เลือกตั้งและการเมือง

'หมอชลน่าน' ชี้ กม.ยาบ้า ยังต้องหารือเพิ่มเติม - เผยสถิติ คนเสพยาบ้า 2.5 ล้านคน

โดย nattachat_c

3 พ.ย. 2566

123 views

วานนี้ (2 พ.ย. 66)  ที่ศูนย์จิตธรรมฯ รพ.ศรีธัญญา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอออกประกาศกำหนดยาบ้า 10 เม็ด เป็นผู้เสพ ว่า


เราไม่ได้มีเจตนาแก้กฎกระทรวง จริง ๆ คือ หลังมีกฎหมายประมวลยาเสพติด 2564 การออกกฎกระทรวงเป็นหน้าที่ รมว.สธ. ขณะนี้ ยังไม่มีกฎกระทรวงมารองรับ โดยกฎหมายใหม่ เน้นการให้โอกาสคนเกี่ยวข้องยาเสพติด เพราะเชื่อว่าวิธีการเดิม ใช้กฎหมายเข้มข้นบังคับบำบัดไม่ได้ผล จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น จำนวนผู้เกี่ยวข้องยาเสพติด ผู้เสพ ผู้ขายเพิ่มขึ้น จึงแก้กฎหมายเดิมมาเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด เน้นให้โอกาสคนกลับคืนสู่สังคม อยู่ในสังคม อยู่กับครอบครัวได้


“หลักการคือ ทำอย่างไรให้โอกาสตรงนี้ วิธีการที่มีอยู่ขณะนี้ ป้องกันปราบปรามบำบัดฟื้นฟู เป็นช่องทางคืนคนสู่สังคม เชื่อว่าบำบัดรักษาฟื้นฟูคืนคนดีสู่สังคมได้ เป็นหลักการกฎหมายฉบับนี้ คือ ผู้เสพเป็นผู้ป่วย เพื่อเข้าสู่การบำบัดรักษาฟื้นฟู และสมัครใจ ไม่บังคับบำบัด เพราะต้องการให้โอกาสเป็นคนดี


ถ้าสมัครใจเข้ารับบำบัดฟื้นฟูจะไม่มีโทษอาญา ถ้าไม่บำบัดรักษามีโทษตามกฎหมายบัญญัติ จึงเป็นเหตุกำหนดปริมาณเม็ดยา เพื่อเข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ เพื่อตีเป็นผู้ป่วย นอกเหนือจากนี้ สันนิษฐานเป็นผู้ค้ามีโทษหนักกว่า”


ส่วนข้อเสนอกำหนดปริมาณเหลือ 5 เม็ด เพราะกังวลว่า จะเพิ่มผู้ค้ารายย่อยนั้น  

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราพร้อมจะพิจารณา เพราะยังไม่ประกาศ อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการ 4 ฝ่าย คือ มหาดไทย // ตำรวจ  ป.ป.ส. // ยุติธรรม และ สธ. พิจารณาร่วมกันว่า จำนวนยาบ้าเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม


ทาง สธ.ใช้เหตุผลทางการแพทย์ คือ ยาบ้าออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อันตรายต่อร่างกาย และสังคม  


เหตุผลอื่นจากมหาดไทย ตำรวจ ยุติธรรม มาเป็นเหตุผลรองรับด้านมิติเศรษฐกิจ สังคม เช่น

  • โอกาสมีเงินจับจ่ายซื้อยาบ้ามากน้อยแค่ไหน
  • วิธีการซื้อขาย จำนวนเม็ดยาที่ซื้อขาย และเสพ
  • การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่พอหรือไม่
  • เอาคนเข้าคุกเข้าขัง กับ เปลี่ยนการขังเป็นบำบัดรักษา คุก หรือ ค่ายฟื้นฟู อะไรดีกว่ากัน ต้องมาชั่งใจ  


ซึ่ง สธ.เน้นเปลี่ยนการขังเป็นบำบัดรักษา เพราะเชื่อว่า คืนคนดีสู่สังคม เปลี่ยนคุกเป็นค่ายฟื้นฟู ให้โอกาสเปลี่ยนพฤติกรรม รักษาการมีอาชีพ และสถานะสังคมที่ดี


