เลือกตั้งและการเมือง

'เศรษฐา' ยังมั่นใจ แจกเงินดิจิทัลได้ เปิดเบื้องหลังที่ประชุม 'แบงก์ชาติ-สภาพัฒน์ฯ' แนะควรแจกแค่คนจน 16 ล้านคน

โดย nattachat_c

14 พ.ย. 2566

12 views

วานนี้ 13 พ.ย. 66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางเข้าร่วมการประชุมเอเปค ณ นครซานฟานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ที่สังคมมีทั้งคนเห็นด้วย เห็นต่าง และสนับสนุน ว่า ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน และไม่อยากให้สังคม ไทย ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายตรงข้าม หรือพวกเดียวกัน ไม่อยากให้มีธง อยากให้รับฟังความคิดเห็นว่าข้อดีข้อเสียคืออะไร แล้วหยิบยกมาพูดคุยกัน


ส่วนกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุโครงการดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นจริง และอาจไม่ผ่านสภา ประชาชนจะไม่มีโอกาสได้รับเงินจริง นายเศรษฐา กล่าวว่า “ผมมั่นใจว่าเสียงของผม อย่างพรรคร่วมรัฐบาลมี 320 เสียง ผมว่าเสียงของผมมั่นคง และเราทำงานเป็นทีม เชื่อว่าผ่าน” เมื่อถามย้ำว่า คนไทยจะมีโอกาสได้ใช้เงิน 10,000 บาท หรือไม่ นายกฯ กล่าวย้ำว่า มั่นใจ เป็นหน้าที่ผู้นำรัฐบาลต้องรับฟังเสียงประชาชน โครงการดีเลย์จากที่ประกาศไว้เพราะทีมงานของเราต้องรับฟังความเห็นทั้งหมด ทั้งเรื่องการออก พ.ร.บ. กำหนดเกณฑ์คนรวย การจำกัดรายได้ที่พูดคุยและถกเถียงกัน


ผู้สื่อข่าวถามว่าประชาชนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีเงินพอที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประชาชนเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย หาเงินได้ ใช้เงินเป็น นายกฯ กล่าวว่า “ ผมเป็นนายกฯที่มาจากพรรคอะไร พรรคเพื่อไทย สื่อก็บอกว่าหาเงินได้ใช้เงินเป็น ผมก็มั่นใจว่า ผมหาเงินได้ ใช้เงินเป็น ส่วนเรื่องที่มาของการออกจะเป็นพ.ร.บ.เงินกู้ ทางผู้ว่าธปท.ได้บอกเองว่านายกฯกู้ดีกว่า ตอนนี้จาก 61% เป็น 64% เพราะเพดานเงินกู้อยู่ที่ 70% ให้กู้เลย ถ้านำมาใส่โครงการฯบวกกับโครงการอื่น และหากยกระดับจีดีพีขึ้นไป สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดตามไป แม้หนี้จะเพิ่มแต่ถ้าจีดีพีมากกว่าหนี้จะลดลง”

-------------

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทักท้วงรายละเอียดของโครงการหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการออก พ.ร.บ.กู้เงิน โดยตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการในลักษณะนี้จะขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 หรือไม่ เพราะต้องมีที่มาชัดเจน ไม่ใช่อยู่ ๆ จะเอาเงินเข้ามาใส่ โดยไม่มีสินทรัพย์ใดมารองรับ


ส่วน พ.ร.บ.กู้เงินมากถึง 5 แสนล้านบาท อาจจะทำให้ในปีหน้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ธปท. ได้พยายามระมัดระวัง และเป็นห่วงมาโดยตลอด


ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า การออก พรบ.กู้เงิน เป็นเรื่องใหญ่ ในทางปฏิบัติการจะออกกฎหมายฉบับใหญ่แบบนี้จะต้องมีการหารือกันให้ได้ข้อสรุปเสียก่อน เพื่อจะได้พิจารณา และรับฟ้องข้อคิดเห็น หรือข้อแนะนำต่าง ๆ แต่เมื่อทางฝ่ายนโยบายเลือกแนวทางนี้ออกมา ก็ได้เสนอแนะว่า อยากให้มีการไปหารืออีกครั้งให้เกิดความรอบคอบ และรัดกุมมากกว่านี้ เพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง


นอกจากนี้ ยังมีการทักท้วงเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งได้ผ่านการหารือในคณะอนุกรรมการฯ มาแล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายบางเรื่องกลับไม่ได้นำมาพิจารณา ทำให้เกิดการมองว่า การทำงานแบบนี้ไม่ให้เกียรติกับคณะอนุกรรมการฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ซึ่งนายกฯ เป็นคนตั้งเองมากับมือ


ตัวอย่างของเงื่อนไขที่ได้มีการหารือกันมาจนได้ข้อสรุปแล้ว เช่น การเสนอทางเลือกให้ที่ประชุมพิจารณาให้เงินดิจิทัลแบบเฉพาะกลุ่ม ซึ่งในที่ประชุมครั้งนี้ ธปท. และ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้หยิบยกขึ้นมาเสนอว่าควรจะให้แบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเดือดร้อน ที่มีอยู่ประมาณ 16 ล้านคน


