เลือกตั้งและการเมือง

'เศรษฐา' โชว์โบว์แดง ทำเอ็มโอยูบริษัทยักษ์ใหญ่ เตรียมเชิญ 'โจ ไบเดน' เยือนไทยปีหน้า

โดย nattachat_c

20 พ.ย. 2566

84 views

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สรุปภารกิจการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leadersž Meeting) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-19 พฤศจิกายนว่า ได้พบปะผู้บริหาร และบริษัทเอกชนชั้นนำของสหรัฐอเมริกา อาทิ Microsoft, Google, AWS, Tencent Alibaba เป็นต้น ซึ่งบริษัท Microsoft และ Google ได้ลงนามเอ็มโอยูที่จะลงทุน ไม่ใช่บริษัทละแสนล้านบาท แต่เป็นบริษัทละหลายแสนล้าน ระยะเวลาการลงทุน 1-10 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอย่างน้อยรวมกันแล้วจะเป็นหลายๆ แสนล้าน ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะ 2 บริษัทใหญ่ระดับโลก


นายเศรษฐากล่าวว่า นอกจากนี้ ได้เข้าเยี่ยมและพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทเทสลาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและมาตั้งโรงงานการผลิต ตนสอบถามว่ายังติดปัญหาเรื่องอะไร ที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ทางผู้บริหารระดับสูงบอกว่าไม่ติดปัญหาอะไรแล้ว และประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่เขากำลังคุยด้วยอยู่ ขอทำการบ้านภายในแล้วจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง การตั้งโรงงานต้องใช้ที่ดินเยอะ เพราะเป็นโรงงานผลิตมีกำลังผลิตสูงมาก วันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ผู้บริหารระดับสูงบริษัทเทสลาจะเดินทางมาดูพื้นที่สร้างโรงงานในประเทศไทย มีคนนำเสนอทำเล 3 แห่งด้วยกัน การพูดคุยกับบริษัทเทสลาประสบความสำเร็จอย่างสูง ตนยังชวนผู้บริหารบริษัทเทสลาไปงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของไทยด้วย


นายเศรษฐา กล่าวถึงการเข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้อง และการพบปะหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่างๆ ว่า ได้พบปะกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยเป็นการหารือทวิภาคีทางด้านการค้า ซึ่งแน่นอนว่าญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดตลอด 50-60 ปี และเป็นประเทศที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดี ตั้งแต่ระดับราชวงศ์ลงมา แต่ปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นอาจจะช้าในเรื่องของรถยนต์อีวี ซึ่งทุกท่านทราบดีว่าฐานผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นอยู่ในประเทศไทยเยอะมาก และตนได้ยืนยันว่าเราจะสนับสนุนให้ฐานการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นอยู่ต่อไปในประเทศไทย ซึ่งตนได้ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไปว่าประเทศไทย และคนไทยไม่เคยลืมบุญคุณ เพราะญี่ปุ่นมาลงทุนกับเราเยอะ


นายกฯ ยังกล่าวถึงการหารือกับรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ซึ่งมาจากภาคธุรกิจเหมือนตนว่ามองตาก็รู้ใจ ท่านก็บอกว่าท่านเข้าใจและติดตามการทำงานของรัฐบาลนี้มาตลอด ซึ่งท่านดีใจและเห็นด้วยกับการผลักดันการค้าการลงทุนของประเทศไทย ซึ่งสหรัฐอเมริกาถือเป็นผู้ค้ารายใหญ่ของประเทศไทย ประเทศไทยยินดีที่จะร่วมมือ และท่านบอกว่าจะโทรศัพท์หาอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัทเทสล่า เพื่อช่วย ท่านถือเป็นรัฐมนตรีที่น่ารักมากและอนาคตไกล อาจจะลงสมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งต่อไปด้วย แต่ติดที่นายโจ ไบเดน จะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อไปด้วย ซึ่งรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐอเมริกาถือเป็นสตรีที่ทรงพลัง และมีเอเนอร์จี้เยอะ


นอกจากนี้ ยังได้ให้เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวกับตนมาด้วย ซึ่งต่อไปนี้ก็จะมีการพูดคุยติดต่อกันโดยตรง ในเรื่องการค้าการลงทุนดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนได้ยืนยันกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นทางเลือกให้บริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และตนได้เชิญนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี 2567 เพราะไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการกว่า 10 ปีแล้ว และเห็นได้ว่าหลายๆ ประเทศอยากมาลงทุนในประเทศไทย

----------

วานนี้ 19 พ.ย. 66 เพจ พรรคเพื่อไทย โพสต์ระบุ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) ระหว่างวันที่ 12-17 พฤศจิกายน 2566 ได้เดินสายเชิญชวนและดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกากว่า 15 บริษัท เพื่อมาลงทุนยกระดับเศรษฐกิจไทยและส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่างๆ ไปพร้อมกัน


บริษัทต่าง ๆ แสดงความสนใจในการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้เผยผลสำเร็จการเจรจาดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่เกิดขึ้นแล้ว 3 บริษัทคือ Google, Microsoft และ AWS (Amazon Web Services) รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท รวมถึง Western Digital ผู้ผลิต Hard Disk Drive (HDD) ยักษ์ใหญ่ของโลกได้ยืนยันจะขยายการผลิตชิ้นส่วนในไทยแล้ว


