เลือกตั้งและการเมือง

‘ภราดร’ ซัดเดือด ‘สทนช.’ บริหารจัดการน้ำแย่ ทำ ‘อ่างทอง’ ท่วมเละทั้งจังหวัด มดยังไม่มีที่อยู่

โดย petchpawee_k

20 ต.ค. 2565

11 views

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอ่างทองในขณะนี้ว่า “ที่อ่างทองตอนนี้พูดได้คำเดียวคือเละ เละทุกอำเภอ เกือบจะทุกหมู่บ้าน มดไม่มีที่อยู่ สถานการณ์แย่มากน้ำท่วม แทบทั้งหมด”


เมื่อสอบถามถึงสภาพการช่วยเหลือประชาชนที่เกิดขึ้นขณะนี้ นายภราดรเล่าว่า ก็มีหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและหน่วยงานราชการท้องถิ่นก็พยายามช่วยกันอย่างเต็มที่ แต่ว่าสถานการณ์มันรุนแรงมาก สำหรับจังหวัดอ่างทองรุนแรงกว่าน้ำท่วมปี 2549 แล้วก็รุนแรงมากกว่าปี 54 เพราะว่ามวลน้ำเกือบจะทั้งหมดมันลงมาที่จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ปีนี้ที่หนักที่สุดมี 3 จังหวัด ตรงนี้คือจุดของภาคกลางนะครับไม่ได้พูดถึงทางภาคอีสาน ในเขตพื้นที่ลุ่มภาคกลางปีนี้ 3 จังหวัดนี้หนักที่สุด


นายภราดรกล่าวต่อว่า  “มันเกิดจากการบริหารจัดการน้ำครับ ขอบอกเลยนะครับ ผมประณามการบริหารจัดการน้ำของ สทนช.ครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขาพยายามบอกสถานการณ์แล้ว แต่คุณไม่ดำเนินการอะไรเลย บริหารจัดการแบบไม่บริหาร แบบนี้เอา…มาบริหารก็ได้”


เมื่อถามว่าจากการประเมินคาดว่าสถานการณ์จะเบาลงเมื่อไหร่ นายภราดรระบุว่า “อีกเป็นเดือนครับ อ่างทองมันเป็นที่ลุ่ม มันไม่เหมือนอย่างอุบล มันไม่เหมือนอย่างลพบุรีหรือจังหวัดอื่น หรือไม่เหมือนอย่างภาคใต้ที่น้ำท่วมจะท่วม 3-5 วัน มันก็หายไปเพราะมันที่สูง อ่างทองจะเป็นลักษณะที่อ่างที่ลุ่ม ถ้าท่วมแล้วโอกาสจะคืนสู่ภาวะปกติคงเป็นเดือน”


“หากจะพูดถึงปัญหาการไม่ยอมผลักดันน้ำลงคงเป็นเรื่องที่อธิบายอีกมาก แต่โดยรวมพูดได้เลยว่าเป็นการบริหารจัดการที่ผิดพลาด”


“คือ สทนช. ปีที่แล้วก็บริหารจัดการแบบนี้ บางจังหวัดได้รับผลกระทบเขาก็ไปฟ้องร้องกัน มาปีนี้กลัวที่โดนฟ้องร้องเมื่อปีที่แล้ว เกิดการเข็ด ก็เลยปล่อยไปในจังหวัดที่ไม่ถูกฟ้องร้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการล้วนๆ เอาคนที่ไม่รู้เรื่องน้ำในพื้นที่ มาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ และบริหารจัดการในห้องแอร์ มันก็จะเป็นแบบนี้แหละครับ”

---------------------------------------------------

กรมชลฯ ปิดช่องคันคลอง ปตร.เจ้าเจ็ด ทรุดตัวได้แล้ว

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวานนี้ (19 ต.ค.) กรมชลประทาน ได้ดำเนินการซ่อมแซมปิดช่องถนนคันคลองที่ขาด บริเวณประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังระดมเครื่องจักรเครื่องมือและกำลังคน เข้าปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เร่งซ่อมแซมปิดช่องที่ขาดกว้างประมาณเกือบ 20 เมตร ด้วยการใช้แผ่นเหล็กชีทไพล์ (Sheet piles) ตอกฝังแผ่นให้จมลงไปในดิน พร้อมวางกล่องลวดถักบรรจุหินใหญ่ (Gabion) ทำให้สามารถสกัดกั้นน้ำไม่ให้แผ่ขยายวงกว้างออกไปได้แล้ว ช่วยบรรเทาและลดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่าง และยังสามารถใช้ถนนคันคลองในการเดินทางสัญจรได้ตามปกติอีกด้วย


ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อำเภอเสนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังพลจาก กอ.รมน.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ ที่ได้ร่วมบูรณาการซ่อมแซมถนนคันคลองจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี

--------------------------------------------

กรมชลฯ ปรับลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา-ป่าสักฯต่อเนื่อง

กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (19 ตุลาคม 2565) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,814 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง 154 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยารวม 531 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เริ่มทยอยลดลง มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2,947 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงเช่นกัน ส่วนที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,938 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ 143 ลบ.ม./วินาที


ด้านแม่น้ำป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ได้ปรับลดการระบายน้ำเช่นกัน โดยระบายน้ำอยู่ที่อัตรา 401 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ที่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ปรับลดลงตามไปด้วย อยู่ที่ 720 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงต่อเนื่องเช่นกัน


ทั้งนี้ กรมชลประทาน คาดการณ์ว่า ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านต่ำกว่า 2,700 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งตามศักยภาพของแม่น้ำแต่ละช่วง จากนั้นจะเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/xel0xP-xz_0

คุณอาจสนใจ

Related News