เลือกตั้งและการเมือง

'พิธา-ชัยธวัช' ไม่ไปศาล นัดชี้ชะตาก้าวไกล คดีหาเสียงยกเลิก ม.112 ย้ำไม่มีเจตนารมณ์ล้มล้างการปกครอง

โดย nattachat_c

31 ม.ค. 2567

220 views

จับตาศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย ในคดีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ โดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุม 09.30 น. เพื่อแถลงด้วยวาจา และลงมติก่อนออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในเวลา 14.00 น.


เมื่อวัน 30 ม.ค. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์รายการ เปิดปากกับภาคภูมิ ทางไทยรัฐทีวี ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในคดี ที่มีผู้ร้องเรื่องใช้การแก้ไข มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง วันที่ 31 ม.ค.


โดย นายพิธา ตอบคำถามตอนหนึ่งว่า ไม่กังวล ทำเต็มที่เหมือนตอนเตรียมตัวคดีหุ้นไอทีวีฯ ส่วนผลกระทบคำตัดสินในวันพรุ่งนี้ ไม่ใช่เเค่ตน และพรรคก้าวไกล แต่เป็นการวางบรรทัดฐาน 1. อำนาจนิติบัญญัติ ว่าการแก้ไขกฎหมาย เท่ากับล้มล้างหรือเปล่า 2. เรื่องบริบทการเมืองทั้งหมด รวมถึงการเมืองไทย ในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเช่นกัน ไม่ได้คิดว่าเป็นแค่เรื่องขีดเส้นกำกับอะไรเฉพาะตนคนเดียว ไม่ใช่เรื่องพรรคก้าวไกล แต่เป็นเรื่องสภา และบริบทการเมืองไทยในอนาคต ไม่สามารถเดาได้ว่า ตุลาการจะวินิจฉัยอย่างไร แต่สโคปคำร้องก็คือว่า ขอให้หยุดการกระทำ แล้วบอกว่าเรื่องของการแก้ไขกฎหมายเท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครอง รายละเอียดคงต้องรอฟังคำวินิจฉัยพรุ่งนี้ ถ้าเกิดดูในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งตนก็ก้าวล่วงศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ก็ไม่ต้องการที่จะละเมิดศาล แต่ถ้าดูคำตัดสินในอดีตที่ผ่านมา ก็จะมีการกำหนดสัมพันธภาพของระบบอธิปไตยของประเทศไทย


เมื่อถามว่า ในพรรคก้าวไกลประเมินกันหรือไม่ แต่ละรูปแบบว่าคดีจะออกมาในรูปแบบไหน จะรับมืออย่างไร นายพิธา ตอบว่า มีการประเมินทั้งคดีไอทีวี และคดีวันพรุ่งนี้เป็นฉากทัศน์หลายฉาก ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในการวินิจฉัย ตนจึงไม่สามารถพูดลงลึกในรายละเอียดได้


เมื่อถามว่า สมมติหากศาลสั่งว่าจะต้องหยุด การกระทำตามที่มีผู้มาร้อง โดยคนมองว่านี่จะเป็นสารตั้งต้นที่อาจจะมีคนเอาไปร้องต่อ เพื่อให้ยุบพรรคก้าวไกล นายพิธา ตอบว่า เราก็ต้องยืนยันว่า การใช้มาตรา 112 ในการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ มาทำให้เกิดการทำลายล้างคู่แข่งทางการเมือง ก็ยังมีอยู่ ต้องรอดูรายละเอียดของคำวินิจฉัยอีกทีนึงก่อน แล้วต้องยืนยันในภาพรวมว่า มันเป็นเรื่องของการใช้รัฐสภา ในการหาสมดุล ระหว่างการปกป้องประมุขของรัฐ รวมถึง สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก ให้มันได้สัดส่วน ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ก็ยังเป็นจุดประสงค์หลักของเรา พี่พยายามจะทำในเรื่องนี้อยู่ แต่ว่ายังไงก็ต้องเอาข้อมูลมาเป็นตัวประกอบ ถ้าเราจะเดินหน้าในเรื่องนี้


เมื่อถามต่อว่า อันนี้เป็นเจตนารมณ์ที่ไม่ได้ว่าต้องการไปล้มล้างการปกครองอย่างที่ไปร้องกล่าวหา นายพิธา ตอบว่า ไม่เคยมีเจตนาอย่างนั้นเลย ในการล้มล้างการปกครองเป็นไปไม่ได้


นายพิธา กล่าวว่า ช่วงการเลือกตั้ง ทุกรายการ ดีเบตทุกสื่อ ก็ถามจุดยืนเรื่องนี้กับแคนดิเดตนายกฯ ทุกคน แต่ละพรรคก็มีความเห็นกันทั้งนั้น ฉะนั้น ตรงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า พรรค ก.ก.ตั้งใจ เอาเรื่องนี้มาหาเสียงเพื่อให้ได้คะแนนความนิยมทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ในเมื่อเป็นหนึ่งใน 300 นโยบาย เมื่อมีการถามกันในเวทีดีเบต ก็เป็นเรื่องที่นักการเมืองทุกคนจะต้องตอบในช่วงนั้น เราก็ต้องพูดให้ชัดว่าเราไม่ได้มีเจตนา ว่าจะเอาเรื่องนี้มาให้เป็นเรื่องทางการเมือง ตามที่โดนโจมตี หรือว่าที่โดนกล่าวหา


