เลือกตั้งและการเมือง
'พิธา' แจงปม 'หุ้น ITV' เป็นกองมรดก แจ้ง ป.ป.ช.ตั้งแต่ปี 62 ไม่กังวลซ้ำรอย 'ธนาธร' ขอทุกคนอย่าหวั่นไหว
โดย nattachat_c
10 พ.ค. 2566
1.1K views
วานนี้ (9 พ.ค. 66) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบพบข้อมูลที่น่าเชื่อว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งเป็นมูลเหตุที่ต้องทำการเสาะหาข้อมูลอยู่หลายวัน จนเพียงพอที่จะขอให้ กกต. ตรวจสอบต่อไป
ข้อ 1. รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติว่า มาตรา 98 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”
ข้อ 2. ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงตามข้อมูลเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ที่ทำให้เข้าใจว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในลำดับที่ 6,121 เลขทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ 4030954168 ที่อยู่ 98/26 อาคารซิลเวอร์เฮอริเทจ ซ.สุขุมวิท 38 ถ.สุขุมวิท พระโขนง คลองเตย 10110 สัญชาติ ไทย จำนวน 42,000 หุ้น
ข้อ 3. เมื่อตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบข้อมูลของ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ระบุไว้บางส่วน ดังนี้
- สถานะนิติบุคคล : ยังดำเนินกิจการอยู่
- หมวดธุรกิจตอนจดทะเบียน : การออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง(ยกเว้นทางออนไลน์)
- วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : สถานีโทรทัศน์
- หมวดธุรกิจ : กิจกรรมเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์
- ปีที่ส่งงบการเงิน : 2564 2563 2562 2561 2560
ข้อ 4. เมื่อขอข้อมูล บัญชีรายขื่อผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ณวันที่ 27 เมษายน 2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7,138 จำนวน 42,000 หุ้น เลขที่ใบหุ้น 06680180285422 มูลค่าหุ้นละ 5 บาท
ข้อ 5. เมื่อตรวจสอบข้อมูลบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จากเว็บไซต์ พบว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ประกอบกิจการรับจ้างโฆษณา ประชาสัมพันธ์ทุกชนิดทุกประเภท มีรายได้ปี 2565 รวม 21 ล้านบาท และมีรายได้ปี 2564 รวม 24 ล้านบาท โดยบริษัทมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน 2566
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ และผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จะขอให้ กกต. รีบตรวจสอบยืนยันข้อมูลจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยด่วนว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นจำนวนดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อใด หากถือมาก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมาก่อนหรือไม่ การเป็น ส.ส. ที่ผ่านมาจะชอบหรือไม่
อนึ่ง เมื่อย้อนไปตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แจ้งเงินลงทุนไว้ 45 รายการ แต่ไม่พบลงทุนในหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด ซึ่งที่อยู่ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช. สอดคล้องกับที่อยู่ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าว
นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า ในวันที่ 10 พ.ค. เวลาประมาณ 10.00 น. ตนจะไปยื่นหนังสือที่ กกต. ด้วยตนเอง
-------------
วานนี้ (9 พ.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความ ว่า
"ต่อกรณีหุ้น ITV ผมไม่มีความกังวลเพราะ ไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ป.ป.ช. ไปนานแล้ว
ทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต.ส่งคำร้องมา
เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัด #พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการ #ทลายทุนผูกขาด ในประเทศนี้"
ขณะนี้พรรคก้าวไกลมาแรงที่สุด ย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกสกัด แต่ขอให้ผู้สมัคร ทีมงาน หัวคะแนนธรรมชาติ และประชาชนผู้สนับสนุนทุกคน อย่าหวั่นไหว อย่าเสียสมาธิกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ตนขอให้ทุกคนมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรจะมาขัดขวางก้าวไกลเราได้อีกแล้ว
-------------
