เลือกตั้งและการเมือง
รองเลขาฯนายกฯ ลั่น ไม่คิดเคลมความสำเร็จ 'สัปเหร่อ' - 'ต้องเต' ตั้งคำถามซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร
โดย nattachat_c
6 พ.ย. 2566
228 views
วานนี้ (5 พ.ย. 66) มีการจัดงานเสวนา 'จากจักรวาลไทบ้าน สู่พลังอีสานสร้างสรรค์' พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนทำหนัง หมอลำ เพลง ศิลปิน นักแสดง
จัดโดยกองบรรณาธิการ Locals ThaiPBS ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศิลปิน ผู้ประกอบการ และภาคีเครือข่ายถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy
มีผู้ร่วมเสวนา เช่น
- ต้องเต-ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับ-เขียนบทภาพยนตร์ ‘สัปเหร่อ’
- อวิรุทธ์ อรรคบุตร ทีมอำนวยการสร้างภาพยนตร์สัปเหร่อ และจักรวาลไทบ้าน
- อัจฉริยะ ศรีทา นักแสดงเรื่องสัปเหร่อ และอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
- สุชาติ อินทร์พรหม ผู้ก่อตั้ง 'อีสานนครศิลป์'
- ขจรเดช พรมรักษา มือกลองวงบิ๊กแอส โปรดิวเซอร์ และนักแต่งเพลง
ช่วงหนึ่งของการเสวนา พิธีกรถามว่า หนังเรื่องอื่น ๆ จะต้องทำอย่างไร จึงจะรอด
‘ต้องเต’ ระบุว่า จริง ๆ หนังของตนก็คงเดินทางได้สุดแค่ประมาณนี้ แต่ตนคาดหวังว่า หนังเรื่องต่อ ๆ ไป ไม่ใช่แค่หนังของตน แต่หนังเรื่องต่อ ๆ ไปในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จะได้รับการสนับสนุน เหมือนตน อาจจะสร้างปรากฎการณ์ หรือกระแส จากกระแสที่ไม่มีคนพูดถึง กลายเป็นกระแสหลัก แล้วทำให้วงการภาพยนตร์รู้สึกว่า เอ๊ย ทำให้วงการอื่น อย่างเช่น รัฐบาลมองเห็น ถ้ามันมีหนังเรื่องอื่นที่มันดี ก็อยากให้มาซัพพอร์ตอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป ซึ่งคุณอาจจะไม่ได้เข้าใจหนังสัปเหร่อจริง ๆ เลยก็ได้ แค่มาถ่ายรูปแล้วบอกว่า หนังสัปเหร่อเป็นซอฟต์พาวเวอร์
“อย่างผมก็ยังไม่รู้ว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร ตอนผมทำ ผมยังแบบ 'เอ๊า ! หนังผมเป็น Soft Power' เหรอ ผมยังไม่รู้เลย แต่ถ้าผมได้รู้ หรือได้ทำความเข้าใจว่า Soft Power คืออะไร หนังไปไกลกว่านี้ มี Soft Power จริง ๆ แน่นอน” ต้องเต กล่าว
ดังนั้น หากมีการพูดคุย หรือเสวนากันในวงการ ที่ต้องการนำซอฟต์พาวเวอร์ไปเผยแพร่ต่อในต่างประเทศ หรือพาไป ก็ขอให้พาไปจริง ๆ ไม่ใช่แค่ “หนังเรื่องนี้โกอินเตอร์”
“อย่างหนังสัปเหร่อ ที่ไปฉายต่างประเทศ 9 ประเทศ ก็ไม่ใช่รัฐบาลพาไป แต่เรานำหนังไปขายเอง หนังไปด้วยตัวเอง อันนี้ต้องพูดตรงๆ นะครับ”
-------------
จากกรณีที่ ต้องเต ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับภาพยนตร์สัปเหร่อ ร่วมเสวนาประเด็น 'จากจักรวาลไทบ้านสู่พลังอีสานสร้างสรรค์' ผ่านช่อง Thai PBS และช่วงหนึ่งที่ต้องเต ขอให้มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป แล้วบอกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์นั้น
วานนี้ (5 พ.ย. 66) ช่วงค่ำ นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นนี้ทางทวิตเตอร์ว่า
“รัฐบาลเพิ่งได้เข้ามาเริ่มผลักดันนโยบาย SoftPower และไม่ได้คิดจากเคลมผลงานใด ๆ จากความสำเร็จของภาพยนตร์ 'สัปเหร่อ' ครับ แต่มีเจตนาที่จะสนับสนุน และชี้ให้เห็นตัวอย่างหนึ่งของผลงานที่มีคุณภาพ
ในฐานะคอหนัง ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความตั้งใจ และประทับใจผลงานด้วยใจจริง หวังอย่างยิ่งว่า ในเร็ว ๆ นี้ ความสนใจ และตั้งใจจริง ของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์แขนงต่าง ๆ ให้เติบโต และเป็นที่ยอมรับในวงกว้างขึ้น จะเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วครับ”
นอกจากนี้ นายชนินทร์ ยังโพสต์เพิ่มเติมว่า
