ช่อง 3 ตามหาผู้ว่าฯ เลือกตั้ง

เช็กวิสัยทัศน์ ตัวเต็งผู้ว่าฯ กทม. พูดถึงปัญหาน้ำท่วม หลังกรุงเทพฯ จมบาดาล

โดย thichaphat_d

19 พ.ค. 2565

102 views

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ถามเมื่อวานฝนตกหนัก แต่ระบบระบายน้ำกลับเป็นอัมพาต! การบริหารของผู้ว่า กทม. ที่ผ่านมาปล่อยให้ระบบการระบายน้ำของกรุงเทพขาดการดูแลแบบนี้ได้อย่างไร


หัวใจของการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพอยู่ที่การจัดสรรงบประมาณ แต่ถ้าเราไปดูตัวเลขงบประมาณ งบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกลับถูกตัดเหี้ยน งบซ่อม/สร้างสถานี-ประตู-บ่อสูบน้ำ โดนตัดไป 5,170 ล้าน เหลือ 136 ล้านงบข้อมูลพยากรณ์อากาศและน้ำท่วม โดนตัดไป 295 ล้าน เหลือ 68 ล้าน งบสร้างแก้มลิง โดนตัดไป 1,463 ล้าน เหลือ 96 ล้าน งบเครื่องสูบน้ำและรถเคลื่อนที่เร็ว โดนตัดไป 1,005 ล้าน เหลือ 0 บาท (ย้ำว่าศูนย์บาท)


ยังไม่รวมงบโครงการพื้นฐานในการลอกท่อลอกคลองที่โดนตัดไป 7,144 ล้าน เหลือ 521 ล้าน ในขณะที่งบสร้างอุโมงค์ยักษ์ 2,000 ล้านที่ไม่ทีการเบิกจ่ายเลยกลับไม่โดนตัดซักบาท ข้อมูลจาก Rocket Media Lab บอกว่า การลอกท่อช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึง พฤษภาคม 2564 ทำได้เพียง 7.51% จากความยาวท่อทั้งหมดในกรุงเทพ แล้วจะไม่ให้น้ำท่วมขังได้ยังไง!


ผู้ว่าต้องจัดสรรงบใหม่และเร่งรัดการลอกท่อลอกคลองทั่วกรุงเทพก่อนฤดูฝนให้ได้ครับ นอกจากนี้ นายวิโรจน์กล่าวต่อไปอีกว่านโยบาย “ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง” จบปัญหาน้ำรอระบาย ปัญหาน้ำท่วมแก้ได้ ไม่ต้องใช้เมกะโปรเจค เพียงแค่ดูแลระบบระบายน้ำทั่วกรุงเทพให้ใช้งานได้จริง


ตลอดเวลาที่ผ่านมา กรุงเทพ จัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่ไม่เอื้อต่อการจัดการปัญหาน้ำท่วมเท่าใดนัก โดยงบขุดลอกคูคลอง บำรุงรักษาสถานีสูบน้ำ ที่จะสามารถช่วยบรรเทาน้ำท่วมได้ในวันนี้กลับได้รับงบน้อยจนไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน ส่วนอุโมงค์ยักษ์ที่ยังไม่สามารถใช้การได้ในเร็ววันนี้กลับได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมาก


ในส่วนการขุดลอกคูคลองที่หากทำได้ดีก็จะสามารถช่วยระบายน้ำได้มากก็มีปัญหาการทุจริต เนื่องจากกรุงเทพ ประเคนงานให้กับเอกชนเพียงไม่กี่ราย เมื่อมีผู้รับเหมาน้อยรายสุดท้ายก็ไม่สามารถขุดลอกคูคลองได้ทัน มากไปกว่านั้นเอกชนที่มาประมูลงานจำนวนมากก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินงานให้แล้วเสร็จด้วยตนเอง แต่เข้ามาประมูลงานเพื่อฟันหัวคิว แล้วไปจ้างช่วงให้บริษัทอื่นมาทำงานต่ออีกที


กรุงเทพ จึงจำเป็นต้องเริ่มการประมูลหาผู้รับเหมาอย่างเป็นธรรม หยุดประเคนงานให้กับผู้รับเหมาเพียงไม่กี่ราย รวมทั้งออกกฎระเบียบห้ามจ้างช่วง หากเอกชนรายใดไม่มีศักยภาพที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วง ก็ห้ามประมูลงานเพื่อไปจ้างช่วงฟันหัวคิว


