เลือกตั้งและการเมือง

เช็กความเห็น สว. ทั้งเสียงเห็นชอบ-อภิปรายสับแหลก 'เศรษฐา' นายกฯคนที่ 30

โดย nattachat_c

23 ส.ค. 2566

12 views

วานนี้ (22 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ลุกขึ้นอภิปรายคนแรกถึงคุณสมบัติของ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย โดยบอกว่า สว. ต้องเลือกนายเศรษฐา ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยได้มีการเสนอชื่อมาประมาณหนึ่งสัปดาห์กว่าๆ ซึ่งก็พยายามติดตามว่านายเศรษฐาทำอะไร ที่ไหน มีประวัติอย่างไร อีกทั้งได้สอบถามเพื่อนสว. ด้วยกัน ว่ารู้จักนายเศรษฐาหรือไม่ บางคนก็รู้จักว่าเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นเจ้าของหมู่บ้านจัดสรร แต่ตัวตนที่แท้จริงเป็นอย่างไร มีประวัติอย่างไร ส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบ และทุกคนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นคนดีหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปคลุกคลี จึงเกิดคำถามแรกว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯ เรายังไม่รู้จักว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี ทำธุรกิจดีหรือไม่ดี สามารถนำพาประเทศไปได้หรือไม่ เราไม่รู้จักแล้วจะเลือกอย่างไร


เมื่อถามพรรคพวก สว.ส่วนใหญ่ ก็ไม่รู้จัก และมีคำถามในใจทุกคน เพราะตำแหน่งนี้มีความสำคัญ ประเทศจะเจริญต่อไปได้มันอยู่ที่นายกฯ เพราะหลังจากนี้ต้องไปสร้างทีมบริหารรัฐบาล แล้วเราก็ยังไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ทางพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ทำเอกสารให้รับทราบว่าเขาเป็นใคร ประวัติเป็นอย่างไร เราพยายามติดตามข่าวจากสื่อก็เจอแต่ด้านลบตลอด เช่น การใช้วิธีเลี่ยงภาษีทำธุรกิจไม่ถูกต้อง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ผิดจริยธรรม มีเอกสารออกมาเยอะแยะ ก็ไม่รู้ว่าเอกสารที่ยื่นมาถูกต้องหรือไม่ ส่วนบริษัทแสนสิริก็ยื่นเอกสารมาโต้ตอบ แต่ไม่เคยออกมาชี้แจงให้ สว. หรือส่งให้ สว. ทราบ


“เวลา สว. จะเลือกนายกฯ ก็เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่าผู้ที่จะถูกเลือก ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ต้องมีจริยธรรมเป็นเลิศ แต่ขณะนี้นายเศรษฐาถูกโจมตีตลอด ทำการค้าไม่ถูกต้อง เลี่ยงภาษีบ้างอะไรบ้าง เราพยายามหาข้อมูลว่าเป็นจริงหรือไม่ หรือแค่ถูกกล่าวหา หรือเป็นคนดี แต่พวกเราไม่ทราบจริงๆ แล้วจะไปเลือกได้อย่างไร จะเอาประเทศมาเสี่ยง เลือกคนๆ หนึ่งที่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรมาปกครองประเทศ เอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน เอาเศรษฐกิจ เอาประเทศชาติ เอาความเจริญมาเป็นประกัน แม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประกันหรือ ผมฟังแล้วมีความรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง แต่ในฐานะที่เราต้องเลือก ก็ต้องหาข้อมูล เมื่อไปตามเอกสารมาได้หลายชิ้น พบว่านายเศรษฐาถูกกล่าวหาการซื้อที่จากบุคคล 12 คนเพื่อทำธุรกิจ เอกสารที่เขาแอบอ้างขึ้นมาเป็นอย่างไร และนายชูวิทย์ก็มาแฉว่าแบ่งที่ดินเป็น 12 ส่วน เพื่อมาเลี่ยงภาษีในนามคณะบุคคล แต่ถ้าเป็นการเสียภาษีในนามบุคคลแล้วจะเสียภาษีน้อยลง ต้นทุนในการซื้อขายของแสนสิริถูกลง เราก็ไปดูข้อกฎหมาย เรื่องภาษีอากร ขอสรุปว่าคร่าวๆว่ามีการซื้อขายจริงกับแสนสิริกับประไพทรัพย์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้น 12 ราย ในที่ดินแปลงเดียว มีการตกลงซื้อขายกว่า 1500 ล้านบาท ต้องถามว่าเจตนาเพื่ออะไร เพราะถ้าซื้อเป็นรายบุคคล ฐานภาษีจะลดลง ผมก็ติดตามว่าทำให้รัฐเสียหายหรือไม่ เพราะการคำนวณภาษีก็ต่ำลงไปด้วย” นายวิวรรธน์ กล่าว


