เลือกตั้งและการเมือง

สุดเดือด! สภาถกญัตติขบวนเสด็จ 'รทสช.-ปชป.-วิโรจน์-โรม-ชาดา' อัดกันยับ ประท้วงกันวุ่น

โดย nattachat_c

15 ก.พ. 2567

264 views

วานนี้ (14 ก.พ. 67)  เวลา 12.30 น. การประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม  


นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ลุกขึ้นอภิปรายญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ  โดยระบุว่า ที่ตัดสินใจเสนอญัตติด่วน สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งมีการเผยแพร่ในสื่ออย่างกว้างขวาง มีการรบกวนก่อกวนขบวนเสด็จ สร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทย  


เพราะจากที่เห็นคลิป  รู้สึกตกใจเนื่องจากขบวนเสด็จที่ใช้เส้นทางสัญจรเป็นขบวนที่สั้นมาก เห็นได้ชัดว่า การถวายความปลอดภัยในวันนั้นดำเนินการด้วยความระมัดระวังไม่ให้กระทบกับการจราจรของพี่น้องประชาชนและไม่ปรากฏว่ามีลักษณะการปิดถนน ปิดกั้นการสัญจรของพี่น้องคนไทย มีการกันเป็นจังหวะ เป็นช่วง เป็นตอน ให้การจราจรไหลไปตามปกติ แต่ปรากฏว่ามีรถคันหนึ่งของผู้ก่อเหตุ วิ่งมาด้วยความเร็วเจตนาชัดเจน โดยขบวนเสด็จผ่านไปแล้วยังพยายามวิ่งไล่ขบวนเสด็จ จนรถที่ปิดท้ายต้องมากันรถผู้ก่อเหตุออกไป และหลังจากนั้นปรากฏขึ้นอีกคลิปหนึ่งทำให้เห็นเจตนาของผู้ก่อเหตุในวันนั้นว่าคืออะไร


หลังจากเห็นคลิปแล้ว เชื่อว่าความรู้สึกของตนเหมือนกับ สส.หลายคนในห้องนี้ และรู้สึกเช่นเดียวกับประชาชนหลายคน ซึ่งตนรู้สึกโกรธมาก ว่าทำไมถึงต้องทำเช่นนี้  แต่มีประโยคหนึ่งที่แว่วทำให้ตนรู้สึกลดโทสะลง คือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านทรงตรัสไว้ว่า Thailand is the Land of compromise หรือประเทศไทย คือดินแดนแห่งการประนีประนอม ทำให้ดึงสติตนลดความโกรธลดลงมา เพราะความจริงแล้วพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ต้องพูดถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับขบวนเสด็จ แค่มารยาททางสังคม เวลาเดินจะเข้าลิฟท์ยังต้องหลีกทางให้กันและกัน แม้กระทั่งบนถนนที่ใช้ก็มีมารยาทในการสัญจรการจราจรบนถนน  สิ่งที่ตนคาดหวังหลังเกิดเหตุ คือเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 4 ก.พ. รอมาเกือบสัปดาห์ปรากฏว่าท่าทียังไม่ชัดเจน จนกระทั่งวันที่ 10 ก.พ. ผู้ก่อเหตุยังเหิมเกริมไปทำโพลที่บีทีเอสสยาม จนเกิดการกระทบกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างประชาชนที่ไม่พอใจกับผู้ก่อเหตุ


นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า การเสนอญัตติครั้งนี้ ไม่มีความตั้งใจที่จะมาพูดเพื่อซ้ำเติมความร้าวฉาน ความแตกแยกที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในความรู้สึกของทั้งสองฝั่ง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ควรเกิดขึ้นอีก และถ้าเราปล่อยปละละเลย ในที่สุดสถานการณ์ตามที่เราได้เห็นวันที่ 10 ก.พ.เริ่มมีการประท้วงมีการปะทะกันในหมู่ประชาชน ถ้าเราไม่รีบบริหารจัดการ จะบานปลายไปสู่ความแตกแยกความรุนแรงที่อาจจะปะทุบานปลายถึงความขัดแย้งระดับประเทศ  จึงขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยบังคับกฎหมายในทันที เพื่อความสงบเรียบร้อยเพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งบังคับใช้กฎหมาย ไม่มีอะไรที่อยู่เหนือกฎหมาย การใช้สิทธิเสรีภาพมีกรอบชัดเจนว่าต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น และต้องไม่กระทำความผิดกฎหมายตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


