เลือกตั้งและการเมือง

"ภูมิธรรม" ไล่ไปตลาด ถามชาวบ้านวิกฤตเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ด้าน "ศิริกัญญา" ถามวิกฤตตอนไหน

โดย nutda_t

10 ม.ค. 2567

228 views

10 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กล่าวถึงการเดินหน้าของรัฐบาลในการผลักดันร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หลังจากกฤษฎีกาทำความเห็นกลับมายังรัฐบาล ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นจุดพลิกผันของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งจะได้มีการพูดคุยกันใน คณะกรรมาธิการงบประมาณฯ โดยในวันนี้ จะมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาร่วมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ



นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า วันนี้จะได้รู้กันว่าวิกฤตเศรษฐกิจหน้าตาควรต้องเป็นแบบใด สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ตามที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กล่าวไว้ เพราะตนมองว่าหากหน่วยงานต่างๆ ยังชี้แจงไม่ตรงกัน สุดท้ายแล้วโอกาสที่จะออกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็จะริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ ส่วนคำนิยามของวิกฤตเศรษฐกิจควรจะมีตัวชี้วัดอย่างไร เพื่อให้เป็นที่ยอมรับตรงกัน ควรต้องอิงกับหลักสากล ตามหน้าตาของวิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกนิยามใช้ตัวชี้วัดอะไรบ้าง และของประเทศไทยเป็นไปตามตัวชี้วัดเหล่านั้นหรือไม่ เพื่อจะได้ข้อสรุปที่เป็นจริงและเป็นวิทยาศาสตร์ว่าเป็นวิกฤตจริงหรือไม่ ทั้งนี้ มองว่าหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตควรจะต้องพูดคุยให้ตกผลึกว่าจะใช้ตัวชี้วัดใด เพื่อจะชี้แจงกับประชาชนว่าประเทศกำลังวิกฤต

"แต่ดิฉันคิดว่าคงไม่ได้เป็นไปตามนิยามที่เป็นสากลตามปกติสักเท่าไหร่ สำหรับกรณีของประเทศไทย เราก็คงต้องดูว่ารัฐบาลจะใช้วิธีการใดที่คิดค้นขึ้นมาว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในวิกฤต" นางสาวศิริกัญญา กล่าว


นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่าในส่วนของพรรคก้าวไกล ไม่มีความคิดจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.กู้เงิน ดังกล่าว เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง จะสามารถพิจารณาได้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอยู่แล้ว


“น่าเสียดายที่กฤษฎีกาไม่ได้ตีความตรงๆ ว่าสรุปแล้วทำได้หรือไม่ ควรทำหรือไม่ แต่กลับบอกเพียงแค่ว่า ถ้าถูกกฎหมายก็ทำได้ ถ้าไม่ถูกกฎหมายก็ทำไม่ได้ ก็เสียโอกาสที่อุตส่าห์รอคอยมา 1 เดือน แต่คำตอบกลับไม่ชี้ชัดฟันธง”นางสาวศิริกัญญา กล่าว


เมื่อถามว่ามองอย่างไร กรณีที่รัฐบาลอ้างว่าประเทศกำลังอยู่ในวิกฤต แต่กลับออกเป็นพ.ร.บ.แทนที่จะออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ในทางกฎหมายสามารถทำได้ทั้งทางพ.ร.บ.และพ.ร.ก. แต่เมื่อคำนึงว่า ปัญหาที่เป็นวิกฤต ควรต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รัฐบาลกลับเลือกทางที่ไม่ได้เร่งด่วนขนาดนั้น คือพ.ร.บ.ที่เว้นระยะเวลา และยังต้องรอผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ถ้าเป็นวิกฤตเร่งด่วนจริงอาจจะไม่ทันการณ์ก็ได้ หากเกิดข้อติดขัด เช่นหากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยแล้วตีกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร กรอบเวลาในการแก้ปัญหาที่วางไว้ก็อาจเป็นไปไม่ได้ มองว่ามีความย้อนแย้งกันอยู่ แต่ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การนิยามว่าเป็นวิกฤตหรือไม่แล้ว เพราะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เปิดตัวตั้งแต่เดือนเม.ย. 66 และเราก็ยังรอกันมา 1 ปี จึงไม่รู้ว่าวิกฤตนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนไหนกันแน่

ส่วนกรณีที่นายกฯเชิญ ผู้ว่าฯ ธปท. เข้ามาพูดคุยที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวศิริกัญญา ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า ต้องยืนยันในหลักการของความเป็นอิสระของธนาคารกลางที่ทุกประเทศจำเป็นจะต้องเดินตามหลักการนี้ เพราะไม่ได้กระทบเพียงแค่นโยบายทางการเงิน แต่รวมถึงเครดิตเรตติ้ง ซึ่งมีผลการศึกษาชี้ว่า ถ้ามีการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารไปที่ธนาคารกลาง ก็มีโอกาสที่เครดิตเรตติ้งจะปรับลด เพราะจะคาดการณ์ว่ามีการแทรกแซงเพื่อให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นวิวาทะที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จึงต้องขอให้นายกรัฐมนตรีทำเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะตามปกติจะไม่มีการแทรกแซงระหว่างฝ่ายบริหารและธนาคารกลาง




นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การประชุมนัดแรกวันนี้สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจ เพราะขณะนี้ไม่ถือว่าเป็นการทำงาน ร่วมกัน ไม่มีขั้ว ไม่มีสองฝ่าย เพราะผ่านวาระแรกมาแล้วเป็นหน้าที่การทำงานของทุกคน ที่จะร่วมกันผลักดันงบประมาณออกไปสู่สาธารณะ ดูแลพี่น้องประชาชนให้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน รวมทั้งจะมีการกำหดไทม์ไลน์ ในการทำงาน ว่าจะมีการประชุม วันจันทร์ ตั้งแต่ 13:00 น - 20:00 น. ส่วน วันอังคารถึงวัน พฤหัสบดี 9.00น.- 20:00 น. ส่วนวันศุกร์ตั้งแต่ 9:00 - 16.00 น. โดยยืนยันจะทำงานอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบเวลา 105 วัน


นายภูมิธรรม ยังระบุว่า กรรมาธิการฯ เห็นพ้องต้องกันว่าจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ด้วยการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณเรียงลำดับรายมาตรา ทั้งนี้อะไรที่เป็นข้อตกลงร่วมกันได้หรือมติร่วมกันได้ก็จะเป็นเรื่องดี ที่จะทำให้งบประมาณออกมาได้ชัดเจนและดำเนินการได้เร็วที่สุด และถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้มีการยื่นญัตติ หรือโหวตเพื่อหาข้อสรุป เพื่อให้งบประมาณออกเร็ว ส่วนที่จะบอกว่าวิกฤตมากหรือวิกฤตกลาง ก็แล้วแต่ แต่ก็ถือว่า เป็นวิกฤต ดังนั้นจึงจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้ งบประมาณออกมาได้เร็วที่สุด


เมื่อถามถึงกรณีที่ไม่อนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการตามที่พรรคก้าวไกลร้องขอ นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า ได้เปิดให้มีการพูดคุยกันในที่ประชุม แต่ ตนเห็นว่ามีสื่อบางที่ไปนำเสนอวิพากษ์ วิจารณ์กรรมาธิการฯ ว่ากลัวจะให้ประชาชนไปมีส่วนร่วม จึงต้องระมัดระวัง โดยขอย้ำว่ามีความจำเป็นจริงๆที่ต้องระมัดระวัง ขณะที่งบประมาณยังไม่ได้ข้อสรุปและการพูดคุยกันบางเรื่องอาจมีปัญหา เพราะสามารถทำให้ผู้มีส่วนได้เสีย หรือมีส่วนเกี่ยวพันกับคนข้างนอกอาจมีปัญหาที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่เพียงผู้พูดกล่าวถึงคนเดียวอาจจะเกี่ยวพันไปถึงเจ้าหน้าที่ด้วย จึงต้องให้อยู่ในอำนาจของประธาน หรือถือแนวปฏิบัติเหมือนเดิม ยังไม่มีระเบียบอะไรที่แก้ไข

ทั้งนี้ข้อเสนอเช่นนี้เข้าใจว่าเป็นเจตนาที่ต้องการให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมแต่ต้องดูหลายเรื่องไม่ใช่ดูเพียงประเด็นเดียว อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการปิดกั้นกรรมาธิการได้มีการถ่ายทอดสดภายในอาคารรัฐสภา ซึ่งสื่อมวลชนก็สามารถติดตามดูได้ แต่ก็มีข้อจำกัด ที่สื่อจะไม่สามารถถ่ายทอดได้ทั้งหมด จึงจะเลือกถ่ายทอดแต่ละสิ่งออกไปเพื่อป้องกันปัญหา พร้อมย้ำว่าไม่ใช่เรื่องกลัวหรือไม่กลัวให้ประชาชนรับทราบแต่เป็นการป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหา หรือคดีความ พยายามทำให้ทุกอย่างไม่ให้เกิดส่วนได้ส่วนเสียในระหว่างที่งบประมาณยังไม่ได้สรุปชัดเจน

นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงกรณีที่ สว. ล่าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 ว่า รัฐบาลพร้อมที่จะชี้แจงอยู่แล้ว เพราะเป็นการอภิปรายเสนอความเห็น ของสว. แต่เข้าใจว่าตอนนี้ยังรวมชื่อไม่ถึงเกณฑ์ ที่จะสามารถที่จะยื่นได้ ซึ่งก็ไม่เป็นไร หากรวมชื่อและยื่นได้ก็พร้อมที่จะรับฟังและชี้แจง เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่มีส่วนไหนที่รัฐบาลต้องไปกังวลใจ

ส่วนกรณีที่ สว. บางส่วนต้องการให้รัฐบาลกำหนดนิยามคำว่าวิกฤตเศรษฐกิจให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหา เกี่ยวกับการ ออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท นายภูมิธรรม กล่าวว่า วิกฤตหรือไม่วิกฤตเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันตอบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น ข้อถกเถียงระหว่างพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่จะทำก็บอกว่าวิกฤตพรรคที่จะไม่ทำก็บอกว่าไม่มีวิกฤต ต้นเห็นว่าต้องเอาความเป็นจริงมาพูด ซึ่งหากอยากรู้ว่าวิกฤตหรือไม่ให้ลงไปที่ตลาดและไปสอบถามจากชาวบ้าน ถ้าหากชาวบ้านบอกว่าไม่วิกฤตก็ให้มาบอกรัฐบาล

เมื่อถามถึงกรณีภูมิรัฐศาสตร์ของโลกหรือ Geo Politic ที่มีปัญหาสงครามจะกระทบการส่งออกของไทยหรือไม่นั้น นายภูมิธรรมกล่าวว่ากำลังเฝ้าดูในตะวันออกกลาง ซึ่งยังไม่ได้กระทบ แต่หากมีปัญหาก็จะกระทบทั่วโลก ประเทศไทยไม่ต้องกังวลเพราะรัฐบาลได้สั่งการให้ดูแล ให้แต่ละฝ่ายเตรียมการไว้แล้ว

คุณอาจสนใจ

Related News