เลือกตั้งและการเมือง
"ไอติม" เผย 4 ข้อกังวลกระบวนการคัดเลือกสว. ส่อล็อกโหวตได้-ไม่ได้ผู้เชี่ยวชาญ
โดย gamonthip_s
24 มี.ค. 2567
90 views
24 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องเตรียมความพร้อมลุยสนามสว. โดยนายพริษฐ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้และให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดเลือกสว. เนื่องจากมีความกังวลและข้อสังเกตว่ากระบวนการที่ซับซ้อนอาจจะยังสร้างความสับสนให้ประชาชน ซึ่งบางส่วนเราอาจจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้
โดยในส่วนของข้อสังเกตและข้อกังวลที่เรามี คือ 1. ในเชิงระบบสว.ชุดใหม่ แม้จะมีที่มาและอำนาจแตกต่างจากชุดเดิม แต่ก็อาจจะมีโครงสร้างที่ไม่ได้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล ซึ่งหากสว.ไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนคือมาจากการเลือกตั้ง อำนาจก็ไม่ควรสูงมากนัก
2. กระบวนการที่ถูกออกแบบมานั้น มีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะไม่ตอบรับกับเป้าหมายในการได้มา ซึ่งผู้ที่อาจจะมีความเชี่ยวชาญ หรือเป็นที่ยอมรับในสังคมในแต่ละสาขาอาชีพของตนเองมากที่สุด
3. กระบวนการที่ออกแบบมานั้นมีความสุ่มเสี่ยงในการล็อกโหวตแบบจัดตั้ง คือแทนที่จะเปิดให้มีการแข่งขันแบบธรรมชาติ ให้ผู้ที่สมัครเข้ามาคัดเลือกกันเองตามความสามารถ แต่กลายเป็นว่ากติกานี้อาจจะเอื้อให้ผู้สมัครบางคนไประดมคนอื่นเข้ามาเป็นผู้สมัครเป็นสว. ในทุกกลุ่มอาชีพกระจายทั่วประเทศ แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้ามาสมัครเป็นสว. แต่เข้ามาเลือกบุคคลนั้นเพื่อให้เข้าไปเป็นสว.
4. กระบวนการที่ซับซ้อนอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ออกมา ก็อาจจะไม่สามารถไขข้อสงสัยหรือให้ความกระจ่าง ความชัดเจนในรายละเอียดได้ เช่น กรณีที่หลายคนตั้งข้อสังเกตเรื่องการรณรงค์หรือการแนะนำตัวผู้สมัครแต่ละคนที่อยากจะแนะนำตัว และประสบการณ์ที่ตนเองเคยมีให้บุคคลอื่นได้รับทราบนั้น จะสามารถทำได้มากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งระเบียบในส่วนนี้ยังไม่ได้คลอดหรือหากคลอดออกมาแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะสามารถเอื้อในส่วนนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า ตนอยากสื่อสารไปถึงบุคคล 4 กลุ่ม ที่ตนคิดว่าน่าจะมีบทบาทสำคัญมากในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มแรกคือกกต. แม้ตนจะเห็นใจที่กกต.ไม่ได้ออกแบบกติกานี้มา แต่ในเชิงปฏิบัติก็อาจจะมีหลายอย่างที่ทำให้กกต.ทำงานลำบากพอสมควร จึงอยากฝากว่าให้ออกระเบียบในการเอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และไม่อยากให้ออกระเบียบที่ปิดกั้นการรณรงค์ให้ผู้สมัครแต่ละคนสามารถแสดงวิสัยทัศน์ได้ กลุ่มที่สองคือประชาชน อยากสื่อสารให้ช่วยเป็นหูเป็นตา เป็นปากเป็นเสียงให้กระบวนการเหล่านี้เยอะที่สุด ว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นไปได้ด้วยความโปร่งใสหรือไม่
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า กลุ่มที่สามคือ กลุ่มคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถสมัครสว.ได้ อยากเชิญชวนให้เข้ามาสมัครกันเยอะๆ ซึ่งยิ่งสมัครเข้ามาเยอะเท่าไหร่ การแข่งขันเยอะเท่าไหร่ ตนเชื่อว่าคนที่เข้ามาจะยิ่งมีคุณภาพ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือ คนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปทำหน้าที่ สว. อยากให้ตระหนักว่าแม้อำนาจที่มีอาจจะมากกว่าอำนาจที่ควรมี ในฐานะที่อาจจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย แต่เชื่อว่าหากใช้อำนาจหน้าที่ตรงนั้นด้วยความรับผิดชอบ เป็นธรรม ปกป้องประชาธิปไตย สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ประเทศ แม้อาจจะเป็นการลดอำนาจของตัวเองก็ตาม รวมถึงตรวจสอบฝ่ายบริหารทุกฝ่ายอย่างเข้มข้นด้วยมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งหากท่านใช้อำนาจหน้าที่ของท่านตามที่ตนกล่าวไป ตนเชื่อว่าประชาชนจะสนับสนุนการทำหน้าที่ของพวกท่านเช่นกัน
"ความจริงบุคคลที่ดีที่สุดที่ควรจะมาสื่อสารเรื่องนี้ และเป็นบุคคลหนึ่งที่ผมนับถือ และเป็นบุคคลที่ผมนึกถึงเป็นคนแรกๆ ตอนที่จะจัดกิจกรรมครั้งนี้ ผมโทรไปหาท่าน และท่านก็ตอบรับทันที แต่วันนี้ท่านไม่สามารถมาร่วมงานได้ นั่นคืออดีตสว.มณเฑียร บุญตัน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการตัดสินใจ และผลงานของนายมณเฑียร เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าภายใต้ระบบที่อาจจะยังคดเคี้ยวบิดเบี้ยวอยู่บ้าง แต่ท่านก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างซื่อตรงต่อประชาชน และยืนตรงต่อกติกาที่ควรจะเป็นธรรม ซึ่งก็หวังว่าคนที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปปฎิบัติหน้าที่สว. จะเอาผลงาน และการกระทำของนายมณเฑียรเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการปฎิบัติหน้าที่เพื่อบ้านเมือง" นายพริษฐ์ กล่าว
แท็กที่เกี่ยวข้อง ไอติมพริษฐ์ ,สส.ก้าวไกล ,สว.มณเฑียร บุญตัน ,คัดเลือกสว.