เมื่อถามถึงสถานที่รองรับ หลังกำหนดเม็ดยาบ้า จะดูแลเพียงพอหรือไม่ หากผู้เสพเป็นผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น  

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราถึงประกาศควิกวิน 100 วัน ให้มี 'มินิธัญญารักษ์' ทุกจังหวัด มีหอผู้ป่วยจิตเวช และยาเสพติดทุกอำเภอ และกลุ่มงานจิตเวชทุก รพ.ชุมชน  


มั่นใจเครือข่ายของ สธ. พร้อมเกือบ 100% แล้ว ค่ายบำบัดของชุมชน เราก็มีส่วนร่วมกับมหาดไทยเป็นศูนย์บำบัด และมีความพร้อม


“สิ่งที่อยากฝาก คือ การกำหนดจำนวนเม็ดยาสันนิษฐานว่าเสพ มากกว่านั้น สันนิษฐานว่าค้า เราใช้คำว่าสันนิษฐาน หมายความว่าต้องไปดูพฤติกรรมด้วย แม้ถือครอง 1 เม็ด แต่มีพฤติกรรมค้าก็เป็นผู้ค้า ไม่ได้สิทธิเป็นผู้ป่วย


เรารักษาผู้ป่วยทุกคนก็จริง จะถือครอง 5 เม็ด 10 เม็ด 100 เม็ด หากเข้ากระบวนการรักษาเราก็รักษา แต่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายเรื่องการค้า นำเข้า-ส่งออกก่อน” นพ.ชลน่านกล่าว


ถามว่า ก่อนหน้านี้ เรากำหนด 10 เม็ด ก็มีเหตุผลรองรับ 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่กำหนดกี่เม็ด ซึ่งกรรมการจะคุยกันในวันนี้ (3 พ.ย. 66)  ซึ่ง 10 เม็ด เป็นข้อเสนอของกรรมการบางส่วนบางท่าน ซึ่งจากเดิม 15 เม็ด บางคนเสนอ 5 เม็ด 2 เม็ด ก็มาประมวลกันดู ภายใต้เหตุผลดังกล่าว ซึ่งข้อสรุปก็ขึ้นกับกรรมการ หากมีเหตุผลต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ก็บังคับไม่ได้ แต่ถ้าลงตัว ก็น่าจะได้ข้อสรุป

-------------

วานนี้ (2 พ.ย. 66) นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า


จากผลการศึกษา คาดว่า จะมีผู้ติดยาเสพติดในประเทศไทยประมาณ 2 ล้าน - 2.5 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ ได้เข้าบำบัดรักษาใน รพ. ประมาณ 100,000 คน  ส่วนที่เหลือเป็นการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน


อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดว่า ผู้เสพเป็นผู้ป่วย ดังนั้น ไม่ว่าเป็นผู้เสพ หรือผู้ขาย ก็จัดอยู่ในกระบวนการที่จะต้องดูแลเหมือนกัน


กรณี การตั้งมินิธัญญลักษณ์ในทุกจังหวัด ไม่จำเป็นต้องให้จิตแพทย์ไปนั่งดูแลทุกราย แต่ใช้ระบบการดูแลแบบผสมผสาน เช่น การดูแลทางไกล และให้มีบุคลากรด้านอื่น ๆ เข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วย เพื่อดูแลผู้ติดยาเสพติดระยะยาว


ทั้งนี้ หลังบำบัดจะสำเร็จหรือไม่ ก็มีปัจจัยหลายอย่าง อันดับแรก คือ การเข้าถึงบริการที่เร็ว หากมีโอกาสรับการประเมินคัดกรองโดยใช้ชุมชน ก็มีโอกาสที่จะฟื้นฟูกลับมาได้เร็ว ขณะที่อัตราการกลับมาเป็นซ้ำขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น


1. ได้รับการบำบัดที่เร็วหรือไม่ ปัญหาเสพหนัก เสพนาน มีอาการทางจิตหรือไม่ ถ้าไม่ได้เสพนาน ไม่ได้เสพหนัก ไม่มีอาการทางจิต โอกาสหายเร็วก็จะมากขึ้น