นายเอกนัฏ ยังเสนอให้ทบทวนระเบียบมาตรการต่างๆ รวมถึงแผนการถวายการอารักขาความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จ แม้ปัจจุบันกฎหมายที่ใช้ ถือว่ามีความทันสมัย ตาม พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย แต่ในความเห็นของตนเ นื่องจากภารกิจนี้มีความสำคัญและเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จนทำให้ตนกังวลว่า หากเราไม่ทบทวนมาตรการเข้มงวด จะเป็นการปล่อยปละละเลย จนกระทั่งการกระทำในลักษณะแบบนี้เป็นแฟชั่น เป็นค่านิยมใหม่ที่เกิดขึ้น และไม่อยากจินตนาการเลย ถ้าหากปล่อยให้บานปลายมากไปกว่านี้ ดังนั้นจึงควรต้องมีการปรับปรุง ระเบียบ และแผนในการปฏิบัติที่ยังใช้ของเดิมตั้งแต่ปี 2548 ในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งและบริบททางสังคมเปลี่ยนไปเยอะ ใน 10 ปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งนิยามของภัยคุกคามหรือความพยายามที่จะก่อกวนขบวนเสด็จหรือก่อเหตุให้เกิดอันตรายก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะไม่สามารถจินตนาการว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นหากกฎหมายอัปเดตแล้ว ระเบียบแผนมาตรการจะต้องอัพเดทตามกฎหมายด้วย จะต้องมีความกระชับ มีความชัดเจน มีเจ้าภาพ มีขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจน  ไม่อยากให้เกิดข้อถกเถียงในการปฏิบัติหน้าที่ว่า เหตุเกิดขึ้นแล้วเป็นของใคร เรื่องของการถวายความปลอดภัย การถวายพระเกียรติ ถือเป็นภารกิจสำคัญมากๆ ต้องมีความชัดเจน และสิ่งสำคัญที่สุดคือการฝึกซ้อม


"เห็นไหมครับก่อเหตุปุ๊บถ่ายคลิปทันทีแบบนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องมีการฝึกซ้อมแผนรองรับ อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ อะไรที่ประชาชนผู้ก่อเหตุไม่สามารถทำได้ เมื่อเกิดเหตุสิ่งแรกที่จะต้องสื่อสารกับผู้ก่อเหตุคืออะไร เพราะประโยคนั้นเป็นประโยคที่สำคัญที่สุดถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว แต่ผมไปดูคลิปผมขอไม่วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มากไปกว่านี้ เพราะเข้าใจว่าในส่วนของแผนมาตรการต่างๆอาจจะลงไม่ชัดเจน ไม่มีการฝึกซ้อม ไม่มีคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ แต่ผมหวังว่าหลังจากเหตุการณ์นี้จะไม่มีลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นอีก"


นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า  สิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารกับประชาชน เพราะต้องยอมรับว่าในภารกิจการถวายความปลอดภัย ไม่มีที่ไหนในโลกที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเลย แต่เชื่อว่า พี่น้องประชาชนเข้าใจ และถือว่าเป็นความปลอดภัยต่อสาธารณะด้วย


"ขอส่งสัญญาณผ่านรัฐบาลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ปรับปรุงสื่อสารถึงหน่วยงานต่างๆ เพราะกังวลว่าถ้าปล่อยผ่านละเลย และเราไม่เข้มงวดเหตุการณ์แบบนี้ จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่นำไปสู่ความวุ่นวาย เกิดการปะทะกันในหมู่ประชาชน เกิดความแตกแยก และขอย้ำว่าพวกเราอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขไม่อยากให้มีพฤติกรรมหรือค่านิยมแฟชั่นที่ออกมาบั่นทอนสถาบัน  ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจขอเสนอเป็นญัตติด่วน เพื่อให้ สส.ได้พิจารณา ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บังคับใช้กฎหมายทบทวนระเบียบ แผน และมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัยมีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์กับประชาชน ถือเป็นความปลอดภัยให้สมพระเกียรติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ"

