เลือกตั้งและการเมือง

"รทสช.-ปชป." สับยับเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย ด้าน "เอกนัฏ" ลั่นโกรธถึงขีดสุด จนถึงขั้นรังเกียจ

โดย gamonthip_s

14 ก.พ. 2567

85 views

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลุกขึ้นขอใช้ข้อบังคับการประชุมข้อที่ 50 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือความจำเป็นรีบด่วนในการรักษาความสงบเรียบร้อย ในศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือทางใด ๆ ก็ตาม หรือขจัดเหตุใด ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เพื่อขอให้นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายทบทวนระเบียบแผน และมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้มีความเหมาะสม มีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ซึ่งถือเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติยศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยกมือขึ้นรับรองมากกว่า 50 คน 


แต่เนื่องจากญัตติดังกล่าว เป็นการเสนอญัตติด่วนนอกระเบียบวาระการประชุม นายประดิพัทธ์ ในฐานะประธานการประชุม จึงถามที่ประชุมว่ามีใครจะคัดค้านการเสนอญัตติดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งไม่มีสมาชิกคนใดคัดค้าน นายประดิพัทธ์ จึงให้เข้าสู่การพิจารณาญัตติด่วน แต่ได้เน้นย้ำสมาชิกให้ปฏิบัติตามข้อบังคับข้อที่ 69 ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือวาจาที่ไม่สุภาพ ใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือกล่าวชื่อสมาชิกหรือบุคคลอื่นโดยไม่จำเป็น ซึ่งญัตติเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเจตนาที่ดีที่จะพูดคุยเรื่องนี้อย่างมีวุฒิภาวะ จึงขอให้สมาชิกเคร่งครัดตามข้อบังคับ อาจจะมีความจำเป็นที่จะเอ่ยถึงบ้าง แต่ขออย่าเสียดสีหรือใส่ร้ายหรือพูดโดยไม่จำเป็นมากจนเกินไป


โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อรทสช. ลุกขึ้นอภิปรายเหตุผลสนับสนุนเป็นคนแรกว่าเหตุผลที่ตนได้เสนอญัตติด่วนในวันนี้ สิ่งที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ มีการเผยแพร่บนพื้นที่สื่ออย่างกว้างขวาง ในการรบกวนก่อกวนขบวนเสด็จฯ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจ และตนเห็นว่ากรณีนี้ หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน จะทำให้สถานการณ์บานปลายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย กระทบต่อศีลธรรมอันดีโดยเฉพาะความมั่นคงของประเทศ


นายเอกนัฏ ระบุว่า ขอเชิญชวนเพื่อนสมาชิกทวนเข็มนาฬิกา ย้อนไปหลังเกิดเหตุวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ตนเชื่อว่าทุกคนได้รับทราบข่าวสารจากสื่อมวลชนที่มีการไปรบกวนขบวนเสด็จ ขณะกำลังเดินทางไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบรมวงศานุวงศ์


สิ่งแรกที่ตนเห็นคือคลิปที่มีการเผยแพร่ทำให้รู้สึกตกใจ เพราะที่ปรากฎบนคลิปชัดเจนว่า ขบวนเสด็จที่กำลังใช้ช่องทางสัญจรอยู่นั้นเป็นขบวนที่สั้นมาก เห็นชัดว่าการถวายความปลอดภัยในวันนั้น ดำเนินการด้วยความระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อการสัญจรของประชาชน และไม่ปรากฏลักษณะการปิดถนน มีแต่กันเป็นจังหวะเป็นช่วงเป็นตอน เพื่อให้การจราจรเป็นไปตามปกติ แต่ปรากฎว่ามีรถยนต์คันหนึ่ง ของผู้ก่อเหตุวิ่งมาด้วยความเร็ว เจตนาชัดเจนเพราะขบวนเสด็จฯผ่านไปแล้ว พยายามไล่ขบวนเสด็จฯในที่สุด รถที่ปิดท้ายต้องมากันรถผู้ก่อเหตุออกไป หลังจากนั้นปรากฏอีกคลิปหนึ่งทำให้เห็นเจตนาของผู้ก่อเหตุในคืออะไร หลังจากที่ตนได้เห็นความรู้สึกของตนเหมือนกับสมาชิกหลายคนในห้องนี้ 


"ผมรู้สึกโกรธครับ โกรธมาก ว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ แต่เชื่อหรือไม่ ในขณะที่ผมรู้สึกโกรธจนจะถึงขีดสุด กระทั่งจะเกิดเป็นความรังเกียจกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น" นายเอกนัฏระบุ


นายเอกนัฏ กล่าวว่า มีประโยคหนึ่งที่แว่วมาบันดาลใจให้ลดโทสะลง คือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตรัสไว้ว่า Thailand is the land of compromise (ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งความประนีประนอม) We love them all the same หลังจากสื่อต่างชาติในช่วงเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันที่มีการรบกวนขบวนเสด็จ เมื่อปลายปี 2563 ที่มีสื่อมวลชนไปถามกรณีการประท้วงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ท่านมีพระราชดำรัสตรัสไว้ชัดเจน ทำให้ตนดึงสติลดลงมาจากความโกรธไปถึงความรังเกียจทำให้เราสงบสติอารมณ์


