เลือกตั้งและการเมือง
'เลขาฯกฤษฎีกา' งง กระแสกู้ ธ.ก.ส. แจกเงินดิจิทัล 'จุลพันธ์' มั่นใจดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จแน่ ในไตรมาส 4
โดย passamon_a
19 เม.ย. 2567
42 views
ปกรณ์ งง กระแสกู้เงิน ธ.ก.ส. แจกเงินดิจิทัล ยืนยันไม่มีหารือในบอร์ด ชี้ใช้ ม.28 ได้ แต่ต้องกำหนดเป็นการเสนอ ครม. แต่หากเสนอขอความเห็นชอบกฤษฎี ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ย้ำนายกฯ แค่ทำหน้าที่ ไม่เข้าหลักขัดกันของผลประโยชน์
เมื่อวันที่ 18 เม.ย.67 ที่ทําเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เห็นชอบให้ใช้เงินประมาณ 1.7 แสนล้านบาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. มาดำเนินการในโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ ว่า สิ่งที่คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตได้ดูในการประชุมที่ผ่านมา คือ เรื่องแหล่งเงิน โดยจะใช้งบประมาณปี 67 และปี 68 อีกส่วนหนึ่งคือดําเนินโครงการตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอํานาจหน้าที่ ดังนั้นที่ประชุมไม่มีการพูดถึงเรื่องแหล่งกู้เงิน
ทั้งนี้ เวลาที่จะทำโครงการตามมาตรา 28 ต้องกำหนดรายละเอียด และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี ตนจึงไม่แน่ใจว่ากระแสข่าวที่จะกู้เงินจาก ธ.ก.ส.มาจากไหน ยืนยันว่าในที่ประชุมไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เป็นการพูดกันเองของสื่อหลังจากมีแถลงข่าว
เมื่อถามว่า แหล่งเงินจํานวน 170,000 ล้านบาท จะนำมาจากไหน นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการของโครงการ คือ จะดำเนินการตามมาตรา 28 เพียงแค่นั้น ซึ่งโดยหลักการทำได้ แต่ต้องทำรายละเอียดเพื่อเสนออีกครั้ง อย่างโครงการโคแสนล้านตัว ที่ต้องเขียนรายละเอียดโครงการให้ชัดเจนมาก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้เงินตามมาตรา 28 กับการใช้เงิน ธ.ก.ส. เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า คนละเรื่อง แต่หากใช้เงินของ ธ.ก.ส.จะต้องผ่านมติบอร์ดของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะต้องพิจารณาตามกรอบมาตรา 27 และ 28
เมื่อถามว่า หากไม่ใช้เงินจาก ธ.ก.ส. จะใช้เงินจากช่องทางอื่นได้อีกหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ทราบว่ากระทรวงการคลังจะคิดอย่างไร เพราะเป็นผู้คิดโครงการ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การใช้มาตรา 28 กับเงิน ธ.ก.ส. จะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไร ให้เงินไปถึงกลุ่มอาชีพเกษตรกรอย่างเดียว นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นรายละเอียดที่กระทรวงการคลังต้องไปดู ทั้งนี้ ในวันที่มีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้มีการพูดถึงรายละเอียดเลย หารือแค่เฉพาะหลักการ ว่าแหล่งเงินจะมาจากไหน
เมื่อถามว่า ทางสหภาพ ธ.ก.ส.ต้องการให้กฤษฎีกา ชี้แนะข้อกฎหมายของ พ.ร.บ. ธ.ก.ส. จะสามารถทำได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า จะแยกส่งให้กฤษฎีกา หรือจะส่งพร้อมกับความเห็นของ ครม.ก็ได้ เพราะขั้นตอนการหารือของกฤษฎีกาจะมี 2 แบบ คือ 1.เข้า ครม. คณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้ความเห็นประกอบ 2.การหารือโดยตรงกับกฤษฎีกา โดยผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบ ว่ามีปัญหาประเด็นข้อกฎหมายตรงไหน ซึ่งเป็นไปตามหลักการแก้ไขปัญหา การบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นหากแก้ปัญหาภายในหน่วยงานได้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านกฤษฎีกา แต่ถ้าส่งผ่านความเห็น ครม.ก็จะใช้ขั้นตอนสั้นลง
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการอนุมัติโครงการของ ธ.ก.ส.ในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อาจจะเข้าหลักขัดกันของผลประโยชน์ นายปกรณ์ กล่าวว่า มันเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ท่านสวมหมวกในฐานะประธาน ธ.ก.ส. ซึ่งทุกเรื่องก็เป็นอย่างนี้
อย่างไรก็ตาม นายปกรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกหนักใจที่ต้องเขามาดำเนินการเรื่องนี้ เพราะถือเป็นหน้าที่ของกฤษฎีกาอยู่แล้ว ในการดูแลให้รัฐบาลดำเนินการชอบด้วยกฎหมาย อย่าไปคิดมาก
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า มั่นใจสูงว่าการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะสำเร็จอย่างแน่นอน ภายในไตรมาส 4/2567 โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมเป็นห่วงว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ เพราะร้านค้าสะดวกซื้อสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ในส่วนของกระทรวงการคลังก็มีข้อสังเกตเรื่องนี้ แต่ข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ก็มีเหตุผล ด้วยความเป็นรัฐคงไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งปัจจุบันในต่างจังหวัด ก็มีร้านค้ารายย่อยที่เป็นร้านสะดวกซื้ออยู่จำนวนมากเช่นกัน และร้านค้าเหล่านี้ก็รวมสินค้าอุปโภค บริโภค ทำให้เกิดการผลิต การจ้างงาน