นายพิธา กล่าวอีกว่า ตอนนี้ตนยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่ ก็ยังอยู่ในบัญชี ถ้าการเคลื่อนไหวทางการเมืองมัน เกิดอะไรขึ้นแล้วต้องมีการเลือกนายกฯ ใหม่ ตนก็ยังอยู่ในแคนดิเดตอยู่ ถ้ายังไม่ได้ยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ซึ่งพูดกันให้ชัดตรงนี้ว่าไม่ได้หมายความว่าต้องการให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง และให้ตนเป็นนายกฯ แต่ว่าเป็นไปตามกระบวนการ ตามระบบ และในเชิงของระบบ ตนก็ยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองที่มีเสียงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยอยู่ดี


เมื่อถามว่าในวันนั้นไม่มีอนาคตใหม่ ไม่มีนายธนาธร มีก้าวไกล มีนายพิธา วันหน้าถ้าไม่มีก้าวไกล ไม่มีนายพิธา ก็จะมีคนต่อๆ มา นายพิธา ตอบว่า ประเทศไทยยังมีคนมีศักยภาพ แต่เมื่อถึงเวลาที่คิดว่าตนเองไม่เป็นประโยชน์แล้วก็ต้องให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้ขึ้นมาแทน แต่ขอสรุปที่หัวหน้าพรรค ก.ก.พูด ว่า ไม่กังวล ไม่ประมาท และไม่ควรที่จะเห็นด้วย กับการที่มีคำขู่ว่ายุบพรรคนี่เป็นเรื่องปกติของประเทศ มันเป็นเรื่องอะปกติ อย่ายอมรับให้มันเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย เราต้องช่วยกันถ้าเรื่องนี้ ส่วนการจะกลับไปเป็นหัวหน้าพรรค เดี๋ยวรอฟังสมาชิกพรรค ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพวกเราสองคน พวกเราสองคนไม่ยึดติดตำแหน่ง

-------------------

วานนี้ 30 มกราคม 2567 ที่พรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ (31 ม.ค.) กรณีการหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่


นายพริษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลพยายามเต็มที่ในการชี้แจงต่อข้อสงสัย และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเราผ่านกระบวนการยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าการกระทำของพรรคและ สส. ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่มีการกระทำใดที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามข้อกล่าวหา


"หากจะพูดเจาะจงเกี่ยวกับกรณี ที่มี สส.พรรคก้าวไกลในสภาชุดที่แล้ว ยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เราก็ต้องยืนยันว่าการกระทำของ สส. คนดังกล่าวไม่ได้เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทั้งในเชิงของกระบวนการ และเนื้อหาสาระ เพราะท้ายสุดยื่นเข้าไปแล้วก็ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน"


นายพริษฐ์ ยืนยันว่า สส.ของพรรคทุกคน รวมถึงนายชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ก็จะอยู่ที่สภา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ สส. เพราะน่าจะมีหลายวาระสำคัญที่เข้าสู่ที่ประชุม สส. ทุกคนจึงอยากมีสมาธิเต็มที่ในการประชุมสภาฯ โดยเมื่อคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ก็คงมีการฟังคำวินิจฉัยที่สภา และหากมีความเห็นอะไรต่อจากนั้นก็จะมีการแถลงต่อสื่อมวลชน


ทั้งนี้ หากศาลมีคำวินิจฉัยว่าให้ยุติการหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 นายพริษฐ์ กล่าวว่า ต้องรอดูคำวินิจฉัยของศาลก่อน คงต้องรออีก 1 วัน แต่ในวันนี้ก็ต้องยืนยันว่าสิ่งที่พรรคหรือ สส. ได้ทำลงไป ไม่มีการกระทำใดที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง


สำหรับแผนรองรับหลังจากนี้กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่เป็นลบ นายพริษฐ์ เผยว่า พรรคก้าวไกลได้มีการวางแผนสำหรับทุกสถานการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่ในเวลานี้ต้องยืนยันว่า ทุกการกระทำของพรรคและ สส. ยังไม่มีอะไรเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และหากศาลมีคำวินิจฉัยเป็นอื่นใด ก็ต้องรอฟังความเห็นและเหตุผล


ส่วนกรณีพรรคร่วมรัฐบาลเสนอเลื่อนญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมา นายพริษฐ์ กล่าวว่า ต้องรอดูก่อนว่าจะมีการเลื่อนญัตติขึ้นมาจริงหรือไม่ ซึ่งกำลังหารือร่วมกันระหว่างวิปทั้งสองฝ่าย


"แต่หากถอยสักก้าว แล้วพูดถึงภาพใหญ่ในเรื่องนิรโทษกรรม พรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่าการนิรโทษกรรมคดีการเมืองจะเป็นกุญแจเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง และพยายามฟื้นฟูระบบประชาธิปไตยที่ปกติ วิธีการอาจจะแตกต่างกันไป ซึ่งพรรคก้าวไกลจะใช้วิธีการยื่นร่างกฎหมาย ส่วนพรรคเพื่อไทยเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ก็เป็นสิทธิของพรรคเพื่อไทย"


อย่างไรก็ตาม หากร่างกฎหมายของเราได้เข้าพิจารณาก่อน ก็จะใช้เวทีดังกล่าวในการอภิปราย ซึ่งจะสำเร็จได้คือต้องโน้มน้าว สส. จากพรรคการเมืองอื่นๆ ให้มาเห็นชอบกับร่างกฎหมายในฉบับของพรรคก้าวไกล

-----------



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/v4EqPQPwuTQ

คุณอาจสนใจ

Related News