เลือกตั้งและการเมือง

‘ขัตติยา’ สะอื้น ชงตั้ง กมธ.นิรโทษ ในฐานะผู้สูญเสีย - ‘พิธา’ หนุนนิรโทษกรรม ย้อนถึงปี 2549

โดย nattachat_c

2 ก.พ. 2567

30 views

เมื่อวานนี้ (1 ก.พ.67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน


โดย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติด่วน เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เนื่องจากในปัจจุบัน สังคมไทยมีความขัดแย้งทางความคิดมาหลายปี ทำให้มีนักศึกษา และประชาชน ต้องคดีทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งคือการตรากฎหมายนิรโทษกรรม


อย่างไรก็ตาม กฎหมายนิรโทษกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายยึดอำนาจ ที่นิรโทษให้ตนเอง ผ่านสภาที่แต่งตั้งขึ้นมา แต่ล่าสุดได้มีการเสนอให้นำกฎหมายนิรโทษกรรม มาพาประเทศกลับสู่สภาวะปกติ ในคดีที่มีปัจจัยทางความผิดเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ปัญหาคือควรมีคดีใดบ้างที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม เพื่อนำมาสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง และไม่สร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ ซึ่งควรมีการศึกษาพิจารณาหลักเกณฑ์ให้เป็นที่ยุตติเสียก่อน จึงจะมีการตราเป็นกฎหมาย


น.ส.ขัตติยา กล่าวว่า โจทย์ของสังคมที่มีอารยะ คือทำให้ผู้คนอยู่กับความขัดแย้งได้  ขัดแย้งแต่ไม่ต้องฆ่ากัน หรือทำร้าย ทำลายกัน ไม่ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของกันและกัน และไม่ถูกคุกคามให้เกิดความกลัว เพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง จึงต้องออกแบบสภาพสังคมที่ปลอดภัย ให้พลเมืองสามารถตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐได้ โดยไม่ต้องกลัวการถูกเล่นงาน


น.ส.ขัตติยา กล่าวอีกว่า ในความขัดแย้งทางการเมืองหลายระลอก ได้มีผู้ออกมาชุมนุมประท้วง และถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ถูกคุมคามเป็นสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า ’นิติสงคราม‘ ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมาก เป็นนักโทษทางการเมือง หรือต้องลี้ภัย


“ในความเห็นของดิฉัน การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพาสังคมไทยเดินต่อไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสร้างบรรทัดฐานใหม่ ว่าเราทุกคนสามารถทะเลาะ เห็นต่าง และขัดแย้งกันได้ ภายในกรอบกติกา โดยที่ไม่ต้องหวาดกลัว ว่าจะถูกคุกคาม หรือถูกปิดปากด้วยกฏหมายอีกต่อไป”


น.ส.ขัตติยา ยังระบุว่า เนื่องจากภาคประชาชน และบางพรรคการเมือง ได้ยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของตัวเองเข้ามาแล้ว จึงอาจทำให้สังคมตั้งคำถาม ว่าการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญนี้ ตั้งใจจะยื้อ ถ่วงเวลา หรือยัดไส้สร้างบรรทัดฐานที่ผิดหรือไม่ โดยขอยืนยัน ว่าการออกกฏหมายนี้ ไม่ได้ทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมาย แต่เป็นการปลดโซ่ตรวน และทำให้สังคมเห็น ว่าความเห็นทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรรม


ส่วนข้อสงสัย ว่าเป็นการยื้อเวลาหรือไม่นั้น ต้องตั้งต้นด้วยข้อเท็จจริง ว่าไม่ใช่คนไทยทุกคนที่จะเห็นด้วยกับการออกกฏหมายนิรโทษกรรม เราจึงจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง และรับฟังเสียงจากกลุ่มคนต่างๆ ให้ครอบคลุมที่สุด


“สำหรับประชาชนที่กังวล ว่าจะมีการยัดไส้นิรโทษกรรม ให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่กระทำผิดต่อชีวิต ดิฉันในฐานะผู้แทนของประชาชน และเป็นหนึ่งในผู้สูญเสีย ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ดิฉันขอยืนยันในหลักการ ว่าจะไม่ให้มีการนิรโทษกรรมต่อความผิด ที่เกิดแก่ชีวิตโดยเด็ดขาด”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายช่วงท้ายของน.ส.ขัตติยา ได้มีน้ำเสียงสั่นเครือ และมีอาการเหมือนจะร้องไห้

