เลือกตั้งและการเมือง

เช็กมุมมองการแก้ไข ม.112 จาก 'ชัยธวัช - อดิศร - ส.ว.คำนูณ - ไอติม พริษฐ์' กลางที่ประชุมสภา

โดย thichaphat_d

14 ก.ค. 2566

113 views

วานนี้ (13 ก.ค. 66) ที่รัฐสภามีการประชุมร่วมรัฐสภาฯ เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นมาเสนอชื่อ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น ไม่มีใครลุกขึ้นมาเสนอชื่อคนอื่นอีก จึงทำให้ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว


นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายย้ำว่า ต้องลงมติให้นายพิธาเป็นนายกฯ คนต่อไปแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยปกติของรัฐสภา


นายชัยธวัช กล่าวว่า ประชาชนทั้งประเทศได้ใช้วิจารณญาณของตัวเองพิจารณาลงมติหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่าเทียมกันผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 พ.ค. และผลปรากฏว่า พรรคก้าวไกล ซึ่งเสนอนายพิธาลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมได้เสียงข้างมากในสภาฯ 312 เสียง ควรได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามครรลองตรงไปตรงมา


แต่บรรยากาศที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองตลอด 2 เดือนดังๆ ของพี่น้องประชาชนในใจเป็นล้านๆ คนที่กำลังเฝ้าดูวันนี้ว่า หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง แล้วเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม ตกลงอำนาจอธิปไตยของประชาชาในประเทศนี้ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ หรือเป็นของใครกันแน่ ยังมีคำถามโตๆ ว่าตกลงประชาชนอยู่ตรงไหนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของเรา


คำถามเหล่านี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดเเต่เป็นคำถามที่ดังขึ้นตลอด 2 ทศวรรษ เราผ่านเลือกตั้ง 2 ครั้ง รัฐประหาร 2 ครั้ง เขียนรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ทหารพยายามจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร 1 ครั้ง ยุบพรรคการเมือง ชุมนุมนับไม่ถ้วน มีผู้บาดเจ็บและเวียชีวิตนับร้อยชีวิต สังคมไทยยังไม่สามารถให้คำตอบที่ดีและยอมรับร่วมกันได้


ปัญหาคือตราบใดที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ ประเทศไทยจะหยุดนิ่งไปอีกนาน ตนในฐานะสมาชิกรัฐสภา เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและการลงมติในวันนี้จะเป็นโอกาสสำคัญของพวกเราที่จะเริ่มต้นในการแสวงหาคำตอบให้สังคมไทย


สมาชิกอาจจะไม่เห็นด้วยในหลายเรื่อง มีข้อกล่าวหามากมาย ท่านอาจกังวลใจที่ถูกอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นสถาบันหลักของชาติ เจตนาที่แท้จริงของการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 เป็นอย่างไร


ตนไม่ขอลงรายละเอียด แต่ประเด็นสำคัญที่อยากกล่าวเอาไว้คือข้อเสนอของพรรคก้าวไกล อยู่บนฐานความคิด สถาบันหลักของชาติ หรือสถาบันการเมืองใดๆ ดำรงอยู่ได้ ด้วยความยินยอมของประชาชน ไม่มีสถาบันใดดำรงอยู่ได้ด้วยการกด ปราบ บังคับ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องการเตือนสติทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกรัฐสภา และทุกฝ่าย ขอให้ตั้งสติ และมองการณ์ไกลในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สถาบันดำรงอยู่ได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง เราไม่เชื่อว่าสิ่งใดจะสถิตอยู่เหมือนเดิมทุกประการแล้วจะมั่นคงถาวร


“หลายคนบอกว่าการลงมติให้นายพิธาจากพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ เป็นการล้มล้างสถาบัน เป็นการไม่รักชาติ เป็นตัวอย่างที่พวกผมพยายามบอกว่า ไม่ควรเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย เพราะสถาบันในระบอบประชาธิปไตย ต้องอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง อันตรายมาก หากต่างฝ่ายต่างดึงเรื่องนี้ เข้ามาพัวพันความขัดแย้งทางการเมืองไม่สมควร ที่จะดึงสถาบันเข้ามาปะทะกับผลการเลือกตั้ง ซึ่งใครจะรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น” นายชัยธวัช กล่าว


นายชัยธวัช กล่าวอีกว่าลงมติคืนความปกติให้รัฐสภาไทย และแสดงความเคารพต่อประชาชน รวมถึงให้โอกาสครั้งใหม่ให้กับสังคมไทย เป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาคำตอบของยุคสมัยร่วมกันให้ได้ ขอให้ปะชาชนซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์ในระบอบประชาธปไตย คุ้มครองสมาชิกรัฐสภา ให้ตัดสินใจตามมโนธรรมสำนึกและยึดตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

