เลือกตั้งและการเมือง

'เศรษฐา' ร่ายยาวแจงงบ 67 - 'ชัยธวัช' อัดจัดงบเลื่อนลอย - 'ทวี' โต้ปมคุกทิพย์ ชม 'ทักษิณ' เป็นนักสร้างสันติภาพ

โดย passamon_a

4 ม.ค. 2567

40 views

เมื่อวันที่ 3 ม.ค.67 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงหลักการและเหตุผลร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ว่า รัฐบาลจัดทำงบประมาณ ไม่เกิน 3,480,000 ล้านบาท และเพื่อชดเชยใช้เงินคงคลังเป็นเงินจำนวน 118,361 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามที่แถลงต่อรัฐสภา โดยจัดทำสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสถานะการเงินการคลังของประเทศ และแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ


ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ 2.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องการลงทุนภาคเอกชน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.4 และเงินดุลสะพัด 1.0 ทั้งนี้งบประมาณปี 2567 มีการตั้งงบดำเนินนโยบายกลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและความมั่นคง และด้านการเมืองการปกครอง


สำหรับด้านเศรษฐกิจ จะใช้การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญ โดยเน้นส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อสร้างงานอาชีพ สร้างมูลค่าสินค้า จำจุดเด่นทางวัฒนธรรมผลักดันสู่ซอฟท์ พาวเวอร์ รวมถึงนำสินค้าท้องถิ่นไปจัดจำหน่าย ขณะเดียวกันก็จะช่วยเหลือประชาชนให้มีค่าใช้จ่ายลดลง ทั้งการแก้หนี้นอกระบบ ลดราคาพลังงาน เข้าถึงแหล่งเงินทุน


ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอุตหสากรรมยุคใหม่ สร้างแรงงานฝีมือให้สามารถแข่งขันได้ ปรับปรุงระเบียบเพื่อจำกัดอุปสรรคการลงทุน และส่งเสริมการคมนาคมขนส่งในประเทศสะดวก ทางถนน ทางน้ำ ทางรางและอากาศ รัฐบาลจะลงทุนต่อเนื่อง ทำให้การคมนาคม โลจิสติกส์ เป็นจุดแข็งของประเทศ นอกจากนี้จะลงทุนทางน้ำอย่างเป็นระบบ ขยายเชื่อมต่อชลประทาน รองรับผลกระทบเอลนีโญ ให้เกษตรกรมีโอกาสปลูกพืช รวมถึงให้ภาคอุตสาหกรรมไม่กังวลและลงทุนอย่างต่อเนื่อง


ด้านสังคมและความมั่นคง รัฐจะเส้นสุขภาวะของทั้งประชน ทั้งเรื่องอากาศสะอาด  แก้ไขฝุ่นพิษ ลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังจะส่งเสริมด้านสาธารณสุขให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างรวดเร็ว รัฐลงทุนเชื่อมต่อข้อมูลทุกระบบ มีการอัปเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค และให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ อีกทั้งยังจะต่อต้านการก่อการร้ายในทุกรูปแบบ


รัฐบาลจะพัฒนากองทัพให้ทันสมัยสอดคล้องกับการเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นการสมัครใจ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยยึดหลัก "การต่างประเทศที่กินได้" ยึดประโยชน์คนไทย รักษาไว้ซึ่งเกียรติความเป็นไทย


สุดท้ายด้านการเมืองการปกครอง จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยแก้จุดด้อยของฉบับที่ผ่านมาเพื่อลดความขัดแย้งในสังคมไทย


นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า งบประมาณปี 2567 เป็นการตั้งแบบขาดดุล คาดการว่ารัฐจะสามารถจัดเก็บรายได้ 2,787,000 ล้านบาท และกู้ชดเชยขาดดุล 693,000 ล้านบาท รวมรายรับจำนวน 3,480,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณปี 2567


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ได้ใช้เวลาอ่านคำชี้แจงเหตุผลในการจัดทำงบประมาณฯปี 67 เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที


////


ต่อมา เวลา 11.30 น. นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายว่า ฟังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อ่านหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ทำให้นึกถึงบรรยากาศของปีที่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ ก็มาอ่านแบบนี้ ที่เต็มไปด้วยข้อความสวยหรู แต่ปัญหายังมีอยู่เหมือนเดิม แต่เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดของร่างงบประมาณแล้ว กลับเลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ


