เลือกตั้งและการเมือง

ดีเจวิทยุชุมชน หนุน 'บิ๊กตู่' หลังโดนแซะ ‘ทรานซิสเตอร์’ ย้อนยุค - ก้าวไกลแนะใช้ระบบ แจ้งภัยพิบัติผ่านมือถือ

โดย petchpawee_k

6 ต.ค. 2565

17 views

เมื่อวานนี้ (5 ต.ค.) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ถนนพิษณุโลก ดุสิต กทม.ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล


นายภุชงค์ ตั้ม รักชาติสกุลไทย พร้อมผู้จัดรายการวิทยุชุมชนทั่วประเทศ เดินทางมายื่นหนังสือพร้อมให้กำลังใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ ยืนยันว่าวิทยุชุมชนสื่อเสียงชาวบ้าน ยังมีพลัง เข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง ประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศยังใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการรับฟังข้อมูลข่าวสาร


นายภุชงค์ กล่าวว่า วิทยุชุมชนยังมีพลังยังมีคนฟัง และช่วยเป็นพลังสังคม สื่อสารงานประชาสัมพันธ์ภัยพิบัติอุทกภัยหรืองานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อีกมากมาย


 วันนี้พวกเราตัวแทนวิทยุชุมชนจากทั่วประเทศ มาเป็นตัวแทนให้สังคมได้รับรู้ว่าเรายังมีพลังเรายังช่วยประเทศชาติได้อีกมากมาย วันนี้มาก็อยากจะเป็นพลังช่วยสื่อสารงานภาครัฐช่วยสังคมช่วยภัยพิบัติ ถึงจะไม่ใช่สื่อหลักสื่อใหญ่หรือเป็นสื่อออนไลน์ แต่ก็เป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชน วิทยุทรานซิสเตอร์ ถ้าระบบอินเตอร์เน็ตสัญญาณไฟฟ้าต่างๆ ขัดข้องใช้ถ่านตรากบ 2 ก้อนก็ฟังได้ทุกที่ทุกเวลา


---------------------------------------------------------


กสทช.ขอวิทยุทั่วประเทศ แจ้งข่าวเตือนกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน


นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการ รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ขอความร่วมมือสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ ให้เตรียมความพร้อมในการออกอากาศแจ้งข่าวหรือเตือนภัยในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารและการแจ้งเตือนให้ทันต่อสถานการณ์ โดยให้ความร่วมมือเมื่อรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐร้องขอ เนื่องจากปัจจุบันในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากทำให้ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง


สำนักงาน กสทช. เห็นถึงความสำคัญของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงรวมถึงสื่อมวลชนว่ามีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่และนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อประชาชนในการเตรียมความพร้อม เพื่อป้องกันแก้ไขและบรรเทาเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นจึงขอความร่วมมือในการแจ้งข่าวหรือเตือนภัย พร้อมเน้นย้ำถึงแนวทางและขั้นตอนการปฏิบัติในการออกอากาศที่ต้องใช้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อรายงานข้อมูล แจ้งข่าวเตือนภัยเกี่ยวกับภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินอย่างรอบด้าน ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังไม่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจกับประชาชน

--------------------------------------------------------

ด้าน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า วิทยุทรานซิสเตอร์ เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นเมื่อ 70 ปีที่แล้ว เป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็นยามภัยพิบัติรุนแรง โดยในต่างประเทศมักใช้ในกรณีเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือใช้การไม่ได้ แต่สถานการณ์ภัยพิบัติของประเทศไทย ในปัจจุบันเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงถึงขั้นนั้นหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีรายงานจาก กสทช. หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงพื้นที่ที่น้ำท่วมรุนแรงมากจนถึงขนาดสัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดขาด

"ถ้าเคยดูภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่เมื่อมีเหตุแผ่นดินไหวแล้ว โทรศัพท์ของทุกคนดังขึ้นมาพร้อมกัน นั่นคือการเตือนภัยพิบัติ สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่จินตนาการ แต่เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ฝรั่งเศส ด้วยเทคโนโลยีการส่งข้อมูลที่เรียกว่า Cell Broadcasting


Cell Broadcasting คือ ระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในรวดเดียว มีข้อดีคือ หน่วยงานรัฐสามารถส่งข้อมูลตรงได้เลยถึงโทรศัพท์มือถือของประชาชน โดยไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และไม่ต้องระบุเบอร์มือถือ สามารถเจาะจงพื้นที่ได้ โดยมีความเร็วระดับส่งได้หลายสิบล้านเครื่องในเวลาไม่ถึง 10 วินาที " นายปกรณ์วุฒิ กล่าว 



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/470-mSGCghQ

คุณอาจสนใจ

Related News