“การสนับสนุนอุตสาหกรรมโดยภาครัฐ ไม่ได้มีเพียงกลไกเอาเงินทุนไปให้ หรือไปช่วยประชาสัมพันธ์ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ คือการดึงภาคเอกชนมาร่วมกันให้ข้อมูล ว่าการทำงานที่เป็นอยู่ ติดขัดปัญหาหรือข้อกฎหมายอย่างไร แล้วรัฐในฐานะผู้สนับสนุน จึงจะช่วยปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้เอกชนได้ขยายศักยภาพของตนเองได้เต็มที่มากขึ้นครับ”
จากนั้นก็โพสต์อินโฟกราฟฟิกนโยบายของพรรคเพื่อไทย “นโยบายเพื่อภาพยนตร์ไทย” พร้อมกับระบุว่า
อันนี้เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ใช้หาเสียง เฉพาะในส่วนของภาพยนตร์ก่อนนะครับ ยังมีส่วนของวงการอื่น ๆ อีกครั้ง
-----------
รัฐบาลได้ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ โดยเป็นภารกิจสำคัญที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แต่งตั้ง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 4 ปี ของรัฐบาล หรือเพิ่มรายได้ให้คนไทย 20 ล้านครัวเรือนประมาณ 2 แสนบาทต่อปี หรือประมาณ 16,000 บาทต่อเดือน
สำหรับแผนการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1.ระยะ 100 วัน หรือภายใน 11 ม.ค.2567 เปิดให้ลงทะเบียนที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งแก้ไขกฎกระทรวง และจัดงาน Winter Festival
2.ระยะ 6 เดือน หรือภายใน 3 เม.ย.2567 จะเริ่มบ่มเพาะ OFOS(One Family One Soft Power) รวมทั้งเสนอ พ.ร.บ.จัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) มีการจัดเทศกาล Water Festival และจัดงาน Soft Power Forum
3.ระยะ 1 ปี หรือภายใน 3 ต.ค.2567 กำหนดเป้าหมายบ่มเพาะได้ 1 ล้านคน รวมทั้ง พ.ร.บ.จัดตั้ง THACCA ผ่านรัฐสภา มีการจัดงาน Film Festival และ Music Festival รวมถึงการสนับสนุน Soft Power ไปร่วมงานระดับโลก
นอกจากนี้ ในการขับเคลื่อนการทำงานจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
1.ต้นน้ำ เป็นการฝึกอบรมคน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว ตามโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล
2.กลางน้ำ เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 อุตสาหกรรม เช่น อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น เป็นต้น
3.ปลายน้ำ เป็นการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ของไทยออกไปสู่เวทีโลก ในพื้นที่ที่สอดคล้องแล้วมีการศึกษาและวิเคราะห์โอกาสของประเทศไทยที่จะนำซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ผ่านการทำงานของทูต และทูตพาณิชย์ที่อยู่ในประเทศต่างๆ
--------------
อัพสกิล-รีสกิล 20 ล้านคนไทย
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่ผ่านมาได้แนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับการขับเคลื่อนต้นน้ำที่จะอบรม 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว จะเป็นการรีสกิลและอัพสกิลครั้งใหญ่ของประเทศ
โดยจะมีทำระบบการลงทะเบียนที่กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ไปพัฒนาระบบขึ้นมาใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งแต่ละครอบครัวจะส่งใครก็ได้ไม่จำกัดอายุเข้ามาเพิ่มทักษะ
ส่วนการอบรมจะพัฒนาศูนย์บ่มเพาะทักษะซอฟต์พาวเวอร์ให้ประชาชน โดยประสานกระทรวงศึกษา รวมถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อตั้งศูนย์บ่มเพาะทั้งในโรงเรียนมัธยมศึกษา สถานบันอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย
โดยการบ่มเพาะแบ่งเป็นระดับขั้นหรือระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง รวมทั้งดูในกลุ่มที่มีพรสวรรค์ (Talent) ให้พัฒนาทักษะเพิ่มต่อเนื่อง
-----------
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/qZzk8HEbQXg