--------------
เมื่อวานนี้ (1 ก.พ.67)  นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในญัตติเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า แนวความคิดในการนิรโทษกรรมต้องไม่เริ่มต้นด้วยการจำกัดว่าถ้าทำความผิดมาตรานี้ ข้อหานี้ จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม หากเริ่มขีดเส้นแบบนั้นก็จะมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ดังนั้นเราต้องดีไซน์ให้ประตูนี้เปิดกว้างที่สุด อย่ากำหนดอย่างเช่นข้อหามาตรา 112 จะไม่ได้นิรโทษกรรม เราทำแบบนี้ไม่ได้


ดูจากเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยพรรคก้าวไกลพยายามแก้วิกฤตทางการเมือง แต่เราต้องยอมรับว่าผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การหาทางออกทางการเมืองยากขึ้นเรื่อยๆ แต่ตนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอย่างน้อยสภาแห่งนี้จะเป็นส่วนสำคัญ ที่อย่างน้อยเราได้ถอนฟืนออกจากกองไฟเสียบ้าง อาจจะยังไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด แต่อย่างน้อยสภากำลังคืนคนที่ออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย ที่การเรียกร้องเหล่านี้ไม่ควรเป็นความผิดทางอาญาให้กลับคืนสู่สังคม


นายรังสิมันต์อภิปรายว่า พรรคก้าวไกลเคยนำเสนอร่างนิรโทษกรรมซึ่งมี 4 หลักการที่กรรมาธิการควรนำไปพิจารณา คือ


1.อย่ากำหนดมาตราที่นิรโทษกรรมไม่ได้


2.หากจะจำกัดว่าอะไรที่ห้ามนิรโทษกรรมควรมีลักษณะที่ร้ายแรง คือเป็นผู้กระทำผิดตามมาตรา 113 เป็นผู้กระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. หรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่สั่งให้ตีหัวผู้ชุมนุม หรือเป็นการกระทำที่พรากชีวิตผู้อื่น แบบนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม


3.ผู้ที่ออกไปชุมนุมล้วนปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง ดังนั้นแม้จะนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งทั้งหมดได้ ดังนั้นต้องกลั่นกรองโดยไม่ดูแค่มิติทางกฎมาย แต่ต้องดูมิติทางการเมืองและองค์ประกอบอื่น ดังนั้นเราเสนอว่าควรมีคณะกรรมการโดยให้เวลา 2 ปี เพื่อพิจารณา แล้วชี้ขาดว่าใคร กรณีไหนที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม


4.ใครที่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ไม่อยากได้รับการนิรโทษกรรม สามารถสละสิทธิได้ ทั้งนี้ อย่าให้ใครว่าได้ว่ามีแต่ทหาร หรือคณะรัฐประหาร ที่ได้รับการนิรโทษกรรม วันนี้สภาที่มาจากประชาชนควรทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

-------------
เมื่อวานนี้ (1 ก.พ.67)   ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล  อภิปรายสนับสนุนญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่พรรคเพื่อไทยเสนอ นายพิธา ระบุว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย และไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเสมอไป ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ประเทศไทยเคยนิรโทษกรรมมาแล้วทั้งหมด 22 ครั้งด้วยกัน และถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะนิรโทษกรรมเพื่อลดความขัดแย้งในสังคม เพิ่มเสถียรภาพให้กับการเมือง ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ คืนพ่อให้กับลูกสาวที่ยังเล็กได้ เพื่อให้คนที่อยู่ในต่างประเทศที่มีความเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐกลับมาสู่มาตุภูมิประเทศของเขา ตนจึงคิดว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือมีภาพที่เป็นลบตลอดเวลา


ตนคิดว่า โอกาสในการรับนิรโทษกรรม ไม่ควรผูกขาดกับคณะรัฐประหาร หรือคนที่คิดที่จะล้มล้างการปกครองเพียงอย่างเดียว ไม่ควรที่จะผูกขาดกับคนที่จะบ่อนเซาะ ต้องการที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว


ก่อนที่นายพิธาจะหยิบเอกสารจากสภาฯ ขึ้นมาอ้างอิง พร้อมระบุ ตั้งแต่ปี 2475 - 2557 ไม่ว่าจะครั้งไหน มีเพียงแค่ปี 2521 ครั้งเดียว ที่เป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่นอกจากนั้น มีแต่นิรโทษกรรมผู้กระทำการปฏิวัติ ยึดอำนาจปกครองประเทศ ความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรในฐานะ กบฏ นี่คือสิ่งที่เราไม่ควรอนุญาตให้การผูกขาดการนิรโทษกรรมอยู่กับการรัฐประหารเพียงอย่างเดียว


