เลือกตั้งและการเมือง

'ภูมิธรรม' โพสต์ดีใจกับปชช. ฝันกำลังจะเป็นจริง ได้เงิน 1 หมื่น - 'ศิริกัญญา' เตือนกฤษฎีกายังไม่ชี้ชัด

โดย passamon_a

9 ม.ค. 2567

136 views

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.67 ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบคำถามของกระทรวงการคลัง ว่า ยืนยันว่าสามารถออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาทได้ แต่มีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะมาด้วย ในเรื่องของให้ปฏิบัติตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.วินัย ในเรื่องของความคุ้มค่า เพราะจะต้องมีการประเมินผลได้ทั้งก่อน และหลังโครงการ


ในเรื่องของกลไกที่จะเป็นไปตามข้อกฎหมายตามมาตรา 53 คือเรื่อง เป็นวิกฤตหรือไม่ ซึ่งก็เป็นภาระหน้าที่ของทางกระทรวงการคลัง แล้วก็เป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายจะดำเนินการให้ครบถ้วน


ส่วนที่สองที่มีข้อเสนอแนะ คือเรื่องของการให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ซึ่งก็คงจะต้องพิจารณาสิ่งที่จะเกิดต่อจากนี้ และคงจะต้องมีการเชิญประชุมคณะกรรมการนโยบาย เพื่อที่จะเชิญทุกฝ่ายมา แล้วก็คงต้องรบกวนทางเลขาธิการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการให้นำเสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ทุกคนทราบถึงคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสรุปให้ที่ประชุมฟังด้วยว่า ในความเห็นนั้น ๆ มีความหมายเช่นไร และควรจะดำเนินการเช่นไรต่อ พวกเราก็ในฐานะกรรมการนโยบายหลังจากประชุมกันแล้ว ก็คงจะต้องมีมติว่าเราจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ที่ทำได้ แต่เมื่อมีข้อเสนอแนะมา เราต้องรับฟัง


นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า เรายังพยายามยืนยันว่า กรอบเวลาจะต้องเป็นไปตามกรอบเดิม คือเป้าหมายเดิมในเดือน พ.ค. ณ ขณะนี้ ยังไม่มีเหตุให้เลื่อน


เมื่อถามว่า โครงการดังกล่าวจะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กลไกของดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่โครงการสงเคราะห์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยกลับไปสู่ระดับการเติบโตที่เต็มศักยภาพ นี่คือจุดมุ่งหมายของรัฐบาลนะครับ


ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เราก็ได้แสดงความเป็นห่วงตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นที่ค่อนข้างเร็ว และสูง ซึ่งเกิดกระทบกับพี่น้องประชาชนในวงกว้าง เมื่อมีตัวเลขในเรื่องของผลกำไรของกลุ่มธนาคาร ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นภาระที่ตกกับประชาชน แต่แน่นอนว่า กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมันแบ่งแยกกัน ทั้งส่วนของรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย


เมื่อถามว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ประเด็นที่ สว.จะขอยื่นอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิและหน้าที่ ซึ่งตนยินดี เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจง และทำความเข้าใจอยู่แล้ว


ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีพาณิชย์ โพสต์ข้อความผ่านเอ็กซ์ พร้อมภาพหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์วันนี้ 4 ฉบับ (ไทยรัฐ/เดลินิวส์/มติชน/ข่าวสด) ที่พาดหัวว่ากฤษฎีกาไฟเขียว / กฤษฎีกาฉลุย / กฤษฎีกาไม่ขัด เดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น


พร้อมข้อความว่า "พาดข่าวหนังสือพิมพ์วันนี้ กฤษฎีกา..ผ่านฉลุย ฝันของประชาชน กำลังจะเป็นจริง!! พรรคเพื่อไทย ทำเป็น ทำจริง ประชาชน..อายุ 16 ปี ขึ้นไปจะได้รับเงิน 10,000บาท/คน จะได้ร่วมกันกระตุ้นศก.ของประเทศ ช่วยกันพาประเทศ ให้ผ่านพ้นหลุมดำทางศก. โดยเร็ว ดีใจด้วยครับ!!!"


ขณะที่ ที่รัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งความเห็นต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุว่า หากจะมองว่ากฤษฎีกาไฟเขียว หากตนเองเป็นข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็จะรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ เพราะสิ่งที่กฤษฎีกาบอกคือหากโครงการเป็นไปตามกฏหมาย มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 และมาตรา 9 ของวินัยการเงินการคลัง จะสามารถกระทำได้ แต่หากผิดเงื่อนไขเหล่านั้น ก็ไม่สามารถกระทำได้


นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความตามข้อกฎหมายโดยตรง จึงขอฝากไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนว่ากฤษฎีกาให้นำเรื่องนี้กลับเข้ามาประชุมในคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตคณะใหญ่อีกครั้ง ซึ่งมีข้าราชการและผู้มีความรู้หลายท่านให้ระมัดระวังเรื่องการลงมติเกี่ยวกับพ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อให้กระทรวงการคลังกู้เงินด้วย โดยที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ชัดอะไรมาเลยว่าอะไรที่สามารถกระทำได้และไม่สามารถกระทำได้ สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลฯ ชุดใหญ่ ว่าการดำเนินการจะเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่


นางสาวศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ยังรอคอยรายงานการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ เพราะเราไม่มีข้อมูลในเชิงลึก จึงได้แต่งตั้งคำถามจากประสบการณ์ที่ประเทศต่าง ๆ พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ ซึ่งไม่ใช่วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด แต่อาจจะเป็นวิธีการที่เร็วที่สุด และไม่ได้คุ้มค่าต่อเม็ดเงินมากที่สุด ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นรายละเอียดอย่างครบถ้วนว่าโครงการมูลค่า 5 แสนล้านบาทจากกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไหร่


เมื่อถามว่า จากข้อสังเกตของฝ่ายค้าน รัฐบาลควรประเมินในเรื่องใดบ้างก่อนดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า สิ่งแรกคือต้องประเมินว่าสรุปแล้วประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ ซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ว่านิยามของคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจจะต้องไปในแนวทางที่เห็นเด่นชัดว่าเป็นวิกฤตที่เหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือโควิด ซึ่งทุกคนเห็นเด่นชัดและไม่มีใครเถียง ดังนั้น จึงตกอยู่กับทางรัฐบาลแล้วว่าจะไปหากลวิธีอย่างใดเพื่อทำให้ข้อมูล ทางเศรษฐกิจดูวิกฤต


นางสาวศิริกัญญา อธิบายว่า ลักษณะของวิกฤตคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น รายได้ของประชาชน GDP การจ้างงาน จึงจะเรียกว่าวิกฤต และต้องดูว่ารัฐบาลจะหาตัวเลขใดมา สุดท้ายหากำลังพิจารณาพ.ร.บ.กู้เงินกันอยู่ แล้วเศรษฐกิจเกิดกระเตื้องขึ้นมา สรุปแล้วจะยังอยู่ในเงื่อนไขเดิมหรือไม่ ก็ต้องไปลุ้นกัน


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/MDo2ZQXSbYc

คุณอาจสนใจ

Related News