เลือกตั้งและการเมือง

'ทักษิณ' ยื่น อสส.ขอความเป็นธรรม หลังอัยการซุ่มแจ้งข้อหา ม.112 - 'พิชิต' มั่นใจนายใหญ่ได้พักโทษกลับบ้าน

โดย nattachat_c

7 ก.พ. 2567

52 views

เมื่อวานนี้ (6 ก.พ.67) นายประยุทธ เพรชคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษก, นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษก  แถลงความคืบหน้ากรณีที่นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โพสต์หนังสือความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558


นายประยุทธ บอกว่า คดีนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 59 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จากพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา / นายทักษิณ ผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ   เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.58 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคณะทำงานพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง


เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี   ซึ่ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริการ อัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.59 ตรวจพิจารณาสำนวนแล้ว ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ตามข้อกล่าวหา แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ต้องหาหลบหนี อัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับ และพนักงานสอบสวนได้มีคำขอต่อศาลอาญาและออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว  หมายจับมีอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ โดยคดีนี้จะขาดอายุความในวันที่ 21 พฤษภาคม 2573


ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 นายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและถูกควบคุมเพื่อรับโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับไปแจ้งอายัดผู้ต้องหาไว้กับกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว


ต่อมาวันที่ 17 ม.ค.67 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และคณะพนักงานสอบสวนที่ดูแลคดี ได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหากับนายทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยนายทักษิณปฏิเสธข้อกล่าวหา  พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน และหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ประกอบสำนวนเพื่อส่งให้กับอัยการสูงสุดพิจารณา ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด ตรวจพิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้นเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา มีความเห็นและคำสั่งทางคดีต่อไป ขณะนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัว นายทักษิณ ไว้กับทางกรมราชทัณฑ์ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว


โดยตามกฎหมาย ทางอัยการสูงสุดมีอำนาจในการออกความเห็นสามอย่างของสำนวนนี้ คือ


1. หากเห็นว่า ยังมีประเด็นต้องสอบสวนให้กระจ่างสิ้นข้อสงสัย ก็จะสั่งให้พนักงานอัยการไปสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

2. หากข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว ให้ยืนตามความเห็นเดิมที่ว่า ให้สั่งฟ้องนายทักษิณตามข้อกล่าวหา

3. หากพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติกรรมไม่เข้าข่ายความผิด สามารถมีความเห็นไม่สั่งฟ้องนายทักษิณได้


ทั้งนี้ต้องพิจารณาตามคำร้องหนังสือขอความเป็นธรรมที่นายทักษิณแย้งมา ว่ามีข้อต่อสู้อะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงในสำนวนได้  หากไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้


ส่วนประเด็นการอายัดตัวนายทักษิณนั้น  นายนาเคนทร์ อธิบายว่า ขณะนี้ทางกรมราชทัณฑ์ยังไม่มีคำสั่งชัดเจนในการอายัดตัวนายทักษิณ จึงต้องรอคำสั่งความชัดเจนจากกรมราชทัณฑ์ หากนายทักษิณได้รับการพักโทษในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ตามขั้นตอนกรมราชทัณฑ์จะต้องแจ้งพนักงานสอบสวน ล่วงหน้า 7 วันก่อนปล่อยตัว เพื่อให้ไปรับตัวนายทักษิณมาดำเนินคดีในคดี 112  และเมื่อพนักงานสอบสวนไปรับตัวแล้ว จะพิจารณาเรื่องให้ประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวน หรือจะไปดำเนินการขั้นตอนการฝากขังผัดแรกของในคดี 112 และเมื่อพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วหรือรับตัวมาแล้ว ก็จะมีหนังสือมาแจ้งอัยการสูงสุด ว่ามีการรับตัวนายทักษิณมาแล้วและอยู่ในขั้นตอนไหนของพนักงานสอบสวน และเมื่ออัยการได้รับขั้นตอนจากพนักงานสอบสวนมาแล้ว  หน้าที่ของอัยการจากนั้นจะต้องมาพิจารณาเอกสารการร้องขอความเป็นธรรมและพิจารณาสำนวนคดี


