห่วง แต่สะดุดไหมผมว่าไม่สะดุด เพราะผมเชื่อว่าแรงบันดาลใจจากพี่น้องประชาชน ยังไม่มีความสุขพอ ขอใช้คำนี้ ผมว่าเป็นแรงบันดาลใจที่ผู้บริหารทุกกระทรวง ทบวง กรม ทุกคนอยากเห็นความสุขอยู่ในชีวิตของพี่น้องประชาชน ฉะนั้นท้าทายก็ท้าทาย แต่ไม่สะดุดครับ"


เมื่อถามว่า ความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ มีการมองสองมุม บางคนมองว่าช่วยดึงมวลชน แต่บางมุมมองว่ากระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยด้วย ได้มีการพูดคุยหรือพิจารณาหรือไม่ว่าจะต้องทำอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยส่วนตัวของตนในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้พยายามทำตัวให้เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ข้อแนะนำต่าง ๆ บางทีสื่อมวลชนก็แนะนำแรง บางคนพูดจาไพเราะแต่เราอย่าไปดู วิธีการนำเสนอมานี้มันรุนแรงเสียดทาน ก้าวร้าว เรามองถึงเจตนารมณ์ดีกว่า เชื่อว่าทุกท่านไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ทุกคนอยากให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้ แต่ทุกคนมีวิธีการทำงานที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายแตกต่างกันไป ตนก็พยายามมองให้เป็นบวกดีกว่า อย่างที่บอกว่าท้าทายไหมก็ท้าทาย


เมื่อถามว่าก่อนที่สภาจะเปิด ตรงนี้จะมีการเชิญแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาพูดคุยกันหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีการคุยมาตลอดและจะคุยต่อไป และในวันจันทร์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ก็จะมีโอกาสได้เจอหลายท่านในพรรคร่วมรัฐบาล


ส่วนกรณีที่บางฝ่ายในพรรคร่วมรัฐบาลแคลงใจอาจไม่อยากให้เกิดการขุ่นใจ เพราะนายทักษิณได้พูดทำนองถึงคนในบ้านป่าทำให้เกิดความวุ่นวาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนคงไปนั่งสนทนากัน ในเรื่องที่พูดไปแล้ว ให้มีทางออกได้สำหรับทุกฝ่ายมากกว่า เพราะทางออกของทุกฝ่ายก็คือปัญหาของประชาชน ขอเน้นย้ำตรงนี้ดีกว่า


เมื่อถามว่ารู้สึกท้อหรือไม่ เพราะการทำงานมาตลอดระยะเวลา 9 เดือน สำรวจประชาชนก็ไม่พอใจ ขณะที่ประเด็นการเมืองก็มากระทบทำให้เกิดความบั่นทอนหรือไม่ นายรัฐมนตรี กล่าวว่า "ไม่ครับ เวลาเดินเข้าสู่ถนนการเมืองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เราไม่อยากใช้คำว่าคาดหวัง แต่เมื่อเกิดขึ้นมาเราก็ต้องพร้อมที่จะรับมือตรงนี้"


สำหรับการเคลื่อนไหวในลักษณะอำนาจเชิงซ้อนระหว่างนายทักษิณกับนายกรัฐมนตรี มีผลต่อสายตานักลงทุนต่างชาติหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ตนไม่พูดว่าอำนาจเชิงซ้อนมีหรือไม่มีก็แล้วกัน อันนี้ก็แล้วแต่จะไปคิดกันเอง แต่อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ตน และตนเป็นคนเซ็นทุกอย่างที่ลงนามผิดหรือถูก ตนเป็นคนรับทำ แต่แน่นอนตนบอกมาโดยตลอดเจออดีตนายกฯท่านไหนก็จะเข้าไปหา ถ้ามีอะไรที่จะแนะนำก็น้อมรับ ไม่ใช่อดีตนายกฯอย่างเดียว อดีตนักการเมือง เพื่อนนักธุรกิจ หรือประชาชนที่ตนได้ลงพื้นที่มาตลอด 3 วัน ตนก็มารับฟังตลอด เพราะฉะนั้นตรงนี้เชื่อว่าอย่าใช้คำว่าอำนาจซ้อนจะดีกว่า เราใช้คำว่ารัฐบาลนี้รับฟังความคิดเห็นจากทุก ๆ ฝ่ายดีกว่า"


เมื่อถามว่าต่างชาติมีการตั้งคำถามในแง่นี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็มีครับ ยอมรับว่ามี ซึ่งก็เป็นธรรมดา แต่บทพิสูจน์ในการที่ตนเข้ามาประมาณ 9-10 เดือนนี้ มันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจริง ๆ แล้วการทำงานมีอิสรภาพส่วนหนึ่ง และการที่เรารับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมันไม่ใช่แค่อดีตนายกฯหรือพรรคของเรา หรือพรรคร่วม หรือพรรคฝ่ายค้าน หรือสื่อมวลชน หรือพรรคพวกที่ไม่เห็นด้วยก็ตามที ตนเชื่อว่าเราเอาทุกประเด็นเข้ามาวิเคราะห์กัน อะไรที่เป็นประโยชน์อะไรที่เห็นว่าเป็นคำติชม หรือเป็นคำเสนอแนะที่เหมาะสม ตนก็พร้อมที่จะปฏิบัติ


เมื่อถามว่า การเมืองเป็นแค่วิกฤตหนึ่ง ในขณะที่นายกรัฐมนตรี เคยเจอวิกฤตมามากกว่านี้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สมัยก่อนวิกฤตก็เป็นแค่วิกฤตของบริษัทเอกชน ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นในเชิงลบก็กระทบกับคนหมู่น้อยใช่หรือไม่ แต่ถ้าการเมืองในฐานะอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศเป็นหน้าที่ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ ตอบพี่น้องประชาชน 60-70 กว่าล้านคน ถามว่ามันใหญ่กว่า และพร้อมหรือไม่ที่จะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ เพื่อที่จะหาทางแก้ไขหาทางออกให้พี่น้องประชาชน ตนคิดว่าพร้อมครับ หากดูได้จากวิธีการทำงาน ของตนไม่ได้ย่อท้อ เจอปัญหาตนก็ยังทำงานต่อไป พรุ่งนี้เช้าก็ตื่น 7 โมงเช้า ไปทำงานเหมือนเดิม


ในช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวแซวว่านายกรัฐมนตรียังยิ้มได้อยู่ นายกรัฐมนตรี ยิ้มพร้อมกับกล่าวว่า "ครับ ยังยิ้มได้อยู่ครับ แต่บางทีก็กัดฟันเหมือนกัน"


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/-cryteOi5lk

คุณอาจสนใจ

Related News