การนิรโทษกรรมไม่ใช่แค่เรื่องการให้พ้นผิดทางกฎหมาย ภาษาอังกฤษ คือ Amnesty มาจากภาษากรีก แปลว่า ทำให้ไม่ต้องจำ ทำให้ลืมไป ตนคิดว่าประเทศไทยต้องก้าวผ่านเรื่องแค่การพ้นผิดทางกฏหมายเพียงอย่างเดียว  เราควรที่จะคิดเรื่องนี้ว่าเป็นโอกาสสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เราควรมีการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้น ทำให้เกิดการเสาะหาข้อเท็จจริงขึ้น รวมถึงการรับผิดชอบต่อสาธารณะ จึงจะทำให้ความปองดอง เกิดขึ้นในชาติได้จริง


นี่จึงเป็นโอกาสที่สังคมไทยจะก้าวเกินกว่าแค่เรื่องการนิรโทษกรรม เพราะเป็นแค่จุดจุดหนึ่งเท่านั้นในการจะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองประเทศไทยลดน้อยลงและมีเสถียรภาพและมีสมาธิพอที่จะใช้พลังของพวกเราในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมหรือเรื่องการศึกษาก็ตาม


เราต้องยอมรับก่อนว่า เราอยู่ในช่วงความขัดแย้ง ทางการเมืองไทย อย่างน้อยนับแต่การทำรัฐประหาร 19 กันยายน สร้างบาดแผลร้าวลึกกับสังคมไทยตั้งแต่สงครามสีเสื้อ จนถึงการลุกขึ้นเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ นำไปสู่ 10 กว่าปีที่สูญหาย ตั้งแต่ปี 2549 - 2567 การเมืองไทยประสบพบผ่านนายกรัฐมนตรี 7 คน รัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ม็อบใหญ่ต้านรัฐบาล 9 ระลอก การปะทะปราบปรามสลายม๊อบ 5 ยก  คนล้มตายเรือนร้อย บาดเจ็บเรือนพัน เศรษฐกิจเสียหายหลายแสนล้านบาท


เพราะฉะนั้นการนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะต้องไม่คิดเฉพาะคนที่ทำรัฐประหาร แต่ควรคิดถึงเหยื่อ คนที่ถูกทำรัฐประหาร เราต้องคิดถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจากรัฐบาลที่สืบทอดมาจากการทำรัฐประหาร ไม่ใช่จำเป็นเฉพาะแค่พูดออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่ยังมีเรื่องอื่นเช่น การทวงคืนผืนป่า คนที่จะต้องติดคุกเพราะนโยบายของรัฐในช่วงรัฐประหาร 8 หมื่นกว่าคดี  ประมงติดอยู่ 3 พันกว่าคดี ยังไม่รวมถึงคดีอื่นๆ อีกมากมายด้วย


ถ้าเราตั้งหลักกันได้ ว่าเวลา ที่จะนิรโทษกรรมเมื่อไหร่ หากฟังที่ตนพูดก็จะรู้ได้ว่า อย่างน้อยย้อนหลังไปถึงปี 2549 ใครที่จะได้รับนิรโทษกรรม ก็คงจะเดาออก ส่วนกระบวนการที่จะทำ ไม่ใช่แค่บอกว่า ยุติคดีทางอาญาแต่คือการเยียวยาการออกมารับผิดชอบสร้างสาธารณะ ไม่ให้เกิดวัฒนธรรมผิดลอยนวล ไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมของคนที่สั่งฆ่า แต่จะต้องดูคนที่ถูกฆ่าด้วย พูดในมุมของคนที่ต้องสูญเสียอิสรภาพในการอยู่ในประเทศบ้านเกิดเมืองนอน   จึงจะถือว่าเป็นการนิรโทษกรรมที่รอบคอบ บรรลุไปถึงเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการ ณ ปัจจุบัน


ถ้าหากทำแบบนี้ตอนคิดว่าจะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่เราจะสามารถตั้งต้นทั้งสามอธิปไตยของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


1. ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี สามารถสั่งตำรวจได้เลย ชะลอคดี


2. ฝ่ายอัยการศาล ต้องวินิจฉัยคดี ด้วยความรัดกุม รอบคอบ บนฐานของข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้นไม่ใช่เอาอารมณ์ หรืออะไรอย่างอื่นมาตัดสินด้วย


3. ฝ่ายรัฐสภา อภิปรายความแตกต่าง ของ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน และรวมถึงข้อคิดเห็นของประชาชนด้วย

-------------



คุณอาจสนใจ

Related News