เลือกตั้งและการเมือง

'เศรษฐา-จุลพันธ์' แจงยิบ หลัง สว.รุมสับ 'เงินดิจิทัล' ส่อขัดรัฐธรรมนูญ-วินัยการคลังฯ

โดย nattachat_c

18 ต.ค. 2566

45 views

วานนี้ (17 ต.ค.) ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 23 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณารายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ


นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. ได้ลุกกล่าวอภิปรายเป็นคนแรก ในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ซึ่งมีผู้ร้องเรียนไปทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ก็ได้รับคำตอบมาว่า ไม่ผิด เนื่องจากมาจากเงินงบประมาณของรัฐ ไม่ใช่เงินส่วนตัว


นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การที่ กกต. ตอบแบบนี้ เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เนื่องจาก กกต. ไม่ได้นำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา ปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนสูง ไม่รู้ว่า กตต. ให้หลักเกณฑ์ใดมาตัดสินว่าหากได้งบประมาณของรัฐแจกไม่มีความผิด ทั้งที่ตอนนี้ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะนำงบประมาณมาจากไหน


“ถ้าคิดให้ดี ผมว่าความจริงน่าจะร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่า กกต. จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไปร้องได้นะครับ ตามรํฐธรรมนูญมาตรา 234 และ 235 ความจริงก็น่าจะไปร้องดูนะครับ”


นายเฉลิมชัย ชี้ว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยทำผิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ตั้งแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพราะไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่าย ปัจจุบันก็ยังไม่มีการชี้แจง สุ่มเสี่ยงชัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และคณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ออกข่าวมาโดยตลอดว่าจะไม่ใช่งบประมาณ และจะไม่กู้ แต่จะใช้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ คือมอบหมายให้ธนาคารออมสินจ่ายงบประมาณไปก่อนในโครงการนี้ ทว่าโครงการดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในหน้าที่และอำนาจ และขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคารออมสินแต่อย่างใด ตาม พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน ปี 2489 มาตรา 7


“ผมว่าถ้าบังคับผู้อำนวยการธนาคารออมสินท่านมากๆ ท่านอาจจะลาออกได้นะครับ เนื่องจากท่านก็กลัวจะมีความผิดตามกฎหมายมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญาฯ” นายเฉลิมชัย กล่าว


นายเฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรียังได้ให้ข่าวอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 1 ก.พ. 2567 เงินดิจิทัลจะเข้าสู่ระบบ และประชาชนทุกคนจะได้เงิน แต่จะเอาเงินมาจากไหน ในเมื่อปฏิทินงบประมาณปี 2567 จะออกเมื่อเดือน เม.ย. 2567 แสดงว่า ครม. ต้องใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารของรัฐ หรือธนาคารออมสิน แต่เงินกู้ที่ได้มาก็ต้องเป็นเงินแผ่นดินเช่นกัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด


ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ยังระบุว่า มีหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบโครงการนี้ได้ ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีผู้ไปร้องแล้ว เช่นเดียวกับ ป.ป.ช. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบโครงการนี้โดยตรง รัฐบาลจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ


นายเฉลิมชัย กล่าวว่า โดยสรุปโครงการเงินดิจิทัลมีข้อสงสัยมากมายคือ จะนำเงินงบประมาณมาจากไหน 5 แสน 6 หมื่นล้านบาท, ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินสดเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแลกเหรียญดิจิทัลกลับไปกลับมา 6% อีก 3 หมื่น 3 พัน 6 ร้อยล้านบาท ค่าจ้างทำโปรแกรมบล็อกเชนอีกกว่า 1 หมื่น 2 พันล้านบาท, กรณีดังกล่าวหากเกิดเงินเฟ้อ สินค้าแพงขึ้น หนี้สาธารณะจะเพิ่มอีกเท่าใด, จริงหรือที่การแจกเงินจะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุน 3 รอบ และได้ถามพรรคร่วมรัฐบาลว่าเห็นด้วยแล้วหรือไม่