การเปลี่ยนงบอุโมงค์ยักษ์ 2,000 ล้าน เป็นขยายท่อระบายน้ำ ขุดลอกท่อและคูคลอง เพื่อให้ “น้ำรอการระบาย” ระบายได้เร็วขึ้น เมื่อฝนตกน้ำไม่ท่วมแยกระบบท่อน้ำฝน-ท่อน้ำเสีย เพื่อให้สามารถบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพตั้งศูนย์รวมการจัดการน้ำไว้ที่เดียว (Single Command) เพื่อให้ข้อมูลทันสถานการณ์ การตัดสินใจทำได้รวดเร็วหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมลอกท่อเมื่อฝนตกระดับวิกฤตปรับปรุงสถานีสูบน้ำ โดยเพิ่มระบบสำรองไฟสถานีสูบน้ำที่ต้องใช้ automatic transfer เปลี่ยนเฟสไฟ และใช้ระบบ iot ควบคุมเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ ไม่ต้องรอไขกุญแจ

-----------

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 6 พร้อมผู้สมัครส.ก.กลุ่มรักษ์กรุงเทพ เขตบางคอแหลม หมายลข 5 ลงพื้นที่หาเสียงช่วงเช้าที่ตลาดเสรี เจริญกรุง 109 บริเวณหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยมีประชาชนมาคอยให้กำลังใจมอบดอกไม้ให้ตลอดการลงพื้นที่


จากนั้นพล.ต.อ.อัศวิน ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของกทม.ว่า ต้องมาแก้ไขต่อให้จบ อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าน้ำท่วมในกรุงเทพฯ มีจุดที่ยังมีน้ำท่วมซ้ำซากอยู่ทั้งหมด 24 จุด ตอนเป็นผู้ว่าฯ แก้ปัญหาไปแล้ว 15 จุด ตอนนี้เหลือเพียง 9 จุดเท่านั้น


“ฝนที่ตกลงมาเมื่อคืนนี้หนักมาก ภาพรวมทั่วกรุงเทพฯวัดได้ 132 มิลลิเมตร ถ้าเป็นเมื่อก่อน น้ำท่วมหนักทั่วกรุงเทพฯอย่างแน่นอน แต่ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ระบายได้ใน 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะ 15 จุดเสี่ยงที่แก้ไปแล้ว แต่มีบางจุดที่มีปัญหา เช่น ลาดพร้าว บางซื่อ จุดนี้เป็น 9 จุดที่ต้องแก้ไขปัญหาต่อให้จบ ด้วยการทำแก้มลิง หากโครงการเหล่านี้สามารถทำให้จบได้ คาดว่า 9 จุดนี้จะสามารถแก้ไขได้ถาวรเหมือน 15 จุดที่เราทำได้แล้ว” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

-----------

ด้าน นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่สำรวจบริเวณน้ำท่วมขังภายในซอยรัชดาภิเษก 36 (เสือใหญ่อุทิศ) หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17 พฤษภาคม ต่อเนื่องนับ 10 ชั่วโมง จนเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ


นายสกลธีกล่าวว่า จากการได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ทราบว่าระดับน้ำขังนิ่งมาตั้งแต่ช่วงเช้ามืด จนปัจจุบันยังไม่ลด บวกกับในขณะนี้มีพายุอีกลูกหนึ่งกำลังมาปัญหาคือ ท่อระบายน้ำย่อยในแต่ละซอย ไม่ว่าเป็นรัชดา 32, 34, 36 ระบบท่อยังไม่ได้เปลี่ยนใหม่ให้ใหญ่ขึ้น และถึงแม้จะเปลี่ยน ก็ยังมีปัญหาอยู่ดี


สุดท้ายถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะเร่งทำให้ท่อระบายน้ำในถนนเหล่านี้มีรัศมีกว้างกว่า 60 เซนติเมตร ไม่เช่นนั้น ฝนตกทั้งคืน หรือเต็มที่ 4 ชั่วโมง ก็ไม่มีทางระบายได้ทัน และจากที่พูดคุย พบว่าจุดนี้อาจจะได้ทำแล้วเป็นบางส่วน แต่ภาพรวมของทั้งโซน ยังไม่ได้ทำให้ทั้งหมด อย่างที่เรียน ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เข้าไปเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะต้องเร่งเลยสำหรับการลอกท่อระบายน้ำ และจะต้องทำการยกถนนใหม่ด้วย