------------
นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายในการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทย


โดยนายอดิศร กล่าวว่า พรรคการเมืองต่างๆ ที่อยู่ในรัฐสภาแห่งนี้ ได้ผ่านการเลือกตั้ง ผ่านความยากลำบากในการแข่งขันเมื่อวันที่ 14 พ.ค. เป็นสนามที่ประชาชนกลั่นกรองพวกเรา ผู้สื่อข่าวกลั่นกรองพวกเรา องค์กรอิสระกลั่นกรองพวกเรา แทบเอาตัวไม่รอดซักพรรค จึงขออนุญาตแสดงความดีใจกับ ส.ส. ทุกท่าน ทุกพรรค โดยทุกคนเป็นฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมด แต่เวทีหาเสียงอาจจะต่างกันบ้าง แต่วันนี้เป็นฝ่ายประชาธิปไตยทั้งนั้น จะมาทำหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน


นายอดิศร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้เฉพาะ ส.ส. โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญแก่ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ได้ 2 ครั้ง ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ของท่านผมจะไม่ก้าวก่าย ก้าวล่วงไปถึงดุลพินิจของ ส.ว. ผู้ทรงเกียรติ ผมถือว่าท่านเป็นผู้ที่มีความรู้จะชี้ผิดชี้ถูก แต่ความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันได้ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ได้คะแนนเกิน 250 เสียง โดยพรรคก้าวไกลได้คะแนนมากกว่าเพื่อนคือ 151 ที่นั่ง ตามติดมาด้วยพรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง เป็นไข่เป็ดกับไข่ไก่เบอร์ศูนย์มาด้วยกัน


“คราวนี้เหมือนไข่เป็ด ไข่ไก่ เปรียบเสมือนข้าวต้มมัดของประชาชน เป็นตอกที่จะมัด ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลไปอยู่ด้วยกัน ห้ามหนีจากกัน จึงมีการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นม่ 8 พรรคการเมือง”


นายอดิศร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคารพกติกาประชาธิปไตยในฝ่ายบริหาร เมื่อพรรคก้าวไกลได้ 151 ที่นั่ง เราสมัครใจภูมิใจที่จะสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นผู้นำในฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรีตั้งแต่ต้น และได้รวบรวมเสียงต่างๆ มาเป็น 312 เสียง ณ วันนี้พรรคเพื่อไทยยืนยัน 100% ยกมือสนับสนุนนายพิธา ไม่ว่าจะคิดตรงกันหรือไม่ แต่ผู้พิพากษาตัวจริง ได้ตัดสินพิพากษาความไปแล้ว ไม่มีศาลอื่นใด ที่จะมาตัดสินความเรื่องประชาธิปไตย 14 พ.ค. ได้พิพากษาโดยเด็ดขาดไม่มีผู้แทนฎีกา ต้องให้พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคการเมือง 8 พรรคร่วม ต้องไปทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี


“ขอกราบขอบคุณฝ่ายรักษาการรัฐบาล ที่ไม่เสนอชื่อมาแข่ง หากเคารพเสียงประชาธิปไตย ก็เป็นเรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องยาก การเลือกตั้งจบไปแล้วแต่ตอนนี้เหมือนการลากตั้ง จึงเป็นปัญหาที่จะต้องมีคนดึงขาคนที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง ผมอยากให้พี่น้องประชาชนชาวไทย เจ้าของอำนาจอธิปไตยแท้จริง เขาอยากเห็นรัฐบาลอยากมีนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่ได้ 151 เสียง ขึ้นเป็นนายกฯ”


นายอดิศร ระบุว่า อาจจะมีคนคลางแคลงสงสัยใจ ว่าพรรคเพื่อไทยจริงใจหรือไม่ แต่ผมขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจริงใจ รู้กติกา เพราะเราก่อตั้งมาแล้ว 22 ปี เรามีบทเรียน เราเคยได้คะแนนเด็ดขาด 377 เสียง แต่ครั้งนี้ก้าวไกลเป็นส้มตำที่เผ็ดกว่าเรา ใส่พริกมากกว่าเรา แต่เรายังเป็นเพื่อนกันเวลานี้ต้องเปิดโอกาสให้น้องผม คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีเงื่อนไข จึงกราบเรียนไปทางสมาชิกรัฐสภาให้ได้เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประเทศ


“ความศรัทธาจะเกิดขึ้นหรือไม่ อยู่ที่การกระทำของ ส.ส. และ ส.ว. ประชาชนจะให้ความศรัทธาหรือไม่ ก็อยู่ที่การกระทำวันนี้ว่าจะเดินอย่างไร”


นายอดิศร ยังระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องแก้ไขไม่มีที่ไหนในโลก ที่ทั้ง 2 สภามานั่งพูดคุยกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะสร้างชื่อเสียให้กับรัฐสภา


“ขอสัญญาจะเลือกพิธาเป็นนายก ขอสมาชิกรัฐสภายกมือสนับสนุน ประชาชนเขาเลือกมานั้นเป็นทุน พิธาจะทำงานแทนคุณประเทศเอย” นายอดิศร กล่าว

-------------
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวอภิปราย ระหว่างการประชุมรัฐสภา ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ประเด็นส่วนใหญ่ที่สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว.ที่ยังติดใจ คือ นโยบายแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งระบุว่าที่ผ่านมา 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ลงนาม MOU ในตอนขึ้นต้น เขียนว่า ภารกิจของรัฐบาลที่จะทำนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ขององค์พระมหากษัตริย์


นอกจากนี้แนวทางการทำงาน ยังระบุไว้ในท้าย MOU ยังกล่าวไว้ชัดเจน ทุกพรรคสามารถผลักดันนโยบายพรรคของตัวเองได้ ซึ่งที่น่าสนใจ คือ ในข้อ 5 ซึ่งต้องไม่ขัดนโยบายในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้


ดังนั้น คำถามแรกของผู้สื่อข่าวกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เรื่องนโยบายแก้ไขมาตรา 112 จะดำเนินการอย่างไร โดยนายพิธา ก็พูดชัดเจนจะผลักดันต่อไป “เป็นวินาทีย้อนแย้งทางประวัติศาสตร์ ผมจึงรับไม่ได้ในประเด็นนี้ เพราะการแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล ซึ่งในปี 2562 ที่ไม่ถูกบรรจุแก้ไข จากอดีตประธานสภาฯ เพราะร่างที่เสนอมานั้นอาจขัดแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 6”


นายคำนูณ กล่าวว่า กว่า 90 ปีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แบบนี้ และ 67 ปีตามประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้แบบนี้ แต่สิ่งที่แก้ไขตามแนวทางนั้น กระทบ การคุ้มครองพระมหากษัตริย์ เด็ดขาด มาเป็นการคุ้มครองแบบมีเงื่อนไข ให้เป็นคคดียอมความได้ จำกัดผู้ร้องทุกข์ “นี่เป็นกระดุมเม็ดแรกที่ผิดคือการย้ายหมวดจากความมั่นคงของ กลายเป็นคดีหมิ่นประมาทในระนาบบุคคลธรรมดา ไม่ใช่หลักตามรัฐธรรมนูญ”


นายคำนูณ กล่าวว่า การกำหนดความผิด ที่เขียนกว้างเป็นมหาสมุทรแปซิฟิก “ถ้าแก้ไขสำเร็จ การหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหา ถ้าสุจริต ไม่เป็นความผิด ต่อไปการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่เป็นความผิด และยังมีบทยกเว้นโทษ คือหากพิสูจน์ได้ว่าเรื่องนั้นเป็นความจริง ก็ไม่ต้องรับโทษ” ที่สำคัญไม่ได้จำกัดแค่กระทบสถานะพระมหกษัตริย์ แต่ก้อนต่อมาที่ใหญ่พอๆ กัน นอกจากกระดุมเม็ดแรก เปรียบบุคลทั่วไปในสังคม และ ลดโทษลงมาต่ำมาก


นายคำนูณ ระบุว่า คนไม่เห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลได้ และเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการแก้ไขครั้งนี้มีหลัก สำคัญ 3 ประการ คือ 1.กระทบการดำรงอยู่พระมหากษัตริย์ 2.เสมือนเป็นการแก้รัฐธรรมนูญทางประตูหลัง เกี่ยวข้องกับบทคุ้มครองพระมหากษัตริย์ และ 3.เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตนดูแนวทาง และร่างที่เคยเสนอต่อสภาเมื่อปี 2564 เป็นการนิรโทษกรรมผู้ต้องหา และจำเลยที่กระทำผิด มาตรา 112 โดยปริยาย


“เรื่องนี้พรรคท่าน พยายามชี้แจงกับผม และสมาชิกบางคน เราได้พูดคุยว่าเราเห็นตรงกัน เรื่องการแก้ มาตรา 112 ยังอีกยาวไกล และเมื่อเสนอก็ไม่รู้จะผ่านหรือไม่ผ่าน”