นายเฉลิมชัย ยังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไป จ.พิษณุโลก เมื่อ 14 ต.ค. และปลุกระดมให้ชาวพิษณุโลกคัดค้านคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเงินดิจิทัล เป็นการที่นายกรัฐมนตรีพูดให้ประชาชนขัดแย้งแตกแยกกันเองหรือไม่ เหตุใดพรรคเพื่อไทยไม่คิดวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงให้รอบคอบรอบด้านก่อนจะออกมาเป็นนโยบายหาเสียง เพื่อให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ


นายเฉลิมชัย ทิ้งท้ายว่า กกต. ต้องกำหนดกลไกความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบของความคุ้มค่าและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล เป็นการสัญญาว่าจะให้อย่างเห็นได้ชัด เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า แต่ กกต. กลับตีความว่าไม่ผิด หวังว่า กกต. คงไม่ปล่อยนโยบายแบบนี้ออกมาอีกในการเลือกตั้งอีก 4 ปีข้างหน้า


“ผมก็ไม่ได้ไม่ให้ทำนะครับ ท่านจะทำก็ทำไป แต่ท่านต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม” นายเฉลิมชัย กล่าว

-------------

ด้านนายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวถึงโครงการแจกเงิน​ดิจิทัล​ 1 หมื่นบาท ​ว่า สิ่งที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง สัญญาว่าจะให้ไว้ เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยก็จริง แต่ต้องรับฟังความเห็นต่างจากนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง​การคลัง และนักวิชาการ และเท่าที่ทราบยังไม่มีเสียงของคนกลุ่มนี้ ออกมาสนับสนุนโครงการดังกล่าวว่าจะได้คุ้มเสียอย่างไร สิ่งที่ทุกคนออกมาเตือน คือ จะเกิดหายนะทางการเงิน เป็นอันตรายอย่างยิ่ง แต่ยังไม่เคยได้ยินเสียงชี้แจงจากรัฐบาลเลย


“ผมตั้งคำถามกับโครงการนี้เยอะ ทั้งแหล่งเงิน เพราะข้อเท็จจริงคือเราไม่มีเงินแล้ว จะหาเงินตรงนี้มาจากไหน ทำไมถึงไม่แจกเงินสด อย่างตรงไปตรงมา​ ทำไมจะต้องแจกทุกคน เศรษฐี มหาเศรษฐี คนชั้นกลาง ข้าราชการ ส.ส. ส.ว. นักเล่นหุ้น 3 ล้านกว่าคน รับเงินตรงนี้ด้วยหรือ มันถูกต้องหรือไม่ เพราะรัฐบาลเคยประกาศ ว่า จะแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ แต่โครงการแจกเงิน ดิจิทัล วอลเล็ต ไม่ใช่ เพราะการแก้ปัญหาความยากจนต้องแก้แบบพุ่งเป้าไปกลุ่มที่ต้องการ สิ่งที่สำคัญคือ ทำไมต้องสร้างบล็อกเชนใหม่ ทำไมไม่ใช้แอปพลิเคชันที่มีอยู่แล้ว หรือมันมีอะไรซ่อนอยู่ เพราะมีรายงานว่า การทำ “Super App” มันต้องใช้เงินอย่างน้อย 12,000-​20,000 ล้านบาท” นายสมชาย กล่าว