ส่วนความกังวลสำหรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของนายทักษิณ จะทำให้คดียืดเยื้อเหมือนกรณีของนายบอส อยู่วิทยา ที่มีการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวนายประยุทธ ยืนยันว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นแน่นอน เนื่องจากสำนักอัยการสูงสุดได้ถอดบทเรียนจากกรณีของบอส อยู่วิทยา พร้อมปรับแก้ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดในกรณีการร้องขอความเป็นธรรม  โดยผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเป็นผู้มายื่นคำร้องด้วยตัวเอง ไม่สามารถให้ทนายความหรือบุคคลอื่นที่รับมอบอำนาจมายื่นให้โดยเด็ดขาดและหากเห็นว่าเป็นการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพื่อประวิงเวลาอัยการสูงสุดก็มีอำนาจในการยุติการร้องขอความเป็นธรรมได้เช่นกัน พร้อมขอให้สังคมเชื่อมั่นการทำงานของอัยการสูงสุดว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

----------------

เมื่อวานนี้ (6 ก.พ.67)  นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษว่า เรื่องนี้ต้องสอบถาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม  เพราะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง  รวมถึงกรมราชทัณฑ์  เพราะจะทราบถึงขั้นตอนและระเบียบเป็นอย่างดี  แต่ตนยังไม่ทราบว่านายทักษิณมีชื่อได้รับการพักโทษ แต่หากมีชื่อได้รับการพักโทษจริงๆ ขั้นตอนต่างๆคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ตนไม่อยากพูดอะไรไปกลัวจะคลาดเคลื่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และยืนยันว่ายังไม่ได้คุยและได้พบกับนายทักษิณ


ส่วนมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่นายทักษิณจะได้รับการพักโทษแล้วออกมาในวันที่ 18 ก.พ.นี้ นายพิชิต กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการนับระยะเวลากำหนดของกรมราชทัณฑ์ และคงไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะไปนับ


เมื่อถามถึงกระแสข่าวนายทักษิณจะถูกอายัดตัวในคดีมาตรา 112 นายพิชิต กล่าวว่า คิดว่าไม่มี ข่าวค่อนข้างจะคลาดเคลื่อน ส่วนที่มีการระบุว่าเป็นคดีในปี 59 นั้น เป็นกรณีที่ท่านพูดที่ประเทศเกาหลีใต้ เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร และเท่าที่ตรวจสอบ ในขณะนั้นที่ท่านถูกแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับ ท่านไม่มีโอกาสได้แก้ตัวหรือชี้แจง เพราะฉะนั้น ตนคิดว่ายังไม่มีความเป็นธรรมกับท่าน เพราะในกฎหมายนั้นกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องสอบสวนในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษ แต่กรณีดังกล่าวท่านอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้มีโอกาสที่จะชี้แจงในส่วนที่เป็นคุณ ว่าท่านไม่ได้กระทำความผิด และคิดว่ากระบวนการนี้ค่อนข้างจะสมบูรณ์แล้ว  แต่เป็นรายละเอียดในชั้นของพนักงานสอบสวนและอัยการ ก็คงไม่อยากจะให้เป็นข่าว เพราะจะทำให้เป็นกระแสและเกิดความคลาดคลื่อนกับสังคมได้  ซึ่งคิดว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องตามกระบวนการยุติธรรมปกติ และท่านได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว


