เลือกตั้งและการเมือง

'นิด้าโพล' ชี้ปชช.ไม่พอใจผลงาน 9 เดือนรัฐบาล 'เศรษฐา' รับน่าคิด ย้อนแย้งสำนักงานสถิติ แต่น้อมรับผลโพล

โดย passamon_a

10 มิ.ย. 2567

125 views

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง "ขอถามบ้าง…9 เดือน รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของนิด้าโพล สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0


จากการสำรวจเมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.35 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะการบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ มีความล่าช้า และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากเดิม


รองลงมา ร้อยละ 31.69 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะไม่มีความก้าวหน้าในการทำงานและไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ / ร้อยละ 25.19 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะมีความพยายามผลักดันนโยบายต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และเห็นผลงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา / ร้อยละ 7.40 ระบุว่า พอใจมาก เพราะมีความตั้งใจในการทำงาน ช่วยเหลือประชาชน ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และร้อยละ 1.37 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.95 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น ผลงานยังไม่ชัดเจน แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ / รองลงมา ร้อยละ 35.04 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะการทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด / ร้อยละ 22.14 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะมีประสบการณ์ในการทำงาน มีทักษะด้านการบริหาร สามารถทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้ / ร้อยละ 5.42 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา มีการบริหารที่ดีสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้  และร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ภายในระยะเวลา 2 เดือน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 43.44 ระบุว่า นายกฯ เศรษฐา ยังคงอยู่ในตำแหน่งเหมือนเดิม รองลงมา / ร้อยละ 15.65 ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม / ร้อยละ 15.50 ระบุว่า จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี / ร้อยละ 10.92 ระบุว่า จะมีการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ / ร้อยละ 10.46 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงมาจากพรรคเพื่อไทย / ร้อยละ 6.56 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคฝ่ายค้าน


ร้อยละ 6.11 ระบุว่า จะมีการสลับขั้วทางการเมือง เปลี่ยนรัฐบาล / ร้อยละ 4.58 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน / ร้อยละ 3.21 ระบุว่า สส. ฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น / ร้อยละ 3.05 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะลดลง / ร้อยละ 2.60 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น และ สส. ฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนลดลง ในสัดส่วนที่เท่ากัน  และร้อยละ 12.67 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


ต่อมา วันที่ 9 มิ.ย.67 เวลา 15.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ถึงผลสำรวจของนิด้าโพล ที่ระบุว่าประชาชนไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ว่า ตรงนี้ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน เพราะทางสำนักงานสถิติแห่งชาติก็เพิ่งเผยผลสำรวจออกมาว่าตัวเลขออกมาใช้ได้ แต่อีกหนึ่งสัปดาห์ให้หลังนิด้าโพลก็มีผลสำรวจออกมาในลักษณะย้อนแย้ง แต่ตนก็ยินดีว่าเสียงที่เราควรได้ยิน ไม่ใช่เฉพาะเสียงชื่นชมอย่างเดียวควรจะเป็นเสียงที่มีการติด้วย แต่เราก็ต้องดูว่าวิธีการทำสถิติ และการไปเก็บตัวเลขเป็นอย่างไร ครบทุกหมวดทุกเหล่าหรือเปล่า ถามเกษตรกรหรือเปล่า ตนคิดว่าก็ต้องลงในรายละเอียดด้วย


"สมมติว่ามีความรู้สึกว่าไม่พอใจ ผมก็คิดว่าทุกคนที่ยืนอยู่กับผมตรงนี้ เรามีความเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน และเราก็น้อมรับในผลโพลที่ออกมา เราเองก็ต้องพยายามทำให้ดีขึ้น"


ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจใช่หรือไม่ว่าในไตรมาสสี่ตัวเลขเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศจะดีขึ้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มั่นใจ


เมื่อถามต่อว่า แต่ภาคเอกชน เป็นห่วงภาคการเมืองจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เหมือนทุกครั้งที่ตนให้สัมภาษณ์ เรื่องของการเมืองนั้นก็อยู่ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจไทย รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหมด แต่หน้าที่ของผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเมือง ที่เป็นฝ่ายบริหารก็ต้องทำหน้าที่บริหารต่อไป และพยายามลดทอนในเรื่องของความขัดแย้งหรือการใช้คำพูดอะไรที่เป็นการท้าทาย ตนเชื่อว่าทุกคนทราบดีว่าการเมืองคืออะไร แต่ก็ต้องไม่ให้เรื่องเหล่านี้มาบั่นทอน แต่ละคนมีหน้าที่อะไรก็ขอให้ทำกันไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดถ้าเราเอาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เชื่อว่าถนนการเมืองทุกเส้นก็วิ่งสู่ความต้องการของพี่น้องประชาชน ใครจะมีวิธีการอย่างไรก็น้อมรับและยินดีรับฟัง


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/W9zGOajW268

คุณอาจสนใจ

Related News