นายชัยธวัช กล่าวย้อนไปถึงเมื่อวันที่ 11 ก.ย.66 ที่นายกฯแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤต ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม และการเมืองภายในประเทศ เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน และวิกฤตความขัดแย้งในสังคม ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหา สร้างความพร้อม และวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน รัฐบาลจึงมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว


ซึ่งในวันแถลงนโยบายฯ ฝ่ายค้านได้อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์ว่า นโยบายของรัฐบาลไม่เหมือนกับที่เคยหาเสียงเอาไว้ หรือไม่มีความชัดเจน ไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้ แตวันนั้น นายกฯ บอกว่า ให้รอดูแผนรายกระทรวง จะมีความชัดเจนแน่นอน แต่เมื่อตามไปดูแผนรายกระทรวง ก็พบปัญหาว่า ไม่ได้มีตัวชี้วัดชัดเจน ไม่สามารถวัดความสำเร็จของนโยบายได้จริง หรือไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางนโยบาย เมื่อมาดูไส้ในของแผนงานพบว่าเป็นโครงการเดิม ๆ ที่กระทรวงทำอยู่แล้ว เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ หรือยัดโครงการประจำของกระทรวง เข้ามาในแนวนโยบายที่รัฐบาลจะทำ ค่อนข้างปะปนกันระหว่าง สิ่งที่รัฐบาลจะทำ กับสิ่งที่เป็นงานประจำที่หน่วยงานทำอยู่แล้ว


จนเมื่อ ครม. มีมติครั้งแรกสั่งทบทวน พ.ร.บ. งบ 67 ใหม่ ใช้เวลา 3 เดือนในการปรับปรุง เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนนโยบาย แต่สุดท้ายหน้าตาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้กลับไม่ต่างไปจากเดิม นายกฯบอกว่ามีนโยบายเร่งด่วน ซึ่งควรสะท้อนอยู่ในร่างกฎหมายนี้ แต่กลับต้องผิดหวัง เพราะตั้งงบเพื่อดำเนินนโยบายที่ไม่ตอบโจทย์ เช่นเดียวกับนโยบายเร่งด่วนในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว


ส่วนการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน-งบประมาณเพื่อชดเชยหนี้ให้ กฟผ. จากนโยบายลดค่าไฟ ก็ไม่ได้ถูกตั้งเอาไว้ ให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งน่าจะต้องทำประชามติ 1-2 ครั้งในปีนี้ รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งงบเอาไว้รอ กกต.ของบไป 2,000 ล้าน แต่ได้มาแค่ 1,000 ล้าน


ส่วนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ตอนแถลงนโยบายบอกว่าจะไม่กู้ แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่มีการตั้งงบใด ๆ ไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบ 67 คงดูต้องว่ารัฐบาลจะสามารถเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้เข้าสู่สภาได้หรือไม่


นายชัยธวัช กล่าวว่า หากดูภาพรวม ร่าง พ.ร.บ. งบ 67 ที่เสนอมา จะพบว่าเป็นงบประมาณแบบเบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ ทำงานอย่างไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน หน้าปกอาจจะดูดี แต่พอเข้าไปดูไส้ในแล้วไม่ได้ยึดโยงกับเป้าหมายทางนโยบาย ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิม ๆ แต่เอามาโยงให้เข้ากับเป้าหมายใหม่ แถมนับรวมทุกรายจ่ายแล้วเคลมว่าเป็นงบสำหรับการลงทุนใหม่ ที่ชอบทำกันมากที่สุด คืองบตัดถนน กลายเป็นโครงการวิเศษที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกยุทธศาสตร์แบบงง ๆ


