เลือกตั้งและการเมือง

สภาเดือด! 'โรม' จี้ 'ทวี' เปิดชื่อหมอรักษา 'ทักษิณ' - 'วันนอร์' ฉุนโดนตวาดใส่ หลังไม่ให้เปิดสไลด์

โดย nattachat_c

29 มี.ค. 2567

94 views

เมื่อวานนี้ (28 มี.ค.67)  ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามทั่วไป เรื่องการคุมตัวนักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำ ของนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่นายเศรษฐา มอบให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มาตอบ


ซึ่งก่อนที่นายรังสิมันต์จะถามกระทู้  สส.พรรคเพื่อไทย ทั้ง นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม และ พญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ ได้ลุกขึ้นประท้วงนายรังสิมันต์ เนื่องจากมีการระบุรายชื่อบุคคลภายนอกชัดเจน  


โดยนายไชยวัฒนา กล่าวว่า มีคนรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการเอ่ยชื่อบุคคลภายนอก การเอาบุคคลภายนอกมาพูดในสภาฯ หลายสัปดาห์ต่อกัน มันเหนื่อย เหมือนที่มีคนเอาเรื่อง สว.ทรงเอมาพูดในสภาฯ


นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า การบรรจุวาระกระทู้ถามนั้น ตนได้มอบอำนาจให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นผู้พิจารณา เมื่อนายพิเชษฐ์พิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถถามได้ ก็หมายความว่าผ่าน  แต่หากมีการเอ่ยชื่อบุคคลนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ตนจะได้พิจารณาต่อไป


ทำให้นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ประท้วงว่า เรายังไม่มีการพูดเลยว่าเป็นนักโทษทางการเมืองคนใด ซึ่งผู้บรรจุกระทู้ ผู้ถามกระทู้ และรัฐมนตรีผู้ตอบกระทู้ก็พร้อมแล้ว ขอให้ผู้ถามกระทู้เป็นผู้ถาม รัฐมนตรีเป็นผู้ตอบ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบ ส่วนที่เหลือตนไม่ทราบว่าเป็นอะไร ถึงได้ร้อนตัวกันเช่นนี้ ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ วินิจฉัยว่า ให้กระทู้ได้เดินต่อไป เพื่อให้นายรังสิมันต์ถามกระทู้


ด้านนายรังสิมันต์ อภิปรายว่า กระทู้นี้ ตนตั้งไปตั้งแต่ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ยืนยันว่า จะพยายามไม่ให้ซ้ำกับกระทู้ของผู้อื่นแน่นอน  ซึ่งระหว่างที่นายรังสิมันต์ กำลังถามกระทู้อยู่นั้น ได้มีการเอ่ยชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้นายไชยวัฒนาลุกขึ้นประท้วง เรื่องการพาดพิงบุคคลภายนอกอีกครั้ง เนื่องจากบุคคลภายนอกไม่สามารถมาชี้แจงได้


นายวันมูหะมัดนอร์ จึงขอให้นายรังสิมันต์พยายามไม่เอ่ยชื่อบุคคลภายนอก เนื่องจากเกิดความเสียหาย และไม่สามารถมาตอบได้ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนจะพยายามเอ่ยชื่อนายทักษิณ เพียงแค่ครั้งเดียว หากไม่ให้เอ่ยชื่อขอเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี่ วู้ดซั่ม


นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า เราเป็นผู้ใหญ่กันทั้งนั้น ทำให้นายรังสิมันต์ กล่าวว่า หากเราเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว จริง ๆ ก็ไม่ได้เสียหาย และพยายามที่จะถามกระทู้ต่อ โดยใช้คำว่า โทนี่ วู้ดซั่ม  แต่นายวันมูหะมัดนอร์ ได้กล่าวขึ้นว่า คำว่า โทนี่ วู้ดซั่ม ก็ไม่อยากให้ใช้ เพราะเป็นที่รู้กันว่าหมายถึงใคร ก่อนจะให้นายรังสิมันต์ถามกระทู้ต่อ


นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนขอตั้งคำถามไปยัง พ.ต.อ.ทวี ว่า ท่านมีรายงานหรือข้อมูลข่าวกรองว่า จะมีเหตุการณ์รอบสังหาร หรือทำร้ายอดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่


และการรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจซึ่งควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยอยู่แล้ว จะไม่ปลอดภัยได้อย่างไร การไปพักรักษาตัวที่ห้องอื่นปลอดภัยน้อยกว่าชั้น 14 อย่างไร และสภาพห้องพักที่อดีตนายกรัฐมนตรีพักนั้นเป็นอย่างไร  ทำไมจึงมีต้องมีความจำเป็นที่จะต้องแยกตัวอดีตนายกรัฐมนตรีออกจากผู้ที่รักษาตัวคนอื่น  


หากเทียบกับนักโทษทางการเมืองคนอื่นที่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลนอกสถานที่คุมขัง แต่ยังไม่หาย ก็ถูกส่งตัวกลับมา ทำไมแตกต่างกับอดีตนายกรัฐมนตรี  พร้อมกับขอทราบชื่อแพทย์ที่รับรองการรักษาอดีตนายกรัฐมนตรี  เพราะหากเรื่องนี้มีการทุจริตเกิดขึ้น มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ถูกต้อง จะสามารถดำเนินการกับแพทย์คนนั้นได้”


ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า การปฏิบัติต่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ  เพราะนายทักษิณ มีความกล้าหาญที่กลับมายังประเทศไทย และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในช่วงของรัฐบาลที่แล้ว ที่นายกฯก็เป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)


และ รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น ก็เป็นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่มารักษาการ ขณะเดียวกันใน ช่วงนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังไม่ได้เป็นนายกฯ และยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นนายกฯ ดังนั้น นายเศรษฐา และตน คงไม่สามารถไปขอร้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี หรือนายวิษณุได้  เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง ตนเป็นคนลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ประยุทธ์ ดังนั้น ขอเรียนว่า อดีตนายกฯ ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สิ่งที่เปลี่ยนอย่างเดียวคือปลัด, รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพราะเกษียณอายุ  ส่วนผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ได้เปลี่ยน  


ตอนที่ตนมาเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่ได้เปลี่ยนตัว ผบ.เรือนจำฯ ทั้งที่ ผบ.เรือนจำฯ ควรจะให้เขาขึ้น  เพราะอาวุโสสูงสุด  แต่ก็ไม่กล้าเปลี่ยน เพราะกลัวสังคมตำหนิว่าผมมาเปลี่ยนคน เพื่อช่วยอดีตนายกฯทักษิณ และวันที่ 11 กันยายน 66 ที่มีแถลงนโยบายที่รัฐสภา ผมพบว่า จะต้องเดินทางไปรับราชการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม” พ.ต.อ.ทวี กล่าว


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อว่า ตนนำเรื่องนี้ มาดูร่วมกับกฎหมายราชทัณฑ์ ที่มี นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมร่าง  มีการเปลี่ยนหลักการกฎหมายฉบับนี้ จากการแก้แค้น ข่มขวัญ ยับยั้ง มาสู่การฟื้นฟู  คือ คุกไม่ได้มีไว้ให้คนเข้าแล้วไม่ออก จริง ๆ คุกมีไว้ให้คนออกด้วยซ้ำ เพราะต้องการให้ออกมา  


ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ เกิดมาก่อนที่ตนจะมาเป็น รมว.ยุติธรรม และสิ่งที่รัฐบาลขณะนั้นไม่ได้ทำ เพราะในกฎหมายราชทัณฑ์ให้ออกกฎกระทรวงระเบียบการปฏิบัติ โดยเฉพาะที่คุมขังอื่น การพัฒนาพฤตินิสัย ประมาณ 10 กว่าฉบับ มีการเขียนในบทเฉพาะกาลว่า ต้องไปออกกฎหมายกระทรวงภายใน 90 วัน  


ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น สนช.รวมทั้งกรรมาธิการ ซึ่งมีนายณัฐวุฒิด้วย ก็ไปทำกฎกระทรวงให้เขาหมดเลย ไม่มีดุลพินิจของฝ่ายบริหารเลย ซึ่งในกฎกระทรวงดังกล่าว มีหนึ่งข้อที่นายรังสิมันต์พูด คือการส่งผู้ไปรักษาตัวโรงพยาบาลข้างนอก ซึ่งมีอยู่ในมาตรา 55 เป็นหลักการที่ ผบ.เรือนจำต้องพิจารณา ซึ่งตนตรวจสอบแล้วว่า ถึงวันนี้ ถ้าหมอบอกให้ไป ก็ยังไม่เคยมีผู้บัญชาการเรือนจำหลังปี 60 ไปยับยั้งไม่ให้ไปเลย


พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้บริหารขณะนั้น เนื่องจากเราได้รับรายงานว่า อดีตนายกฯรักษาตัวอยู่ที่ประเทศสิงค์โปร์ และต่างประเทศหลายๆ แห่ง  รวมทั้งหมอด้านหัวใจของโรงพยาบาลตำรวจไม่พร้อม  


สรุปนายทักษิณ ไปอยู่ชั้น 14 รัฐบาลปัจจุบันยังไม่เข้ามาบริหาร แต่เราไม่ได้โทษใคร พอไปถึงโรงพยาบาล หมอไม่ได้จัดให้ สถานรักษาพยาบาลจัดให้ ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจขึ้นตรงกับ ผบ.ตร.


ที่สำคัญในระบบกฎหมายใหม่ การควบคุมคือควบคุมไม่ให้หนี ไม่ให้ก่อเหตุร้าย ควบคุมไม่ให้เกิดภยันตราย ซึ่งกรมราชทัณฑ์มองเหตุผลว่า การที่นายทักษิณ ตัดสินใจกลับมาเข้ามาแล้ว สถานการณ์ตอนนั้น เมื่อเรือนจำส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ การดูแลความปลอดภัยก็สำคัญ


ซึ่งเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2549 ก่อนนายทักษิณจะถูกยึดอำนาจ เกิดเหตุการณ์ระเบิดคาร์บอมบ์ใกล้บ้านพัก จากนั้น ศาลทหารได้ตัดสินจำคุกผู้ที่อาจจะครอบครองระเบิด ยอมรับว่า ตนไม่ทราบว่า ดุลยพินิจในขณะนั้น ทำไมถึงนำตัวนายทักษิณไปที่ชั้น 14 แต่เป็นเรื่องที่สอบถาม ทุกคนก็ต้องกลัว ถ้าท่านเป็นอะไรไป บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร


จริงอยู่ ท่านก็มีสถานะเหมือนผู้ถูกปฏิบัติทั่วไป ผมอยากเรียนว่าสังคมเรายังไม่ยอมรับการคุมขังที่อื่น จึงทำให้ทุกวันนี้ไม่สามารถออกระเบียบ ทำให้คนถูกยัดเยียดทรมานเหมือนปลากระป๋องอยู่ในเรือนจำ


ท่านถามว่าผู้ต้องขังการเมืองกับผู้ต้องขังอื่นปฏิบัติเหมือนกันหรือไม่ ผมบอกว่าอดีตเป็นบทเรียนของผม แต่ปัจจุบันผมได้ทำแล้ว ผมไม่อยากให้สังคมคลางแคลง วันนี้ กระทรวงยุติธรรมยุคนี้ จะสร้างความยุติธรรมให้กับคนทุกคน จะทำความยุติธรรมถ้วนหน้า แม้แต่ในเรือนจำ ผมอยากให้สังคมเข้าใจว่าโรงพยาบาลขณะนี้คือที่คุมขังอื่น” รมว.ยุติธรรม กล่าว


ภายหลัง พ.ต.อ.ทวี ตอบคำถามแรก นายรังสิมันต์ ได้กล่าวชื่นชม พร้อมระบุว่าตนเข้าใจดีถึงความยากลำบากว่าเรื่องนี้ตอบไม่ง่าย สุดท้าย ถ้ามีเรื่องบุญคุณ และเรื่องกฎหมาย ถ้าเป็นตนก็คิดมากแน่นอน แต่ตนก็ต้องทำหน้าที่ เรื่องนี้เป็นเรื่องมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม  ซึ่งมีความจำเป็นอย่างไร ที่นายทักษิณจะต้องอยู่ในห้องพิเศษ แน่นอนว่า อาจจะมีอำนาจสั่งการอะไรต่าง ๆ ได้


