เลือกตั้งและการเมือง

"จุรินทร์" สั่ง 16 สส.งูเห่า แจงที่ประชุม ปมโหวตสวนมติพรรค ยันปชป.มีศักดิ์ศรี

โดย nutda_t

23 ส.ค. 2566

575 views

นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง 16 สส.ปชป.โหวตสวนมติพรรค ว่าตนสั่งให้ชี้แจงในที่ประชุมพรรคครั้งหน้า และถ้ามีสมาชิกเข้าชื่อร้องให้ตรวจสอบ หรือสอบสวนตามข้อบังคับพรรค ก็จะดำเนินการ

ส่วนจะถึงขั้นขับออกจากพรรคหรือไม่นั้น เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว ตามข้อบังคับพรรคถึงแม้ว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะเป็นเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่ข้อบังคับพรรคมีอยู่ ทั้งนี้ไม่ขอตอบล่วงหน้า แต่หากมีสมาชิกยื่นมาก็จะดำเนินการ สำหรับกรณีของนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภา ที่โหวตไม่เห็นชอบนั้น ท่านได้ขออนุญาตต่อที่ประชุมแล้วว่าจะขอโหวตไม่รับและไม่เห็นชอบ ซึ่งที่ประชุมไม่มีใครขัดข้อง

นายจุรินทร์ ยังกล่าวว่า 16 สส. ไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลในการโหวตสวน และตนก็ไม่ทราบ ตนในฐานะรักษาการหัวหน้าปชป. ยืนยันคำเดิมว่า ไม่เคยมอบหมายให้ใครไปคุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลทั้งสิ้น

เมื่อถามว่า16 สส. ที่ยกมือโหวตให้ ต้องการเข้าร่วมรัฐบาล หรือแค่ต้องการโหวตนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ กล่าวว่า ต้องถามคนที่ไปโหวต และเขาก็ต้องไปชี้แจงในที่ประชุมด้วย ถ้าหากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบหรือสอบสวน ก็ต้องไปชี้แจงกับกรรมการ แต่สิ่งหนึ่งที่ตนขอเรียนคือประชาธิปัตย์มีศักดิ์ศรี เราเคยเป็นทั้งรัฐบาลและเป็นทั้งฝ่ายค้าน สามารถทำหน้าที่ได้หมดไม่มีปัญหา แต่เราไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ และเราต้องชัดเจนในเรื่องนี้

ส่วนผลในเรื่องนี้จะสร้างความแตกแยกและขัดแยังในการเลือกหัวหน้าพรรค และจะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ ตนยังตอบไม่ได้ แต่พรรคยังคงต้องอยู่ ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าความเป็นพรรคสูงสุด นอกจากประชาชนที่เรามีหน้าที่ ทำสิ่งที่ดีที่สุด พรรคก็ต้องอยู่เพราะเป็นองค์กร

เหตุการณ์ที่เกิดจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ฟื้นฟูยากหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องอนาคต ในสถานการณ์นี้ ก็ต้องดำเนินการในสิ่งที่เราคิดว่าดีสำหรับพรรค ซึ่งตนคิดว่า ตนยืนอยู่จุดนี้ ตนคิดว่าตนชัดเจน

ส่วนพรรคก้าวไกล ประกาศอาจจะไม่รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และส่งต่อมาให้พรรคประชาธิปัตย์ นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับของสภาว่า ผู้นำฝ่ายค้านต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุด เป็นหัวหน้าฝ่ายค้าน และต้องไม่มีสมาชิกไปดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านจะมีโอกาสหล่นมาที่พรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ตนตอบไม่ได้ แต่ตอนนี้พรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่มี สส.มากที่สุด ซึ่งซีกนี้หากมีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ ก็หมายถึงเป็นซีกฝ่ายค้าน


นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวถึง สส. พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 16 คน โหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เป็นไปตามมติพรรค ว่าพรรคมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือพรรคกรรมการบริหารพรรค และ สส. ซึ่งการไปดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติที่ทำให้พรรคเสื่อมเสีย รวมถึงดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามจรรยาบรรณพรรค ก่อให้เกิดการแตกแยก ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกมากกว่า 20 คน เพื่อส่งให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ตั้งคณะกรรมการในการดำเนินการสอบสวน เพราะพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีการตั้งบุคคลไปเจรจาร่วมรัฐบาล หากจะร่วมก็จะต้องมีการทำหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล


ดังนั้นการดำเนินการของพรรคการเมืองมีขั้นตอนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สส. หรือรักษาการที่ไม่ใช่ตำแหน่งโดยตรง และได้รับมอบหมายจากพรรค หากไปดำเนินการทำให้พรรคเสื่อมเสีย เพราะขณะนี้ตามระบบพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านไปแล้ว เพราะรัฐบาลได้มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรคไปเป็นที่เรียบร้อย


เมื่อถามว่าสรุปแล้วมติพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นเอกสิทธิ์ หรืองดออกเสียง นายสาธิต ระบุว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ แต่ในขั้นตอนของพรรคเมื่อมีการประชุมและเป็นมติ สส. ก็ควรจะปฏิบัติตาม ถ้าถามว่าผิดหรือไม่ ก็ไม่ผิด เพราะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด แต่การกระทำที่เมื่อมีการประชุมแล้ว กลับไปลงมติอีกอย่าง ก็สร้างความแตกแยกและความเสียหายต่อพรรค ส่วนจะถึงขั้นขับออกจากพรรคหรือไม่ ก็พิจารณาตามความหนักเบา แต่ส่วนตัวมองว่า หนักมาก


ผู้สื่อข่าวจึงถามย้ำว่า ต้องถึงขับออกจากพรรคหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและ สส. และจ้อบังคับว่าว่าจะต้องทำอย่างไร


พร้อมกล่าวว่า สส.พรรคประชาธิปัตย์ มีจำนวน 25 คน แต่ สส.ไม่ยึดตามมติพรรค ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ เพราะที่ผ่านมาพรรคมี สส. เยอะในอดีต ข้อบังคับจึงไม่ทันสมัยและสอดคล้องกับที่ตนเคยเสนอสัดส่วน 70:30 เพราะพรรคเล็กทำให้ สส. มีอำนาจมากกว่าองค์ประชุม แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า กรรรมการบริหารส่วนใหญ่ น่าจะเข้าใจความเสียหาย


ส่วนโทษหนักสุด คือการขับออกจากสมาชิก แต่จะทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อบังคับพรรค


เมื่อถามย้ำอีกว่า เหมือนมีการจงใจที่จะให้มีการขับออกจากพรรค นายสาธิต กล่าวว่า ทุกอย่างพูดคุยกันได้ แต่หากทำความเสียหายระดับนี้ ก็ต้องตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณา

คุณอาจสนใจ

Related News