และพบว่ามี 200 โครงการใหม่ จากทั้งหมด 2,000 โครงการ ซึ่งโครงการใหม่ส่วนใหญ่เกิดจากหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นมาก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ เป็นโครงการที่หน่วยงานราชการเสนอขึ้นมา ไม่ใช่การผลักดันเพื่อขับเคลื่อนโครงการใหม่จริง ๆ ซ้ำยังคาดการณ์รายได้เกินจริง (ประมาณแสนล้านบาท) เพื่อที่จะเพิ่มแผนรายจ่ายได้สูงขึ้น ขณะเดียวกัน กลับตั้งงบรายจ่ายที่ต้องใช้แน่ ๆ ไว้ไม่พอ เช่น บำเหน็จบำนาญ เงินเดือนราชการ งบสวัสดิการ นโยบายเพิ่มเงินเดือนราชการ 10% ค่าชดเชยภาษีรถ EV ค่าไฟชดเชยหนี้ กฟผ. จากนโยบายลดค่าไฟ งบซอฟพาวเวอร์ที่โฆษณาไว้ว่าจะลงงบกว่า 5000 ล้าน ซึ่งรายจ่ายที่ไม่ได้ตั้งงบไว้พวกนี้ รวม ๆ แล้วไม่น่าจะน้อยกว่า 1 แสนล้านบาท สุดท้ายก็ต้องปัดไปเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในปีถัดไป แล้วทุกอย่างโยนไปใช้งบกลาง


ด้วยสถาพเช่นนี้ จึงมองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณ ซึ่งการจะบรรลุนโยบายเป้าหมาย ไม่จำเป็นต้องใช้งบเยอะเสมอไป เป็น non-budget policy ได้ แต่การจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ก็ไม่ควรจะแย่ขนาดนี้ อย่างเช่น รัฐบาลแถลงนโยบายเร่งด่วนว่าจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม แต่วันนี้ไม่แน่ใจแล้วว่า รัฐบาลกำลังจะทำให้สถานการณ์เรื่องระบบนิติธรรมนิติรัฐ เลวร้ายลงไปอีกหรือไม่ เพราะสังคมกำลังถูกตอกย้ำให้ยอมรับกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน แบบอภิสิทธิชน กฎหมายและคุกมีไว้ใช้สำหรับประชาชนสามัญที่ไม่ได้มีอำนาจ บารมี หรือเงินทองเท่านั้น


นายชัยธวัช กล่าวต่ออีกว่า ตลอด 3 วันนี้ สมาชิกพรรคก้าวไกลและพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด จะมาอภิปรายแจกแจงให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่าทำไมร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฉบับนี้ถึงมีปัญหาอย่างที่ได้กล่าวสรุปภาพรวมเอาไว้ แต่ก็อยากจะทิ้งท้ายไว้ว่า ปัญหาของการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงรัฐบาลรวมการเฉพาะกิจ ไม่ได้มีวาระเป้าหมายทางนโยบายที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน แต่รวมการเฉพาะกิจเพื่อแบ่งปันอำนาจ แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ จึงเห็นการจัดตั้ง ครม.แบบผิดฝาผิดตัวเต็มไปหมด ไม่ได้แบ่งงานกันตามวาระเป้าหมาย แต่แบ่งกันตามโควตาทางการเมือง วางเจ้ากระทรวงไม่ถูกกับงาน เราจึงเห็นนายกฯที่เอาแต่สั่งราชการลอย ๆ รอระบบราชการชงให้ แล้วชอบโวยวายเวลาไม่ได้ดั่งใจ แทนที่จะเห็นนายกฯ ที่ทำงานเชิงรุก เข้าไปปลุกปล้ำนโยบายในระดับปฏิบัติ จากที่เคยบอกว่าคิดใหญ่ทำเป็น วันนี้กลายเป็นคิดไปทำไป คิดสั้นไม่คิดยาว หรือไม่ก็คิดอย่างทำอย่าง


หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้จะมีวาระร่วมกันจริง ๆ ก็คงเป็นวาระเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางอำนาจของชนชั้นนำ เพราะสภาวะการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลชุดนี้ ได้แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่า เป็นการรวมตัวกันเพื่อรักษาสภาวะเดิมของสังคมไทยเอาไว้ รวมตัวกันเพื่อฝืนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เพื่อปกป้องพลังทางสังคมแบบจารีต และต่อต้านพลังทางสังคมใหม่ ๆ ที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้


อย่างไรก็ตาม ก่อนการรัฐประหาร 2549 สังคมไทยมีโอกาสได้เห็นความพยายามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้นำทางการเมืองในขณะนั้นเล็งเห็นว่า หากประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้ากว่านี้ได้ จำเป็นต้องปฏิรูประบบรัฐราชการ รวมถึงกระบวนการกำหนดนโยบายและระบบงบประมาณ ที่ล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพ มีความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบงบประมาณ ที่เดิมส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการในกระทรวงต่าง ๆ มาเป็นระบบงบประมาณที่มุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล แต่หลังการรัฐประหารจากนั้นเป็นต้นมา รัฐราชการและชนชั้นนำจารีตได้กลับมาควบคุมสังคมไทยอีกครั้ง เราไม่เห็นเจตจำนงและความพยายามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในการปฏิรูปรัฐไทยอย่างจริงจังอีก เพราะพลังทางการเมืองที่เคยเป็นพลังใหม่ เคยเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันกลับเข้าไปร่วมสมาคมเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจเก่าแล้ว