จากที่พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ บอกว่าอยู่กันมาเป็น 10 ปี ตกกี่ทีก็ท่วมอยู่ ซึ่งก็เป็นปัญหาเรื่องงบไม่พอ หากเรายังอยู่กับงบเดิมๆ ของ กทม.ที่มันมีเท่าเดิมทุกปี มันก็อยู่ที่เดิม เพราะฉะนั้น ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องหาเงินจากจุดอื่น เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หาเงินไม่พอ ต้องใช้เป็นด้วย ไม่ใช่ไปทำโครงการอะไร 2,000 ล้านบาท ในขณะที่พี่น้องประชาชนที่อยู่ตามตรอกซอกซอยยังเดือดร้อน


อย่างไรก็ตาม หวังว่าสำนักงานเขต และสำนักการระบายน้ำ กทม. จะเร่งระบายน้ำในคลองลาดพร้าว อีกทั้ง ถึงเวลาแล้วที่เครื่องสูบน้ำต่างๆ จะใช้ระบบเอไอ (AI) ในการเปิด-ปิดระบบแบบอัตโนมัติด้วย

-----------

ด้าน นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวานลงพื้นที่หาเสียงที่ตลาดคลองเตย และพูดถึงเรื่องน้ำท่วมว่า การลอกท่อ ลอกคลอง คงไม่เพียงพอ จะต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการน้ำท่วมใหม่ทั้งหมดอย่างจริงจัง ให้เหมือนกับต่างประเทศ ให้ทันยุค ทันสมัย ใช้ความรู้ทางวิศวกรรมเข้ามาแก้ไข


นายสุชัชวีร์ ยังกล่าวถึงสำหรับความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พ.ค. คือ ฝนตกจนมีรถติดอยู่บนท้องถนน 2-3 ชั่วโมง และมีน้ำท่วมขัง สัญจรไปมาไม่สะดวก ว่า รู้สึกแค้นใจว่าความจริงแล้ว ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ได้หนักหนาเท่ากับบ้านอื่นเมืองอื่น แต่เรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร วันนี้เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าเรื่องน้ำท่วมเป็นภัยที่ชี้ชะตาคนกรุงเทพฯในอนาคต หากเราปล่อยเรื่องนี้ไป ตัวเรา ตัวท่านอาจทนได้ แต่ลูกหลานเราจะอยู่อย่างไร

-----------

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่สำรวจน้ำท่วมหลังฝนตกหนักเมื่อวานนี้ทำให้ชุมชนริมคลองบางบัว เขตจตุจักร มีน้ำท่วมขัง ซึ่งทันทีที่นายชัชชาติ ลงพื้นที่ได้สอบถามปัญหา และความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้ผู้ว่าฯ แก้ปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากชุมชนริมคลองบางบัวไม่มีคันกั้นน้ำและเมื่อฝนตกหนัก น้ำท่วมแนวคันน้ำจึงล้นเข้าบ้าน ก่อนหน้านี้ผู้ว่าฯคนอื่นได้บอกว่าจะเข้ามาทำให้ชุมชนน้ำไม่ท่วม ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถทำให้ได้ แต่ชาวบ้านทุกคนเข้าใจว่าเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว ไม่ได้โทษใคร แต่อยากให้ผู้ว่าฯคนใหม่เข้ามาทำตรงนี้ให้ชาวบ้าน


โดยนายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ ว่า ปัญหาคลองบางบัว แนวคันกั้นน้ำทำไม่สำเร็จบางจุด เนื่องจากตอนนี้ผู้รับเหมาหยุดงาน ทิ้งโครงการก่อสร้างไว้กลางทาง จึงทำให้เป็นปัญหา ซึ่งตนเองได้เห็นปัญหานี้แล้ว มองว่าต้องเอาจริงเอาจังทั้งระบบ จุดที่ท่วมซ้ำซากต้องได้รับการดูแลก่อน ต้องเอาจริงเอาจังกับผู้รับเหมาที่ทิ้งงานกลับมาทำเขื่อนให้เสร็จ