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดีร้านค้าสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อรับชำระดิจิทัลวอลเล็ต จากประชาชนที่ได้รับสิทธิ์แล้วในรอบแรก จะยังไม่สามารถไปขึ้นเป็นเงินสดได้ทันที และจะต้องนำเงินดังกล่าวไปซื้อสินค้าตรงจากผู้ผลิต เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในการนำสินค้ากลับมาขาย โดยจะขึ้นเงินได้ก็ต่อเมื่อใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตรอบที่ 2 เป็นต้นไปแล้ว โดยกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน และคาดว่าเงินจะหมุนเวียนอยู่ในระบบ 1 ปี
รมช.คลัง กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1.7 แสนล้านบาท โดยมีเสียงคัดค้านว่าอาจผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้นั้น รมช.คลัง ระบุว่า คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คนพูดไม่มีความรู้เรื่องงบประมาณ ในเรื่องนี้เป็นนโยบายกึ่งการคลัง ไม่ใช่การกู้เงิน แต่ใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในการสนับสนุนนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และไปตั้งงบชดเชยในภายหลัง เช่น ตั้งงบคืน ธ.ก.ส.ปีละ 60,000-80,000 ล้านบาท ใช้เวลาแค่ 3 ปี ก็ชำระหนี้ส่วนนี้ได้ครบ
"ทำไมจึงไม่เชื่อส่วนราชการ ที่พิจารณากฎระเบียบเงื่อนไขแล้ว เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายทุกประการ เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ และไม่ขยายเพดาน มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 32% จะยังคงเป็นไปตามกรอบ อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้กระทรวงการคลังกำลังดูอยู่ว่า จะส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายอีกชั้นว่าสามารถทำได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจบภายในเดือน เม.ย."
รมช.คลัง กล่าวว่า ดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นอะไรที่ใหม่ ครั้งแรกของโลกในการทำนโยบายการคลัง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลทำให้เห็นแล้วว่า คิดใหญ่ ทำยาก แต่ต้องทำ เพราะคนคิดเกมคือผู้ชนะ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย และเป็นเครื่องมือของรัฐในอนาคต
สำหรับการกำหนดนโยบายที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอยู่ภาวะซึม ตามทฤษฎีกบต้ม จำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามากระชาก เพื่อให้เศรษฐกิจโงหัวขึ้นมาให้ได้ ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ เช่น มาตรการอสังหาฯ การแก้หนี้ ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งต้องดูในองค์รวม ดูเป็นเฉพาะมาตรการไม่ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการตั้งสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ที่ประชุม ครม. ก่อนสงกรานต์ มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณา โดยกำหนดกรอบเวลา 30 วัน ก่อนเสนอกลับไปที่ ครม.ว่าจะเดินหน้าหรือไม่ โดยคลังอยู่ระหว่างทบทวน ตามรายงานผลการศึกษาผลกระทบการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรของสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องรูปแบบธุรกิจ ผลกระทบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย ท่องเที่ยว สาธารณสุข เป็นต้น มาหารือและมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูความเหมาะสมของกฎหมาย และประเด็นเพิ่มเติม ก่อนเสนอ ครม.
รมช.คลัง ยังกล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่า รวมถึงดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ผันผวนในขณะนี้ ว่า ยอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ว่าจะส่งผลกระทบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยหรือไม่
"เรื่องหุ้นและค่าบาทที่ผันผวนนั้น เป็นเรื่องของไซเคิลปกติ เพราะมีประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดขึ้นตอนนี้ ซึ่งสั่งให้หน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว" นายจุลพันธ์ กล่าว
ส่วนประเด็นเรื่องมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 19 เม.ย.67 นั้น เป็นเรื่องของกระทรวงพลังงาน ซึ่งยังไม่ได้ส่งเรื่องเข้ามาที่คลัง
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/hFuZSRkCGqU
แท็กที่เกี่ยวข้อง เลขาฯกฤษฎีกา ,ดิจิทัลวอลเล็ต ,จุลพันธ์อมรวิวัฒน์ ,กู้เงินธ.ก.ส.