เลือกตั้งและการเมือง

ฝุ่นกระทบเที่ยวเชียงใหม่ ยอดจองโรงแรมแผ่ว ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย ให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ

โดย nattachat_c

19 มี.ค. 2567

34 views

วานนี้ (18 มี.ค. 67) นางละเอียด บุ้งศรีทอง ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะที่เชียงใหม่ กระทบทำให้ยอดจองที่พัก และการเข้ามาท่องเที่ยว ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแผ่วลงอยู่บ้าง สำหรับยอดการจองเพิ่ม โดยยอดการจองเพิ่มมีอัตราการเติบโตเป็นเลขตัวเดียว ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 55% จากที่คาดว่าจะถึง 60% เพราะนักท่องเที่ยวต่างรอดูสถานการณ์


อีกทั้ง ปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมการตัดสินใจจองในระยะสั้น คือ จองใกล้ ๆ วันเดินทาง แต่ไม่มีผลทำให้นักท่องเที่ยวที่จองอยู่แล้วถึงขั้นยกเลิกการจอง


ซึ่งที่จริง ปัญหาฝุ่นในปีนี้นับว่ารุนแรงน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนวัน และจุดฮอตสป็อตที่น้อยกว่าถึงครึ่ง


นักท่องเที่ยวจะประสบปัญหาฝุ่นช่วงพีคราว 3- 4 ชั่วโมง ในช่วงเช้า บวกกับผู้ประกอบการให้ข้อมูล และอัพเดทสถานการณ์แก่นักท่องเที่ยวแบบเรียลไทม์ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทางได้


ยืนยันว่า ยังไม่มีการลดจำนวนเที่ยวบินมาเชียงใหม่สำหรับเที่ยวบินในประเทศ มีเพียงสายการบินเวียตเจ็ต ที่บินจากเวียดนามเข้ามา ที่ยกเลิก 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นผลจากการปรับแผนของบริษัทเอง


พร้อมกันนี้ จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ต่างเห็นด้วยที่ไม่ประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อให้การดำเนินแผนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งระยะสั้น - ระยะกลาง - ระยะยาว เดินหน้าต่อไปได้ จะได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เห็นความร่วมมือ และการวางแผนในการแก้ไขปัญหาที่บูรณาการกัน ทั้งภาครัฐ ส่วนกลาง และท้องถิ่น ทั้งทำฝนหลวงแก้ปัญหาระยะสั้น และบริหารจัดการปัญหาในระยะยาว

-------------
วานนี้ (18 มี.ค. 67) นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในฐานะโฆษกประจำกระทรวงฯ เปิดเผยว่า


จากกรณี ประเด็นในโลกออนไลน์ ตั้งข้อสงสัยในการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ฝุ่นละออง PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ แม้ว่าในประเด็นที่กล่าวถึงเป็นงบภัยพิบัติ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ตาม


กระทรวงฯ ขอชี้แจงว่า งบประมาณที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ได้รับเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน


โดย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เป็นเงินทั้งสิ้น 272,655,350 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

  • กรมป่าไม้ 109.94665 ล้านบาท
  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 162.7087 ล้านบาท


สำหรับดำเนินการจ้างประชาชนประจำจุดเฝ้าระวังในพื้นที่ป่าที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า เพื่อร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยการเฝ้าระวัง ลาดตระเวน แจ้งเหตุไฟไหม้ และดับไฟป่าเบื้องต้นได้อย่างทันท่วงที


รวมทั้ง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า  และฝุ่นละออง PM2.5


ทั้งนี้ โครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการ ระหว่าง เดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2567 ประกอบด้วยกิจกรรม


1) ค่าจ้างสำหรับจ้างประชาชนเป็นรายบุคคล ประจำจุดเฝ้าระวังไฟป่า จำนวน 3 คน ต่อ 1 จุด


2) ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และหล่อลื่น สำหรับรถยนต์ จักรยานยนต์ และเครื่องเป่าลม


3) ค่าจัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า ได้แก่ ถังฉีดน้ำดับไฟป่า ไม้ตบไฟ และไฟฉายคาดหัว และอุปกรณ์สนาม


4) ค่าวัสดุสำนักงาน กระดาษ หมึกพิมพ์ สำหรับลงทะเบียนการเข้า-ออก ของประชาชนที่ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า/ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า


5) ค่าจัดประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาไฟป่า ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 1 ครั้ง


6) ดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 3 ครั้ง


7) ประสานงาน และติดตามผลการดำเนินการ ของจุดเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า


8) จัดซื้อเครื่องเป่าลมดับไฟป่า ประจำจุดเฝ้าระวังละ 1 เครื่อง


โดยดำเนินการในพื้นที่...