--------------

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติเรื่องถวายความปลอดภัย ว่าเนื่องจากตนเองและพรรคประชาธิปัตย์  มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องของการให้ความสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  มีจุดยืนในการที่จะต้องการธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประมุขของประเทศ เช่น มาตรา 112 อย่างที่อารยะประเทศทำกัน    นับตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป รวมถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ ซึ่งการถวายความปลอดภัยให้กับบุคคลเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด


เมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. จึงเป็นเหตุที่ตนเองและสมาชิกจำเป็นต้องเสนอญัตตินี้เข้ามา และไม่อาจจะเพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าวได้ วัตถุประสงค์ของญัตติมี 2 ประการ คือ


1.ประสงค์ให้สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ส่งความเห็นของสภาฯ เพื่อให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการ


2.ประสงค์ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎร รับไปประกอบการพิจารณาด้วย


ตนมีความเห็นต่อพฤติกรรมคุกคามกระบวนเสด็จอย่างน้อย 3 ข้อ คือ


1.ตนถือว่าเป็นการกระทำอันไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง เกินกว่าที่คนไทยผู้จงรักภักดีจะยอมรับได้ และเป็นการย่ำยีพระผู้เป็นดวงใจของประชาชน


2.การที่ขบวนเสด็จไม่ปิดถนนยิ่งสะท้อนพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพสกนิกรอย่างชัดแจ้งเป็นประจักษ์เหนือคำบรรยายใดๆ แม้จะต้องทรงงานหนัก และต้องเสด็จให้ทันเวลาก็ตาม


3.ตนเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย คือ หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ฐานันดรใด แล้วต้องใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ภายใต้ขอบเขตของตัวบทกฎหมาย เฉกเช่นอารยะประเทศทุกประเทศในโลกนี้ที่เขาทำกัน


นอกจากนี้ ผู้มีหน้าที่ถวายความปลอดภัย นอกจากส่วนราชการในพระองค์แล้ว กลไกสำคัญ คือรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่มีชื่อว่าพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 มาตรา 6 ระบุว่าให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ซึ่งประกอบด้วยกระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย หรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย


"ผมไม่ประสงค์จะทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมือง แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและในฐานะผู้สั่งปฏิบัติราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องยอมรับว่า ท่านออกมาส่งสัญญาณแสดงท่าทีความรับผิดชอบค่อนข้างช้า เหตุเกิดวันที่ 4 ก.พ.2567 และวันที่ 7 ก.พ. 2567 เกิดเหตุปะทะกันที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม จนวันที่ 10 ก.พ. 2567 หลังจากเกิดเหตุ 7-8 วัน นายกรัฐมนตรีจึงเรียกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงมาตรการเรื่องการรักษาความปลอดภัยของขบวนเสด็จ"


นายจุรินทร์ เสนอข้อเสนอ 4 ข้อ เพื่อให้สภาได้พิจารณา คือ


1. รัฐบาลต้องตระหนักในหน้าที่การถวายความปลอดภัยตามกฎหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้เป็นไปด้วยความปลอดภัยสมพระเกียรติ ด้วยความสำนึก กระตือรือร้น จงรักภักดี แล้วควรเร่งรัดดำเนินการทบทวนมาตรการเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก


2.รัฐบาลแม้เป็นหน้าที่อยู่แล้ว ก็ย้ำว่าให้รัฐบาลยึดหลักนิติธรรม บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ว่ากับฝ่ายใด เพื่อทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์และไม่เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายอีกต่อไปในอนาคต


3.ในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและทั้งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รัฐบาลต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดีมาตรา 112 เพราะนอกจากจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต ยังเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มเติมขึ้นมาอีก รวมทั้งเมื่อเกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าไม่ส่งเสริมให้นิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112