เราไม่สามารถอยู่กันแบบเดิม ๆ ได้แล้ว พวกเราในฐานะฝ่ายค้านไม่อยากเห็น เพราะระบบงบประมาณที่เหมือนเดิม ในฐานะฝ่ายค้านเราพร้อมสนับสนุนฝ่ายบริหาร 3 วันต่อจากนี้พวกเราจะทำหน้าที่ผู้แทนอย่างซื่อตรง สร้างสรรค์ ขอให้ตัวแทนรัฐบาลรับคำวิจารณ์ รับฟังข้อเสนอแนะ และความเห็นของพวกเรา หวังว่าสุดท้ายการพิจารณางบประมาณจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากที่สุด


////


เวลา 11.52 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายต่อเนื่องเป็นคนที่ 2 ในฐานะฝ่ายค้าน ว่า แม้ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่งบประมาณปี 67 เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ ถ้ารัฐบาลเสนอแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ก็ยุบสภา แต่เชื่อว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องระดม สส.พรรคร่วมรัฐบาลมาลงคะแนนให้ครบจนได้ และเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบวาระแรก เพราะรัฐบาลชุดนี้มีเสียงข้างมากโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดถึง 314 เสียง ถ้าหากไม่ผ่าน นายกฯ ก็คงต้องเลิกใส่ถุงเท้าสีแดงได้แล้ว


ทั้งนี้ ที่นายกฯ แถลงเมื่อเช้าทุกอย่างดีหมด แต่ตนขออภิปรายเพื่อทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบ ถ่วงดุล และแสดงความคิดเห็น  แต่เนื่องจากเวลาจำกัดก็ขออภิปรายในภาพรวม โดยงบประมาณนี้เป็นงบประมาณฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ เกิดจากการนำงบ ปี 67 ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มารื้อทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้ปฏิทินงบช้าไปกว่า 9 เดือน เพราะมัวแต่ตั้งรัฐบาลแบบเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ส่งผลให้งบประมาณล่าช้าเหมือนงบประมาณ "เป็ดง่อย" มีเวลาใช้เงินแค่ 5 เดือนจาก 12 เดือนหรือใช้เงินแค่ 40% ประสิทธิภาพในการใช้เงินลดลง โดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ


การที่นายกรัฐมนตรี พยายามตีปี๊บว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และพยายามเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้างบประมาณแผ่นดินกลายเป็นเป็ดง่อยจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างไร ทั้งนี้ หลังนายกฯ ให้กลับไปทบทวนงบประมาณ 67 มองว่าไม่มีอะไรใหม่ หลายเรื่องแย่กว่าเดิม


ประการที่ 1 ขาดดุลเหมือนเดิม และจะขาดดุลต่อไปตลอดอายุรัฐบาล 4 ปีเต็ม ตนไม่ได้มโนไปเองแต่เพราะอยู่ในแผนการคลังของรัฐบาลชุดนี้ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติไว้ในว่าจะทำงบประมาณขาดดุลไว้จนจบรัฐบาล


ประการที่ 2 งบประมาณของรัฐบาลชุดนี้เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนลงทุนการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าเดิม จาก 21.7% เหลือ 20.6% และพบว่าเม็ดเงินปี 67 ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 295,000 ล้านบาทไปเพิ่มในส่วนของงบประจำ แล้วจะไปสนองการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร


ประการที่ 3 งบกลางดูผิวเผินเหมือนลดลง แต่เป็นงบลวงตา  เพราะงบกลาง ภาพรวมในปี 66 มี 18.5% แต่งบ 67 ลดเหลือ 17% เมื่อดูไส้ใน งบประมาณสำคัญคือเงินสำรองจ่ายที่อยู่ในอำนาจของนายกฯ กลับเพิ่มขึ้น ดังนั้น แสดงให้เห็นว่า "ว่าแต่เขาอิเหนาทำหมด" ดังนั้น ขอให้นายกฯ ใช้เงินนี้ให้คุ้มค่า โปร่งใส