นายวิวรรธน์ กล่าวต่อว่า เมื่อตรวจสอบแล้ว 12 คนได้เข้าไปถือหุ้นตามสัดส่วน ซึ่งเป็นเรื่องของตัวบุคคล จากนั้นแสนสิริก็มาซื้อที่ดินแปลงนี้ ซึ่งทางบริษัทมีรายงานการประชุม และคนที่เซ็นในรายงานการประชุมคือนายเศรษฐา ซึ่งตอนนั้นเป็นซีอีโอหรือกรรมการบริษัท ต้องการซื้อที่ 12 คน ซื้อคนละวันกัน เจตนาเพื่ออะไร เพราะเวลาคิดภาษีทีละแปลง ราคาก็น้อยลง จากที่ตกลงซื้อกันในราคากว่า 1570 ล้านบาท แต่เมื่อแยกแปลงออกไป เสียภาษีเพียง 59 ล้านบาท ซึ่งถ้าแสนสิริตรงไปตรงมา ซื้อที่ดินแปลงทั้งแปลงโดยไม่ได้แยกส่วนแบบนี้ จะเสียภาษีที่ดินอยู่ที่ 580 ล้านบาท เท่ากับหายไป 500 กว่าล้านบาท แทนที่เงินนี้จะเข้าหลวง


เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงแบบนี้แล้ว นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเป็นเรื่องการวางแผนภาษีของทางบริษัท ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าการวางแผนภาษีบริษัททำให้รัฐเสียหาย แทนที่จะได้รับภาษี แต่กลับเสียภาษี มันไม่ใช่แล้ว จึงตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นการเลี่ยงภาษีทำให้รัฐเสียหายหรือไม่


“เรื่องนี้ชัดเจนมีพยานหลักฐานอยู่ ดังนั้นการเลือกนายกฯ ครั้งนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ประเทศชาติจะเจริญได้ต้องเลือกคนซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรม ผมเชื่อว่าสว.ทุกคนในที่นี้ มีสิทธิ์เลือก มีจริยธรรมทุกคน ถ้ารู้ข้อเท็จจริงแบบนี้เขาพิจารณาได้ว่าจะเลือกหรือไม่ แล้วอย่าลืมว่าเวลาที่ให้คำปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์ในการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพราะผมได้ยินข่าวไม่ดีว่ามีการแจกกล้วยให้สว. ขอพูดตรงๆว่าเป็นคนดีๆไม่ชอบ อยากจะเป็นลิง อยากจะไปกินกล้วยชาวบ้านเขา ผมว่าผิดคำสาบาน ต่อไปจะโดนลงโทษ” นายวิวรรธน์ กล่าว

-------------

นายวุฒิพันธ์  วิชัยรัตน์ สว. อภิปรายว่า ผ่านมา 100 วัน รัฐสภายังไม่บรรลุการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ประเทศตกอยู่ในวังวน วังเวง ประชาชนเคว้งคว้าง ขอให้ สว.ทำหน้าที่พาประเทศออกจากวังวน เพราะความล่าช้าการเลือกนายกฯคือต้นทุนที่สูงของประเทศที่ประเมินค่าไม่ได้ ต้องยุติความสูญเสียไม่ให้เรื้อรัง ความเนิ่นช้าการเลือกนายกฯ คือความรับผิดชอบ ร่วมกันของ สว.

-------------

นายมณเฑียร บุญตัน สว. กล่าวอภิปรายว่า ตนจะยกมือโหวตให้แบบเดียวกับวันที่ 13 ก.ค. เพราะระบบการปกครองประเทศไทยเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดจากการรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีที่เราอยู่ในห้วงเวลาพิเศษนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาทำหน้าที่ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อลงมติเห็นชอบ เพราะฉะนั้นแเราก็จำเป็นต้องทำหน้าที่


เพียงแต่ตนเห็นแล้วว่าการทำหน้าที่ในครั้งนี้เป็นการทำหน้าที่ในสถานการณ์การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่ปกติแล้ว เราไม่ได้อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลรักษาการหลังการยึดอำนาจไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เราอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งชุดหนึ่งไปยังอีกชุดหนึ่ง


ดังนั้น ตนจึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ สว.จะทำหน้าที่วินิจฉัยผิดแผกแตกต่างไปจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นหลักการเดิมที่ตนใช้