4.รัฐบาลควรจะได้ตั้งหลักพิจารณาร่วมกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบ รอบด้าน  ว่าสมควรจะมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ 2560 หรือไม่ โดยเพิ่มเติมให้มีการกำหนดบทลงโทษเป็นการเฉพาะต่อผู้ที่ละเมิดพระราชบัญญัติฉบับนี้  ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ เมื่อเกิดเหตุผู้บังคับใช้กฎหมายต้องนำบทบัญญัติกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงบังคับใช้ เช่น  มาตรา 112 มาตรา 116 เป็นต้น เรื่องนี้จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาว่าเหมาะสมสมควรหรือไม่และจะดำเนินการในรูปแบบไหนอย่างไรต่อไป รวมทั้งการพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องทบทวนกฎระเบียบมาตรการต่างๆเพิ่มเติมอีกด้วยหรือไม่


นายจุรินทร์ กล่าวทิ้งทายว่า ทั้ง 4 ข้อนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนสืบไป   ตนในฐานะ สส.คนหนึ่ง และในฐานะพสกนิกรชาวไทยผู้จงรักภักดีคนหนึ่ง  เช่นเดียวกับคนไทยทั่วประเทศ  ตนเองขอถวายกำลังใจแก่องค์สมเด็จพระเทพฯ ด้วยความจงรักภักดียิ่ง

--------------
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายว่า ในการอารักขาการเสด็จพระราชดำเนินของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในครั้งนี้ ก็เป็นกระบวนการตามปกติ  ดังนั้น การรบกวนมาตรการการอารักขาที่เป็นมาตรฐานและเป็นปกติ  ตนจึงต้องยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักอยู่ในใจตนเองเสมอก็คือการพยายามทำให้กระบวนการในการอารักขามีประสิทธิภาพสูงที่สุด ส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด เพราะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าคนที่จะต้องไปทำงาน คนที่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือคนที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนต่างๆ เขาก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่อาจจะรู้ด้วยซ้ำไปว่าขบวนเสด็จอยู่ข้างหน้า


“คุณปิดปากประชาชนให้พูดไม่ได้ คุณบังคับให้ประชาชนไม่รู้สึกอะไรเลยไม่ได้ ดังนั้น การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนที่ดีที่สุด คนที่ต้องทำหน้าที่นั้นก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอารักขา ทางออกที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือการทบทวนพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัยพ.ศ. 2560 โดยเฉพาะในมาตราที่ 5 โดยสภาแห่งนี้ควรจะเพิ่มเติมให้การปฎิบัติงานในการถวายความปลอดภัยให้คำนึงถึงประชาชนไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเกินควร”  


นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า เมื่อตนเห็นว่าการรบกวนมาตรการการอารักขาบุคคลสำคัญที่เป็นกระบวนการมาตรฐาน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตนก็จำเป็นต้องสะท้อนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ไม่มีความเกลียดชังใดๆ ตนยังเคารพวิจารณญาณและดุลยพินิจของผู้กระทำ ตนเคารพเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมาเช่นกัน


ตนคิดว่าคนที่ปรารถนาดีต่อกัน ต้องกล้าที่จะพูดในสิทธิมีเหตุมีผล แม้จะรู้ว่าสิ่งที่พูดเป็นสิ่งที่บางคนอาจจะไม่อยากฟังก็ตาม  คนที่ปรารถนาดีไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันในทุกเรื่อง การกล้าที่จะแสดงความเห็นคือความปรารถนาดี


นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องหนึ่ง  คือ การใช้ความรุนแรงในการทำร้ายผู้อื่นโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำร้ายผู้อื่นเพราะจงรักภักดีนั้น เป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สุด หากปล่อยให้บุคคลที่นิยมความรุนแรง มีอำนาจบาทใหญ่ อ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ทำร้ายคนที่คิดต่างอย่างใดก็ได้  โดยที่กฎหมายไม่เคยเอาผิดได้ ในระยะยาวมีแต่จะทำให้สถาบันเสื่อมเสียพระเกียรติติยศ