วานนี้ (9 พ.ค.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนสั้นๆ ก่อนการขึ้นดีเบตรายการทีวีช่อง 7 ว่า
ตนได้ชี้แจงไปตามโซเชียลมีเดียแล้ว ซึ่งหุ้น ITV ดังกล่าว เป็นเรื่องของทางกองมรดก ตนเป็นแค่ผู้จัดการมรดกเท่านั้น ส่วนรายละเอียดมีทีมกฎหมายที่ค่อนข้างรัดกุม ทั้งในแง่ของหลักฐานและข้อกฎหมาย รวมถึงความโปร่งใสที่ตนได้ปรึกษาชี้แจง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปตั้งแต่สมัยปี 2562 เรียบร้อยแล้ว
เพราะฉะนั้น ตรงนี้ไม่มีความกังวลใจ และคงไม่เสียสมาธิ ในการใช้ 5 วันสุดท้าย หาเสียงอย่างเต็มที่ ย้ำว่า เป็นหุ้นของกองมรดกที่ตนเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น ไม่มีความกังวลว่า ซ้ำรอยปี 2562 อย่างกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
-------------
วานนี้ (9 พ.ค. 66) นายนิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร กทม. เขต 17 คลองสามวา พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชี้แจงเรื่องหุ้น ITV ว่า เป็นเพียงผู้จัดการมรดกนั้น
นเอกสารนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ เสียชีวิตในปี 2549 (พิธีศพระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน 2549) มีทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดก 3 คน คือ นางลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ โดยนายพิธา การอ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งตามกฎหมายทายาทเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกจากผู้เสียชีวิต ดังนั้น หุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น จะต้องตกเป็นของทายาทในสัดส่วนเท่าๆ กัน ย่อมหมายความว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 14,000 หุ้น
“ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า นายพิธา จะอ้างว่ามิใช่เจ้าของหุ้นไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่า นายพิธา ได้สละมรดกแต่อย่างใด อีกทั้ง การสละมรดกจำต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเจ้าพนักงาน หรือสัญญาประนีประนอม และในประการสำคัญหากนายพิธา สละมรดกจริง ย่อมไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ ที่สำคัญถ้าหุ้นนี้เป็นของกองมรดกก็ต้องระบุใน บอจ.5 ว่าผู้ถือหุ้นคือนายพิธา ในฐานะผู้จัดการมรดก”
นายนิกม์ กล่าวว่า อย่างในกรณีของตนก็ได้รับมรดกเป็นหุ้นของ ITV เช่นเดียวกัน และ ตั้งแต่กรณีเรื่องหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เกิดขึ้น ผมก็ระมัดระวังตัว ในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ ผมได้ติดต่อโบรกเกอร์ ติดต่อ TSD เสียค่าธรรมเนียม ออกใบหุ้น เพื่อโอนออกจากตัวเองไปแล้ว
“เมื่อก่อนผมอยู่พรรคอนาคตใหม่ เคยนำเรื่องหุ้น ITV ไปปรึกษาทีมกฎหมายของพรรค เขาบอกว่าไม่เป็นอะไร ไม่ต้องไปทำอะไร ดีนะคราวนั้นผมได้ที่ 2 ไม่ได้เป็น ส.ส. ถ้าได้เป็นคงโดนแบบพี่เอก (นายธนาธร) ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
ในครั้งนี้ ผมย้ายมาอยู่พรรคภูมิใจไทย เพราะเรื่องที่จะมีการแก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 112 ซึ่งผมไม่เอาด้วย และผมเชื่อมั่นในตัวหมอหนู ในเรื่องสาธารณสุข ที่ผมเคยร่วมงานมูลนิธิ ด้วย เชื่อมั่นว่าเป็นพรรคที่พูดแล้วทำ เขาแนะนำให้จัดการเรื่องหุ้น ITV ให้เรียบร้อย”
-------------
วานนี้ (9 พ.ค. 66) คาราวานก้าวไกลเดินทางต่อเนื่อง เป็นวันที่ 4 มีการจัดเวทีปราศรัยใหญ่ใน 2 จังหวัด พร้อมกัน ได้แก่ คาราวานสายเลือดอีสาน ที่ จ.นครราชสีมา และคาราวานสายมาเหนือ ที่ จ.พิษณุโลก โดยทั้ง 2 เวที มีประชาชนร่วมฟังปราศรัยอย่างหนาแน่นคล้ายกัน
นางสาวพรรณิการ์ กล่าวว่า 5 วันสุดท้าย ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเริ่มใช้มุกเดิม คนที่นั่งกลัวจนตัวสั่นตลอด 1เ ดือนที่ผ่านมา ที่กระแสความนิยมที่มีต่อพรรคก้าวไกล ทะยานสูงขึ้นที่สุดเป็นประวัติการณ์ คนคนนึงและอาจจะหลายคน ตัวสั่นขวัญแขวน แล้วคิดแผนการคิดมุกแบบเดิมๆขึ้นมา
