เลือกตั้งและการเมือง
'เศรษฐา' สั่งแก้กฎกระทรวง ยาบ้า 1 เม็ดก็ผิด - ดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติด
โดย nattachat_c
9 พ.ค. 2567
254 views
วานนี้ (8 พ.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าหารือภายในห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมี
- นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
- คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
- หน่วยงานความมั่นคง
นายกฯ กล่าวมอบนโยบายว่า ยาเสพติดเป็นเรื่องที่ตนได้ยินมาทุกครั้งในการไปลงพื้นที่ ชาวบ้านประชาชนในหลายชุมชนรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะยังเห็นคนที่ติดยา หรือกำลังบำบัด เดินอยู่ในชุมชน ซ้ำร้าย คนติดยาเหล่านี้ก็หยุดยาเอง ทำให้การบำบัดไม่สำเร็จ จนกลับมาอยู่ในวงจรยาเสพติดอีกครั้ง
วันนี้ ตนขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันทำงานให้หนักยิ่งขึ้น สมกับที่เราประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ยาเสพติดหมดไป จัดการผู้ค้าทั้งรายใหญ่รายย่อยให้ราบคาบ และบำบัดลูกหลานที่ติดยา ให้สำเร็จไปด้วยกัน
นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องการปราบปราม แม้เราจะปราบปราม ทำงานอย่างหนัก แต่เหมือนว่าปริมาณยาเสพติดยังมีเข้ามาเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งมาจากการที่เรายังไม่สามารถจัดการรายใหญ่รายย่อยได้ดีพอ
ตนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ตำรวจ ปส.) ทำงานร่วมกันให้ดียิ่งขึ้น เพื่อยึดทรัพย์ให้มากขึ้นทั้งรายใหญ่รายย่อย
เรื่องที่สอง ปัญหาความไม่ชัดเจนของกฎหมายเรื่องปริมาณยาบ้าและความผิด ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีหลักเกณฑ์ไม่ชัดเจนในการจับผู้เสพผู้ค้า
ตนขอให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขกฎกระทรวง กำหนดปริมาณที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยปรับลดให้เหลือ 1 เม็ด แทนที่จะเขียนว่าปริมาณเล็กน้อย เพื่อเป็นหลักการให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำตามได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขอให้สื่อสารให้ชัดเจน
“ย้ำนะครับ สื่อสารให้ชัดเจนว่ายาเสพติดจะ 1 เม็ด 2 เม็ด ก็ผิด และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นผู้เสพ ไม่งั้นจะถูกแจ้งข้อหาครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ในขณะเดียวกันทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจนด้วยว่า หลักในการจับ และสันนิษฐานคือ ไม่ว่าจะมีกี่เม็ดก็ผิด และพนักงานสอบสวนต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อดูเจตนาอีกครั้งว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ค้า” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า เรื่องการบำบัด ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับประสิทธิภาพงานบำบัดยาเสพติดในศูนย์คัดกรอง และโรงพยาบาล ให้ดีขึ้น ให้เหมาะสมกับปริมาณผู้ป่วย และขอมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ยกระดับประสิทธิภาพงานบำบัดยาเสพติดในระบบต้องโทษ เช่น ในเรือนจำ ในระบบคุมประพฤติ
และขอให้ทั้งสาธารณสุข และตำรวจทำงานร่วมกัน ในการจับผู้ที่หลบหนีการบำบัดหรือบำบัดไม่ผ่านมาดำเนินคดีด้วย อย่าปล่อยให้คนเหล่านี้กลับเข้าไปอยู่ในวงจรยาเสพติดอีกครั้ง
เรื่องสุดท้ายที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล คือเรื่องกัญชา ขอมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขประกาศกระทรวง โดยดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวง อนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น โดยกำหนดไทม์ไลน์การดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้