นายคำนูณ กล่าวว่า ตนเห็นแววตาของ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล “รู้ดีว่าท่านมีความเป็นผู้นำ ที่มีความสันทัดรุกได้ ถอยเป็น ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 เดือน คนอย่างพวกผม รอฟังว่าเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 จะเว้นได้ไหม ถอยได้ไหม แต่ท่านยืนยันไม่ถอย ผมเข้าใจและเคารพว่าท่าน และพรรคเชื่อมั่นในการแก้ไขตามแนวทางนี้ จึงขอให้ท่านเคารพในความเชื่อ และอุดมการณ์ของผม และส.ว.จำนวนหนึ่งด้วย ว่าเรามีความคิด มีความเชื่อ และคนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะใน 14 ล้านเสียงที่เลือกท่าน และ 25 ล้านเสียงเลือกพรรคร่วมรัฐบาล และจำนวนมากที่ไม่ได้เลือก เขาไม่ได้เห็นว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายมาตราหนึ่ง แต่เป็นมรดกวัฒนธรามที่สืบทอดยาวนานสังคมไทย ความผูกพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน และการรักษาวัฒนธรรมนี้ไว้เป็นสิ่งที่ควรจะทำ


ดังนั้น สื่อมวลชนหลายคนถามตนว่า จะโหวตนายกรัฐมนตรีอย่างไร “ผมรอวินาทีสุดท้าย เพื่อดูว่าความเป็นผู้นำที่รุกได้ ถอยเป็นจะชี้แจงอย่างไร และเชื่อได้หรือไม่ เพราะแม้ MOU ที่เขียนไว้ชัดเจน ความย้อนแย้งก็เกิดขึ้น”


นายคำนูณ ยังกล่าวถึง ที่มีคนตั้งคำถามว่า มีส.ว.ไว้ทำไม ก็ย้ำความเป็นส.ว. นอกจากกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่ง และปฏิรูปกฎหมาย ยังมีเรื่องการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่เท่าที่เป็นมา มิให้กระทบ หรือลดทอนลงไป เพราะการแก้ 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล “เป็นภารกิจสำคัญหนึ่งของส.ว. ดังนั้นการตัดสินใจโหวต จึงยึดประเด็นนี้สำคัญ ตนไม่อาจรับได้ ไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับแนวทางของพรรคก้าวไกลได้”

------------

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นชี้แจง ระหว่างการประชุมรัฐสภา ก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ภายหลังนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายพาดพิงพรรคก้าว กรณีการแก้ไขมาตรา 112 ว่า หลายประเด็นหากไม่อธิบาย จะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดอย่างแรง ก็ยกกรณีที่ตั้งคำถามว่า ทำไมพรรคก้าวไกลถึงรุกได้ แต่ถอยไม่เป็น ว่าเรื่องนี้มาจากสถานการณ์ที่มีการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112 อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดี ถึง 253 คน จาก 272 คดี เราไม่เคยเกิดปรากฎการณ์แบบนี้มาก่อน


“ในสถานการณ์เช่นนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกล จึงได้หารือกันว่าในฐานะผู้แทนราษฎร จะทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาใหญ่ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกโจมตีทางการเมือง หรือใช้สถานะส.ส. กล้าหาญที่จะเสนอหลักการ หลักคิดที่ถูกต้องและควรจะเป็น ซึ่งจะเป็นระเบิดทางการเมืองในอนาคต ไม่ใช่เรื่องนึกสนุก หรือ คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทางประตูหลัง”


ส่วนที่มีการตั้งคำถามข้อเสนอของพรรคก้าวไกลให้มีการลดโทษ ยกเว้น ในการแก้ไขมาตรา 112 ว่า นี่หรือคือหน้าตาของคนรุ่นใหม่อยากเห็น นายชัยธวัช กล่าวว่า นี่ไม่ใช่สังคมใหม่ที่วุ่นวายอะไร แต่ข้อเสนอนี้มาจากหลักการสากล ในนานาอารยประเทศ ซึ่งเนื้อหาตามร่างแก้ไขของพรรคก้าวไกล เสนอสภาสมัยที่แล้ว เป็นไปเพื่อประกันเสรีภาพ สอดคล้องตามหลักประชาธิปไตยสมัยใหม่

