เลือกตั้งและการเมือง

"เลขา ป.ป.ช." ยังไม่ทราบ "พิธา" แจ้งยื่นค้ำหนี้ 117 ล้านแล้วหรือไม่ ขอตรวจสอบก่อน แต่พบมีค้ำ 1 รายการ

โดย kanyapak_w

9 มิ.ย. 2566

1.4K views

"เลขา ป.ป.ช." ยังไม่ทราบ "พิธา" แจ้งยื่นค้ำหนี้ 117 ล้านแล้วหรือไม่ ขอตรวจสอบก่อน แต่พบมีค้ำ 1 รายการ พร้อมให้ข้อมูล กกต. เป็นหลักฐานปม ถือหุ้น ไอทีวี



ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาส วันสถาปนาครบรอบ 25 ปี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง



โดยสื่อมวลชน ได้สอบถามถึง นายนิวัตไชย ถึงกรณีมีข่าวว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีการค้ำประกันการกู้ยืมเงินภายในบริษัทของธุรกิจในครอบครัว กว่า 117 ล้านบาท โดยที่ยังไม่ได้แจ้งรายการดังกล่าว ต่อ ป.ป.ช.ว่า เรื่องนี้ ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่เห็นว่ามีการยื่นคำร้องเข้ามา และยังไม่แน่ใจว่า นายพิธาได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแล้วหรือไม่ แต่พบว่ามี รายการค้ำประกันเงินกู้ แจ้งมา 1 รายการ แต่จำยอดไม่ได้ว่าเท่าไหร่ ขอเวลาไปตรวจสอบก่อนว่าเป็นตัวเดียวกันหรือไม่




ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการค้ำประกันเงินกู้แล้วไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สินจะมีผลทางกฎหมายหรือไม่ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การค้ำประกันยังไม่ถือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงสิทธิ หาก ลูกหนี้หากผิดนัดเจ้าหนี้ก็มีสิทธิไปเรียกร้องกับผู้ค้ำประกันได้ และจึงอาจจะเกิดหนี้ในตอนนั้น และยังมีกรณีต้องพิจารณาด้วยว่าการค้ำประกัน เป็นประเด็นที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่



ส่วนจะต้องเชิญนายพิธามาชี้แจงหรือไม่เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการตรวจสอบบัญชีตามปกติที่ยื่นเข้ามา ซึ่ง ป.ป.ช.ได้มีการตรวจสอบอยู่แล้วว่าบัญชีที่ยื่นเข้ามามีความผิดปกติหรือไม่ เป็นการค้ำประกันหนี้ให้กับใครมูลค่าเท่าไหร่




เลขาธิการ ป.ป.ช. ตอบคำถามถึง การแจ้งบัญชีทรัพย์สิน กรณีการถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด(มหาชน) ว่า นายพิธา แจ้งมาในฐานะผู้จัดการมรดกหรือเจ้าของหุ้น โดยกล่าวว่า เป็นการยื่นมาในชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ระบุจำนวนหุ้นประมาณ 42,000 หุ้น แต่ไม่ทราบว่ายื่นมาในฐานะอะไร




ส่วนหุ้นที่ยื่นมาเป็นหุ้นของสื่อมวลชนและกระทบกับคุณสมบัติหรือไม่นั้น เลขาธิการป.ป.ช.กล่าวว่า เรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไม่ใช่หน้าที่ของป.ป.ช. เพราะ ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการมีอยู่จริงของทรัพย์สิน ว่ามีการปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ส่วนทรัพย์สินนั้นจะส่งผลให้ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างไร ไม่ใช่หน้าที่ป.ป.ช. แต่อาจจะประสาน ต่อ กกต. ได้ หรือ กกต. สามารถขอข้อมูลมาเป็นหลักฐาน ประกอบการพิจารณาได้




ส่วนรายละเอียดที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.ต้องระบุประเภทกิจการของหุ้นที่ถือหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เอกสารที่ยื่นมาเป็นใบหุ้น ซึ่งระบุประเภทกิจการอยู่แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าระบุวัตถุประสงค์ ของบริษัทที่ถือหุ้นหรือไม่ ซึ่งกกต.สามารถขอเอกสารมาเป็นหลักฐานในการพิจารณาได้





ส่วนที่นายพิธาไม่ได้ยื่นหุ้นITV ตอนเข้ารับตำแหน่งนั้น นายนิวัติไชย ยืนยันว่านายพิธาได้ยื่นเพิ่มเติมเข้ามาภายหลังรับตำแหน่ง ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริง ว่ามีเจตนาอย่างไร ยังไม่สามารถตอบได้ว่าการไม่ยื่นมาช่วงรับตำแหน่งมีความผิดหรือไม่ แต่กรณีพ้นจากส.ส.ล่าสุดเข้าใจว่าได้ยื่นแล้ว และยืนยันว่า กรณีที่นายพิธายื่นเพิ่มเติมเข้ามา ไม่ได้พึ่งมายื่นในช่วงที่มีประเด็น




แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