นายวิโรจน์ ระบุว่า ตนจึงมีความเห็นว่า รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ให้มีพฤติกรรมกล้านำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้คนตามใจชอบอีกต่อไป


“ลองจินตนาการดูครับ ถ้าเราเชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เป็นคนดี ลองจินตนาการดูว่าหากมีคนคิดแบบนี้เพิ่มเป็น 1 ล้านคนจะเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์  จากที่เป็นศูนย์รวมจิตใจทั้งชาติต้องมาอยู่ใจกลางความขัดแย้งของประชาชนที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และสถาบันพระมหากษัตริย์จะยั่งยืนสถาพรได้อย่างไร การบังคับใช้กฎหมาย ขอฝากรัฐบาลไว้ตรงนี้ว่าต้องมีความเสมอภาค ไม่ใช่เอากฎหมายไปเล่นงานอีกฝ่ายหนึ่ง”


นายวิโรจน์ ย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้น คือ พื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยในเรื่องสถาบัน ไม่ใช่สภา


เมื่อนายวิโรจน์กล่าวถึงช่วงนี้ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นประท้วง  ว่าญัตติที่พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอไป เป็นเพียงมาตรการรักษาความปลอดภัย  แต่นายวิโรจน์อภิปรายนอกเหนือจากญัตติ


ทำให้นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ยังอยู่ในญัตติ เพราะเป็นการอภิปรายเรื่องความปลอดภัยและผลลัพธ์หลังจากนั้น


นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ประท้วงด้วยว่าสิ่งที่นายเกชาประท้วงเป็นคนละญัตติ แต่นายปดิพัทธ์ กล่าวตัดบทว่า เป็นประเด็นประท้วงเดียวกัน ตนขออนุญาตวินิจฉัยไม่ให้ประท้วง


ทำให้นายอัครเดชประท้วงประธานอีกรอบ ว่า ต้องวางตัวเป็นกลาง เพราะยังไม่ได้ฟังว่าไปประท้วงเรื่องอะไร


แล้วปิดไมค์ผม ต้องฟังผมก่อน ผมประท้วงท่านประธาน ว่าท่านใช้ดุลยพินิจไม่เป็นกลาง ต้องฟังผมก่อนว่าเพราะอะไร แต่ท่านก็ตัดบทผม ว่าผมมีประเด็นเดียว ผมยังไม่ได้พูดเลย ขอให้ผมได้พูดก่อนได้หรือไม่ว่าท่านไม่เป็นกลางเพราะอะไร” นายอัครเดช กล่าว


จากนั้น นายปดิพัทธ์ ตอบโต้ว่า ไม่เป็นความจริง ก่อนที่นายอัครเดช กล่าวว่า ทางผู้เสนอญัตติเสนอเรื่องทบทวนมาตรการในการถวายความปลอดภัย แต่สิ่งที่ทางนายวิโรจน์พูดอยู่  เป็นเรื่องกลุ่มบุคคลที่เห็นต่างที่มีปัญหา กระทำการไม่บังควร  ซึ่งเป็นปัญหานอกเหนือจากญัตติที่เสนอ ส่วนเรื่องอื่นขอให้ไปยื่นญัตติใหม่ แล้วค่อยอภิปรายในประเด็นนี้


ายปดิพัทธ์ จึงอ่านญัตติที่เสนอ ว่า เรื่องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายทบทวนแผนและมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อมและประชาสัมพันธ์ สื่อสารกับประชาชนเป็นการถวายความปลอดภัย ให้สมพระเกียรติเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันของชาติ เนื้อหาของนายวิโรจน์เป็นส่วนสุดท้าย คือ เรื่องการสื่อสารกับประชาชน ตนถือว่ายังอยู่ในประเด็น


นายวิโรจน์ จึงอภิปรายต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำให้เป็นรูปธรรมคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อไม่ใช่แค่ในสภา แต่หมายถึงเวทีสาธารณะทั่วไปด้วย เพื่อให้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเจตนาสุจริตอย่างมีวุฒิภาวะ  เป็นเรื่องปกติไม่มีการมาจับผิด ซึ่งรัฐบาลจะปล่อยให้สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้