แต่ตนขอดูรูปได้หรือไม่ ห้องพักชั้น 14 ตกลงแล้วมีหน้าตาอย่างไร แสดงออกมาให้ประชาชนเห็น ส่วนเรื่องคาร์บอมบ์ ตนก็ทราบว่ามีคาร์บอมบ์ปี 2549 แต่ปีนี้ ปีอะไร วันนี้ นายกรัฐมนตรีออนทัวร์ไปพื้นที่ต่าง ๆ ไม่มีคาร์บอมบ์ ไม่มีเหตุการณ์อะไร ไม่มีเหตุการณ์รักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า คาร์บอมบ์มันไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจ ถ้ายืนยันว่า มีหน่วยสำนักข่าวกรองบอกก่อน ตนก็รับฟัง แต่ช่วยตอบว่า การอยู่ชั้น 14 กับห้องทั่วไป มันต่างกันอย่างไร


นายรังสิมันต์ อภิปรายต่อว่า ขอทราบชื่อแพทย์ที่ทำการรักษา จะได้ไปดำเนินคดีได้ เพราะวันนี้ พิสูจน์แล้วว่า คน ๆ นี้ไม่ได้ป่วยอะไร ทำให้ ทพญ.ศรีญาดา ประท้วงว่า ขอให้ประธานควบคุมการประชุม  


นายวันมูหะมัดนอร์ จึงวินิจฉัยขอให้เข้าสู่คำถาม อย่าอธิบาย หรืออภิปราย นายรังสิมันต์ จึงกล่าว ตนเคารพประธาน แต่กำลังบอกว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดกฏหมาย วันนี้ เราเห็นแล้วว่า อดีตนายกรัฐมนตรีสุขภาพแข็งแรง สามารถลุกนั่งได้ กราบพระได้  


พอพูดถึงตรงนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ ท้วงว่าไม่ต้องอธิบาย แต่นายรังสิมันต์พยายามบอกว่าต้องอธิบาย และขอให้เปิดสไลด์ เพื่อจะได้ถาม แต่นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนกังวลจะมีผู้ประท้วงอีก ขอให้ไม่เปิดสไลด์ ขอให้ถามเลย ถ้ารัฐมนตรีตอบไม่ชัดเจน ก็จะให้ถามอีก แต่ถ้าขึ้นสไลด์มา ก็จะเป็นการอธิบาย และมีการประท้วงยาวไปอีก นี่ไม่ใช่การอภิปราย ขอให้เอาไว้อภิปรายวันที่ 3 - 4 เมษายน ต้องเข้าใจว่านี่เป็นกระทู้ เข้าใจข้อบังคับหรือไม่


“ท่านอย่าคิดว่ามันเป็นการอภิปรายนะครับ เอาไว้ตอนที่อภิปรายวันที่ 3-4 เม.ย. อันนี้อนุญาตได้ครับว่าเป็นการอภิปราย อันนี้ก็ถูกครับ ถามครับ ผมอนุญาตให้แค่นี้ครับ ... ผมไม่อนุญาต เดี๋ยวจะมีผู้ประท้วงอีกหลายท่าน ไม่มีประโยชน์อะไร” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว


ทำให้นายรังสิมันต์ ตอบกลับอย่างมีอารมณ์ว่า “ท่านประธาน ผมจะถามจากสไลด์ ผมจะให้รัฐมนตรีดู จะได้ถาม ทำไมท่านประธานต้องปิดไมโครโฟนแบบนี้ล่ะ”


นายวันมูหะมัดนอร์ จึงตัดบทว่า “เป็นอำนาจของประธานครับ ถามได้ ถ้าคุณยังพูดต่อไม่หยุด ผมจะให้คุณนั่งลงนะครับ ไม่งั้นต้องเชิญออกไป ท่านเข้าใจผมไหมครับ ประธานต้องดูแลการประชุมให้เป็นไปตามระเบียบ ท่านจะมาตวาดกับผมได้ยังไง แล้วผมได้วินิจฉัยแล้วว่าถ้าเอาขึ้นมา ก็ประท้วงอีก ถ้าถามได้เลยครับ ทำไมคุณถามไม่ได้ ทำไมคุณถามไม่ได้ ไม่อย่างนั้นผมไม่อนุญาต ผมจะปิดกระทู้นี้แล้ว”


จากนั้น นายซูกะโนร์ มะทา สส.ยะลา เลขาธิการพรรคประชาชาติ ประท้วงให้ดำเนินการประชุมให้ราบรื่น