นายสมชาย กล่าวต่อว่า ในสภาวะที่เศรษฐกิจเรากำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่จำเป็นจะต้องใช้การอัดฉีดสเตียรอยด์ ให้กับคนไข้แบบนี้ เพราะเป็นการกระตุ้นมากเกินไป มันมี 2 อย่าง ไม่ตายก็หายแบบชั่วคราว ไม่มีทางฟื้นแบบถาวร ตนตั้งคำถามกับดิจิทัล วอลเล็ตหลายเรื่อง แต่ยังไม่พูดถึงข้อคำนึงที่บอกว่า มีคนบางส่วนไปเจ๊ง ดิจิทัล วอลเล็ต หรือคริปโตมา พยายามที่จะไปมีผลประโยชน์ กับค่าจ้างการทำ บล็อกเชน 12,000 ล้านบาทต่อปี ตัวแอปพลิเคชันใหม่ เพราะมันใหญ่ที่สุดในโลก ต้องใช้กับคน 56 ล้านคน รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่า บล็อกเชน ใครเป็นคนคุม เม็ดเงินสุดท้ายที่จะเบิกออกมา ใช่มาเฟียทุนเทาหรือไม่ ใช่คนที่มีผลประโยชน์จากแอปดิจิทัลเหล่านี้หรือไม่ เท่าที่ทราบตอนนี้ราคารับซื้อ 10,000 บาท เอาเงินสด 7,000 บาท และอาจจะมีมาเฟียที่ทำเกี่ยวกับพนันออนไลน์ แปลงเงินดำเป็นขาวเข้ามาซื้อ แล้วมาเบิกกับรัฐ ซึ่งตรงนี้มีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท


นายสมชาย กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ไม่ต่างอะไรจากโครงการรับจำนำข้าว ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจะย้อนกลับไปดูนโยบายของพรรคเพื่อไทย เรื่องเงิน 1 หมื่นบาท ให้ชัดเจน ว่าใช้เงินอะไร เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้หรือไม่ หากเข้าข่ายอาจกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง นำไปสู่การร้องดำเนินคดียุบพรรคเพื่อไทยได้ เท่าที่ทราบตอนนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ กกต. ตั้งกรรมการติดตามเรื่องนี้แล้ว


“ยืนยันว่า ผมไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล เราศึกษาและตรวจสอบแล้ว ถ้าบอกตอนนี้ได้ ก็คือ เลิกเถอะครับ อย่าดันทุรังเรื่องนี้ หยุดโครงการนี้แล้วเอา 5.6 แสนล้านบาท ที่ท่านจะใช้ และตั้งไว้แล้วให้คิดใหม่ว่าจะทำอะไรให้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เราจะเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ที่มีความรู้ออกมาคัดค้านอาจจะจำนวนน้อย แต่เป็นการค้านแบบสร้างสรรค์ นำเสนอด้วยความหวังดีเหมือนพระ ชวนไปทำบุญ 1 องค์ กับ 10 คนที่ชวนไปปล้นท่านจะฟังใคร และสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้บอกประชาชนให้ชัดเจนคือ หากเกิดความเสียหายขึ้นจะทำอย่างไร เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เคยได้รับความรับผิดชอบ บางคนก็หนีคดีไปต่างประเทศ ความคิดเห็นผมไม่ได้มีอคติใดๆกับคุณเศรษฐาและรัฐบาล แต่ผมเตือนด้วยความหวังดีอย่างชัดเจนคือความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ซึ่งอดีตนายกฯก็ต้องหนีไปต่างประเทศ รัฐมนตรีก็ติดคุก ข้าราชการที่ร่วมก็ติดคุก บทเรียนตรงนี้เป็นบทเรียนที่ต้องคิดให้ดี และโครงการนี้พรรคเพื่อไทย หวังผลการเลือกตั้งแน่นอน โดยเฉพาะเด็กอายุ 16 ที่จะมีสิทธิ์ได้เลือกตั้งในอนาคต” นายสมชาย กล่าว

-------------

เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 17 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์การดำเนินงานของซุปเปอร์แอพพ์ในการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะใช้งบประมาณจัดทำเท่าไหร่ว่า เป็นความร่วมมือของกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาช่วยเรื่องการพัฒนาระบบ โดยในส่วนค่าใช้จ่ายไม่มีตัวเลขอะไรที่น่าเป็นห่วง และขณะนี้กำลังคุยกันอยู่ว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้จ่ายเงิน


อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นการเติมเงิน 10,000 บาท โดยผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีเงื่อนไขใหม่ อาทิ ห้ามใช้เกี่ยวกับอบายมุข การออมและการใช้หนี้ ซึ่งถือเป็นกลไกใหม่ในการช่วยเหลือประชาชนเพื่อผลักดันให้เม็ดเงินสู่ระบบ


ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ได้บริษัทผู้ดำเนินการจัดทำซุปเปอร์แอพพ์แล้วหรือยัง นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่ใช่บริษัท แต่เป็นธนาคารที่อยู่ในการกำกับของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ได้มีการจ้างบริษัทภายนอก ยืนยันว่าไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง


เมื่อถามว่า ธนาคารผู้จะทำแอพพ์คือธนาคารอะไร นายจุลพันธ์กล่าวว่า ต้องให้ธนาคารในการกำกับดูแลของรัฐไปประชุมและมอบหมายกันเอง โดยจะมีการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคมนี้ ส่วนจะได้คำตอบหรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งตนไม่สามารถตอบได้


เมื่อถามย้ำว่า จะไม่มีคนกลุ่มใดได้ประโยชน์จากการทำแอพพ์ใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่มี ยืนยันว่าเป็นโครงการที่โปร่งใสมาก และระบบบล็อกเชนก็มีความปลอดภัยมากที่สุดในตอนนี้ ที่สามารถตรวจสอบความผิดพลาดและการทุจริตได้ด้วย


ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่าค่าทำแอพพ์สูงถึง 12,000 ล้านบาท นายจุลพันธ์หัวเราะพร้อมกล่าวว่า ไม่มีทาง ฟังแล้วก็ยังตลกอยู่เลย ไม่มีแอพพลิเคชั่นไหนพัฒนาในราคาดังกล่าว เมื่อถามอีกว่า การทำแอพพ์ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ตนไม่กล้าตอบตัวเลขที่ชัดเจน แต่เท่าที่ทราบไม่ได้มากอะไร


เมื่อถามว่า ทำไมไม่ใช้แอพพ์เป๋าตัง นายจุลพันธ์กล่าวว่า แอพพ์เดิมเมื่อมาทำดิจิทัลวอลเล็ตฟังก์ชั่นจะเกิดความแตกต่างในระบบ และวัตถุประสงค์ก็แตกต่าง เพราะของเรากำหนดในบล็อกเชนซึ่งเป็นข้อมูลที่ต้องมีความปลอดภัยและมีกลไกที่โปร่งใส นอกจากนี้แอพพ์ในอดีตข้อมูลยังเป็นของรัฐ แต่ตัวแอพพลิเคชั่นไม่ใช่ของรัฐ ดังนั้นการต่อยอดจึงมีข้อจำกัด แต่แอพพ์ใหม่จะดึงข้อมูลของรัฐที่เป็นประโยชน์มาใช้ประโยชน์อย่างเช่นฐานข้อมูล และโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่มีการลงทะเบียน แต่จะให้มีการยืนยันตัวตน เพราะมีข้อกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้


เมื่อถามถึงแหล่งที่มาของเงินทั้งหมดที่รัฐใช้งบ 5.6 แสนล้านบาท จะสามารถใช้เงินนอกประมาณ 4.8 ล้านล้านบาท ตามที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุไว้หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า อันนี้ไม่ทราบ ตนไม่ได้ฟังเขาจึงไม่กล้าตอบ


เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวการเตรียมฟ้องร้องโครงการดังกล่าว นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่เป็นไร ใครมีสิทธิดำเนินการตามช่องทางทางกฏหมายก็สามารถดำเนินการได้ อย่างเช่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ตั้งคณะกรรมการติดตาม ตนก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะมีหน่วยงานรัฐมาช่วยดูเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และตนก็พร้อมเสนอตัวไปคุยกับ ป.ป.ช.เองเพื่อชี้แจงให้เขาคลายกังวล ขณะเดียวกันก็รับข้อสังเกตมาปรับปรุง เพื่อให้โครงการเดินหน้าและไม่เสียวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้


เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์จะซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า คนละเรื่องเลย ไม่เหมือนกันเลย อันนี้เป็นกลไกที่เราจะกระตุ้นในเรื่องเศรษฐกิจโดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ซึ่งเรื่องนี้ตนยังหาช่องโหว่ไม่ได้เลยว่าจะมีตรงไหนอย่างไร


เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวจะมีการเก็บค่าแลกเงินร้านค้า ในการและเงินเข้าและออกจำนวน 3% นายจุลพันธ์กล่าวว่า อันนี้คิดไปเอง ไม่มีเพราะไม่ใช่คริปโท โครงการนี้เป็นการเติมเงิน 10,000 บาทเข้าไปในกระเป๋าเงินดิจิทัล และยืนยันว่าประชาชนจะได้เงิน 10,000 บาทเต็มๆ ไม่มีหัก รวมถึงไม่มีการจัดเก็บเงินเปอร์เซ็นต์จากร้านค้าด้วยเช่นกัน พร้อมยืนยันว่าโครงการดังกล่าวไม่มีทางทำไม่ได้ ต้องทำได้แน่นอน

-------------
วานนี้ (17 ต.ค.) กลุ่มคนเสื้อแดงใช้ชื่อ กลุ่ม “รวมพล คนเอาเงิน 10,000” เกือบ 200 คน สวมเสื้อสีขาว เขียนข้อความสีแดง ระบุว่า “ประชาชนสนับสนุน10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต” มายื่นหนังสือ สนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่พรรคเพื่อไทยให้กับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมร้องเพลง “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ เงินหมื่นจะได้สักที เพราะมีหนี้นะคะ”


โดยตัวแทนแกนนำ บอกว่า จะให้การสนับสนุนโครงการดิจิทีล วอลเล็ต ให้สำเน็จ เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง เพิ่มกำลังซื้อ บรรเทาความเดือดร้อน ให้คนไทยลืมตาอ้าปากได้ และขอขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและทีมงาน ทำโครงการให้สำเร็จ


นายจุลพันธ์ กล่าวว่า พร้อมรับฟังทั้งกลุ่มที่ สนับสนุน และ คัดค้าน ส่วนตัวไม่แปลกใจที่มีการคัดค้านทุกนโยบาย ตั้งแต่ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็มีทั้งสองเสียง ที่ทั้งเป็นห่วงเรื่องความกดดันทางการเมืองอาจจะเป็นฝั่งตรงข้ามหรือมาจากสถานการณ์ ห่วงเรื่องความทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งส่งเสียงมารัฐบาลเราก็ต้องรับฟังตามที่นายกฯกล่าว ว่าต้องการรับฟังเสียง ฟังเหตุผลจากคนที่คัดค้านและสนับสนุนว่าเหตุผลคืออะไร โดยวันนี้ทุกคนยืนยันว่าต้องการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายสังคมสงเคราะห์ เนื่องจากเราเห็นตั้งแต่ยุคปฏิวัติรัฐประหาร เศรษฐกิจโตไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เราไม่สามารถขยายเศรษฐกิจได้ ประชาชนรู้สึกยากจนลงทุกวัน สิ่งนี้คือรัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญ ซึ่งเราต้องดูทั้งด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและดูเรื่องประชาชนอยู่ดีกินดี นั่นคือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเติบโตปีละ 5% เป็นอย่างน้อย นี่คือความตั้งใจของรัฐบาล ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำการกระจุกตัวของรายได้ สินทรัพย์ต่างๆ


“คนจนลำบากแค่ไหน ผมรู้ดี พรรคเพื่อไทยเติบโตมาจากประชาชน รับรู้ถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมากกว่า 20-30 ปี เก็บสะสมประสบการณ์เห็นถึงปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินของพี่น้องประชาชนจึงได้คิดนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิตอล ถึงครอบครัวได้ 3-5 คน จะสามารถตั้งตัวและสร้างอาชีพได้ จึงต้องกระจายลงทุกพื้นที่ เชื่อว่าพี่น้องชาชนมีความคาดหวังและอยากได้โครงการนี้แต่ขอให้ส่งเสียงว่าได้แล้วจะนำไปทำอะไรนำไปต่อยอดสร้างอาชีพใช้กินใช้อยู่อย่างไรถือเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะมอบให้”


