เลือกตั้งและการเมือง

นายกฯ ชี้แลนด์บริดจ์ เชื่อมอินเดีย-แปซิฟิก ประหยัดต้นทุนขนส่งและเวลา หวังดันจีดีพีไทยพุ่ง

โดย thichaphat_d

19 ธ.ค. 2566

25 views

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 ธ.ค. (เวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) ที่โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว นายเศรษฐา ทวีสิน นายก รัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานเปิดโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์และโอกาสทางธุรกิจ “Thailand Landbridge Roadshow” มีผู้บริหารบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัท รวม 40 คน ให้ความสนใจร่วมรับฟัง

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในอนาคตแลนด์บริดจ์อาจเป็นศูนย์กลางการขนส่งอีกแห่งของโลก ทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ามากที่สุดประมาณ 40% ของโลก รองลงมาคือยุโรป 38% การขนส่งส่วนใหญ่ใช้เส้นทางช่องแคบมะละกา มีตู้สินค้าผ่านช่องทางนี้ 25% ของทั้งโลก มีน้ำมันผ่านช่องทางนี้ 60% ของโลก

ถือว่าเป็นช่องทางที่คับคั่งและแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เพราะมีการขนถ่ายสินค้าประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี มีเรือผ่านช่องแคบประมาณ 90,000 ลำต่อปี จากการคาดการณ์ในปี ค.ศ.2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสระหว่างรอถ่ายเรือไทยเห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ เพราะไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนที่สามารถพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เชื่อว่าโครงการแลนด์บริดจ์เป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประหยัดและเร็วกว่า

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งตู้สินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ กับผ่านช่องแคบมะละกา พบว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง (Feeder) ที่ขนส่งระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทร อินเดีย ปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ (Feeder) ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ในอนาคตเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่แลนด์บริดจ์ สามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 5 วัน

นายกฯ กล่าวว่า เช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีน ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่ใช้การขนส่งโดยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภค เมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ตู้สินค้าเหล่านั้นจะมาถ่ายลำที่เรา สามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% ประหยัดเวลาได้ 3 วัน อีกกลุ่มหนึ่งที่ผลิตในไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกแลนด์บริดจ์ด้วยเรือ Feeder ไปยังฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 35% ประหยัดเวลาถึง 14 วัน เฉลี่ยแล้วจะช่วยลดเวลาได้ 4 วัน ลดต้นทุนได้ 15% คาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของแลนด์บริดจ์ อยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 23% กับที่ผ่านช่องแคบมะละกา

นายเศรษฐา กล่าวว่า หากใช้แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6% รวมถึงนักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธุรกิจในภาคบริการ ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภาคการเงินและการธนาคาร ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้ในภาพรวม เกิดการสร้างงานไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของไทยจะเติบโตถึงร้อยละ 5.5 ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“ผมเชื่อมั่น และเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตร่วมกัน”

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/3jQ1dcbW2vQ

คุณอาจสนใจ

Related News