เลือกตั้งและการเมือง

จบแล้ว ไม่ผ่าแล้ว! ทัพบกถอยปม GT200 เงินเหลือส่งคืน 2-3 ล้าน แจงใช้งบปี 64 เพื่อผลประโยชน์ประเทศ

โดย thichaphat_d

8 มิ.ย. 2565

32 views

จากกรณี การอภิปรายงบประมาณในสภา นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการใช้งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณว่า ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพบกทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท


วานนี้ (7 มิ.ย.) 65 พลเอก สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก/โฆษกกองทัพบก ได้เปิดเผยถึง กรณีที่มีการอภิปรายในการตั้งงบประมาณเพื่อการตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT 200 Detection Substances) ของกองทัพบกว่า


เรื่องดังกล่าวโฆษกกระทรวงกลาโหม , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ชี้แจงสร้างความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณะในเบื้องต้นไปแล้ว กองทัพบกขอเรียนข้อมูลเพิ่มเติมในภาพรวมของการดำเนินการทางกฎหมายต่อ GT 200 ดังนี้


หลังจากที่ กองทัพบกได้พบข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ GT 200 ที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติและก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ กองทัพบกได้ยุติการใช้งานและได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของทางราชการในทุกด้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญา โดยตั้งแต่ปี 2559 ได้ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญาใน 2 ศาล เพื่อให้ครอบคลุมในมิติด้านกฎหมาย คือ คดีอาญาฐานฉ้อโกง และคดีทางปกครองฐานความผิดเกี่ยวกับสัญญา ซึ่งการดำเนินคดีของแต่ศาลมีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่องตามกระบวนการ ตั้งแต่ ปี 2560 - 2565


โดยคดีอาญา ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ศาลขั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ให้จำเลยร่วมกันคืนเงินให้กองทัพบก เป็นจำนวน 682,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คดีอาญาเป็นอันสิ้นสุดลงและขณะนี้อยู่ในระหว่างการบังคับคดีให้ชดใช้เงินคืนกับกองทัพบก


ในระหว่างการดำเนินคดีอาญา กองทัพบกได้ยื่นฟ้องในคดีทางปกครองควบคู่กันไปด้วย โดยในคดีทางปกครองซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 กองทัพบกได้ดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ให้ตรวจ GT200 ทุกเครื่อง เพื่อยืนยันว่า ไม่มีประสิทธิภาพ และใช้เป็นสาระสำคัญประกอบการพิจารณาคดีทางปกครอง ในการนี้เพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ในทางคดี


กองทัพบกจึงได้ตั้งงบประมาณในปี 2564 เพื่อตรวจสอบเครื่อง GT200 จำนวน 757 เครื่อง โดยส่งตรวจที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศทอ.สวทช.) โดยเป็นการตั้งงบประมาณล่วงหน้าในขณะนั้น ก่อนที่คดีทางปกครองจะเป็นอันถึงที่สุดในปีต่อมา คือ มีนาคม 2565


การที่กองทัพบกมอบให้ สวทช.เป็นผู้ดำเนินการตรวจทดสอบ GT200 เนื่องจาก สวทช.เป็นหน่วยงานกลาง มีมาตรฐานตามหลักการ อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญในงานด้านนี้โดยตรง ผลการตรวจรับรองจะสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือ อันจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินคดีของทางราชการที่ กองทัพบกดำเนินการอยู่ในขณะนั้น


จากการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมกองทัพบกต้องตั้งงบประมาณปี 2566 เพื่อใช้ในการตรวจสอบ GT200 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วนั้น ขอเรียนว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเป็นการนำข้อมูลปีงบประมาณ 2564 มาเชื่อมโยงกับคำพิพากษาของคดีที่เกิดขึ้นในปี 2565 เป็นการเปรียบเทียบผิดห้วงเวลา


ทั้งนี้ กองทัพบกไม่ได้ตั้งงบประมาณในปี 2566 ในเรื่องดังกล่าว สำหรับการตั้งงบประมาณเพื่อการตรวจสอบ GT200 นั้น หากคดีถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ โดยตามระเบียบราชการหากงบประมาณไม่ถูกใช้ ก็จะถูกส่งคืนตามกระบวนการงบประมาณต่อไป


ต่อข้อสงสัยที่ว่า ทำไมไม่นำคำพิพากษาในคดีอาญามาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีทางปกครอง เพื่อจะได้ไม่ต้องส่ง GT200 ไปตรวจสอบนั้น ขอเรียนว่า ในขณะที่ตั้งงบประมาณ เพื่อขอตรวจ GT200 ในปี 2564 นั้น คดีอาญายังไม่ถึงที่สุด ไม่อาจรู้ผลทางคดีได้ แต่การตรวจ GT200 เป็นสิ่งสำคัญต่อคดีทางปกครองในขณะนั้น


กองทัพบกขอเรียนว่า การตั้งงบประมาณในการตรวจสอบ GT200 จำนวน 7.57 ล้านบาท เป็นการตั้งงบประมาณก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา และเป็นไปตามกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐานประกอบคดี ภายใต้ข้อแนะนำจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและวิทยาศาสตร์


และเมื่อคดีเป็นที่ยุติแล้ว ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อมุ่งให้ทางราชการได้รับค่าเสียหายชดเชย เพื่อรักษาประโยชน์ของกองทัพและประเทศ ทั้งนี้นอกจากการดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัทคู่สัญญาแล้ว สำหรับเจ้าหน้าที่ของทางราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหา GT200 ก็ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทางวินัยและทางกฎหมายเช่นกัน

