เลือกตั้งและการเมือง

'อุ๊งอิ๊ง' นั่งหัวโต๊ะคณะซอฟต์พาวเวอร์ ลุยแก้ไขกฎ - ปรับเรตห้ามฉายหนัง ปัดข่าวจ่อนั่ง รมต.

โดย nattachat_c

5 ม.ค. 2567

58 views

เมื่อวานนี้ (4 ม.ค.) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ครั้งที่ 1/2567 ว่า ที่ ประชุมได้ย้ำ 3 ประเด็นหลักคือ การแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551, การตั้ง One Stop Service และความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ. THACCHA


โดยประเด็นแรก คือการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชนมานานหลายปี จากความไม่สมเหตุสมผลของเกณฑ์รวมถึงความไม่ชัดเจนของการพิจารณานั้น กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับคณะอนุกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์สาขาภาพยนตร์ ได้เสนอการทำงาน 3 เรื่องคือ


ส่วนที่ 1 การเปลี่ยนแปลง “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และเกม” โดยเปลี่ยนแปลงทั้งสัดส่วนของคณะกรรมการให้เอกชนมีเสียงข้างมาก และ เป็นประธานคณะกรรมการทุกชุด โดยจะตั้งคณะกรรมการใหม่ 9 ชุด รวมชุดที่ 1 ที่ยังไม่หมดวาระ เป็น 10 ชุด แบ่งออกเป็น คณะพิจารณาภาพยนตร์ 8 ชุด และ คณะพิจารณาด้านเกมโดยเฉพาะ 2 ชุด เพราะเกมและภาพยนตร์มีวิธีคิดและมุมมองที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องพิจารณาแยกกัน ซึ่งจุดสำคัญ คือการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของคณะกรรมการพิจารณา จะต้องมีสัดส่วนของเอกชนมากกว่าภาครัฐบาล โดยกำหนดให้ประธานคณะพิจารณาในแต่ละชุดเป็นเอกชน และมีคณะกรรมที่มาจากภาคเอกชน 3 คน และจากภาครัฐ 2 คน จากเดิมที่มีเอกชน 3 คน และภาครัฐ 4 คน


“การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการพิจารณาครั้งนี้จะทำให้ภาพยนตร์ไทยได้รับการพิจารณาเรตติ้งที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมมากขึ้น การจัดเรทคนดู จะเป็นเพียงตัวบอกว่าสิ่งใดเหมาะสม แต่จะไม่ใช่การควบคุมภาพยนตร์ไทยอีกต่อไปค่ะ” นางสาวแพทองธาร กล่าว


นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ส่วนที่ 2 คือ การแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างรอการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน สำหรับการแก้ไขกฎกระทรวงที่มาของจัดประเภทเรทของภาพยนตร์ จะเป็นการแก้ไขในส่วนของภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทย โดยภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทยจะเหลือเพียงข้อกำหนดเดียว คือ เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนประเด็นอื่นๆ เรื่องศาสนา เรื่องความมั่นคง รวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ จะถูกจัดอยู่ในเรทผู้ชมที่เหมาะสมแทนการห้ามฉาย โดยกระบวนการแก้กฎกระทรวงนี้ ยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และคาดว่าการแก้ไขจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางปีนี้


ส่วนที่ 3 คือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว นั่นคือการยกร่างกฎหมายพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิด “สภาภาพยนตร์ไทย” องค์กรใหม่ภายใต้ THACCA มาทำหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไปจนถึงการพิจารณาจัดเรทผู้ชมในอนาคต และให้เอกชนเป็นผู้จัดเรทผู้ชมด้วยตัวเอง


“การเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดเรทของผู้ชมทั้ง 3 ส่วน คือการเปลี่ยนวิธีคิด ที่ภาครัฐเคยเน้นควบคุมภาพยนตร์ เป็นการสนับสนุนเสรีภาพและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินทุกคน” นางสาวแพทองธาร กล่าว


นางสาวแพทองธาร ยังกล่าวว่า การตั้ง One Stop Service ที่รวมเอาการติดต่อหน่วยงานราชการหลายๆ หน่วยเข้าไว้ที่เดียว โดยสองอุตสาหกรรมแรกที่จะลงมือทำ One Stop Service คือ อุตสาหกรรมเพลง และ ภาพยนตร์ เพราะการจัดคอนเสิร์ตและการถ่ายทำภาพยนตร์มีปัญหามากที่ต้องติดต่อหลายหน่วยงานราชการ


และประเด็นสุดท้าย คือ กระบวนการยกร่าง พ.ร.บ. THACCA ที่จะเป็นกฎหมายหลักสำหรับหน่วยงานที่จะมาขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศ ตอนนี้ตัวกฎหมายใกล้เสร็จเต็มที่แล้วค่ะ กำลังอยู่ในขั้นตอนของตรวจสอบความเรียบร้อย แล้วเปิดรับฟังความเห็น โดยเราตั้งใจจะผลักดันให้เข้าสภาภายในกลางปีนี้ให้ได้