นายมณเฑียร ระบุว่า ตนขอเรียนว่าตนไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่นัก ต่อเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นข้อกล่าวหาต่างๆ นานา การเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนฝ่าย สลายขั้วจริงๆ โดยหลักการก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เสียหายอะไร เพราะในระบบรัฐสภาในประเทศไหนก็มีการจับคู่ เปลี่ยนขั้ว สลายขั้ว ระหว่างซ้ายกับขวา กลางกับขวา กลางกับซ้ายอยู่ตลอดเวลา

------------

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว. อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดแก้รัฐธรรมนูญทันทีที่ประชุมครม.นัดแรก อยากถามว่า รัฐธรรมนูญปี 60มีปัญหาอะไรให้เร่งแก้ไข เป็นเพราะรัฐธรรมนูญนี้ มีกลไกป้องกันนักการเมืองทุจริตเข้มงวด อาทิ ตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต การให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ กลไกเหล่านี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยที่มักมีปัญหาทุจริต คนสำคัญบางคนต้องหลบหนีคดี เพราะไม่มีอายุความ จำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศไทยมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม


ดังนั้นหากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กลไกขจัดนักการเมืองทุจริตจะหายไป  สอดคล้องความต้องการบางพรรคการเมืองที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญหมวดสถาบัน การแย่งแยกราชอาณาจักร การทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่จะยิ่งสร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น เพราะการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างอำนาจองค์กรอิสระ ลบล้างความผิดให้นักการเมืองทุจริต เพิ่มประเด็นความขัดแย้งมากขึ้น จะกระทบความมั่นคงชาติร้ายแรงมากกว่าการแก้ มาตรา 112 ดังนั้นจะสนับสนุนนายกฯพรรคเพื่อไทยได้อย่างไร แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยจะเสียสัตย์ ให้ประเทศสงบ ยืนยันจะไม่เสนอแก้รัฐธรรมนูญทันที แต่จะเสนอในห้วงเหมาะสม เมื่อสังคมสงบสุข การเสียสัตย์ครั้งนี้จะได้รับคำสรรเสริญทำเพื่อประเทศ ถ้าทำเช่นนี้ จะสนับสนุนนายกฯเพื่อไทย

-------------

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. อภิปรายว่า สว.ควรใช้อำนาจเลือกนายกฯอย่างมีขอบเขต การให้ความเห็นชอบนายกฯวันนี้เห็นควรกลับคืนสู่หลักการทั่วไปคือ ให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร เพราะแคนดิเดตนายกฯ ที่ได้รับการเสนอชื่อไม่มีหลักคิดเป็นอันตราย ส่วนการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถือเป็นภยันอันตรายหรือไม่นั้น เห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเกือบทุกพรรคการเมือง การจะให้ครม.ทำประชามติในวันแรกการประชุมครม. ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะการทำประชามติและการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี  ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เคารพผลการลงประชามติ แต่เพื่อความสบายใจของรัฐสภาและประชาชน ควรชี้แจงให้ชัดเจนเพื่อสร้างความสบายใจว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญนั้น ควรรับฟังความเห็นจากทุกพรรค สว. ผ่านการพูดคุยให้มากสุด และรูปแบบ ส.ส.ร.ที่จะเกิดขึ้น ต้องผ่านความเห็นจากสภาฯก่อน รวมถึงทบทวนระยะเวลาทำประชามติจะเป็นประโยชน์ ถ้าทำได้ก็จะให้ความเห็นชอบนายกฯตามเสียงข้างมาก.

-------------
นายประพันธ์ คูณมี สว. อภิปรายว่า ตนไม่ได้ให้น้ำหนักไปที่พรรคการเมือง แต่พิจารณาตามรายบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อมา สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ไม่ได้หมายความว่าพรรครวมเสียงได้ เป็นเสียงข้างมากแล้วจะโหวตให้ แต่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้าม จึงเป็นจุดยืนที่แตกต่างกัน ตนจำเป็นต้องทำหน้าที่ตรงนี้


“ประชาชนอาจจะเลือกนโยบาย อาจจะเลือกบุคลิกภาพ หน้าตาหล่อเหลา ประชาชนอาจจะเลือกเพราะมีบุญคุณ แต่เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีเราต้องตรวจสอบในเชิงลึกตัวบุคคลผู้นั้นมีคุณสมบัติหรือไม่ เพราะแม้กระทั่ง กกต. ก็ยังไม่ได้ตรวจสอบ จึงได้มีคนเล็ดลอดมาว่าติดคุกก็สามารถสมัครผู้แทนได้ เพราะฉะนั้นการตรวจสอบจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง”


นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า กรณีนายเศรษฐา ตนไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว ไม่ได้มีอคติ แต่เป็นส่วนที่ตนเกี่ยวข้องและเห็นพฤติกรรมและการกระทำของนายเศรษฐา ซึ่งหวังว่าควรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข และทำให้ถูกต้อง เพราะหากเป็นอยู่เช่นเดิมก็ไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี


นายประพันธ์ ยกกรณีสะพานโครงการบริษัทแสนสิริ โดยบริษัทแสนสิริได้พัฒนาพื้นที่โดยซื้อที่ดินตาบอด ติดทางด่วนรามอินทรา ซึ่งไม่สามารถพัฒนาได้ ทำให้บริษัทได้ไปขออนุญาตกทม.ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง เชื่อมต่อที่ดินฝั่งอ่อนนุช ข้ามไปยังฝั่งพระโขนง เพื่อพัฒนาโครงการThe Base Park และ The Base Park East 3,200 ยูนิต จำนวน 3,200 ยูนิต


“เขาเอาที่ดินที่ได้สิทธิ์ภาระจำยอมมา รวม 8 แปลง หากเขาได้สร้างโครงการนี้จะสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนงและจะเอาที่ดิน 8 แปลงนี้เป็นทาง ยินยอมให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใช้ประโยชน์สะพานและถนนภาระจำยอม ทุกคนก็ยอมให้เป็นประโยชน์สาธารณะและให้คนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน” นายประพันธ์ กล่าว


นายประพันธ์ กล่าวว่า บริษัทแสนสิรินำที่ดินถนนภาระจำยอมมายื่นร่วมในการขออนุญาตก่อสร้างสะพาน มีข้อตกลงยินยอมให้ประชาชน สามารถใช้สะพานดังกล่าวในการสัญจรได้ฟรี กทม.จึงยินยอมให้สร้าง เมื่อสร้างเสร็จไปตั้งชื่อสะพานว่า “แสนสำราญ” มีการเก็บเงินค่าผ่านทางจากผู้ใช้ทาง ไม่เป็นไปตามข้อตกลงกับกทม. มีการเก็บเงินมาตั้งแต่ปี 2558 โดยเรียกเก็บรถจักรยานยนต์ครั้งละ 10 บาท และรถยนต์ ครั้งละ 20 บาท ในวันหนึ่งมีรถยนต์ผ่านเข้าออกราวหมื่นคัน ขอให้ลองดูว่าเป็นเงินเท่าไหร่


“บริษัทแสนสิริ ขออนุญาตเรื่องนี้และได้ที่ดินภาระจำยอมทั้งหมดมา ยินยอมให้บุคคลทั่วไปใช้ สอดคล้องกับระเบียบกรุงเทพมหานคร เขาจึงได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง” นายประพันธ์ กล่าว


นายประพันธ์ ย้ำว่าตอนนี้ชาวบ้านเปลี่ยนชื่อสะพานเป็นสะพานแสนรำคาญแล้ว ตนเรียกร้องมาโดยตลอดว่าให้ยกเป็นที่ดินสาธารณะ ตอนนี้เขาเก็บเงินมา 8-9 ปีแล้ว


จนกระทั่งนายศรีสุวรรณ จรรยา นำเรื่องไปยื่นต่อกทม.ให้ตรวจสอบ ล่าสุดเดือนมี.ค.2566 จึงยอมยกเลิกเก็บค่าผ่านทางดังกล่าว ดังนั้นจำเป็นต้องตรวจสอบนายเศรษฐา สมควรเป็นนายกฯหรือไม่


“รู้ว่ามันผิดกฎหมายผิดจริยธรรมกลับมาชี้แจงแบบดื้อด้าน ผมตั้งชื่อสะพานดื้อด้าน ไม่อยากใช้คำว่าหน้าด้าน เดี๋ยวไม่เหมาะสม ชี้แจงมาได้ว่าตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องได้อย่างไร สร้างสะพานในนามบริษัทตัวเองทั้งนั้น ได้ประโยชน์สาธารณะแล้วยังมาเบียดบังประชาชน” นายประพันธ์ กล่าว


นายประพันธ์ กล่าวว่า หากพรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ยืนยันว่าไม่ทำสิ่งเหล่านี้อีกต่อไปแล้วพรรคเพื่อไทยได้เป็นนายกฯ จะไม่เอาอำนาจไปเบียดบังเอาสมบัติสาธารณะไปหากิน ตนจะยินดีโหวตให้

-------------


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/qDe9J0s1tG8













คุณอาจสนใจ

Related News