----------

ในวันเดียวกันนั้น พลเอก สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก และโฆษกกองทัพบก ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนถึง กรณีที่มีการอภิปรายในการตั้งงบประมาณเพื่อการตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT 200 Detection Substances) ของกองทัพบกว่า ขณะนี้สิ้นสุดแล้วไม่ต้องผ่าพิสูจน์ 


เมื่อถามว่า ไม่ต้องผ่าไม่ต้องผ่าเครื่องGT200 แล้ว ใช่หรือไม่

  • พล.อ.สันติพงษ์ กล่าวว่า "ไม่ต้องผ่าแล้ว"


ส่วนจะต้องคืนงบหรือไม่

  • พล.อ.สันติพงศ์ ระบุว่า "ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ เป็นเพียงงบบริหารจัดการภายในนิดหน่อย ส่วนที่ผ่านมาเรามีการผ่าพิสูจน์ไปแล้ว 320 เครื่อง"


เมื่อถามว่าได้มีการทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่ต้องผ่าเครื่อง GT200 แล้วใช่หรือไม่

  • พล.อ.สันติพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้รอหนังสือตอบรับจากอัยการสูงสุดอยู่
  • "ยืนยันกองทัพบกจะใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ"


ต่อมา พล.อ.สันติพงศ์ ได้เปิดเผยกับสื่อผ่านไลน์ว่า 

  • ในปีงบประมาณ 2564 กองทัพบกได้ทำสัญญากับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ดำเนินการตรวจสอบเครื่อง จำนวน 320 เครื่อง วงเงิน 3.2 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
  • สำหรับในปีงบประมาณ 2565 ยังไม่ได้มีการทำสัญญาจ้างตรวจกับ สวทช. และไม่มีการใช้งบประมาณในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

----------

ด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงเรื่องนี้ โดยท่านตอบว่า


"เรื่องงบประมาณที่พูดถึงกันมันเรื่องเก่า ยุติไปแล้ว ย้ำว่าไม่เกี่ยวกับงบประมาณปี 2566 ขออย่าเอามาปนกัน มันเป็นเรื่องของงบประมาณปี 2565 เมื่ออัยการสูงสุดบอกว่ามันได้จบและยุติไปแล้ว การตรวจสอบ GT200 ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบอีก งบประมาณก็ไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว งบประมาณ ดังกล่าวยังไม่มีการเบิกจ่าย ยังอยู่ที่รัฐบาล เพราะหน่วยงานไม่สามารถเบิกเงินไปก่อนล่วงหน้าได้ เว้นแต่ถ้าเป็นงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ที่ได้รับการอนุมัติไปแต่ไม่สามารถทำงานได้สำเร็จ ตามระเบียบก็ต้องส่งคืน"

----------

ด้าน นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้อภิปรายเปิดเผยเรื่องที่ กองทัพบกทำสัญญาจ้างมูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สวทช.ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ให้ความเห็นหลังกองทัพออกมาชี้แจงเรื่องนี้ว่า


เป็นการตบหน้าประชาชนซ้ำ 2 เนื่องจากยังโกหกประชาชน เพราะน่าจะใช้งบประมาณส่วนนี้ไปแล้ว เนื่องจากทำสัญญารอบที่ 2 ไปตั้งแต่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา หรือ กองทัพบอกว่าจะคืนงบประมาณส่วนนี้ 2-3 ล้านบาท ก็แสดงว่าใช้งบไปแล้วอย่างน้อย 5 ล้านบาท แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าไม่สามารถคืนเงินส่วนนี้ได้ เนื่องจากใช้งบประมาณไปแล้ว และไม่ว่าจะหาเงินส่วนไหนมาใช้คืนก็เป็นเงินจากภาษีของประชาชนทั้งนั้น


นายจิรัฏฐ์ กล่าวอีกว่า หากตนเองไม่ไปเจองบประมาณของกองทัพเรื่องนี้ กองทัพก็เงียบไม่มีใครรู้ เงิน 7 ล้านบาทก็จะหายไปเลย อย่างไรก็ตามแม้เรื่องนี้จะจบลงแล้ว แต่ก็อยากให้กองทัพชี้แจงอีกครั้ง ในชั้นกรรมาธิการงบประมาณ และรอให้ ป.ป.ช.พิจารณาเหตุใดยังเงียบอยู่ เพราะถ้าจำไม่ผิด ยังเหลืออีก 5 คดีที่ยังค้างอยู่ แต่ ป.ป.ช.ก็มีการเลื่อนไปไม่มีกำหนด ขณะเดียวกัน ก็รอคำชี้แจงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลโดยตรง เหตุใดยังเงียบและลอยตัวอยู่เหนือปัญหา


พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดกองทัพจึงเรียกร้องค่าเสียหายเพียง 683 ล้านบาททั้งที่ซื้อมา 1000 กว่าล้านบาท เป็นเพราะกลัวว่าจะโป๊ะแตก รู้ว่ายอดการ จัดซื้อจีที 200 ต่ำกว่าราคาที่แจ้งไว้หรือไม่

-----------

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเสียงวิพาษ์วิจารณ์ กรณีโฆษกกองทัพบกจะคืนเงินการจ้างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือสวทช. ตรวจเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด หรือ GT200 จำนวน 2-3 ล้านบาททั้งที่มีวงเงินงบประมาณ 7.57 ล้านบาท ว่า ต้องถามกองทัพบก ตนไม่ทราบเรื่อง


ส่วนต้องไปตรวจสอบกับกองทัพบกอย่างเดียวเลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ใช่ ขณะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ควรจะคืนเงินเต็มจำนวนใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ขอให้ถามพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ตนไม่รู้เรื่อง เกิดมาไม่เคยเห็น ยังไม่รู้ว่าระหว่างงัด แงะ หรือผ่าต่างกันอย่างไร



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/2c4GAR-Qxl4

คุณอาจสนใจ

Related News