เลือกตั้งและการเมือง

กกต. ปัดดอดพบรัฐบาล แจงยิบเหตุผลการคำนวณราษฎรทั้งประเทศมาคำนวณค่าเฉลี่ย ส.ส.

โดย kanyapak_w

1 ก.พ. 2566

121 views

นายปกรณ์ มหรรณพ กกต. ชี้แจงกรณีหลังถูกวิพากษ์การคำนวณจำนวนประชากรต่อ ส.ส. ที่ได้รวมคนที่ไม่มีสัญชาติไทยว่าต้องแยกให้ออกระหว่างจำนวนราษฎร ตามมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญระบุว่าจะต้องใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่กระทรวงมหาดไทย ประกาศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศจนถึงปี 2557 จะประกาศจำนวนประชากรรวม และในปี 2558 เป็นปีแรกที่ไม่ได้ประกาศรวมผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย หลังจากนั้นได้ปฏิบัติเรื่อยมา จนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จึงมีการประกาศแบบนี้




โดยการคิดจำนวนราษฎรต้องคิดยอดรวมอย่างเดียว แต่ก็เคยเกิดปัญหาในปี 2557 เช่นที่ อ.แม่สอด จะยกฐานะของเทศบาล จึงคิดว่าควรจะรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นราษฎรรวมหรือไม่ แต่ในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นสอดคล้องกับ กกต.ว่าการคิดจำนวนราษฎรต้องคิดรวมทั้งหมดของบุคคลที่อาศัยอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จะถือทำไมต้องแยกสัญชาติไทยกับผู้ไม่มีสัญชาติไทย เพราะต้องคำนึงถึงบุคคลที่มีสิทธิใช้บริการและมีหน้าที่เสียภาษีอากรในการคิดค่าธรรมเนียมการให้บริการ การให้การศึกษา คือผู้ไม่มีสัญชาติไทยอาจจะมีความแตกต่างจากผู้ได้รับสัญชาติไทย แต่การคิดจำนวนราษฎรต้องคิดรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ และไม่ว่าจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือๆไม่ เพราะแม้ผู้มีสัญชาติไทยก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งกันทุกคน นั้นคือหลักการทำงานที่เห็นสอดคล้องกันและยึดถือมาโดยตลอด จึงอยากขอให้สื่อช่วยประชาสัมพันธ์ทำความกับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ






ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าดอดไปพบรัฐบาลเพื่อขอเวลาจัดเลือกตั้ง ยึดเอาความสะดวกในการทำงานนั้น นายปกรณ์ยืนยันไม่ได้ดอดไปพบรัฐบาล แต่ที่ผ่านมาได้ประสานกับรัฐบาลเพื่อเตรียมพร้อมจัดเลือกตั้ง และ กกต.เพียงแต่ไปชี้แจงทำความเข้าใจว่าเมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกาศบังคับใช้แล้ว กกต.มีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา





ส่วนระยะที่ใช้สำหรับกระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น นายปกรณ์ระบุว่าหลังจากที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องบังคับใช้แล้ว กกต.จังหวัดก็จะเตรียมแบ่งเขตเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 1-3 ก.พ. จากนั้นระหว่างวันที่ 4-13 ก.พ. รวมระยะเวลา 10 วันจะให้ประชาชนและพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็น เมื่อครบแล้ว กกต.จังหวัดจะทำความเห็นรูปแบบเลือกตั้งไหนเหมาะสมที่สุดเรียงตามลำดับโดยใช้เวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 14-16 ก.พ. ซึ่ง กกต.จังหวัดจะใช้เวลาแบ่งเขต 16 วัน จากนั้นจะส่งมายัง กกต.กลาง โดยจะใช้เวลาในการพิจารณาระหว่างวันที่ 18-28 ก.พ. ตั้งเป้าเร่งพิจารณาให้เสร็จโดยจะพิจารณาวันละ 100 เขตเลือกตั้ง ย้ำว่า กกต.ได้เตรียมตั้งเป้าหมายสำหรับการเลือกตั้งไว้แล้วโดย กกต. ใช้เวลา 20 วัน แต่นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้ คำนึงพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองจะต้องมีเวลาในการเตรียมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละเขตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ในวันพุธที่ 8 ก.พ. จะเชิญพรรคการเมืองมาหารือเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ขั้นตอนการทำไพรมารี โหวต เพื่อให้ทุกพรรคส่งผู้สมัครได้ถูกต้อง พร้อมย้ำว่า ตลอดระยะเวลา กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทำงานทุกวัน




นายปกรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่ากรณีรัฐบาลยุบสภา กกต.มีเวลาจัดการเลือกตั้ง 60 วัน หากสภาครบวาระ กกต.มีเวลา 45 วัน ยืนยันมีเวลาเพียงพอในการดำเนินการ หากยุบสภา มีเวลามากกว่าสภาครบวาระ 15 วัน กกต.จึงกล้าที่จะพูดว่า กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งให้ชอบด้วยกฎหมาย





นายปกรณ์ยังได้กล่าวขอบคุณพลเอกประยุทธ์ จันทร์อาชา นายกรัฐมนตรี ที่ออกมายืนยันว่าจะไม่ก้าวล่วงการทำงานของ กกต.ทำให้เห็นว่าการประสานงาน การทำงานเป็นสิ่งที่ออกมาในทางที่ดี




“การที่เรามีน้ำใจ คิดหวังดีกับส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อาจจะส่งผลร้ายกลับมาที่เรา เพราะความไม่เข้าใจ เพราะความที่ไม่ได้ศึกษาว่ากฎหมายและระเบียบกำหนดไว้อย่างไร แต่เราก็ไม่ว่าอะไร สะท้อนถึงแนวคิด สะท้อนถึงความเห็นเรารับฟังตลอด ฟังแล้วถ้ามันถูกมันชอบ ก็นำมาปฏิบัติ” นายปกรณ์ กล่าว




นายปกรณ์ยังกล่าวถึงเรื่องร้องเรียนการทำลายป้ายหาเสียงว่าขณะนี้มีร้องเรียนเข้ามายัง กกต.บ้างแล้ว กกต.จังหวัดพร้อมรวบรวมส่งมายัง กกต.กลาง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเลือกตั้ง ยังไม่มีผู้สมัครและเขตเลือกตั้ง รวมถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ฉะนั้นป้ายที่เห็นติดประกาศไว้ขณะนี้เป็นเพียงป้ายแนะนำตัวแสดงเจตจำนงจะลงสมัครรับเลือกตั้ง



แท็กที่เกี่ยวข้อง  ข่าวการเมือง ,กกต ,เลือกตั้ง

คุณอาจสนใจ

Related News