แต่...นายกฯ ได้ตัดสินใจจะให้เงินกับคนไทย 50 ล้านคน เพราะเชื่อว่าจะเกิดการใช้จ่าย และมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า


และเมื่อมีการตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ ธปท. และสภาพัฒน์ จึงขอให้ที่ประชุมลงบันทึกไว้ในรายงานการประชุมด้วยว่า ทั้งสองหน่วยงานยืนยันหลักการว่า ควรจ่ายให้กลุ่มเปราะบางมากกว่า


ว่าฯ ธปท. เสริมอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการครั้งนี้ ได้มีการพิจารณาวาระต่าง ๆ เร็วมาก ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที และเกรงว่า อาจจะทำให้บางเรื่องที่หารือ ไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างรัดกุมและรอบคอบ


แหล่งข่าว ระบุว่า ผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้บอกในที่ประชุมอย่างชัดเจนว่า ข้อมูลที่เสนอมา ยังมีเหตุผลไม่เพียงพอ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วย และไม่ขอร่วมพิจารณาในเรื่องนี้


แต่สุดท้ายในการประชุมนายกฯ ก็ได้ตัดสินใจเห็นชอบเงื่อนไขใหม่ คือ จ่ายให้กับคนไทยมีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท รวม 50 ล้านคน และจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 5 แสนล้านบาท

-------------

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน เพื่อมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ระหว่างการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วยแล้วขอให้บันทึกการประชุม แต่พูดตอนท้ายการประชุมว่ามีหน้าที่ดูแลทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และปกป้องทุกคนในที่ประชุม โดยจะนำเรื่องไปหารือในคณะกรรมการกฤษฎีกา


ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้เราต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ส่วนเรื่องการกู้เงินนั้น นายกรัฐมนตรีได้หารือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ว่าการ ธปท.ให้ข้อคิดว่าเพื่อให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.เงินตรา ต้องมีเงินมาสำรองโครงการ เราเลยแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินมาวางไว้ให้เห็น แล้วเราค่อยๆ ใช้ และจากการที่นายกฯหารือกับผู้ว่าการ ธปท.ก็ยังมีข้อเสนอเห็นด้วยกับการขอกู้ เพราะสะอาดดี โดยการขอกู้นั้นต้องดูว่ากฎหมายให้ช่องทางอะไรไว้บ้าง ที่สุดแล้วเราคิดว่าวิธีการนี้เหมาะสมที่สุด


นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ในการหาเสียงเราระบุจะหารายได้จากการเก็บภาษีในปี’67 แต่การตั้งรัฐบาลล่าช้า กระบวนการต่างๆ จึงล่าช้าตาม ซึ่งการเก็บภาษีจะไปโชว์ตอนปลายปี สิ่งที่เราดำเนินการคือการบริหารด้านการเงิน และมีช่องทางหนึ่งคือการออกกฎหมาย เราประเมินจากทุกตัวว่านี่คือวิกฤตเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจตกต่ำสุดและฟื้นช้าสุด นี่คือความจำเป็น และกรอบกฎหมายอนุญาตให้เราใช้แบบนี้ โดยทำให้รอบคอบ ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำเรื่องเข้าสู่สภา


เมื่อถามว่า มีรายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน เลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ว่าการ ธปท. ติงการกู้เงินแล้วมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจก นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า เลขาธิการสภาพัฒน์ ไม่ได้ให้ความเห็นอะไร มีเพียง ผู้ว่าการ ธปท.ที่ให้ความเห็นว่าเรื่องการกู้เงิน นายกฯต้องระวัง และระบุให้บันทึกการประชุมว่า ท่านได้ให้ความเห็นว่า ป.ป.ช.มีความเห็นมาอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ประชุมรับทราบ และเป็นข้อพึงสังวรให้ทำทุกอย่างถูกต้อง ครบถ้วน


เมื่อถามย้ำว่า ผู้ว่าการ ธปท.ไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินใช่หรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ตนตอบแทนไม่ได้ เพียงแต่บอกว่ามีหน้าที่ดูแล พ.ร.บ.เงินตรา ส่วนด้านการคลัง การบริหาร เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คงต้องไปถามผู้ว่าการ ธปท. แต่ตนยืนยันโครงการของเราไม่ได้เอาเงินไปแจก แต่เอาไปกระตุ้นเศรษฐกิจ

-------------


แท็กที่เกี่ยวข้อง  เศรษฐา ทวีสิน ,นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ,พรรคเพื่อไทย ,เพดานเงินกู้ ,หาเงินได้ ใช้เงินเป็น ,ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ,พ.ร.บ.กู้เงิน ,สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ,สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ,ศิริกัญญา ตันสกุล ,พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501

คุณอาจสนใจ

Related News