15 บริษัทที่นายกรัฐมนตรีได้พบหารือ ได้แก่


1. Tesla ได้พานายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมบริษัท ณ เมืองเฟรมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด นายกรัฐมนตรีหวังว่าความร่วมมือในวันนี้จะตอกย้ำถึงความเป็นศูนย์กลาง EV และพลังงานทดแทนของไทยในอนาคต พร้อมเชิญชวน Tesla ลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยมากยิ่งขึ้น


2. HP - โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนบริษัทขยายการลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และตั้งสำนักงานภูมิภาค ซึ่งไทยมีความพร้อมในด้านระบบสาธารณูปโภคและมีมาตรการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ


3. Analog Devices, Inc. (ADI) เป็นบริษัทผลิตวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) รายใหญ่ระดับโลก โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ ADI ขยายการลงทุนในไทย ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาดพร้อมการอำนวยความะสดวกแก่บริษัท อีกทั้งสถาบันการศึกษาในไทยพร้อมที่จะทำงานกับบริษัทเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะกับทักษะความสามารถที่เกี่ยวกับการออกแบบวงจรที่ ADI ต้องการ


4. Google ได้พิจารณาจัดตั้ง Data Center ที่ไทยเป็นประเทศที่ 11 จากทั่วโลกแล้ว และได้มีการลงนามใน MOU ระหว่าง Google และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล


5. Microsoft ศึกษาแผนการลงทุน Data Center กับไทยและได้มีการลงนามใน MOU ระหว่าง Microsoft และรัฐบาลเพื่อร่วมกันปรับปรุงการให้บริการสาธารณะของรัฐด้วยเทคโนโลยีและการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย


6. Amazon Web Services กำลังจะลงทุนเทคโนโลยีเกี่ยวกับคลาวด์ ผ่านการตั้ง Data Center ที่ไทยหรือ AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในไทย ด้วยงบประมาณกว่า 1.9 แสนล้านบาท (US$5 พันล้านบาท)


7. Walmart บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของโลก มองไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบที่มีศักยภาพ โดยคาดว่าจะเดินทางมาเพื่อหาวัตถุดิบใหม่ต่อไป นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนพิจารณาตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย


8. Western Digital ผู้ผลิต Hard Disk Drive (HDD) รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกซึ่งมีฐานการผลิตหลักที่ไทย จะย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมที่ไทย พร้อมแสดงความเชื่อมั่นที่จะขยายการลงทุนในไทยและพิจารณาที่จะย้าย Headquarter มาตั้งที่ไทย


9. Open AI เจ้าของ ChatGPT ได้พานายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมบริษัท พร้รอมโน้มน้าวให้เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยในไทย โดยมองว่าทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมคือจังหวัดเชียงใหม่หรือภูเก็ต


10. Apple ได้ชื่นชมโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่พร้อมในการขยายการผลิตสินค้าและเปิดเผยว่ากำลังพยายามจะลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ในปี 2030 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าไทยมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและเชิญชวนให้เดินหน้าขยายฐานการผลิตในไทย ทั้งสองฝ่ายยังได้พิจารณาศูนย์พัฒนาบุคลากรในไทยสำหรับการสร้างแอปพลิเคชันร่วมกันที่จะเดินหน้าโดยเร็ว


11. TikTok พบนายกรัฐมนตรี พร้อมหารือเกี่ยวกับการโปรโมตบริการของไทยและส่งเสริมการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเมืองรองของทุกภูมิภาคของไทยที่มีสินค้าท้องถิ่น (OTOP) ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด นายกรัฐมนตรีเชิญชวน TikTok สร้างศูนย์ฝึกอบรมในไทยและเสนอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจด้วย


12. Booking.com เจ้าของแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิ booking.com และ Agoda ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในไทย พร้อมร่วมมือกับไทยอย่างเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองและนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็น World Festival Destination ที่สามารถมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี


13. Citi บริษัทด้านการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก ชื่นชมนโยบาย EV และแบตเตอร์รี่ของรัฐบาลและพร้อมร่วมกับไทยจัด Roadshow โครงการ Landbridge เพื่อชักชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในโครงการ อีกทั้งยังจะสนับสนุนการออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked bond)


14. Meta ยินดีร่วมมือกับรัฐบาลในการดูแลเนื้อหามิจฉาชีพ (scam) ต่าง ๆพร้อมร่วมมือกับภาครัฐในการสนับสนุน ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย


15. Nvidia ต้อนรับและพานายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ นายกรัฐมนตรีมองว่าเทคโนโลยี AI ของบริษัทนั้นทรงพลัง โดยหวังว่าจะสามารถร่วมมือกับบริษัทในการประยุกต์เทคโนโลยี AI ในการให้บริการภาครัฐสำหรับประชาชน


ต่อมานายกรัฐมนตรี ได้รีโพสต์ต่อ โพสต์ข้อความของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่แชร์โพสต์ของของพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า “จะทำต่อไปอีกครับมีอีกหลายบริษัทที่สนใจจะมาลงทุนในประเทศของเรา

-------------



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/c-PP6k5cQ00

คุณอาจสนใจ

Related News