ในช่วงโค้งสุดท้าย ต้องการให้ประชาชนเกิดความกลัว วันนี้พยายามจะบอกว่า อย่าไปเลือกพรรคก้าวไกล เดี๋ยว ทิมพิธา โดนตัดสิทธิ เป็น ส.ส.มา 4 ปี ไม่มีคดีความ อีก 5 วัน จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ดีๆ บอกว่า ทิมพิธาถือหุ้นสื่อ อยู่ดีๆ มาใช้มุกคุ้นๆ มุกเดิมๆ แบบที่เคยใช้มา บอกว่าอย่าไปเลือก ทิมพิธาเลย เดี๋ยวมันก็โดนตัดสิทธิเหมือนธนาธร นี่คือมุก นี่คือแผนการสกปรกของคนที่จนตรอกและกำลังกลัว เมื่อเขากลัว เค้าก็พยายามหลอกให้ ประชาชนเลือกตั้งด้วยความกลัว
ทุกท่านคะจำได้ไหมว่าเราเคยตกหลุมพรางมาแล้วครั้งนึง การประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 ในครั้งนั้น คำขวัญของรัฐบาลประยุทธก็คือ รับไปก่อนแก้ทีหลัง รัฐธรรมนูญดี มันไม่ดีเท่าไหร่หรอก แต่รับไปก่อนเดี๋ยวไม่ได้เลือกตั้ง ถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะไม่ได้เลือกตั้งนะ นั่นคือการขู่ให้คนกลัว สุดท้าย มีประชาชนสักกี่คนที่ได้อ่านรัฐธรรมนูญก่อนจะไปทำประชามติ บางคนอาจจะกาไม่รับ ช่อคนนึงกาไม่รับ แต่หลายคนโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกลัวไม่ได้เลือกตั้ง รับๆ ไปก่อนแก้ทีหลัง ถ้าร่างรัฐธรรมนูญตกไปเราจะไม่ได้เลือกตั้ง
หลุมพรางของความกลัวที่พวกมันใช้กับเรา ในวันนั้นทำให้ วันนี้ 9 ปีที่ผ่านมา เราต้องตกอยู่รัฐบาลสืบทอดอำนาจ เผด็จการ และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญสืบทอดเผด็จการ ที่หากว่าไม่แก้ไม่ล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะไม่มีวันที่มีอนาคตที่ดีกว่าของประชาชนคนไทย นั้นคือผลลัพธ์ของการเลือกด้วยความกลัว
ในการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 60 กักขังประเทศไทยมาตลอด9 ปี ในมรดกของคณะรัฐประหาร ของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา วันนี้เหลือเพียงอีก 5 วัน อย่าตกหลุมพรางเดิม อย่าเลือกด้วยความกลัว เลือกด้วยความกลัวไม่เคยนำไปสู่อะไรนอกจาก ให้พวกที่เสวยสุขอยู่ในอำนาจตอนนี้ ได้อยู่ต่อ
ถ้าไม่อยากให้เค้า ทำแล้วทำอยู่ทำต่อ จงเลือกด้วยความหวัง เลือกด้วยความหวังปลายปากกาสีส้มของพวกเราจะกำหนดอนาคตใหม่ที่ดีกว่านี้ ให้กับประเทศไทยได้ ในเรื่องนี้ไม่มีวีรบุรุษ ไม่มีนารีขี่ม้าขาว ไม่มีฮีโร่คนไหนทั้งนั้น คนที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยคือประชาชนคนไทยทุกคนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พิธาคนเดียวเปลี่ยนไม่ได้ ธนาธร ยิ่งไม่มีสิทธิเปลี่ยน ไม่ได้อยู่ในสภา เสียงที่จะเปลี่ยนประเทศไทย สิ่งที่จะกำหนดของประเทศไทย คือการเลือกของทุกท่าน
-----------
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00 น. ศาลจังหวัดนครนายก นัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา กรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ทำหนังสือแจ้งตัดสิทธิ์นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษา ให้คืนสิทธิ์ให้ตนเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นครนายก เขต 2 เบอร์ 2 พรรค ปชป. หลังจากถูก กกต. เขต 2 นครนายก ใช้ดุลพินิจตัดสิทธิ์การลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของตน โดยอ้างเหตุว่า ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) และรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะเข้าข่ายมีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย 2 ฉบับ เนื่องจากตนได้ถือหุ้น “AIS”
โดยบริษัทดังกล่าวไปลงทุนกับ 2 บริษัท คือ บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัท เยลโล่ เพจเจส คอมเมอรส์ จํากัด ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่า การที่ตนถือหุ้นในบริษัท AIS เพียง 200 หุ้น จากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด 2,873,425,791 หุ้น และ มูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท AIS ตามราคาตลาด ณ สิ้นปี 2565 เป็นเงิน 579,971,000,000 บาท ในขณะที่หุ้นของตน มีมูลค่าตามราคาตลาดในวันเดียวกันเพียง 39,000 บาท ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัท AIS ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ตน และพรรคการเมืองที่ตนสังกัด หรือ เป็นโทษต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของตน หรือ พรรคการเมืองของตนได้ จึงมีคำสั่งให้ กกต. เพิ่มชื่อ และประกาศชื่อของตนเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายกของ
-----------
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/ysFGk6hX6qA