“เราใช้น้ำมันดับไฟไม่ได้ ความรุนแรงไม่เคยแก้ไขความรุนแรงได้ มีแต่จะยิ่งทำให้บานปลาย ทุกความขัดแย้งในโลกใบนี้ล้วนแก้ไขได้ด้วยการพูดคุย และพยายามเข้าใจกัน ในที่สุดก็จะเกิดทางออกที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันอย่างสันติ ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในหลายวงสนทนา เวลาที่มีการเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะเอ่ยด้วยความสุจริตก็ตามก็ต้องมีบางคนในวงสนทนามีอากับกริยาเอามือจุ๊ปาก (วิโรจน์ทำท่าจุ๊ปาก) สะท้อนว่าปัจจุบันการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังกลายเป็นเรื่องต้องห้ามไปแล้ว ซึ่งหากเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งห่างเหินจากประชาชน  บั่นทอนการยึดเหนี่ยวจิตใจที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีต่อประชาชน  อย่างที่เคยเป็นมา และเลิกได้แล้ว กับคำกล่าวหาเลื่อนลอยว่า มีคนอยู่เบื้องหลัง เป็นการดูถูกประชาชนอย่างสิ้นเชิง  ทำไมไม่ตั้งคำถามกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงบ้าง ทำคนมากี่คนแล้วก็ไม่เคยถูกกฎหมายเอาผิดได้อย่างนี้ต่างหากที่ควรสงสัยว่า มีผู้มีอำนาจที่คอยให้ท้ายช่วยให้คนเหล่านี้กระทำความรุนแรงโดยที่ไม่ต้องเกรงกลัวกฎหมาย”


นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเชื่อว่าประชาชนหลายคนที่ฟังบางคน  อาจไม่สบายใจและอาจจะนึกด่าทอต่อว่าตนอยู่ในใจ  ซึ่งตนก็น้อมรับ  แต่ถ้าฟังด้วยใจที่เป็นกลางและฟังแล้วคิดตามในสิ่งที่ตนพยายามจะสื่อสารก็จะทราบดีว่า ตนมีความปรารถนาดีต่อระบอบประชาธิปไตยและประสงค์ที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงสถิตสถาพรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตราบนิรันดร์

-------------
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า หลังจากมีข่าวการขวางขบวนเสด็จออกมา  ต้องยอมรับว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยความหวาดกลัว   ตนเข้าใจดีว่า ทุกคนล้วนมีความรู้สึกกับเรื่องนี้ไปต่างๆ นานา แต่หากไม่พิจารณาเรื่องนี้อย่างมีวุฒิภาวะด้วยสติที่มั่นคง  สิ่งที่ทุกคนกำลังสร้าง คือ บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ส่งผลให้เกิดการทำร้ายร่างกายกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อหน้าตำรวจและสื่อมวลชน  กลางเมืองหลวงที่มีคนผ่านไปผ่านมา  ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์  ก็มีตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างใจเย็น ทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามบานปลาย  วิธีการควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมอย่างมีวุฒิภาวะ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หากสิ่งที่นักเคลื่อนไหวทำมีความผิดจริงตามกฎหมาย ตนเข้าใจ สิ่งสำคัญคือต้องโปร่งใส และสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง


"วันนี้ตนรู้สึกผิดหวังกับท่าทีของนายกรัฐมนตรี  ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดีของบ้านเมืองกับการบอกว่า ตนเองและคณะรัฐมนตรีไม่สนับสนุนความรุนแรง และขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องสถาบัน แต่กลับไม่มีการบอกให้ บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงเลย แบบนี้จะกลายเป็นการเขียนเช็คเปล่าให้กับผู้ที่ใช้ความรุนแรงหรือไม่"


นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ ยังกล่าวว่า   ที่ผ่านมากลุ่มนักเคลื่อนไหวได้พยายามใช้วิธีอย่างสันติในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ด้วยการตั้งคำถามและกิจกรรมติดสติ๊กเกอร์  ซึ่งอาจทำให้คนบางคนปวดร้าวในจิตใจ แต่ก็ไม่ได้ลงมือทำร้ายใคร


