เลือกตั้งและการเมือง

'วันนอร์' เดือดจัด หลัง ส.ส.ก้าวไกล กล่าวหารู้เห็นเป็นใจเสียงข้างมาก ฉุนสั่งนั่งลงเสียงเข้ม

โดย nattachat_c

23 ส.ค. 2566

27 views

วานนี้ (22 ส.ค. 66) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


โดยก่อนเข้าสู่วาระ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นทักท้วง กรณีที่ประธานรัฐสภาไม่มีการบรรจุญัตติของตนเอง ที่ค้างอยู่ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 กรณีการขอให้ที่ประชุมรัฐสภาทบทวนมติวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ไม่ให้มีการเสนอชื่อบุคคลซ้ำ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่


โดย นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เหตุใดไม่บรรจุญัตติการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 เพื่อให้มีการตีความให้เกิดความชัดเจน การอ้างข้อบังคับการประชุม ข้อ 151 ว่า มติใดที่ประชุมมีความเห็นเป็นเด็ดขาดแล้ว ไม่สามารถทบทวนไม่ได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องถือตามคำวินิจฉัยตลอดไป โดยไม่สามารถทบทวนได้ แต่หากรัฐสภาจะทบทวนสิ่งที่เคยวินิจฉัยไปย่อมทำได้ เช่นเดียวกับที่ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยทบทวนคำพิพากษาตัวเอง


รัฐธรรมนูญระบุชัดว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีให้เลือกจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอมา แม้จะเสนอชื่อใครไปแล้ว ถ้าลงมติไม่ผ่าน ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญระบุว่า บุคคลนั้นไม่นับเป็นแคนดิเดตอีกต่อไป ความเป็นแคนดิเดตยังมีอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ขอให้กลับมาสร้างบรรทัดฐานที่ถูก


“พวกท่านอาจไม่อยากให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อย่าถึงขั้นเผาบ้านเพื่อไล่หนูตัวเดียว เราจะวางบรรทัดฐานกันถึงขนาดนั้นเลยใช่ไหม” นายรังสิมันต์กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ได้ตัดบทขอให้นายรังสิมันต์หยุดอภิปรายเพราะพูดมานานแล้ว ไม่ได้ขัดขวางการอภิปราย แต่นายรังสิมันต์ได้พูดครบประเด็นจนสมาชิกเข้าใจแล้ว ควรพอเท่านี้


อีกทั้งในการประชุมวิป 3 ฝ่าย ก็มีการรับรองความเห็นฝ่ายกฎหมายรัฐสภา บอกว่ามติที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถทบทวนได้ เพราะเป็นความเห็นเด็ดขาดไปแล้ว ถ้าไปทบทวนอาจเกิดความลังเลได้ ดังนั้น ในฐานะประธานรัฐสภา ขอใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 ใช้อำนาจวินิจฉัยไม่รับญัตติด่วนของนายรังสิมันต์ที่เสนอด้วยวาจา รวมถึงญัตติ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่เสนอญัตติคัดค้านญัตตินายรังสิมันต์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม


ปรากฏว่า ส.ส.ก้าวไกลหลายคน ทั้งนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กทม. พยายามโต้แย้งคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ทำให้เสียเวลาไปร่วม 30 นาที


โดยเฉพาะ นายธีรัจชัย กล่าวว่า ประธานรัฐสภาวางตัวไม่เป็นกลาง รู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมาก ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ไม่พอใจ กล่าวตอบโต้ด้วยสีหน้าน้ำเสียงไม่สบอารมณ์ทันที ว่า ขอให้นายธีรัจชัยถอนคำพูดว่าตนรู้เห็นเป็นใจ ถ้าไม่ถอนคำพูดจะไม่อนุญาตให้พูดต่อ เพราะเป็นการกล่าวหาตนอย่างรุนแรงว่าตนรู้เห็นเป็นใจ จะมากล่าวหาว่ารู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมากได้อย่างไร เพราะเสียงข้างมากลงมตินั้น ไม่รู้ว่าเสียงข้างมากจะเป็นอย่างไร ด้วยความสัตย์จริง ตนไม่รู้เลยว่าเสียงข้างมากจะเป็นอย่างไร ตนยังนึกด้วยว่าเสียงข้างมากจะไม่เห็นด้วยด้วยซ้ำไป เมื่อมีคนเสนอเข้ามาก็ต้องพิจารณาตามนั้น นายธีรัจชัยต้องเข้าใจ เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและซึ่งกันและกัน ตนซื่อสัตย์ต่อตนเอง ถ้าไม่ถอน ตนไม่ให้พูด ขอให้นั่งลง


แต่นายธีรัจชัยพยายามจะพูดต่อ ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวอย่างฉุนเฉียวว่า “ขอให้นั่งลง จะนั่งลงไหม จะนั่งลงไหม จะนั่งลงหรือเปล่า คุณกล่าวหาคุณไม่ถอนไม่ได้ คำสั่งของประธานถือว่าเด็ดขาด” ทำให้นายธีรัจชัยมีท่าทีอ่อนลง


หลังการปะทะคารมณ์กัน ระหว่างนายวันมูหะมัดนอร์ กับนายธีรัจชัย เสร็จสิ้น นายรังสิมันต์ ได้ลุกขึ้น ขอถอนญัตติด่วนด้วยว่าจาดังกล่าว เพื่อให้รัฐสภาสามารถเดินหน้าเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป


โดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคฯ ได้ลุกขึ้น เพื่อเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน บุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 พร้อมยืนยันว่า นายเศรษฐา มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

-------------



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/1rzy7M9OMGs

คุณอาจสนใจ

Related News