2. แรงสนับสนุนของเพื่อน หมายถึง ชุมชน คนรอบตัว คนใกล้ตัว ใกล้ใจ ผู้สนับสนุนมีการสื่อสาร หรือมีรูปแบบการดูแลอย่างไร ให้รู้สึกปลอดภัย


3. มาตรการทางกฎหมาย และสังคม ทำอย่างไรให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่กระตุ้น


4. การติดตามต่อเนื่องโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง สาธารณสุข ชุมชนช่วยดูแล อาจมีกระบวนการหลายอย่างที่เกิดขึ้น จึงจะบอกได้ว่าจะสำเร็จมากหรือน้อย เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนที่แตกต่างกัน

--------------

นพ.บุรินทร์ ยังได้บอกข้อมูลอีกว่า “กรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วยจิตเวชรักษาไม่หาย มีประมาณ 30% หรืออาจมากกว่านั้น"


ปัจจัยสำคัญ คือ เสพหนัก เสพนาน จนกลายเป็นมีอาการทางจิต  สำคัญที่สุดคือ ใช้มากน้อยแค่ไหนต่อวัน ใช้นานแค่ไหน ซึ่งอาจเกิดเป็นปี ปริมาณมากหรือน้อย ยังถกเถียงกันอยู่


แต่มาก-หมายความว่า เริ่มมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว ประเภทของสารเสพติดเป็นส่วนหนึ่ง ที่เราเจอบ่อย คือ ยาบ้า ส่วนตัวอื่น ๆ ก็เจอในสัดส่วนที่ลดหลั่นลงมา” นพ.บุรินทร์กล่าว


ส่วนกรณีผู้ติดยาเสพติดที่มาบำบัด มีอายุน้อยสุดเท่าไหร่นั้น นพ.บุรินทร์ กล่าวว่า  บอกรายละเอียดไม่ได้ แต่ขณะนี้มีผู้ติดยาเสพติดและต้องบำบัด ที่อายุน้อยกว่า 12-15 ปีมีมากขึ้น


เมื่อถามว่า การบำบัดในเด็กแตกต่างกับคนอายุมากหรือไม่  

นพ.บุรินทร์ กล่าวว่า คนอายุน้อยการเข้าถึงบำบัดรักษา ต้องมีญาติ ซึ่งมีกระบวนการที่ซับซ้อน เพราะญาติก็เป็นคนติดยาเหมือนกัน เรื่องกระบวนการคุ้มครองสิทธิเด็กกลุ่มนี้ อาจต้องคุยกันให้ลึกขึ้น  เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ


“นับตั้งแต่เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย มีผู้เข้ามารับบริการเยอะขึ้นมาก น่าจะมาจากการมีเครือข่าย ทำให้เกิดกระบวนการกระตุ้น เกิดความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น สร้างกลไกขึ้นมารองรับ เยอะมากกว่าเดิมหลายเปอร์เซ็นต์ แต่การเข้าถึงมากขึ้น” นพ.บุรินทร์กล่าว

-------------

สำหรับข้อมูลสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ปี 2566 เดือน ม.ค.- ต.ค.  พบว่า


มีผู้ป่วยที่ใช้ยาบ้าร่วมยาอื่น 2,035 คน 

  • อายุน้อยสุด 0-14 ปี จำนวน 6 คน 
  • อายุ 15-19 ปี จำนวน 72 คน
  • อายุ 20-24 ปี จำนวน 211 คน 
  • อายุ 25-29 ปี จำนวน 468 คน
  • อายุ 30-34 ปี จำนวน 489 คน 


อาชีพที่พบพฤติกรรมเสพยาบ้ามากสุด คือ

  • ว่างงาน 879 คน
  • รับจ้าง 794 คน
  • ผู้เข้ารับการบำบัดครั้งแรก 1,238 คน
  • บำบัดซ้ำ 797 คน

-------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/5nEX9Zx_XTM



คุณอาจสนใจ

Related News