เลือกตั้งและการเมือง
เรียนดี มีความสุข! 'บิ๊กอุ้ม' ชูแก้หนี้ครู ต้องพอเพียง นั่งรถรวมกันไปสอน ไม่มีเงินใส่ซอง ช่วยล้างจานแทน
โดย petchpawee_k
15 ก.ย. 2566
71 views
‘บิ๊กอุ้ม’ เปิดมอตโต้ ‘เรียนดี มีความสุข’ ชูนโยบาย ปรับวิทยฐานะ แก้หนี้ครู แจกแท็บเล็ต ย้ำห้ามซื้อขายตำแหน่ง ขู่เตือนไม่ฟัง กัดไม่ปล่อยแน่
วานนี้ (วันที่ 14 ก.ย.) ที่ กระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ.ประชุมมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยมีผู้บริหารศธ. และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมรับมอบนโยบาย ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ตนอยากหาคำที่จะเป็นมอตโต้ ง่ายๆ ที่จะใช้ในการทำงานร่วมกันคือ “เรียนดี มีความสุข” ทั้งผู้เรียนและผู้ปกครอง เพราะถ้ามีความสุขแล้ว ก็จะทำให้การเรียนดีขึ้น ตนเป็นตำรวจ อาจจะฝึกหนัก ตอนที่ฝึกอาจจะไม่มีความสุขเท่าไร แต่เมื่อฝึกเสร็จแล้ว ก็จะมีความสุข มีร่างกายที่แข็งแรง ความสุขไม่ใช่ความสนุกอย่างเดียว อยากให้ทุกคนร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อสามารถขับเคลื่อน ผลักดันการจัดการศึกษา ให้ดี โดยมีแนวทางการจัดการศึกษา 2 รูปแบบ คือ การเรียนสู่ความเป็นเลิศ และการเรียนเพื่อความมั่นคงในชีวิต
และจากแนวคิดการจัดการศึกษาทั้ง 2 รูปแบบ จะกลายเป็นมายแมพ ง่าย ๆ ดังนี้ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้ 1.โดยจะปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขึ้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยดำเนินการ ปรับระบบวิธีการประเมิน โดยเน้นตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร ลดขั้นตอนการประเมิน ไม่ซับซ้อน ยุ่งยาก และเป็นธรรม โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามช่วงวัย คำนึงถึงบริบทของสถานศึกษาอปรับระบบการประเมินเพื่อเลื่อนเงินเดือนและประเมินวิทยฐานะ ให้มีความเชื่อมโยงกัน และนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมิน
2.ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น โยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การย้ายให้มีความชัดเจน และยืดหยุ่น รวมทั้งอาจจะต้องมีการใช้บทลงโทษที่เข้มงวด กับผู้ที่มีการเรียกรับผลประโยชน์ในการโยกย้าย ซึ่งหากไปถามผู้ใต้บังคับบัญชา จะรู้ว่าตนมีนิสัย ว่า ถ้าเตือนแล้วไม่ฟัง ตนกัดไม่ปล่อย อย่าคิดเอาใครมาเคลียร์กับตน ไม่ได้ ตนเป็นประเภทหัวดื้อ ถ้าคิดว่าผิดแล้ว ก็ต้องเอาให้อยู่ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นภัยต่อข้าราชการครู ดังนั้นจึงอยากขอร้องว่า อย่าไปรีดเลือกครูด้วยกัน อีกเนื่องคือ สถาบันผลิตครู และหน่วยใช้ครู ร่วมกันสำรวจความต้องการครูแต่ละสาขาวิชาที่ขาดแคลนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งพิจารณาให้ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษากลับมาเป็นครู หรือครูผู้ช่วยในภูมิลำเนาของตนเอง
3.แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สร้างความเข้าใจในการวางแผนการใช้เงิน หน่วยงานต้นสังกัด ประสานการจัดการให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รีไฟแนนซ์ หรือรวมหนี้เป็นก้อนเดียว เพื่อลดภาระการผ่อนชำระ โดยลดดอกเบี้ยให้ถูกลง ระยะเวลาผ่อนส่งยาวขึ้น พักชำระดอกเบี้ยให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถานบันการเงินโดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้มีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี โดยชำระเพียงเงินต้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ครูทั่วประเทศ
4.จัดหาอุปกรณ์การสอนสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับครู เช่น โครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต ซึ่งเป็นโยบายรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการสอดรับ บูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้เป็นเจ้าของสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และภาครัฐ ในการพัฒนาเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสนับสนุนงบประมาณเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า แนวทางลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ดังนี้ 1.เรียนทุกที่ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จัดหา 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการศึกษา และให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมระหว่างเรียนหรือระหว่างฝึกอาชีพ สร้างโอกาสการมีงานทำ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันแรงงานเข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น
ส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคีอย่างจริงจัง สนับสนุน จัดหาอุปกรณ์ ในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน จัดหาแท็บเล็ตที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงระบบออนไลน์รองรับการใช้งานให้เพียงพอกับจำนวนผู้เรียน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 และระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปีที่ 1-3 เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกในยุคดิจิทัล โดยจะต้องดูงบประมาณ ว่าจะเป็นระบบเช่า หรือซื้อ เพื่อให้เด็กได้เข้าถึง บูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต พัฒนาแอฟพริเคชั่น เพื่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ จัดทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนสามารถเข้าสู่แหล่งเรียนรู้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และพัฒนาการศึกษาผ่านระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือเครดิตแบงก์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักเรียนได้เรียนและทำงานไปในเวลาเดียวกัน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเปลี่ยนสาขาการเรียนได้ เพื่อให้ตรงกับความถนัดของผู้เรียน