เมื่อถามย้ำว่าคดีมาตรา 112 อยู่ในระหว่างชี้แจงและสอบสวนว่านายทักษิณไม่ได้กระทำความผิด ตามที่มีการกล่าว หาใช่หรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า ก็คงเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่ามีหลายประเด็นที่ท่านไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเหตุเกิดต่างประเทศ และคลิปที่นำมาเผยแพร่เป็นเพียงบางท่อนบางตอน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ตนไม่อยากกล่าวหาว่าเป็นการตัดต่อ และยังมีบางส่วนที่ขาดหายไป   ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้ พ.ร.บ.ความร่วมมือคดีอาญาระหว่างประเทศ ในการสอบสวน ตนไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนหรืออัยการได้ดำเนินการขั้นตอนนี้แล้วหรือยัง เพราะเป็นกฎหมายสากล ไม่ใช่ว่ามีข่าวแล้วมาสรุปความกันว่ากระทำผิด


ทั้งนี้ หากนายทักษิณได้รับการพักโทษ กรณีนี้จะไม่สามารถอายัดตัวได้ใช่หรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า คิดว่าเรื่องหมายจับและกระบวนการต่างๆ มีการดูแลแล้ว คงไม่มีหมายอะไรมาจับท่านหรอก พนักงานสอบสวนและอัยการได้ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว คงไม่ปล่อยปละละเลย เพียงแต่ว่าเราไม่อยากให้เป็นข่าว เพราะว่ามันมีสังคมอีกส่วนหนึ่ง ต้องการที่จะทำให้เกิดบางอย่างและทำให้บ้านเมืองไม่สงบ ยืนยันว่าการดำเนินการ กรณีนายทักษิณ เป็นการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ที่ท่านไม่เคยได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเลย ขอให้สบายใจได้


ส่วนกรณีหากนายทักษิณได้พักโทษ จะครอบคลุมคดีอื่นๆ ด้วยหรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า การพักโทษเป็นไปตามหมายแดง ที่นำตัวนายทักษิณเข้ามาสู่ประเทศไทย ว่ามีกี่คดีที่ถูกใบแดงแจ้งโทษ ตรงนี้คือตัวตัดสิน ส่วนที่มีหลายฝ่ายออกมาถกเถียงกันว่า นายทักษิณได้รับโทษหรือยังนั้น ตนขอยืนยันในประเด็นข้อกฎหมายว่า ตอนที่ท่านเดินทางกลับประเทศไทย และถูกนำตัวไปศาล ศาลจะออกใบแดงแจ้งโทษ ส่วนกระบวนการบังคับโทษ เราต้องแยก เพราะขณะนี้มีหลายฝ่ายมากล่าวหาว่านายทักษิณทำลายกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมได้ยุติแล้ว ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ขณะนี้เขาเรียกว่ากระบวนการบังคับโทษ และบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมมันได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ศาลได้ออกใบแดง ซึ่งอยากให้จำไว้สองคำคือการบังคับโทษ และบริหารโทษ ท่านอยู่ในกระบวนการนี้ ไม่ใช่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม


อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นต่างได้ แต่อยากให้ไปดูข้อกฎหมาย นี่คือขั้นตอนที่นายทักษิณอยู่ ดังนั้นเรื่องการพักโทษก็ดี หรือที่มีข่าวว่ามีการออกระเบียบราชทัณฑ์ เพื่อให้คุมขังอยู่ด้านนอกเรือนจำ มันเกิดไม่ได้ มันเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีใครกล้ากระทำผิดกฏหมาย แต่ถ้าไม่เข้าใจว่าขั้นตอนนี้คืออะไรเราก็จะพูดกันไปเรื่อยและหาจุดจบ อันนั้นเรียกว่ามีวาระซ่อนเร้น


“การบังคับโทษหรือการบริหารโทษ เป็นการดำเนินงานโดยคณะบุคคล ไม่มีคนหนึ่งคนใดทำได้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ทำไม่ได้ อยากให้รับฟังข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้สังคมได้เข้าใจ และได้คิดวิเคราะห์ ว่าเราจะเป็นตัวทำให้สังคมแตกแยกหรือไม่ ยืนยันว่า ท่านทักษิณยังยึดมั่นในหลักนิติรัฐและนิติธรรม และท่านได้เข้าสู่กระบวนการการรับโทษ และเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพักโทษและการบริหารโทษก็ต้องดูให้เหมาะสมกับฐานะ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และสุขภาพของท่าน”


ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มั่นใจใช่หรือไม่ว่าหากออกมาแล้วจะไม่ถูกอายัดหรือถูกควบคุมตัว นายพิชิต เอามือ ตบ-อก พร้อมระบุว่า มั่นใจว่าทำถูกต้องทุกอย่างล้านเปอร์เซ็นต์ และได้รับโทษ 1 ใน 3 ครบกำหนดเรียบร้อย เมื่อถามว่าจะได้ออกมาในเดือน ก.พ.นี้แน่นอนใช่หรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า ยิ้มแต่ไม่ตอบคำถาม

----------------
เมื่อวานนี้ (6 ก.พ.67) เวลา 12.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่มีข่าวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษ  ในวันที่ 18 ก.พ.นี้  โดยระบุว่า ปกติคณะกรรมการของกรมราชทัณฑ์จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการพักโทษทุกเดือน  แต่ขณะนี้ยังไม่มีเอกสารมาถึงตน


ส่วนกรณีที่อัยการสูงสุด  เตรียมจะอายัดตัวนายทักษิณ ในคดี ม.112 นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร  โดยสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมกับพนักงานสอบสวน จะร่วมกันสอบสวนในเรื่องดังกล่าว ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง  ซึ่งการอายัดตัวถือเป็นขั้นตอนหนึ่ง  ในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นผู้กระทำผิดในคดีอื่นด้วย  โดยกรณีของนายทักษิณ ต้องถามจากอัยการสูงสุดว่าจะดำเนินการอย่างไร และโดยหลักถ้ามีการขออายัดตัว กรมราชทัณฑ์ต้องดำเนินการอายัดและอำนวยความสะดวกให้อัยการและพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนส่งเรื่องถึงอัยการสูงสุดแล้ว ก็จะหมดหน้าที่ และจะหมดการอายัดตัว ส่วนอัยการจะนำคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาประกอบการพิจารณาต่อไป  ซึ่งเมื่อได้รับการสอบสวนแล้ว การอายัดตัวก็จะสิ้นสุดลง  อาจจะพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ได้  เพื่อรอการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง


เมื่อถามว่า จะทราบได้อย่างไรว่าวันที่ 18 ก.พ. นี้ นายทักษิณจะได้รับการพักโทษ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า  คณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องการพักโทษมี 19 คน  มาจากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานศาลยุติธรรม อัยการ ตำรวจ จะประชุมเป็นประจำทุกเดือนเพื่อพิจารณาการพักโทษในแต่ละเดือน  โดยการประชุมในรอบเดือน ก.พ.นี้ จะเป็นวันใดนั้น ต้องสอบถามจากกรมราชทัณฑ์ก่อน  ส่วนจะมีชื่อของนายทักษิณได้รับการพิจารณาพักโทษด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ ยังไม่ได้ตรวจสอบ  แต่การพิจารณาพักโทษจะพิจารณาเป็นเหตุๆไป  บางเหตุก็ไม่ให้พักโทษ  และบุคคลที่ได้รับการพักโทษ ก็ยังมีโทษอยู่   ส่วนนายทักษิณจะต้องใส่กำไลอีเอ็มหรือไม่  อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการ อย่างไรก็ตาม อยากให้นักโทษที่ได้รับการพักโทษ ได้รับสิทธิ์ตรงเวลา