ทำให้นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ประท้วงนายรังสิมันต์  ว่าอภิปรายเกินกว่าญัตติที่เสนอ นายรังสิมันต์จึงได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนต้องการบอกว่าการรักษาความปลอดภัยต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและที่สำคัญคือต้องมีสติ  หากไม่มีการพูดถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและไม่มีสติ  จะสามารถรักษาความปลอดภัยได้อย่างไร


จากนั้น นายรังสิมันต์  อภิปรายต่อว่า กลุ่ม ศปปส. มีการโพสต์ข้อความปลุกปั่นในโซเชียลมีเดีย ว่าจะเชือดไก่ให้ลิงดู หรือกลุ่มอาชีวะราชภักดี ที่ขู่จะจัดการ “สายน้ำ” ตามวิถีอาชีวะปะทะก่อนค่อยคุย  // ซึ่งในช่วงนี้ นายรังสิมันต์ ได้นำภาพกลุ่ม ศปปส.ถ่ายคู่กับนายชาดา มาเปิดในที่ประชุม โดยไม่มีการเบลอหน้า พร้อมกล่าวว่า “มีอีกหลายข้อความที่ถูกกล่าวขึ้นโดยบุคคลสำคัญ แม้กระทั่งนายชาดา พูดถึงการเนรคุณแผ่นดิน มีการปลุกปั่นให้สถานการณ์ร้ายแรงเกินกว่าความเป็นจริงมาก และทำให้คนทั้งสังคมไม่รู้สึกปลอดภัย  รัฐจะสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยได้อย่างไร ในเมื่อสุดท้าย ผีที่สร้างขึ้นมามันมาจากพวกท่านเอง ถ้ายังปล่อยให้สถานการณ์บานไปเรื่อยๆ หากไม่มีการดึงสติ แล้วคำขู่เกิดขึ้นจริง ใครจะรับผิดชอบ และสุดท้ายผู้ที่ใช้ความรุนแรง แล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไร  คนจะหาว่ารัฐบาล เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังคนเหล่านี้ ขออย่าให้ไปถึงจุดนั้นเลย”


ทั้งนี้ รูปที่นายรังสิมันต์ นำมาเปิด เป็นรูปของนายชาดา ถ่ายร่วมกับกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ก่อนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงบริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ซึ่งพร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า “หากมีการใช้ความรุนแรงโดยไม่ต้องรับผิดชอบนั้น อาจมีการกล่าวหาได้ว่ารัฐบาลคือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง”


ทำให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  ลุกขึ้นใช้สิทธิ์ประท้วงนายรังสิมันต์ โรม และพูดอย่างดุเดือดว่า


“เมื่อสักครู่มีสมาชิกท่านหนึ่งนำรูปของตนมาอภิปราย ส่อให้เกิดเจตนารมณ์ที่ไม่ดี ซึ่งการอภิปรายของตนเองครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในวันเลือกนายกรัฐมนตรีและมีประชาชนขอถ่ายรูปกับตนเป็นล้านคน  การที่ตนเองจะร่วมกิจกรรมที่ดีงามไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิด  ซึ่งผู้ที่อภิปรายส่อเจตนาไม่ดี   สร้างความแตกแยก และสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน  ตนเสียหาย เป็นการชี้จูงทางความคิดที่ท่านกำลังให้เด็กทำอยู่ ที่พวกท่านกำลังทำอยู่ มันคือความรู้สึกของคน อกตัญญู”


“ปากบอกต้องการความสงบให้ตั้งอยู่ตรงกลาง แต่พฤติกรรมไม่ใช่    ตนฟังการอภิปรายตลอดเวลา และการกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่เสียหายมาก ซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตได้อย่างไร  ประธานต้องมาขอโทษตนเอง ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ถูกต้องและไม่เป็นกลาง  และตนจะฟ้อง ที่นำรูปของตนมาอภิปราย”