ประการที่ 4 งบประมาณฉบับนี้กลายเป็นเรื่องคิดใหญ่ทำเป็น แล้วกลับเป็น "คิดกู้ทำกู้" เพราะงบประมาณปี 67 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ผ่านมา กู้ 5.93 แสนล้านบาท และรัฐบาลนี้ เอาไปรื้อ กู้ใหม่ 6.93 แสนล้านบาท พร้อมตอกกลับว่า พวกท่านเคยวิจารณ์รัฐบาลชุดที่แล้วว่า เป็น "นักกู้แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา" แต่มาครั้งนี้เป็น "นักกู้ถุงเท้าสีชมพู" ที่กู้เพิ่มกว่าแสนล้านบาท


ส่วนที่นายกรัฐมนตรี บอกว่า จะไม่กู้เงินมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่กลับลำแบบ 360 องศา ที่กู้เงินมาแจกตอบสนองนโยบายหาเสียง ดังนั้น นี่คือเสียงที่คนทั้งประเทศเป็นห่วง รัฐบาลกลัวว่า ถ้าออกเป็นพระราชบัญญัติกลัวว่าผิดกฎหมาย จึงไปถามกฤษฎีกาแต่ยังไม่ตอบกลับมา ทั้งนี้ หากกฤษฎีกาบอกว่าทำไม่ได้ ผิดกฎหมายหรือสุ่มเสี่ยง ขออย่าไปโยนบาปให้กฤษฎีกา เพราะกฤษฎีกาไม่ใช่เจ้าของนโยบายหาเสียง


ขณะเดียวกัน นายจุรินทร์ ฟันธงว่านายกรัฐมนตรี ไม่สามารถใช้หนี้เงินกู้ 500,000 ล้านบาทในโครงการเงินดิจิตอลได้ภายใน 4 ปี แต่เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง พร้อมขอให้นายกรัฐมนตรีอยู่ครบวาระใช้หนี้ 4 ปี ให้หมด จะได้ไม่มีคำครหาว่ามีนายกฯ 2 คน


ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนเห็นด้วยว่า รัฐบาลควรทำเรื่องการเมืองควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน จะแยกส่วนทันทีไม่ได้ และเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และขอสนับสนุนที่รัฐบาลประกาศนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริงกลายเป็นหนังคนละม้วน เพราะทันทีที่เข้าคณะรัฐมนตรีกับกลายเป็นการตั้งคณะกรรมการศึกษาแทน จากเร่งด่วน กลายเป็น 4 ปี จากหนังสั้นเป็นหนังยาว ทั้งนี้ การทำประชามติต้องทำอย่างน้อย 3 ครั้ง แล้วงบอยู่ตรงไหน ตั้งไว้เท่าไหร่ หาไม่เจอ จึงขอให้สะท้อนความจริงใจตรงนี้ด้วย


ขณะเดียวกัน นายจุรินทร์ ยังอภิปรายถึงงบประมาณของ กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะงบที่นำไปยกระดับการควบคุมดูแลผู้ต้องขัง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามหลักสิทธิมนุษยชน โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติ โดยสถานที่คือราชทัณฑ์และทัณฑสถาน ที่มีผู้ต้องขังกว่า 280,000 คน จึงตั้งคำถามว่ารัฐบาลชุดนี้ ในฐานะที่เป็นผู้ใช้งบประมาณ ปี 2566 และจัดทำงบในปี 2567 ได้ดำเนินการอย่างโปร่งใสหรือไม่ เลือกปฏิบัติกับผู้ต้องขัง กว่า 280,000 คนหรือไม่ เพราะมีข้อเคลือบแคลงเกิดขึ้นในสังคม ว่าทำไมรัฐบาล ปล่อยให้นักโทษบางคน เข้าคุกทิพย์มาแล้ว กว่า 120 วัน แต่ยังไม่เคยติดคุกแม้แต่วันเดียว