จากนั้นสื่อมวลชนได้สอบถาม ถึงงบประมาณการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ยังอยู่ที่ 5,164 ล้านบาทหรือไม่ นพ. สุรพงษ์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาทั้ง 11 อุตสาหกรรมได้เสนองบประมาณที่ 5,164 ล้านบาท ซึ่งบางอุตสาหกรรมเสนอใช้งบในปี 2567 แต่บางอุตสาหกรรมเสนอใช้งบของปี 2567 และ 2568 รวมกัน เมื่อนำมากลั่นกรองแล้วพบว่า งบปี 2567 จะอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นงบของปี 2568 โดยวานนี้ (4 ม.ค.) ที่ประชุมยังไม่ได้ลงรายละเอียด และให้ไปทำคำของบประมาณกับสำนักงานงบประมาณเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับงบของแต่ละกระทรวงอีกทั้งเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า


ส่วนการของบ 3,500 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 นั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นงบที่มาจากหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งมีข้อสังเกตจากสำนักงบประมาณว่า ตัวเลขงบประมาณ 3,500 ล้านบาท มีอยู่ในการพิจารณางบ ปี 67 กว่า 1,000 ล้านบาท ดังนั้น งบที่ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ได้เสนอมาจะอยู่นอกเหนือจากที่หน่วยงานราชการตั้งไว้ 2,500 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้จะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ชุดใหญ่ที่ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันอังคารที่ 9 มกราคมนี้


เมื่อถามว่ามองอย่างไร ในที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบปี67 ตั้งข้อสังเกตว่าในอนาคตงบประมาณของคณะกรรมการซอฟพาวเวอร์อาจจะต้องใช้งบกลาง นั้น นพ. สุรพงษ์ กล่าวย้ำว่า ตัวเลขที่จะใช้ในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีงบของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้วเกือบ 1,000 ล้านบาท ดังนั้นส่วนที่เหลือประมาณ 2,500 ล้านบาทก็จะต้องดำเนินการของบกลางเพื่อมาดำเนินงาน โดยเฉพาะบางกิจกรรมที่เกิดขึ้นก่อนเดือนเมษายน อย่างการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ พี่จะต้องดำเนินการของบประมาณในที่ประชุมคณะกรรมการซอฟพาวเวอร์ชุดใหญ่วันที่ 9 มกราคมนี้


ส่วนเหตุผลที่ นนกุล-ชานน สันตินธรกุล ดารานักแสดงชื่อดัง เข้ามาเป็นอนุกรรมการด้านภาพยนตร์ นั้น นพ. สุรพงษ์ กล่าวว่า เนื่องจาก นนกุล เข้ามาช่วยงานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ต้น และครั้งแรกในการตั้งคณะอนุกรรมการนนกุลก็ไม่ได้มีรายชื่อ แต่มาช่วยเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์มากและการประชุมบางครั้งใช้เวลา 4 ถึง 5 ชั่วโมง ซึ่งนนกุลก็อยู่ร่วมประชุมตลอด จึงคิดว่านนกุลน่าจะเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ได้รับความเห็นที่กว้างขวางมากขึ้น จากคนที่อยู่ในวงการบันเทิงอย่างแท้จริง

------------
วานนี้ (4 ม.ค.)  ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วันที่ 2


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงการ เดินหน้านโยบายซอฟต์พาวเวอร์ หลังจากดำเนินการตามนโยบายนี้ มา 2 เดือนเศษได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี แต่ยอมรับว่าการนิยามความหมายของซอฟต์พาวเวอร์อาจจะแตกต่างกัน เป็นเรื่องปกติที่เข้าใจได้ แต่เป้าหมายหลักก็คือต้องการสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับประชาชน ภายใต้ภาระหนี้ครัวเรือนที่กดทับประชาชน จนไม่สามารถหารายได้เพิ่ม รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหานี้ ดังนั้น ไม่สำคัญว่าจะนิยามถึงอะไร แต่สามารถปรับเปลี่ยนประยุกต์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนได้มากที่สุด หากนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยจะขึ้นไปอยู่ในระดับโลก แต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างรายได้ให้ประชาชนมีปากท้องที่ดีขึ้น


นายจุลพันธ์ ย้ำว่า งบประมาณเกือบ 10,000 ล้านบาท ที่ใช้สำหรับโครงการซอฟต์พาวเวอร์ กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะได้เห็นในชั้นกรรมาธิการฯ ยืนยันว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมขึ้นจริง เช่น การอบรมเพิ่มศักยภาพ จัดเทศกาล ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เพื่อให้สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ เช่น สงกรานต์ ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้ งบประมาณที่จัดสรรไปนั้น ผ่านการแสดงความคิดเห็นจากภาคเอกชนโดยตรง เชื่อว่าจะเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่มากที่สุด

-------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/EVbBumGTBPQ

คุณอาจสนใจ

Related News