------------

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นชี้แจง หลังส.ว. พาดพิงพรรคก้าวไกล ว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ค่อนข้างร้ายแรง โดยกล่าวหาว่านโยบายบางส่วนของพรรคก้าวไกล มีจุดมุ่งหมายในการล้มล้างการปกครอง โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา 112 ซึ่งวันนี้หากตน เป็นบุคคลธรรมดา เมื่อมาฟังการอภิปรายวันนี้อาจจะหลงคิดได้ว่าไม่ได้เป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการอภิปรายในวาระที่หนึ่ง เพื่อพิจารณาหลักการและเหตุผลของการเสนอกฎหมายหรือแก้ไขมาตรา 112 ซึ่ง เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเป็นบทพิสูจน์เรื่องนี้สามารถ ถกเถียงกันได้ในรัฐสภาแห่งนี้


พร้อมยืนยัน เหตุผลและหลักการที่พรรคก้าวไกลบรรจุประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เป็น 1 ใน 300 นโยบาย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพยายามพัฒนา และรักษาความสัมพันธ์ ประชาชนระหว่างพระมหากษัตริย์ กับประชาชนภายใต้บริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในมุมมองของพรรคก้าวไกล มองว่าจะดีขึ้นได้ จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขม.112 เพื่อรักษาสมดุลให้ดีขึ้น ระหว่างคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กับการคุ้มครองประมุขจากฐานหมิ่นประมาท และจำเป็นต้องพูดถึง 3 ปัญหา คือ 1.ขอบเขตของการบังคับใช้ ซึ่งมีหลายกรณีที่ถูกดำเนินคดีที่ดูแล้ว จากสามัญสำนึกไม่น่าเข้าข่าย การหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้าย 2. การปรับอัตราโทษให้ได้สัดส่วนมากขึ้นจากฐานความผิด 3. การจำกัดสิทธิ์ในการร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้กฎหมายในการคุ้มครองประมุข ถูกนำไปกันแกล้งฝ่ายตรงข้าม ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกันแกล้งฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นข้อเสนอการแก้ไขมาตรา 112 จึงเป็นข้อเสนอที่ไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง และสอดคล้องกับหลักสากลของการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข


ส่วนข้อกล่าวหาพรรคก้าวไกลที่ระบุว่าเข้าใจไม่เข้าใจระบบการปกครองแบบรัฐสภา แต่เป็นระบบประธานาธิบดี โดยนายพริษฐ์ โต้แย้งว่า เราเข้าใจดีในระบบรัฐสภาแบบปกติหน้าตาเป็นอย่างไร จึงขอชวนสมาชิกรัฐสภาทุกท่านตั้งสติไปด้วยกัน คืออะไรว่ะคำถามที่สำคัญในวันนี้คืออะไร เพราะสำหรับตนไม่ใช่ถามว่าพวกเรา 750 คน คิดเห็นอย่างไรกับคุณสมบัติของนายพิธาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล หรือคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายของพรรคก้าวไกล

แต่คำถามที่สำคัญที่สุดคือพวกเราพร้อมที่จะเคารพเสียงของประชาชน 40 ล้านคนที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และออกมาขัดแย้ง ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่วันเลือกตั้ง ตามความเข้าใจในระบบรัฐสภาตามปกติว่าใครจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็มีความชัดเจนแล้ว แต่ข่าวร้ายของประเทศไทยและประชาชน คือประเทศเราไม่ได้อยู่ในสภาวะการเมืองที่เป็นปกติ ซึ่งเกิดจากมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เปิดช่องให้มีการแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลให้ไม่เป็นไปตามครรลอง โจทย์ที่สำคัญวันนี้คือเราจะร่วมกันกำจัด ความไม่ปกติที่สืบทอดมาจากอดีต เพื่อคืนความปกติให้กับประเทศไทยได้อย่างไร

ตนคิดว่าวันนี้เป็นโอกาสที่ดี เพื่อนสมาชิกส.ส. จะได้แสดงให้สังคมเห็น คือการคืนความปกติเคารพเสียงประชาชน รักษาระบบประชาธิปไตย ส่วนส.ว. ตนเคารพความคิดเห็นส่วนตัว แต่ย้ำว่าหากประสงค์ที่จะคืนความไม่ปกติให้สังคม ทางออกตรงนั้นคือไม่งดออกเสียง และไม่อยู่ในองค์ประชุม แต่หากท่านต้องการคือความปกติและมีความเป็นกลางทางการเมืองจริง ทางออกของท่านคือการเห็นชอบนายพิธา เพราะการขานชื่อให้นายพิธาวันนี้ไม่ได้ไว้วางใจคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่คือการให้โอกาสประชาธิปไตยได้เดินหน้าต่อ เคารพเสียงประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/ZJdp0LwgnSI

คุณอาจสนใจ

Related News