พ.ต.อ.ทวี ยังยืนยันว่า  การให้นายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นไปตามกฎหมายและกฎกระทรวงที่ออกมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว   การรักษาตัวในโรงพยาบาลก็อยู่ในห้องควบคุม  ส่วนจะถูกควบคุมในห้องควบคุมพิเศษ หรือห้องควบคุมทั่วไป จะอยู่ในดุลยพินิจของโรงพยาบาล  ในกรณีโรงพยาบาลตำรวจจะเป็นดุลยพินิจของตำรวจ ไม่ใช่ของแพทย์  ที่จะมีการพิจารณาเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ความปลอดภัย และในอดีตก็มีกรณีเช่นนี้จำนวนมาก  ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนสนใจและมีความละเอียดอ่อน จึงต้องยึดตามกฎหมาย  โดยยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมายและสามารถตรวจสอบได้


เมื่อถามย้ำว่า กรณีของนายทักษิณจะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ เพราะมีเสียงวิจารณ์ว่ายังไม่ได้เข้าไปรับโทษในเรือนจำ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตามกฎหมายถือว่านายทักษิณถูกควบคุมตัวแล้ว แต่ความรู้สึกของแต่ละคน อาจมีมุมมองแตกต่างกัน


ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่เห็น

----------------
เมื่อวานนี้ (6 ก.พ.67)  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท.มาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับเข้าเรือนจำ ว่า รัฐบาลให้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมตามกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับฟัง แม้จะเป็นความเห็นส่วนน้อย และขออย่าไปรุกล้ำ หรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ซึ่งเรื่องใดที่รัฐบาลสามารถจัดการให้ได้ รัฐบาลก็จะดำเนินการ จึงไม่เห็นปัญหา และไม่ได้กังวลใจใด ๆ ว่าจะมีผลกระทบใด ๆ เกิดขึ้นตามมา


ส่วนกลุ่มมวลชนดังกล่าวจะจุดติดการชุมนุมหรือไม่นั้น เนื่องจากในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ จะครบกำหนดพักโทษนายทักษิณนั้น นายภูมิธรรม ยอมรับว่า ไม่ได้คิดว่าจะจุดติดหรือไม่ แต่การแสดงออกสามารถทำได้ หากเป็นเสียงของคนกลุ่มหนึ่งก็พร้อมรับฟัง เพราะสังคมไม่ได้มีเพียงเสียงเดียว แต่จะมีผลหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า เป็นเสียงของคนในสังคมส่วนใหญ่หรือไม่


ส่วนข้อกังวลที่การพักโทษนายทักษิณจะกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ของสังคมนั้น นายภูมิธรรม ขอให้อย่าไปคิดเยอะ เพราะคิดเยอะแล้วจะปวดหัว และวันนี้สิ่งที่มีผลกระทบเดือดร้อนกับประชาชนมากที่สุดคือปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงอยากให้มาพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้มากกว่า และระบุว่า รัฐบาลไม่ได้มีการเตรียมการใด ๆ จะเกิดความขัดแย้งจากการชุมนุมเรื่องนายทักษิณ เพราะยังไม่เห็นว่า จะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น และไม่ได้รู้สึกว่าเหตุการณ์จะมีความรุนแรง

--------------
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซต์ไทยแลนด์ ถึงขึ้นตอนการอายัดตัวผู้ต้องขังว่า ตนทราบมาว่าทาง มปปท. ได้อ้างถึงหนังสือของ อสส. และ ปอท. ระยะเวลาอาจจะเหลื่อมกัน เท่าที่ตนทราบจากผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรื่องนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยเปิดให้อัยการและตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว เมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค.66 ที่ผ่านมา


ขั้นตอนอายัดตัวผู้ต้องขังเป็นเรื่องปกติเพราะเป็นข้อตกลงระหว่างตำรวจกับทางกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากผู้ที่ถูกจำคุก หรือถูกศาลตัดสินคดีก่อนไปแล้ว ถ้ายังมีคดีอยู่ระหว่างดำเนินการ ตำรวจจะแจ้งอายัดตัวมา แจ้ง เพื่อให้เรือนจำรู้ว่าถ้าครบวันจะปล่อยตัวเมื่อไร ก็จะแจ้งให้ตำรวจรู้ก่อน


