เลือกตั้งและการเมือง

'พิธา' ชี้ MOU เป็นวาระร่วมแค่ขั้นต่ำ ยันผลักดันนโยบายก้าวไกล - เข้าใจ 'ปิยบุตร' กังวล

โดย passamon_a

24 พ.ค. 2566

21 views

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.66 ที่อาคารอนาคตใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงกับสื่อมวลชนหลังนำทีมเข้าหารือประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมผู้บริหาร ส.อ.ท. เรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU)


นายพิธา กล่าวว่า จากเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ในเรื่องเอ็มโอยูของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ในการทำการบันทึกข้อตกลงความเข้าใจของพรรคร่วม เป็นเพียงวาระการทำงานร่วมกันขั้นต่ำ ในส่วนของพรรคก้าวไกล 300 นโยบาย ที่เคยหาเสียงไว้ ทางพรรคพยายามผลักดันต่อให้สำเร็จ ที่เป็นวาระร่วมก็อย่างที่เห็นเมื่อวาน 23 ข้อ  


ในขณะเดียวกันก็มีวาระเฉพาะของพรรคก้าวไกลที่พยายามผลักดันผ่านสองกลไก คือ กลไกการบริหาร ในฐานะที่ตนเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็จะมีอำนาจในการบริหารจัดการให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด


สองคืออำนาจรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ที่จะอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ในการผลักดันวาระที่อาจจะไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู แต่อยู่ในนโยบาย 300 ข้อ ของพรรคก้าวไกล และสามหากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวง เราก็ยังประสานงานกับรัฐบาลร่วม ในการพูดคุยเจรจาให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงผลักดันนโยบายของพรรคเราได้


นายพิธา กล่าวว่า แต่อีกหลายเรื่องก็เป็นเรื่องของนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ 45 กฎหมายที่เราได้สัญญากับประชาชนไว้ เนื่องจากเรามี ส.ส. 152 คน ก็สามารถผ่านกฎหมายเพื่อให้เกิดการถกเถียง และให้เกิดกรรมาธิการเพื่อให้ผ่านสภาเป็นกฎหมาย มีอำนาจรองรับ เช่น พ.ร.บ.น้ำประปาสะอาด พ.ร.บ.รับรองคำหน้าอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นต้น "ถึงแม้เรื่องดังกล่าวจะไม่อยู่ในวาระร่วมของรัฐบาล แต่ก็มีหลายกฎหมายที่เราสามารถผลักดันได้ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เราได้สัญญาไว้ให้กับประชาชน"


นายพิธา กล่าวย้ำว่า การที่มีเอ็มโอยู 23 ข้อ เป็นวาระร่วมแค่ขั้นต่ำ แต่ในขณะเดียวกันหลายประเด็นที่อาจจะทำให้ประชาชนต้องลำบาก และต้องการความเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมายที่ก้าวหน้า และการบริหารงานของพรรคก็จะมีวาระเฉพาะที่สามารถผลักดันได้เช่นเดียวกัน


นายพิธา บอกถึงขั้นตอนต่อไปหลังจากลงนาม MOU แล้วว่า คงต้องเป็นการเดินสาย พบพี่น้องประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ขณะที่คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก็ไม่ได้มีเพียงพรรคก้าวไกล ในการพบปะหารือครั้งต่อไป จึงจะเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมาฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อจัดทำนโยบายรวมแถลงต่อรัฐสภา และนำเอาผู้มีความรู้จริงมาบริหารกระทรวงที่เหมาะสม ส่วนตำแหน่งของกระทรวงเศรษฐกิจนั้น ก็จะต้องเป็นคนมีความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจ


นอกจากนี้ นายพิธา แถลงตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โต้แย้งบางประเด็นในเนื้อหา MOU โดยนายพิธา ระบุว่า "เข้าใจความกังวลใจของนายปิยบุตร แต่ข้อความก็คือข้อความ เนื้อหาใน MOU ก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร"


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/N-caZbkKKqA

คุณอาจสนใจ

Related News