เลือกตั้งและการเมือง

ศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนคำสั่งปลด “สมชาย” พ้นเก้าอี้ “ปลัดแรงงาน”

โดย paranee_s

14 ก.ย. 2565

1.6K views

วันนี้ (14 ก.ย.) ที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีการนัดอ่านคำพิพากษา คดีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ยื่นฟ้องกระทรวงแรงงาน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงแรงงาน (อ.ก.พ. กระทรวงแรงงาน) , คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-5


กรณีกระทรวงแรงงาน มีคำสั่งที่ 39/2552 ลงวันที่ 21 มกราคม 2552 ลงโทษปลดนายสมชายออกจากราชการ โดยอ้างว่า เหตุปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จากเหตุขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม พิจารณาสั่งระงับเรื่องไม่ดำเนินคดีกับ นายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และ นายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี ที่ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม 70 ล้านบาท จากการขายทอดตลาดที่ดินของศาลจังหวัดธัญบุรี ทั้งที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่าการคืนเงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ทางราชการเสียหาย


ต่อมานายสมชายได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว แต่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 พิจารณายกอุทธรณ์


นายสมชาย กล่าวว่า คำสั่งลงโทษทางวินัยปลดออกจากราชการ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง 4 ประเด็น คือ


1. เพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ 39/2552 ลงวันที่ 21 มกราคม 2552 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

2. เพิกถอนมติการประชุม อ.ก.พ. กระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

3. เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เรื่องดำที่ 5210006 เรื่องแดงที่ 0012155 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4

4. เพิกถอนมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 61/2551 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ที่ลงมติว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิด ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5


สำหรับคดีนี้ เป็นการยื่นฟ้องตรงต่อศาลปกครองสูงสุดโดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาของศาลปกครองกลาง เนื่องจากเป็นคดีปกครองที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด


ต่อมาศาลปกครองได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งปลดสมชายจากปลัดกระทรวงแรงงาน โดยศาลชี้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดฐานประมาทเลินเล่อ

คุณอาจสนใจ

Related News