เลือกตั้งและการเมือง

'เศรษฐา' แจงยิบทำไมแจกเงิน 1 หมื่น - กลุ่มต่างขั้วแท็กทีมจวก - อดีต กกต.ชี้ไม่เป็นการสัญญาว่าจะให้

โดย nattachat_c

7 เม.ย. 2566

698 views

จากกรณี 'พรรคเพื่อไทย' เปิดนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับบุคคลที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ คือ

  • ระยะเวลาในการใช้ คือ 6 เดือน 
  • ระยะทางเบื้องต้นคือ 4 กิโลเมตร


โดยได้กล่าวว่า นโยบายนี้จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน ร้านค้าที่อยู่ในชุมชนจะขายของได้มากขึ้น ผู้ผลิตตั้งแต่ระดับเอสเอ็มอีถึงระดับอุตสาหกรรม จะขายสินค้าได้มากขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปถึงระดับประเทศ ให้เศรษฐกิจกลับมาติดเครื่องอีกครั้งหนึ่ง ทั้งหมดนี้ จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การเพิ่มค่าแรง เพิ่มรายได้ให้ประชาชน 

-------------

วานนี้ (6 เม.ย. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ ว่า


ได้ยินแต่เขาบอกจะแจก 1 หมื่นบาท แต่ในรายละเอียดจะทำอะไรอย่างไรก็ยังไม่เห็น จึงไม่อยากวิจารณ์ไปก่อน แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า เงินที่เติมในกระเป๋าเงินดิจิทัล เป็นเงินที่ได้มาอย่างไร

  • ถ้าเป็นเงินบาท จะเอาเงินมาจากไหน แจกเงินคนละ 10,000 บาท ซึ่งมีประชากรที่จะได้รับราว 50 ล้านคน ต้องใช้เงิน 500,000 ล้านบาท 
  • ถ้าเป็นเงินดิจิทัล ต้องดูว่าเป็นเงินดิจิทัลที่ได้มาอย่างไร ถ้าใช้เงินจริงมารองรับการออกเงินดิจิทัล จะหาเงินมาจากแหล่งใด
  • ถ้าเป็นเงินบาทดิจิทัล ที่เสมือนหนึ่งเป็นการพิมพ์เงินใหม่ขึ้นมา คงต้องคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะอาจมีผลกระทบต่อภาพรวมระบบต่อการเงินในประเทศได้

ตนมองว่าเป็นการเอาตัวเลขตัวเงินจำนวนสูงๆ มาสร้างความหวือหวาให้เกิดความน่าสนใจเรียกคะแนน เป็นการตลาดที่พรรคเพื่อไทยถนัด แต่ไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อประเทศในภาพรวม


วันนี้ การออกนโยบายอะไรก็แล้วแต่ ไม่อยากให้มุ่งเอาแต่คะแนนเสียง โดยไม่คำนึงถึงว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังในระยะยาวอย่างไร ตนอยากฝากไปยัง กกต. ให้ช่วยดูด้วยว่า นโยบายดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ เพราะทุกนโยบายต้องแจงรายละเอียดที่มาของงบประมาณ
-------------

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ ว่า


ผมก็เพิ่งทราบ ขอศึกษานโยบายดังกล่าวก่อน ส่วนจะเป็นนโยบายที่ตอกย้ำเรื่องประชานิยมหรือไม่ มองว่าทุกนโยบายจะต้องทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ส่วนคนจะชอบหรือไม่ชอบ  จะส่งสร้างผลกระทบกับสังคมอย่างไร จะคุ้มค่าหรือไม่ จะต้องศึกษากันต่อไป พร้อมขอให้ ให้ฝ่ายวิชาการและทีมเศรษฐกิจได้วิเคราะห์ก่อน


ได้ยินคำว่า 10,000 บาท ครั้งแรก รู้สึกคล้ายๆ เดิมๆ ที่เคยทำมา เพราะต้องให้ประโยชน์กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อย่างในสมัยก่อน กองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท เป็นการเอาเงิน 1 ล้านบาท มาแบ่งกันในหมู่บ้าน มุขเดิม เพียงเปลี่ยนจาก 1 ล้านบาท เป็น 1 หมื่นบาท
-------------

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ ว่า


เราอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ เรามั่นใจว่านโยบายของพรรคภูมิใจไทย เป็นนโยบายที่มีประโยชน์ต่อประชาชน


ประชาชนไม่ใช่ยาจกนะครับ ประชาชน คือผู้ที่มีพระคุณต่อพรรคการเมืองทุกพรรค เราต้องให้เขาเพื่อให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น ทำให้เขามีโอกาสในการเสริมสร้างรายได้ทำมาหากิน แต่ไม่ใช่มองเขาว่าแบมือขอ และเราจะเอาอะไรไปให้เขาทุกอย่างไม่ได้ แบบนี้เป็นการไม่เห็นศีรษะเขา


เราต้องทำให้ประชาชนเห็นว่านี่เป็นสิทธิ์ที่เขาจะได้ นโยบายต้องทำให้ประชาชนเกิดโอกาสมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตและสุภาพของเขาดีขึ้น รายได้ของเขาดีขึ้น นี่คือนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องร่วมกันทำด้วยความร่วมมือของประชาชน


เมื่อถามย้ำว่า แต่นโยบายประชานิยมเหล่านี้ เคยทำให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมาแล้ว

นายอนุทิน ระบุว่า ของพรรคภูมิใจไทยก็มีประชานิยมบ้าง แล้วแต่จะมอง ถ้าเรามองคำว่าประชานิยมเป็นเชิงบวก ต้องทำให้ประชาชนนิยม เพราะหากประชาชนไม่นิยม เขาก็ไม่เลือก เราอย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
-------------

นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรค พท. ให้สัมภาษณ์กับ 'มติชน' ว่า


กรณี นโยบายแจกเงิน Digital Wallet 10,000 บาท ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการแจกเงินอีกแล้ว และจะเอาเงินมาจากไหน


นายเศรษฐา กล่าวว่า หลายนโยบายของพรรค จะเป็นการกระตุ้นครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อให้เรากลับมาทำมาหากิน มีรายได้ที่เหมาะสมได้ ฉะนั้น เราต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด จำนวนเงิน 10,000 บาท จะประกอบด้วย 


1. ระยะเวลาในการใช้ คือ 6 เดือน ใช้ผ่านร้านค้า เอสเอ็มอี อุตสาหกรรมทั้งหลายจะได้ซื้อของมาตุนไว้ เพื่อจะได้มีการซื้อขาย มีการจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ


2. ระยะทางที่เราวางไว้เบื้องต้นคือ 4 กิโลเมตร ซึ่งเราตระหนักว่า ไม่อยากให้คนเข้าไปจับจ่ายใช้สอยในห้างใหญ่ๆ อย่างเดียว เราอยากให้เขาใช้ในพื้นที่ชุมชุม เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมา ไม่ใช่มากระจุกตัวอยู่ที่เดียว แต่เมื่อเราเปิดตัวไป ก็มีคนบอกว่าในบางพื้นที่รัศมี 4 กิโลเมตร ไม่มีอะไรเลย เราอาจจะนำบล็อกเชนมาขีดเส้นรัศมีใหม่ได้


สำหรับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีประมาณ 50 ล้านคน คิดเป็นเงินประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี เราทำแค่ครั้งเดียว แถมกำหนดให้ใช้หมดภายใน 6 เดือน สมมุติพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเข้ามา เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และการที่จะได้ใช้งบประมาณหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้วนั้น ต้องใช้เวลา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเราจะใส่เงินเข้าไปในกระเป๋า คนเริ่มไปจับจ่ายใช้สอย ได้ในเรื่องของภาษีที่เพิ่มมากขึ้น ภาษีนิติบุคคลจากห้างร้านก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคิดเป็นเงินแสนล้านบาท


“การบริหารงบประมาณที่จะเกิดขึ้น อาจจะมาจากงบประมาณกลาง ในส่วนของอำนาจนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีปีละแสนล้านบาท โดยอาจจะนำมาใช้ประมาณ 30% หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากตนได้รับเลือกเข้ามา ก็ไม่อยากใช้เงินนี้ เพราะหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมา


เราควรจะไปโฟกัสที่รายได้มากกว่า เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดวงการหมุนเวียน 12 เท่า หรือกรณีที่บางคนบอกให้ไปตัดงบประมาณทหารมา ตรงนี้ก็ไม่สามารถทำได้ เราต้องเข้าใจว่า งบประมาณบางตัวก็ยังมีความจำเป็นอยู่ แต่อาจขอแบ่งมาบ้าง”

-------------

นางสดศรี​ สัตยธรรม​ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง​ (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ ว่า


การปราศรัยดังกล่าว ไม่เป็นการสัญญาว่าจะให้​ เพราะเป็นเรื่องที่สามารถออกเป็นกฎหมายได้​  โดยอะไรก็ตามที่เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่สามารถทำได้​ ก็นำมาเป็นนโยบายได้​ เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้จะเป็น ส.ส.จะเสนอออกกฎหมายผ่านสภา​ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง​ หรือเหนือกว่าอำนาจของผู้ที่จะเป็น ส.ส.


ท่านนายกฯก็เคยพูดว่า​ พรรคนั้นให้เงินบัตรสวัสดิการ​ 700 บาท แต่ของท่าน จะให้​ 1,000 บาท​ หรือบางพรรคก็ระบุว่าผู้สูงอายุจะได้รับเงินตรงนี้มากขึ้น​ ก็จะมีการต่อรองในลักษณะนี้​ หรือบางพรรคเคยหาเสียงว่าจะให้เรียนฟรีจนจบมหาวิทยาลัย​ ซึ่งนโยบายลักษณะก็สามารถทำได้ โดยที่จะต้องเสนองบประมาณผ่านเข้าไปในสภา


ส่วนลักษณะของคำว่าสัญญาว่า จะให้นั้น​ กกต.เคยให้ใบแดงกรณีผู้สมัคร ส.ส.ท่านหนึ่งเคยพูดว่า ถ้าได้เป็น ส.ส.​ จะออกตั๋วเครื่องบิน​ ให้กับชาวมุสลิมไปนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย​ ฟรี​


ซึ่งเข้าข่าย​สัญญาว่า จะให้เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ​เลือกตั้ง​ลงคะแนนให้กับตัวเอง​ หรือพรรคการเมืองที่ตัวเองสังกัด เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะออกกฎหมายในลักษณะที่ให้ทุกคนมีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้​ ซึ่งจะเอาเงินที่ไหนมาให้​ อะไรก็ตามที่พูดแล้วเป็นไปไม่ได้​ หรือไม่ใช่อำนาจของผู้ที่จะเป็น ส.ส.ไปดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้​ โดยที่ไม่สามารถเป็นไปได้​ ก็จะถือว่าสัญญาว่าให้เพื่อจูงใจให้ลงคะแนน​

-------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/_DTxsd-BmZU



คุณอาจสนใจ

Related News