เมื่อถามว่ามีการคาดการณ์ว่านายทักษิณจะได้รับการพักโทษในช่วงวันที่ 18 ก.พ. ตำรวจจะรับตัวไปดำเนินการต่อเลยหรือไม่ นายสหการณ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เมื่อนายทักษิณจะได้รับประโยชน์จากการพักการลงโทษ เราก็ต้องแจ้งไปที่ตำรวจ เพราะคดีนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวน ซึ่งตำรวจมีหน้าที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


เมื่อถามว่า หลักเกณฑ์การพักโทษเสร็จเรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ นายสหการณ์กล่าวว่า อยู่ระหว่างดำเนินการ ตั้งแต่ในชั้นราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม กำลังประสานงานกันอยู่ สำหรับหลักเกณฑ์มีมาก่อนแล้ว ทั้งกรณีปกติและกรณีพิเศษ ซึ่งจะมีการเสนอคุณสมบัติมาที่คณะกรรมการพิจารณาการพักโทษ โดยต้องดูในรายละเอียดก่อนเสนอไปที่กระทรวง


“สำหรับระยะเวลาการพิจารณาพักโทษนั้นก็ทำตามปกติ โดยจะมีการประชุมกันเดือนละครั้ง ล่าสุดประชุมไปเมื่อปลายเดือน ม.ค.เพื่อพิจารณารายชื่อผู้ต้องขังที่เข้าหลักเกณฑ์พักโทษในเดือน ก.พ. แต่ผมไม่ยืนยันว่ามีรายชื่อใครบ้าง ส่วนนายทักษิณนั้นก็อยู่ในข่าย เนื่องจากอายุเยอะ และแม้จะอยู่ในเกณฑ์กรรมการก็จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ผมไม่อยากเชื่อมโยงกับนายทักษิณ” นายสหการณ์ กล่าว


รายงานข่าวแจ้งว่า  นายทักษิณนั้นมีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้ เป็นนักโทษเด็ดขาด ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน ของกำหนดโทษตามหมายแจ้ง เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป ไม่มีโทษกักขัง หรือไม่ถูกคุมขังตามหมายขังในคดีอื่น ต้องมีผู้อุปการะและยินดีรับอุปการะ ในกรณีที่ไม่มีผู้เกี่ยวข้องกับนักโทษเด็ดขาด


สำหรับนายทักษิณนั้นจะครบกำหนดการพักโทษ ในวันที่ 18 ก.พ.67 ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้รวบรวมเสนอรายชื่อผู้ต้องที่คุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์พักโทษ และพักโทษกรณีพิเศษ เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งมีชื่อของนายทักษิณ เป็น 1 ในนักโทษกรณีพิเศษ พร้อมกับผู้ต้องขังรายอื่นอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อเสนอไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณา เห็นชอบ พักโทษ ตามกำหนดเวลาครบกำหนดพักโทษ ของนายทักษิณ จากนั้นต้องแจ้งไปยังกรมคุมประพฤติ เพื่อรับผิดชอบในขั้นตอนต่อไป


แหล่งข่าวระดับของกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกับมติชนออนไลน์ การพิจารณาคุณสมบัติพักการลงโทษ ของกรมราชทัณฑ์ ไม่ได้มีข้อห้ามว่า ต้องโทษคดีอะไรพักการลงโทษได้หรือไม่ ทุกคดีสามารถพักการลงโทษ หากมีหลักเกณฑ์ถูกต้อง ตามคุณสมบัติ ส่วนประเด็นการอายัดตัวก็เป็นขั้นตอนปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับการพักโทษผู้ต้องขัง หากคดีที่เหลือจะมีการนำตัวไปฟ้องต่อศาล เจ้าหน้าที่คุมประพฤติก็ได้รับรายงานทุกหน่วยมีการประสานงานกันอยู่แล้วตามขั้นตอน

------------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/yDmzsqxN7M0



คุณอาจสนใจ

Related News