“ญัตตินี้เป็นเรื่องของการอารักขาขบวนเสด็จ  ที่ทำร้ายจิตใจประชาชน แต่เอาเรื่องนอกประเด็น  ผลของการกระทำเด็กหรือใครก็ตามที่ทำผิดกฎหมาย  มีขบวนการในประเทศนี้ที่จะล้มล้าง  ที่จะบั่นทอน อย่าพูดว่าไม่มี  ยืนยันว่าตนไม่ได้อยากจะพูด  แต่หัวใจความรักชาติมันเต็มเปี่ยม สิ่งที่ท่านทำไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ ปากบอกว่าพัฒนา แต่สิ่งที่ทำเมื่อสักครู่นี้เลวทรามมากในความรู้สึกตน”


“อย่าพูดว่าไม่มีขบวนการล้มเจ้า ตนยืนยันว่า มี ซึ่งตนพร้อมจะถ่ายรูปกับคนทุกคนที่ปกป้องสถาบัน แต่เขาจะเอาไปทำอะไรผมไม่รู้ ผมไม่เกี่ยว มันคนละเรื่อง ต้องมีสามัญสำนึกในการกระทำ อย่ามาพูดดูดี แต่ปฏิบัติไม่ดี”


"เดี๋ยวผมจะลุกโต้ทุกคนที่พูด  อย่ามาเล่นใต้ดินกับผม  แล้วอย่ามาเรียกร้องไม่ให้คนอื่นเล่นใต้ดิน ประธานต้องบอกผมว่าใครเป็นคนอนุญาต ประธานสภาหรือเจ้าหน้าที่ มีวิจารณญาณไหม มีสมองไหม  เข้าใจว่าความแค้นของท่านในวันที่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผมไม่เคยสร้างความขัดแย้งกับพรรคการเมือง นักการเมืองทุกคนความคิดเห็นต่างก็ไม่เป็นไร แต่อย่ามาทำมือถือสากปากถือศีล"


ทั้งนี้  นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา  ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ชี้แจงว่า ยอมรับว่าไม่ได้ดูภาพดังกล่าว  แต่หากมีการพาดพิง ตนจะหาคำตอบให้ พร้อมขอให้ทั้งฝ่ายอภิปรายอย่างสร้างสรรค์พร้อมอยู่ในประเด็นว่าจะหาทางออกได้อย่างไร


ขณะที่นายรังสิมันต์  ยืนยันว่า การนำภาพมาอภิปรายในสภาดำเนินการอย่างถูกต้อง และเป็นอำนาจประธานสภาในการพิจารณา และรัฐมนตรีก็มีสิทธิที่จะชี้แจงได้อยู่แล้ว ขอให้ใจเย็นๆ นิดนึง  ถ้าฟังการอภิปราย  ตนไม่ได้ไปปรักปรำว่ารัฐมนตรีไปอยู่เบื้องหลัง ถ้าท่านขึ้นรูปอีกสักครั้งจะเห็นว่า ไม่มีข้อความใด้ที่ปรักปรำนายชาดาเพิ่ม  ทำให้นายชาดาพูดสวนด้วยน้ำเสียงดุเดือดว่า  ไม่ปรักปรำเพิ่มแสดงว่าปรักปรำมาก่อน


จากนั้นบรรยากาศยังตอบโต้กันไปมาอย่างดุเดือด  โดยนายชาดายังยืนยันที่จะขอความชัดเจนว่าใครผู้ที่อนุญาติให้นำภาพมาอภิปราย พร้อมระบุว่า “มีความพยายามเชื่อมโยงว่าตนอยู่เบื้องหลัง บอกได้เลยว่าถ้าตนอยู่เบื้องหลังสนุกกว่านี้  ขออย่าให้มีพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นในสภาอีก ผมถือว่าท่านไม่ใช้สติในการพิจารณาการกระทํา  คนไทยทุกคนรับได้ (ขบวนเสด็จ) มีแผ่นดินอยู่ มีแผ่นดินคุ้มกะลาหัว ถ้ารับไม่ได้ ไปอยู่ประเทศอื่น”


หลังมีการตอบโต้กันไปมาประธานจึงตัดบทให้ที่ประชุมเข้าสู่การอภิปรายต่อไป 

--------------- 













คุณอาจสนใจ

Related News