ทำให้ นายครูมานิตข์ สังข์พุ่ม สส. สุรินทร์ พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นประท้วงทันทีว่า ไม่คิดว่า นายจุรินทร์ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรี จะอภิปรายเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมา ในการทำหน้าที่ ก็ล้มเหลวมาตลอด  อีกทั้งยังเป็นเรื่องนอกประเด็น เป็นสไตล์เก่าๆ เหมือนเดิม ซึ่งตนไม่เห็นด้วยและรู้ว่ากำลังจะพูดถึงคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ที่โดนกลั่นแกล้งไปอยู่เมืองนอกมา 17 ปีแล้วกลับเข้ามา ซึ่งในการที่ไปอยู่นอกเรือนจำ ก็มีใบอนุญาตจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ชัดเจน จึงขอให้ประธานการประชุมสั่งให้นายจุรินทร์ถอนคำพูดด้วย


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานการประชุม วินิจฉัยว่า นายจุรินทร์ยังอภิปรายอยู่ในประเด็น  แต่นายครูมานิตย์ ก็ยังยืนยันว่า นายจุรินทร์อภิปรายถึงบุคคลที่อยู่นอกสภา  ทำให้นายชัยชนะ เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงนายครูมานิตย์ว่า  ประท้วงส่อเสียดนายจุรินทร์และไม่คิดว่าสภาอันทรงเกียรติจะมีคำพูดจากสมาชิกผู้ทรงเกียรติแบบนี้  ซึ่งส่วนตัวเคารพครูมานิตย์ จึงอยากให้ถอนคำพูด จนท้ายที่สุดประธานก็สั่งให้นายครูมานิตย์ถอนคำพูด ทำให้บรรยากาศการประชุมดำเนินต่อ


นายจุรินทร์ อภิปรายต่อว่า ตนไม่ประสงค์จะเอ่ยชื่อบุคคลใด ขอให้ประธานสบายใจได้ เพราะเคารพกติกาเสมอ คำถามของตนก็คือ ทำไมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้ร่วมรับผิดชอบบริหารโครงการ 3.8 หมื่นล้านบาท ไม่ทำข้อเคลือบแคลงสงสัยให้กระจ่าง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี  จนวันนี้กลายเป็นว่า ตนเห็นท่านสั่งการได้ทุกเรื่อง กลายเป็นหลงจู๊ประเทศ แต่พอเรื่องคาใจทำไมไม่สั่ง หรือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เพื่อไขข้อสงสัยให้กับคนทั้งประเทศ ซึ่งการใช้งบประมาณของกรมราชทัณฑ์ ที่ออกระเบียบว่าด้วยการดำเนินการคุมขังในสถานที่คุมขัง 2566 อ้างว่าทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการใช้งบสอบไปในทางไม่ชอบหรือไม่  


ทั้งนี้การออกระเบียบดังกล่าว เป็นระเบียบแบบศรีธนญชัย เพราะแทนที่จะแยกผู้ต้องขังออกจากนักโทษเด็ดขาด กลับกลายเป็นว่าไปแยกผู้ต้องขังเด็ดขาดออกเป็นสองมาตรฐาน โดยมาตรฐานที่ 1 ติดคุกที่เรือนจำ และมาตรฐานที่ 2 ติดคุกที่บ้านได้ ใช้เพียงอำนาจของคณะกรรมการ ไม่ใช่อำนาจศาล จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เลือกปฏิบัติและคำพิพากษาของศาลไร้ความหมาย ศาลสถิตยุติธรรม พิพากษาจำคุก แต่กรมราชทัณฑ์สั่งให้นักโทษบางคนไปติดคุกที่บ้าน กลายเป็นนักโทษเทวดา   แบบนี้ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำฉายาเซลส์แมนสแตนชิน ของนายกฯ ให้กลายเป็นผลงานชิ้นโบว์ดำประทับติดตัวนายกฯ ตลอดไป


////


เวลาประมาณ 16.35 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลุกขึ้นชี้แจงในประเด็นที่ นายจุรินทร์ อภิปรายเกี่ยวกับงบประมาณของกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์


โดย พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงว่า เราต้องเข้าใจตรงกันว่า การเป็นรัฐบาลต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม และรัฐธรรมนูญยังเขียนไว้ในมาตรา 53 ว่ารัฐต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ปี 2560 เกิดขึ้นก่อนจะมีรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญที่ต่างไปจากเดิมคือ กฎหมายเดิมไม่สามารถจัดการหรือบริหารนักโทษ ผู้ต้องขังเฉพาะรายหรือเฉพาะคดีได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติให้ดำเนินการ และไม่สามารถที่จะใช้สถานที่ควบคุมหรือที่คุมขังประเภทอื่น รวมถึงยังไม่สามารถนำระบบพัฒนาพฤตินิสัยมาบริหารกับนักโทษหรือผู้ต้องขังหรือผู้ต้องราชทัณฑ์ได้ จึงต้องแก้กฎหมายฉบับนี้