2.จัดทำ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ จัดให้มีการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพต้นแบบอย่างน้อย 1 โรงเรียนในแต่ละอำเภอ หรือเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อนำร่องการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สื่อ อุปกรณ์ และงบประมาณในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม จัดสรรครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มเติมโดยใช้เกณฑ์พิเศษ หรือมีงบประมาณจัดจ้างครูอัตราจ้างเพิ่มเติมในวิชาที่ขาดแคลน
3.ระบบแนะแนวการเรียน หรือโค้ชชิ่ง และเป้าหมายชีวิตพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีทักษะที่เหมาะสมต่อการตำรงชีวิต จัดให้มีระบบการแนะแนวผู้เรียน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นพบแนวทางการเรียนและเป้าหมายชีวิตของตนเอง เน้นนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ STEM Education (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น มุ่งเน้นทักษะจากการปฏิบัติจริง และเสริมสร้างความสามารถด้วย Soft Skill ควบคู่การพัฒนา ประสานความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาสุขภาพจิตผู้เรียน
4.การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบวิชาชีพ
5.จัดระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย
6.มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ บทบาทของศธ. คงจะต้องมีการทำข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และสถานประกอบการต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ
“ทั้งหมดนี้ เป็นมายแมพในการทำงาน แต่ ยังมีข้อสังการและแนวปฏิบัติ ดังนี้
1. ให้นำนโยบายคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีว่าการวธ. ไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมโดยจัดทำแผนปฏิบัติการหรือ แอคชั่นแพลนที่เป็นรูปธรรม
2. ดำเนินการป้องกันปราบปรามการทุจริต เช่น การบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย ห้ามซื้อขายตำแหน่ง ถ้าได้ยิน ผมเอาจริง การจัดซื้อจัดจ้างให้ดำเนินการมด้วยความโปร่งใส และต้องได้ของที่มีคุณภาพ เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานและนักเรียน
3. อยากให้ผู้บริหาร และครูน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้และปลูกฝังให้นักเรียน
4. รวมกันใช้พลังงานสะอาด เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
5. ส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาล และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ได้เน้นย้ำ ให้ศธ. ช่วยผลักดัน สร้างนิสัยรักการอ่าน โดยอยากให้ผู้บริหารและครูเป็นต้นแบบในการรักการอ่าน
6.การลงพื้นที่ตรวจราชการ ขอความร่วมมือ ให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องมาเข้ารับการตรวจเยี่ยม ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ต้องเดินทางมา เพื่อไม่ให้การทำงานเกิดความบกพร่อง และหากผมไปตรวจเยี่ยมอยากให้เป็นไปด้วยความเรียบง่าย และประหยัด ขอเน้นผู้บริหารทุกระดับ เวลามาประชุม อยากให้ผ่านระบบออนไลน์ เพราะหากเรียนมาอาจต้องเสียค่าเดินทาง ไม่มีครูสอนนักเรียน ตรงนี้อยากให้เป็นแนวทาง ตัวอย่างเช่น ป้ายต้อนรับ สมัยผมเป็นตำรวจไม่อยากให้มี แต่ก็มีดื้อ ทำให้ผมต้องไปจ่ายค่าป้าย รวมถึงของฝากของที่ระลึกไม่ต้องมี
สิ่งที่จะให้ผมคือการทำงาน เรื่องทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผมทำมาตลอดชีวิตราชการ ก็อยากขอร้อง เพราะผมไม่อยากเสียมาตรฐานของตัวเอง สุดท้ายขอความร่วมมือ ตอบแบบสอบถาม ซึ่งจะมีคิวอาร์โค้ด เพื่อดูว่า อะไรเป็นสิ่งที่เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้ทำ การทำงานผมจะยึดหลักการนโยบายและแผนการทำงานเป็นหลัก แต่ก็ต้องสามารถปรับได้ ผมพร้อมรับฟัง ผมไม่ใช่น้ำเต็มแก้ว พร้อมปรับปรุงให้ดีขึ้น ผมอยากให้ทุกคนเป็นกระจกเงาสะท้อน เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น” รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าว
ด้าน นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. กล่าวว่า ศธ. เป็นกระทรวงสำคัญ ซึ่งตนตั้งใจจะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้นโยบายของศธ. และรัฐบาลประสบความสำเร็จ
โดยตนขอย้ำว่า ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่จะรับสนองนโยบายรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการศธ. ไปดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ตนเองไม่ใช่บุคลากรทางการศึกษาโดยตรง แต่มิติมุมมองของตนและรัฐมนตรีว่าการศธ. ก็อาจเป็นมิติที่บุคลากรทางการศึกษามองไม่เห็น สิ่งเหล่านี้จะมาเติมเต็ม เพื่อให้ททำงานต่อไปได้ โดยขอฝากตัวกับทุกคน ซึ่งตนพร้อมจะทำงานอย่างเต็มที่และรับฟังความคิดเห็นจากทุกคน
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/ZrWE7ci2VU4