ทั้งนี้ เสียงของนักวิชาการก็เป็นห่วงเรื่องของวินัยการเงินการคลังซึ่งเราก็รับฟังทุกคน และวันนี้ได้ฟังเสียงผู้สนับสนุน ว่าคนยังคงรอโครงการนี้อยู่ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้ขับเคลื่อนโครงการนี้ด้วย เราต้องเดินหน้ากระจายเม็ดเงินลงไปในพื้นที่ พร้อมกำหนดระยะทาง อาจจะไม่ใช่ 4 กิโลเมตรแต่จะมีการทำให้ครอบคลุมในชุมชน ที่บ้านให้จังหวัดของเราเติบโตทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่กระจุกที่ใดที่หนึ่ง นี่คือสิ่งที่เราจะทำและจะทำให้สำเร็จ”


นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า โครงการนี้เป็นนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทยและจะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขอประชาชนให้กำลังใจรัฐบาลด้วย

-------------

วานนี้ (17 ต.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ระหว่างมาประชุมที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะจ้างบริษัทในเครือข่ายของนายกรัฐมนตรี จัดทำแอปพลิเคชั่นรองรับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยใช้งบประมาณมากถึง 12,000 ล้านบาท ยืนยันว่า ไม่มีการจ้างเป็นหมื่นล้านบาท แต่เป็นตัวเลขที่น้อยมาก และไม่ใช่ประเด็นแน่นอน พร้อมยืนยันไม่มีเรื่องค่าคอมมิชชั่น ไม่มีการหักเบี้ยใบ้รายทาง หรือถูกหักเงิน 3%


ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าเป็นการจ้างบริษัทในเครือข่ายของตนนั้น ขอให้ระบุชื่อมาให้ชัด เพราะแสนสิริไม่ได้ทำแอปฯ แน่นอน ส่วนบริษัทเอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPGX ที่ตนเคยเป็นกรรมการอยู่ ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน ขอให้บันทึกว่า 2 บริษัทดังกล่าวไม่ได้เข้ามารับงาน


เมื่อถามว่า การกล่าวหาลักษณะนี้เหมือนเป็นการจงใจมากเกินไปหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าววว่า ไม่เป็นไร เพราะตนเป็นบุคคลสาธารณะต้องพร้อมสำหรับการชี้แจงและตรวจสอบได้ ตนมั่นในว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี ส่งผลกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม และให้ประโยชน์กับประชาชน เรามั่นใจในความโปร่งใสของนโยบายนี้


เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีมีความมั่นใจในข้อมูล แต่เหตุใดจึงไม่เลือกชี้แจงให้สังคมเข้าใจ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนอยากให้คณะกรรมการศึกษาเงินดิจิทัลฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ชำนาญการจากหลายฝ่าย มีข้าราชการระดับสูง ซึ่งเห็นตรงและเห็นต่างกันบ้าง มีข้อแนะนำต่างๆ ได้มีสิทธิ์พูด เพราะเรามีคณะกรรมการกลั่นกรองอย่างถี่ถ้วน ขอเวลาให้ได้ถกกันให้ดี ซึ่งต้องให้เกียรติกรรมการทุกคน ส่วนการชี้แจงอาจจะช้าก็น้อมรับ ซึ่งไม่อยากพูดอะไรเร็วเกินไป แต่หากมีประเด็นขึ้นมาตนก็พร้อมชี้แจง อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าหากทุกอย่างมีความพร้อม จะทำให้หมดสงสัย ยืนยันว่าทุกๆ ข้อสงสัย ทุกๆ คำแนะนำ จะถูกนำไปพิจารณาและปรับปรุงเพื่อให้เป็นนโยบายที่ดีที่สุด ปราศจากเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่วนความชัดเจนจะเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ประกาศเอาไว้

-------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/WCcjb8jWKKc










คุณอาจสนใจ

Related News