ทั้งนี้ เราถูกตราหน้าว่าหลักนิติธรรมทางอาญา เราสอบตก และพบว่าราชทัณฑ์ไทยจากคะแนนเต็ม 1 เราได้ 0.25 ในจำนวนทั้งหมด 44 รายการ เพราะราชทัณฑ์ไทยมีจำนวนผู้ต้องขังล้นเรือนจำและไม่สามารถฟื้นฟูหรือแยกการขังได้ ดังนั้นการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ บอกไม่เห็นด้วย ตนไม่ทราบว่า เราอยู่ประเทศเดียวกันหรือไม่ เพราะถ้าเราอยู่ในรัฐธรรมนูญเดียวกัน เราต้องธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และรัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ฉะนั้นการที่เราออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ใหม่ไม่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีเลย เพราะกฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ซึ่งคณะกรรมการนี้มี 17 คน โดยใน 17 คนมีเพียง 3 คนที่เป็นคนของกระทรวงยุติธรรม โดยตนเป็น 1 ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว


"กฎกระทรวงออกมาตั้งแต่ปี 63 แต่ระเบียบยังไม่ออก วันนี้เมื่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีประกาศว่ารัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม ให้มีความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ แต่หากเราไม่แก้ปัญหาราชทัณฑ์ ถ้าเรากลัวโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผมคิดว่าเราเป็นผู้ทำลายหลักนิติธรรม ส่วนที่เพื่อนสมาชิกบอกว่าราชทัณฑ์เลือกปฏิบัติกับบางคนหรือไม่นั้น ในกฎหมายฉบับนี้ระบุว่าราชทัณฑ์ไม่ใช่สถานที่ฆ่าหรือทรมานคน หากใครเจ็บป่วยก็ต้องไปรักษา และการไปรักษาก็ไม่ใช่เพียงแค่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว แต่มีคนจำนวนมากไปรักษา และท่านก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


ผมมองว่าท่านทักษิณเป็นนักสร้างสันติภาพ แม้ก่อนหน้านี้ท่านจะมองว่าไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่วันนี้หากอยากให้บ้านเมืองมีสันติภาพ สันติสุข มีความปรองดอง ท่านก็กลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม การป่วยของท่านก็เกิดก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาและไปรักษา เมื่อมีผู้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลซึ่งเกี่ยวข้องกับเรือนจำ กฎหมายฉบับนี้ซึ่งให้ความสำคัญกับแพทย์สูงสุดก็เขียนไว้ว่า ที่นั่นคือเรือนจำ การอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่ไปไหนไม่ได้ก็คือการเสียอิสรภาพแล้ว" พ.ต.อ.ทวี กล่าว


ส่วนที่มีหลายคนสงสัยว่า ท่านป่วยจริงหรือไม่ ตนเป็นรัฐมนตรี แม้ไม่เคยไปเยี่ยม แต่ก็ถามแพทย์อยู่ตลอดเพราะต้องรับผิดชอบ ซึ่งแพทย์ยืนยันว่า ป่วยจริง มีอาการเยอะ ส่วนการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ก็ต้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบกับแพทย์ผู้รักษา และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมตรวจสอบ ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ได้ตรวจสอบ และกำลังจะส่งเรื่องมาที่ตนเพื่อให้สังคมได้รับรู้


สำหรับนายทักษิณนั้น คนอาจจะมีความรู้สึกที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเรายึดกฎหมายเป็นหลัก ในทางการแพทย์ก็มีแพทย์หลายคนบอกว่า ท่านป่วยจริง ซึ่งไม่ได้มีการตรวจสอบแค่สมาชิกในสภาเท่านั้น แต่มีการตรวจสอบจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่นายกรัฐมนตรีอยากให้ยกระดับความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม ตนจะไม่ทำอะไรที่นอกกฎหมาย และจะเข้มแข็ง แม้ใครจะเป็นผู้ทรงอิทธิพล หากมาทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ทำผิดจะต้องถูกดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/amcQY_K_nsA

คุณอาจสนใจ

Related News