ต่อมา นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ประท้วงต่อว่า ประธานต้องควบคุมการประชุมโดยข้อบังคับ  จะมาบอกว่ากลัวสไลด์นี้จะทำให้มีผู้ประท้วง ทั้งที่มีการอนุญาตเรียบร้อยแล้ว ตนคิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง และที่สำคัญถ้าเปิดสไลด์ถามคำถาม จะดำเนินไปโดยจบเรียบร้อยด้วย  น่าจะเป็นผลดีต่อสังคม ต่อประธาน  ต่อสภาของเรา อย่างน้อยรัฐมนตรีจะได้เห็นสไลด์แล้วตอบตาม


จากนั้น นายรังสิมันต์ จึงถามต่อว่า การที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับโทษจากการเป็นคนแก่ อายุเกิน 70 ปี ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีการประเมิน ทดสอบอย่างไร เพราะหากประเมินโดยทุจริต รัฐมนตรีจะรับผิดชอบอย่างไร เราจะเห็นได้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรี มีสุขภาพแข็งแรง สามารถไปตลาดได้ ลุกนั่งพูดคุยกับผู้สูงอายุได้


จังหวะนี้ ทพญ.ศรีญาดา ลุกขึ้นประท้วงอีกรอบ ก่อนที่ พ.ต.อ.ทวี ตอบยืนยันว่า นายทักษิณไม่ได้อยู่ห้องพิเศษ แต่อยู่ห้องควบคุมพิเศษ อยากให้เข้าใจว่านายทักษิณไม่ได้ละเมิดสิทธิ์ใคร ไม่ได้ออกไปข้างนอก เป็นการบริหารโทษ การพักโทษไม่ใช่การลดโทษ การพักโทษปีละเป็นหมื่นคน บางคนไปออกทีวียังมีเลย มันเป็นเรื่องปกติ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับหลักวิทยาศาสตร์ มีกรรมการพักโทษถึง 19 คน ไม่อยากให้มองมิติของความอคติและสะใจเหมือนคนอื่น  ส่วนรายชื่อแพทย์ ถ้าตนเอ่ยชื่อ ทัวร์ก็จะไปลงหมด ยืนยันว่าตนและข้าราชการปฏิบัติตามกฎหมาย หลักยุติธรรม


นายรังสิมันต์ จึงกล่าวแย้งว่าการเอ่ยชื่อแพทย์สามารถทำได้ ประชาชนเขาสงสัยกันทั้งประเทศ ประเด็นคือถ้าจะสร้างมาตรฐานต้องตอบให้ได้ ตนจึงถามถึงเรื่องคะแนนสุขภาพของนายทักษิณ ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ถามไปแล้วรัฐมนตรีจะตอบหรือไม่ตอบก็ได้


นายรังสิมันต์ ยังอ้างถึง กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นไปตามที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ ที่นั่งในกรรมาธิการ สุดท้ายอำนาจอยู่ในดุลยพินิจของกระทรวง


ด้านนายณัฐวุฒิ ลุกขึ้นขอใช้สิทธิ์พาดพิง ว่า การตอบอภิปรายหรือการตอบกระทู้ของ พ.ต.อ.ทวี ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อตน 2 ประเด็น ด้วยกัน คือ ที่บอกว่าตนเคยทำงานร่วมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเกิดขึ้นจากกลไกรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไม่เป็นธรรมกับตนอย่างยิ่ง ตนไม่ใช่ส่วนหนึ่งองคาพยพของ คสช. และ สนช. ในขณะนั้น แต่ประการใด


แต่วันนั้น ตนทำงานในฐานะเอ็นจีโอและได้รับเชิญจาก สนช.ให้ไปร่วมพิจารณาและเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสังคม เช่น กฎหมายอุ้มบุญ และกฎหมายราชทัณฑ์  


และกรณีที่ นายทักษิณที่ได้เอกสิทธิ์เหนือบุคคลอื่น เพราะกฎหมายราชทัณฑ์ที่ตนเคยเป็นผู้ร่าง ตนจึงจะขอเรียนว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือไม่ ซึ่งการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ในปี 2560 ขณะนั้น ยังไม่มีพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล จึงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล จะมีส่วนในการร่าง