นายชัชชาติกล่าวว่า หากชนะการเลือกตั้งจะลงไปดูการจัดสรรงบประมาณ สัญญาโครงการเพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุง อาจจะต้องมีการทำโครงการย่อยให้ดีก่อนที่จะไปโครงการขนาดใหญ่ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญมาประเมิน ขณะเดียวกันใน กทม.มีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากหลายจุด อย่างคลองบางบัว น้ำท่วมคลอง หากสูบน้ำออกจากคลองไปยังอุโมงค์ ก็จะยิ่งดันน้ำเข้าบ้านของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งต้องไปแก้ไขการบริหารจัดการนี้


ส่วนปัญหาบนถนนลาดพร้าว และถนนเส้นอื่นที่มีน้ำท่วม และทำให้การจราจรติดขัดเมื่อช่วงเช้าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหานี้เช่นเดียวกัน และยืนยันว่า ที่มาวันนี้ไม่ได้ต้องการหวังคะแนนขายของช่วงโค้งสุดท้ายของคนกรุงเทพฯให้คนเลือกชัชชาติ แต่มาเพราะเห็นความเดือดร้อน อีกทั้งชุมชนนี้ตนยังไม่เคยลงพื้นที่ เมื่อได้รับข้อมูลจึงรีบวางแผนและลงพื้นที่ทันที และย้ำว่าการเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค.นี้เป็นการตัดสินใจของประชาชนจะเลือกใครมาแก้ปัญหาก็น้อมรับผลการเลือกตั้ง


เมื่อถามว่าน้ำท่วมเป็นปัญหาที่คนกรุงเทพฯ อยากให้ผู้ว่าฯแก้ไข จะรับปัญหาไว้หรือไม่ นายชัชชาติตอบรับ พร้อมกับระบุว่าจะดำเนินการทำแผนที่ความเสี่ยง เพื่อหาแนวทางแก้ไข ตอนนี้จุดใหญ่ๆ สามารถแก้ไขได้ ยังเหลือจุดย่อยที่มีปัญหาอีกมาก ต้องแก้ปัญหาต่อ ส่วนที่แต่ละจุดที่ท่วม ใกล้กับอุโมงค์ระบายน้ำ นายชัชชาติ ย้ำว่า เป็นสิ่งที่เคยพูดมาโดยตลอดว่าต้องแก้ปัญหาเรื่องเส้นเลือดฝอย ต้องพยายามพาน้ำไปถึงอุโมงค์ให้ได้


เมื่อถามว่าน้ำท่วมอาจจะเป็นจุดดึงคะแนนเสียงคนที่ยังไม่ตัดสินใจมาเลือก จะดึงคะแนนอย่างไร นายชัชชาติ ระบุว่า ก็แล้วแต่คนเลือก เพราะปัญหาตรงนี้เป็นในระยะ อยากให้ดูนโยบายยาวๆ ยอมรับว่าเมื่อคืนนี้ฝนตกหนักจริง ถ้าจะบอกว่าตนเป็นผู้ว่าฯ จะไม่มีปัญหาตรงนี้ก็คงไม่จริง ต้องดูนโยบายภาพรวมดีกว่า


ส่วนการแก้ปัญหาฝนตก น้ำท่วม ในฤดูฝน นายชัชชาติ ยอมรับว่ายังไม่ได้วางกรอบเวลาที่จะแก้ปัญหา แต่จะขอไปศึกษาโครงสร้างและการบริหารจัดการทั้งระบบ


“เรื่องด่วน แต่ว่าอาจจะทำให้เสร็จภายใน 100 วัน อะไรแบบนี้ ผมว่าเขื่อน หรือว่าลอกคลองแบบนี้ต้องใช้เวลา แต่ถ้ารู้แนวทางก็ไม่ต้องกลัว เพราะการลงมาสัมผัสปัญหาก็ทำให้เราเห็นเยอะขึ้น ผมมาโลกเปลี่ยนไปนะมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว แล้วตกเป็นหย่อมๆด้วย”


จากนั้นนายชัชชาติได้เดินทักทายชาวบ้านในชุมชน ซึ่งมีบ้านหลังหนึ่งกำลังกวาดน้ำออกจากบ้าน ชาวบ้านบอกนายชัชชาติ ว่า ดีใจที่เห็นผู้สมัครมา จะได้สะท้อนปัญหา เพราะตรงนี้ท่วมมานานแล้ว ได้ใครเป็นผู้ว่าก็ดีหมด แต่อยากให้แก้ปัญหาน้ำท่วมให้

คุณอาจสนใจ

Related News