นายเอกนัฏระบุว่า ขบวนเสด็จฯ ผ่านไปแล้ว ไม่ได้สร้างความเสียหายเดือดร้อนอะไร แต่กลับวิ่งด้วยความเร็วจี้เข้าไป เหมือนมีความตั้งใจว่าจะให้เกิดเหตุ ซึ่งตนรู้สึกกังวล และคาดหวังรออยู่ว่าเหตุเกิดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งในที่สุดแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะออกมาดำเนินการอย่างไรบ้าง จะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร ตนรอมาเกือบ 1 สัปดาห์ ต้องบอกว่าการแสดงท่าทีไม่ชัดเจน จนกระทั่งมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ผู้ก่อเหตุยังเหิมเกริม ไปทำโพสต์ที่ bts สยาม จนทำให้เกิดเหตุการณ์ปะทะกัน ตนไม่ได้ตั้งใจที่จะมาพูดเพื่อซ้ำเติม ความร้าวฉาน ความแตกแยกเกิดขึ้นอยู่แล้วในความรู้สึกของทั้งสองฝั่ง แต่ตนมีความตั้งใจจริงที่เห็นว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก และหากเราปล่อยปละละเลยในที่สุดสถานการณ์จะเริ่มมีการประท้วงปะทะกันในหมู่ประชาชน


นายเอกนัฏระบุว่าถ้าเราไม่บริหารจัดการจะบานปลายไปสู่ความแตกแยก ความรุนแรงที่อาจจะปะทุไปสู่ไปถึงระดับประเทศ เราต้องการส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล และหน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ตนจึงขอเสนอ 1.ขอให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกฎหมายในทันที ยืนยันว่าไม่ใช่การล่าแม่มด กระทำการประหัดประหาร ไปนำผู้ซึ่งกระทำความผิดใช้ศาลเตี้ยตัดสินใจ แต่เพื่อความสะดวกเรียบร้อย เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งบังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่มีอะไรอยู่เหนือกฎหมาย การใช้สิทธิเสรีภาพ ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น 2.เป็นโอกาสที่ดีที่จะหาข้อสรุปทบทวน ระเบียบ มาตรการต่าง ๆ และแผนการอารักขาความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ เพราะเชื่อว่าปัจจุบันกฎหมายที่ใช้อัปเดตพอสมควร คือ พ.ร.บ. การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ใครต้องเป็นผู้ปฏิบัติชัดเจนว่ามีความหมายอย่างไรใครต้องเป็นผู้ปฏิบัติ แต่ในความเห็นของตนเนื่องจากภารกิจนี้มีความสำคัญ และเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ปลายปี 2560 ก็มีเหตุการณ์ก่อกวนลักษณะแบบนี้ หากเราไม่ทบทวนมาตรการให้เข้มงวดเป็นการปล่อยปละละเลยจนกระทั่งลักษณะนี้จะกลายเป็นแฟชั่น เป็นค่านิยมใหม่


นายเอกนัฏระบุว่า ตนเข้าใจว่าอาจมีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้เจ้าหน้าที่กังวลใจว่า หากปฏิบัติเข้มงวดไปจะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ แต่ตนยืนยันสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ท่านไม่ใช่เซลล์ ที่จะมามัวคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้า บอกตามตรงว่ามาตรฐานของท่านมันช้าไป ตนกังวลระเบียบ และแผนที่ใช้ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 สถานการณ์ความขัดแย้ง บริบททางสังคมเปลี่ยนไปมากจนถึงวันนี้ โดยเฉพาะภัยคุกคามต่อขบวนเสด็จเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแผนต้องอัปเดตไปตามกฎหมายด้วย


นายเอกนัฏระบุว่า เรื่องการถวายความปลอดภัย ถวายพระเกียรติ เป็นภารกิจที่สำคัญมาก ๆ ต้องไร้รอยต่อ ต้องอัปเดตสถานการณ์อย่างเหมาะสม และฝึกซ้อมให้มีความพร้อม มีคู่มือการปฏิบัติ และ 3.การประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชน ทั้งนี้ยืนยันว่าตนได้ใช้หน้าที่สส.ในการเปิดพื้นที่ตรงนี้ ส่งสัญญาณ ไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนปรับปรุง สื่อสาร เพราะกังวลว่าถ้าปล่อยปละละเลยเหตุการณ์จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวนำไปสู่ความวุ่นวาย ปะทะกันจนเกิดความแตกแยก ว่าและกลายเป็นค่านิยมหรือแฟชั่นที่ไปบั่นทอนสถาบัน


ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเสนอญัติดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ว่า เนื่องจากตนเอง และพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนชัดเจน ในเรื่องของการให้ความสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีจุดยืนในการที่จะต้องการธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประมุขของประเทศ เช่น มาตรา 112 อย่างที่อารยะประเทศทำกัน และมีจุดยืนในการถวายความปลอดภัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งการถวายความปลอดภัยนับตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป รวมถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ ซึ่งการถวายความปลอดภัยให้กับบุคคลเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด


ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามขบวนสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอันเป็นที่เคารพรักยิ่งของคนไทยทั้งประเทศเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลา 18:20 น. จึงเป็นเหตุที่ตนเองและสมาชิกจำเป็นต้องเสนอญัตตินี้เข้ามา และไม่อาจจะเพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าวได้


นายจุรินทร์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของญัตติมี 2 ประการคือ 1.ประสงค์ให้สภาผู้แทนราษฎรได้ทีมติให้ส่งความเห็น ของสภาฯเพื่อให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการ 2. ประสงค์ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎรรับไปประกอบการพิจารณาด้วย


ทั้งนี้ตนมีความเห็นต่อพฤติกรรมคุกคามกระบวนเสด็จอย่างน้อย 3 ข้อ 1. ตนถือว่าเป็นการกระทำอันไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง เกินกว่าที่คนไทยผู้จงรักภักดีจะยอมรับได้ และเป็นการย่ำยีพระผู้เป็นดวงใจของประชาชน 2. การที่ขบวนเสด็จไม่ปิดถนนยิ่งสะท้อนพระมหากรุณาธิคุณต่อ พสกนิกรอย่างชัดแจ้งเป็นประจักษ์เหนือคำบรรยายใด ๆ แม้จะต้องทรงงานหนัก และต้องเสด็จให้ทันเวลาก็ตาม 3. ตนเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยคือหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครฐานันดรใด แล้วต้องใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ภายใต้ขอบเขตของตัวบทกฎหมาย เฉกเช่นอารยะประเทศทุกประเทศในโลกนี้ที่เขาทำกัน


นอกจากนี้ผู้มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยนอกจากส่วนราชการในพระองค์แล้วกลไกสำคัญ คือรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่มีชื่อว่าพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 มาตรา 6 ระบุว่า ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งซึ่งประกอบด้วยกระทรวง กรม เป็นต้น มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย


"ผมไม่ประสงค์จะทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมือง แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและในฐานะผู้สั่งปฏิบัติราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องยอมรับว่าท่านออกมาส่งสัญญาณแสดงท่าทีความรับผิดชอบค่อนข้างช้า เหตุเกิดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 และวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เกิดเหตุปะทะกันที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม จนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากเกิดเหตุ 7-8 วันนายกรัฐมนตรีจึงเรียกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงมาตรการเรื่องการรักษาความปลอดภัยของขบวนเสด็จ" นายจุรินทร์กล่าว


ดังนั้นตนจึงขอเสนอข้อเสนอ 4 ข้อ เพื่อให้สภาได้โปรดพิจารณา 1. รัฐบาลต้องตระหนักในหน้าที่การถวายความปลอดภัยตามกฎหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้เป็นไปด้วยความปลอดภัยสมพระเกียรติด้วยความสำนึก กระตือรือร้น จงรักภักดี แล้วควรเร่งรัดดำเนินการทบทวนมาตรการเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

2.รัฐบาลแม้เป็นหน้าที่อยู่แล้ว ก็ย้ำว่าให้รัฐบาลยึดหลักนิติธรรม บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดไม่ว่ากับฝ่ายใดเพื่อทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์และไม่เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายอีกต่อไปในอนาคต

3.ในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและทั้งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมรัฐบาลต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดีมาตรา 112 เพราะนอกจากจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต ยังเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มเติมขึ้นมาอีก รวมทั้งเมื่อเกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าไม่ส่งเสริมให้นิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112

4.รัฐบาลควรจะได้ตั้งหลักพิจารณาร่วมกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องและพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบรอบด้านว่าสมควรจะมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ 2560 หรือไม่ โดยเพิ่มเติมให้มีการกำหนดบทลงโทษเป็นการเฉพาะต่อผู้ที่ละเมิดพระราชบัญญัติฉบับนี้ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือเมื่อเกิดเหตุผู้บังคับใช้กฎหมายต้องนำบทบัญญัติกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงบังคับใช้เช่นมาตรา 112 มาตรา 116 เป็นต้น เรื่องนี้จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาว่าเหมาะสมสมควรหรือไม่และจะดำเนินการในรูปแบบไหนอย่างไรต่อไป รวมทั้งการพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องทบทวนกฎระเบียบมาตรการต่างๆเพิ่มเติมอีกด้วยหรือไม่

ทั้ง 4 ข้อนี้ และเพื่อให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีความเข้มแข็ง และยั่งยืนสืบไป และในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนหนึ่งและในฐานะพสกนิกรชาวไทยผู้จงรักภักดีคนหนึ่ง เช่นเดียวกับคนไทยทั่วประเทศตนเองขอถวายกำลังใจแก่องค์สมเด็จพระเทพฯ ด้วยความจงรักภักดียิ่ง

คุณอาจสนใจ

Related News