  • ป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่ง จำนวน 1,069 จุด
  • พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 98 แห่ง จำนวน 1,582 จุด


โดยให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด ทั้งการนำใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ในอดีต และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาใช้ประกอบการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดจุดเฝ้าระวังไฟป่าให้เหมาะสม


ดำเนินการจ้างประชาชนเป็นรายบุคคลประจำจุดเฝ้าระวัง จำนวน 3 คน ต่อ 1 จุด และจัดตั้งจุดเฝ้าระวัง


มีการดำเนินกิจกรรมป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า ได้แก่

  • ลงทะเบียนการเข้า-ออก ของประชาชนที่ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า/ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
  • แจ้งเหตุไฟป่า
  • ลาดตระเวนตรวจหาไฟ
  • รณรงค์/ประชาสัมพันธ์ และดับไฟป่า ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น


รวมถึง การสร้างความตระหนักรับรู้ และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับผลกระทบและการแก้ไขปัญหาไฟป่าให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ประสานงาน และติดตามผลการดำเนินงานของจุดเฝ้าระวังไฟป่า ให้คำแนะนำการดำเนินงานแก่ชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์  และประเมินผลการดำเนินงานของโครงการ


ซึ่งในการดำเนินโครงการ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้เป็นไปตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติงานตามแผนงานและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด


ทั้งยังเน้นย้ำถึงการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน นำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤติไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะพื้นที่มุ่งเป้า 10 ป่าสงวนแห่งชาติ และ 11 ป่าอนุรักษ์


พร้อมทั้งวางระบบการตรวจสอบ และติดตามผล โดยจะมีการลงข้อมูลของผู้ปฏิบัติงานไว้ในระบบ Google Forms ประกอบด้วยข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ ภาพถ่าย เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ และมีการรายงานผลการปฏิบัติงานกับหัวหน้าพื้นที่ป่า ตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน

-------------
วานนี้ (18 มี.ค. 67) ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟนครศรีธรรมราช ได้รับคำสั่งจากนายอิเรศ จิระรัตน์ผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการควบคุมไฟป่า (ส่วนหน้า) กรมป่าไม้ มอบหมายให้ชุดนครศรีธรรมราช เดินทางไปปฏิบัติงานที่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน


สืบเนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าได้รุนแรงอย่างต่อเนื่อง และหน่วยในพื้นที่มีกำลังพลจำกัด จึงได้มีการจัดส่งมาสนับสนุนดับไฟป่าโดยชุดเหยี่ยวไฟดังกล่าว เมื่อเวลา 22.00 น. ที่ผ่านมา ขณะเดินทางมาก่อนถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ประมาณ 12 กม. ได้พบกับไฟป่าข้างทาง พื้นที่ตำบลผาบ่อง อ.เมือง ฯ จึงได้ทำการดับไฟป่าทันที


ทั้งนี้ ไฟป่าที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เกิดบริเวณจุดที่เป็นเทือกเขาสูงชัน และไม่สามารถดับได้ ส่งผลให้หมอกควันเพิ่มปริมาณมากขึ้น และบางแห่ง ไฟป่าได้ลามเข้าสู่เรือกสวนของราษฎร ซึ่งอยู่ติดกับบ้านเรือนของราษฎร ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งเข้าไปดับไฟป่าที่เกิดขึ้น เนื่องจากหวั่นว่า จะลุกลามเข้าไหม้บ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว


ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์ ผอ.รพ.ศรีสังวาลย์แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า

สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในจังหวัดแม่ฮ่องสอนปีนี้รุนแรงมาก ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ ผิวหนัง น้ำมูกน้ำตาไหล เดินทางเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลแต่ละวันมากพอสมควร ซึ่งเป็นผลมาจากหมอกควันไฟป่า


ซึ่งทางโรพยาบาลได้มีการแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้ป่วย และญาติผู้ป่วยที่เข้ามารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันสูดดมหมอกควันเข้าสู่ร่างกาย


ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนดูสภาพฝุ่นควัน โดยงดการออกกำลังกาย เพราะช่วงนี้ ฝุ่นควันเยอะมาก เพราะไม่อยากให้ประชาชนมีผลกระทบต่อสุขภาพตัวเอง


นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล ต้องยอมรับกันจริง ๆ ว่า คนไข้ ICU มีจำนวน 8 เตียง ในโรงพยาบาลก็จะเป็นผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ ซึ่งมีระยะเวลาในการดูแลนานกว่าคนไข้ที่อยู่ในช่วงปกติ


ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง คือพวกที่จะดูแลสุขภาพเรื่องของความดัน เบาหวาน ได้ดี ซึ่งกลุ่มพวกนี้ ก็จะนัดให้ญาติมารับยาแทนผู้ป่วย เพื่อจะได้ติดตามเรื่องระบบการนัดต่อเนื่องในระยะยาว แต่ถ้ามีอาการไม่มากก็จะติดตามอาการผ่านทางโทนศัพท์และส่งยาไปให้ที่บ้าน หรือนัดมารับยา


นางอมรา สิงห์พรหม ญาติผู้ป่วย ราษฎรบ้านป่าลาน ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า

ช่วงนี้ ในตัวเมืองมีควันไฟจำนวนมาก แต่ถ้าอยู่ในหมู่บ้านรอบนอกก็มีอยู่บ้าง และอากาศจะปลอดโปร่งมากกว่าในตัวเมือง แนวคิดให้ญาติมารับยาแทนผู้ป่วยถือเป็นเรื่องดี เพราะถ้าผู้ป่วยอายุมาก หรือมีอาการป่วยที่ไม่สามารถเดินทางมาได้ ญาติเป็นส่วนสำคัญในการเป็นตัวแทนผู้ป่วย


ส่วนการแก้ปัญหาไฟป่าคงยาก เพราะเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน เพราะเห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อก่อนรัฐจะปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่ห้ามในการเผาป่า ทำให้ไฟป่าไม่รุนแรงเท่าทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ชุมชนควรจะจัดการกันเองโดยใช้กฎระเบียบของชุมชนของหมู่บ้าน เพราะคนในชุมชนจะรู้ดีว่าไฟป่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนเผา ใครเป็นคนทำ รัฐคอยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา แต่หากชุมชนจัดการกันเองไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมคนในชุมชนได้ รัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ และใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

--------------

ทั้งนี้ สถานการณ์หมอกควันไฟป่าของแม่ฮ่องสอน ยังได้กระทบต่อเที่ยวบิน


โดย สายการบิน บางกอก แอร์เวย์ ได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบิน PG 205 สายสุวรรณภูมิ-ลำปาง-แม่ฮ่องสอน ของวันที่ 18 มีนาคม 2567 สาเหตุมาจากหมอกควันที่หนาทึบ กระทบต่อทัศนวิสัยในการมองเห็น ส่งผลกระทบให้ผู้โดยสารที่จะเดินทางจาก กทม. มายังลำปาง ต้องถูกยกเลิกไปด้วย เนื่องจากเป็นเที่ยวบินที่พ่วง 3 จังหวัด กระทบต่อการท่องเที่ยว และธุรกิจ ในทันที


สำหรับ สายการบิน บางกอก แอร์เวย์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นมา ได้มีการยกเลิกเที่ยวบิน PG 205 ไปแล้วทั้งหมด 6 เที่ยวบิน ได้แก่ วันที่ 8 , 9 , 15 ,16 , 17 และ วันที่ 18 มี.ค. นี้ ซึ่งจะมีการบินวันละ 1 เที่ยวบิน จาก สุวรรณภูมิ-ลำปาง-แม่ฮ่องสอน ในวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ และวันอาทิตย์

-------------

ในส่วนของสถานการณ์ไฟป่า วานนี้ (18 มี.ค. 67) ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังมีการพบจุดไฟป่า สูงถึงจำนวน 367 จุด


ส่งผลให้มีหมอกควันหนาทึบปกคลุมตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ที่ตั้งอยู่ในแอ่งกระทะ ประกอบกับลมสงบ ทำให้หมอกควันปกคลุม จนส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยในการมองเห็น


ขณะที่ ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน ช่วงเช้าวานนี้ (18 มี.ค. 67) วัดได้ 294 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินค่ามาตรฐานถึง 7 เท่า และมีค่าสูงสุดของภาคเหนือ

-------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/8OpycCaW2N8

แท็กที่เกี่ยวข้อง  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ,กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ,กรมป่าไม้ ,งบกลาง ,ป่าสงวนแห่งชาติ ,พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ,พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ,แม่ฮ่องสอน ,ไฟป่าแม่ฮ่องสอน ,สมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) ,pm2.5 ,เชียงใหม่ ,พื้นที่ภัยพิบัติ ,ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ ,ไฟป่า

คุณอาจสนใจ

Related News