เรื่องการใช้ค่ายทหารบำบัดผู้ติดยาเสพติด ขอฝาก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม พูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายปกครองว่าจะทำอย่างไร โดยวิธีการลองสักค่ายหนึ่ง ซึ่งยังไม่ต้องทำทั่วทุกจังหวัด เพราะไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ และให้นำงบการทำบำบัดเข้าไปดูแลด้วย จากนั้นประมาณ 3 - 6 เดือน ค่อยดูว่าสามารถนำไปเผยแพร่ในค่ายจังหวัดอื่น ๆ ได้หรือไม่
“ขอเน้นย้ำปัญหาเรื่องยาเสพติด ถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่รัฐบาลต้องเร่ง เพราะถือว่าบ่อนทำลายอนาคตของชาติ ซึ่งเยาวชนติดกันเต็มไปหมด ขอให้ทุกท่านทำงานให้หนักขึ้น มีการปราบปรามยึดทรัพย์และบำบัดให้ทั่วถึง ขอให้มีความชัดเจนและมีความคืบหน้าภายใน 90 วัน วันนี้การจับกุมยาเสพติดมากขึ้น 4-5 เท่า แต่เรื่องเศร้าคือราคายาบ้ายังไม่ขึ้นเสียที ฉะนั้น คงต้องทำงานกันให้หนักขึ้นโดยใช้ทุกวิถีทาง” นายกฯ กล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวในที่ประชุมว่า เสนอให้นายทวี ไปพูดคุยกับประธานศาลฎีกา เพื่อให้ศาลเป็นผู้กำหนดในคำพิพากษาให้ชัดเจน ว่า จะต้องมีคำสั่งให้ชัดเจนว่าจะต้อง 'บำบัด' ซึ่งหากไม่มีคำสั่งบำบัด แล้วกระทำผิดซ้ำ ถูกจับอีกครั้ง ก็จะต้องถูกจำคุก
ซึ่งนายทวี ก็เห็นด้วย ว่าจะต้องทำให้ชัดเจน แต่ในเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนของคดีใหม่ แต่ตอนนี้ปัญหาคือ คดีเดิม ผู้ที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วจำนวนกว่า 3 แสนคดี จะทำอย่างไร เพราะชาวบ้านได้รับผลกระทบ จะต้องดึงออกมาให้เร็วที่สุด เช่น อาจใช้วิธีการคุมประพฤติ ให้กรมคุมประพฤติส่งหนังสือไปยังศาล เพื่อขอให้มีคำสั่งนำตัวไปบำบัด ส่งต่อให้กระทรวงสาธารณสุขช่วยดูเเล 45 วัน ก็เชื่อว่าจะเห็นผล
นายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ขอให้นายสมศักดิ์ และนายทวี ไปคุยกับประธานศาลฎีกาให้เรียบร้อย
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการสอบถามถึงความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ในการรองรับผู้ติดยาเสพติด จำนวนกว่า 2 แสนคน ที่กระทรวงยุติธรรมจะต้องส่งต่อไปให้ดูแลประมาน 45 วัน ในอีก 4 เดือนข้างหน้า
โดย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า การรักษาผู้ติดยาเสพติดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท โดยประเภทเเรก คือการรักษาทางการแพทย์ โดยมีแพทย์เป็นผู้ดูแล ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจิตเวช จะถูกส่งไปอยู่ในชุมชน ซึ่งได้รับการดูแลร่วมกับฝ่ายปกครอง ดังนั้น ในส่วนของกระทรวงจึงไม่มีความกังวล และรับประกันว่าจะดูแลอย่างเต็มที่
ซึ่งนายอนุทิน ก็เห็นด้วย เพราะเคยมีนำร่องใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่รักษา พยาบาลในช่วงการแพร่ระบาดโควิดมาแล้ว ดังนั้น เห็นควรที่จะใช้โมเดลนี้ มาใช้กับการบำบัดผู้ติยาเสพติด และเชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขมีศักยภาพ ทำโรงพยาบาลสนาม และอุปกรณ์มีความพร้อม
นายอนุทิน กล่าวช่วงหนึ่งในที่ประชุมว่า ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาตามนโยบายของนายกฯ พวกเราทุกคนได้ร่วมมือกันบูรณาการไล่จับ และปราบปราม ซึ่งจับได้จำนวนมาก แต่ก็ไม่เคยเห็นจับตัวใหญ่ได้
ขณะเดียวกัน หลัง ๆ นี้ ไม่ใช่มีเฉพาะชายแดน แต่เข้ามาในเมืองแล้ว ซึ่งจากการคุยกับคณะทำงาน ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีเครื่องตรวจยาเสพติดที่ขนมาในรถตามด่านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ เวลาที่รถขับผ่านจะได้ตรวจได้เลย ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการสะท้อนปัญหาจากในพื้นที่ ทำให้นายสมศักดิ์ ได้กล่าวว่า สำหรับการจับผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ ปปง.มีเส้นทางการเงิน ที่สามารถตรวจสอบได้ จึงต้องขอให้ ปปง. ช่วยในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีจึงได้เน้นย้ำ ให้มีการตรวจสอบและรายงานความคืบหน้ากลับมา เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ
--------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/5Qs3g1dTdOk