ทำให้นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร สส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า นายณัฐวุฒิเสียหายอะไร นายณัฐวุฒิ จึงกล่าวว่า “ท่านไม่ได้ฟังที่ตนพูด 2 ข้อ เมื่อสักครู่หรือ” ก่อนกล่าวต่อว่า หากพูดถึงเรื่องกรรมาธิการ ตนเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ในขณะที่ สนช.ส่วนใหญ่มียศตำแหน่ง ฉะนั้น อย่าพยายามสื่อสารว่า ตนเป็นคนคุมประเด็น และไม่ใช่คนเขียนกฎกระทรวงใด ๆ เพียงแค่เราสรุปบทเรียนร่วมกันมาว่า การร่างกฎหมายใดก็ตามว่า หากไม่เขียนบทเฉพาะกาลในระยะเวลาเท่าไหร่ ทางข้าราชการก็จะไม่ออกกฎ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดเวลาไว้ ส่วนการยกร่างก็เป็นการยกร่างเผื่อไว้ให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจภายหลังเป็นผู้พิจารณา ซึ่งตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวแต่ประการใด


ระหว่างที่นายณัฐวุฒิ กำลังใช้สิทธิ์พาดพิงเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์อยู่นั้น นางนุชนาถ จะลุกขึ้นประท้วงอีกรอบ แต่นายณัฐวุฒิ กล่าวขึ้นก่อนว่า ก็ขัดกันเช่นนี้ เรื่องนี้สำคัญ ตนจึงชี้แจงไม่จบสักที แต่ก็ขอบคุณที่ทำให้ตนได้พูดยาว นักศึกษาจะได้รู้ว่าจะเลือกพรรคใดในข้างหน้า


นายวันมูหะมัดนอร์ จึงอนุญาตให้นางนุชนาถ ใช้สิทธิ์ประท้วงก่อน โดยนางนุชนาถ กล่าวว่า ท่านประธานให้มีการหาเสียงได้อย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์ วินิจฉัยว่า ไม่เกี่ยวกับการหาเสียง ซึ่งนายณัฐวุฒิมีสิทธิ์ที่จะพูดได้เนื่องจาก พ.ต.อ.ทวีได้พาดพิง ถึงแม้จะเสียหายหรือไม่เสียหายก็ตาม และขอให้นายณัฐวุฒิพูดเฉพาะที่ตัวเองเสียหาย


จากนั้น นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า สิ่งที่พวกเราพยายามเน้นย้ำ คือการแก้ปรัชญาในเรือนจำ คือไม่ใช่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน และจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุ คนป่วยได้รับการดูแลตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น แม้กระทั่งผู้ต้องขังหญิง  สิ่งที่ต้องฝากไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคือผ้าอนามัยและแพมเพิร์ส สิ่งที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานทั้งหมด ทำให้นางนุชนาถ ประท้วงอีกรอบว่า “ผ้าอนามัยเสียหายอย่างไร มันเสียหายตรงไหน” นายณัฐวุฒิ จึงพูดด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่า “มันไม่เพียงพอไงครับ”


จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า "คิดว่านายณัฐวุฒิพูดมาเพียงพอแล้ว ขอให้พูดอีกสั้น ๆ" ก่อนที่ นายณัฐวุฒิ จะกล่าวต่อว่า ตนยืนยันว่า สิ่งที่ตนมีส่วนในการร่วมร่าง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ นั้นเป็นไปเพื่อรักษาสิทธิของทุกคน แต่ไม่เคยทำไป หรือมีเจตนาให้ใครใช้กฎหมายนั้นเพื่อเอกสิทธิ์ของใครคนใดคนหนึ่ง


ภายหลังจากที่ นายณัฐวุฒิพูดจบ ยังมีการถกเถียงกันอีกระยะหนึ่ง ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ได้ตัดบทว่า กระทู้นี้ยาวพอสมควรแล้ว ขอเข้าวาระต่อไป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจบกระทู้ พ.ต.อ.ทวีและนายรังสิมันต์ ได้เดินมาพูดคุยกัน ก่อนจะแยกย้ายกันออกจากห้องประชุมทั้งคู่

--------------

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/SmGgCo5rWtg

คุณอาจสนใจ

Related News