เลือกตั้งและการเมือง

ปชป.ระส่ำ! ‘จุรินทร์’ สั่ง 16 สส.งูเห่าแจง ปมโหวตสวนมติพรรค หนุน ‘เศรษฐา’

โดย paweena_c

23 ส.ค. 2566

91 views

ปชป.มีร่องรอยแตกร้าว เมื่อ 16 สส.แหกมติพรรค โผล่โหวตให้ ‘เศรษฐา’ ด้าน ‘จุรินทร์’ สั่งทั้งหมดมาชี้แจงในที่ประชุมพรรค

จากการโหวตเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เมื่อวานนี้ (22 ส.ค. 2566) ได้คะแนนเสียงท่วมท้นจากทั้ง สส.และ สว.ถึง 482 เสียง เป็นคะแนนเกินครึ่งมากกว่า 100 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง

ในเสียงเห็นชอบ 482 เสียงนี้ เป็นเสียงจาก สส. 330 เสียง และมี สว.เห็นชอบมากถึง 152 เสียง ในส่วนของเสียง สส.ก็มากกว่าเสียง สส.ของ 11 พรรคร่วมรัฐบาลที่เปิดตัวไปเมื่อวันก่อนที่มีเพียง 314 เสียง ซึ่งชัดเจนว่าเสียงกลุ่มหลักที่เพิ่มมาคือ พรรคประชาธิปัตย์ 16 เสียง

ก่อนโหวตพรรคประชาธิปัตย์มีมติงดออกเสียง แต่ปรากฏว่า สส.ทั้งหมด 25 คน ของพรรค โหวตไปหลายแบบ คือ

เห็นชอบ 16 คน นำโดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา ที่ส่วนใหญ่มาขอโหวตในภายหลังการขานชื่อในรอบแรก ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีการดีลเข้าร่วมรัฐบาลในนาทีสุดท้าย

ไม่เห็นชอบ 2 คน คือ นายชวน หลีกภัย และ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สองอดีตหัวหน้าพรรค ซึ่งชี้แจงว่า นายชวนขออนุญาตจากที่ประชุมพรรคแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยต่อสู้กันอย่างดุเดือดมาตลอดในพื้นที่ภาคใต้

งดออกเสียงตามมติพรรค 6 คน นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รักษาการหัวหน้าพรรค

และไม่มาโหวต 1 คน คือ นายราชิต สุดพุ่ม ซึ่งมีรายงานว่าลาป่วย

นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง 16 สส.ปชป.โหวตสวนมติพรรค ว่า สั่งให้ชี้แจงในที่ประชุมพรรคครั้งหน้าแล้ว และถ้ามีสมาชิกพรรคเข้าชื่อร้องให้ตรวจสอบ หรือสอบสวนตามข้อบังคับพรรค ก็จะดำเนินการทันที

นาย จุรินทร์ ยังกล่าวว่า 16 สส.ไม่ได้แจ้งเหตุผลในการโหวตสวน และก็ไม่ทราบ ในฐานะรักษาการหัวหน้าปชป. ยืนยันคำเดิมว่า ไม่เคยมอบหมายให้ใครไปคุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลทั้งสิ้น ส่วนนายชวนที่โหวตไม่เห็นชอบนั้น ท่านได้ขออนุญาตต่อที่ประชุมแล้วว่าจะขอโหวตไม่รับและไม่เห็นชอบ ซึ่งที่ประชุมไม่มีใครขัดข้อง

และเมื่อถามว่า 16 สส.ที่ยกมือโหวตให้ต้องการเข้าร่วมรัฐบาลหรือแค่ต้องการโหวตนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ กล่าวว่า ต้องไปถามคนที่ไปโหวต แต่ สส.ที่โหวตจะต้องไปชี้แจงในที่ประชุมพรรคด้วย ถ้าหากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ก็ต้องไปชี้แจงกับกรรมการฯ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ขอเรียนคือพรรคประชาธิปัตย์มีศักดิ์ศรี เราเคยเป็นทั้งรัฐบาลและเป็นทั้งฝ่ายค้าน สามารถทำหน้าที่ได้หมดไม่มีปัญหา แต่เราไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ และเราต้องชัดเจนในเรื่องนี้

เมื่อถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ฟื้นฟูยากหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องอนาคต ในสถานการณ์นี้ ก็ต้องดำเนินการในสิ่งที่เราคิดว่าดีสำหรับพรรค ซึ่งคิดว่า ยืนอยู่จุดนี้ คิดว่าชัดเจน

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า กรณีที่ สส. 16 คน โหวตสวนมติพรรค เรื่องนี้นายจุรินทร์จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการตั้งบุคคลไปเจรจาร่วมรัฐบาล หากจะร่วมก็จะต้องทำหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ จากพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะขณะนี้ตามระบบพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านไปแล้ว เพราะรัฐบาลได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรคไปเป็นที่เรียบร้อย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่โหวตเห็นชอบนายเศรษฐา เป็นนายกฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ นายสาธิต กล่าวว่า ในข้อบังคับพรรคมีเขียนระบุไว้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นผู้ทำอะไรอย่างไร เมื่อเห็นว่าความประพฤติของสมาชิกบางท่าน เช่น เดินทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตร แต่ที่ปฏิเสธในตอนแรกว่าไม่ได้ไปและยอมรับในรายการทีวีว่าเดินทางไปจริง ถือว่าทำให้พรรคเสียหาย พฤติการณ์แบบนี้เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามจริยธรรม

นายสาธิต กล่าวว่า การโหวตนายกฯ เป็นเอกสิทธิ์ของ สส.ตามรัฐธรรมนูญ แต่มติของพรรคก็ถือว่ามีความสำคัญ พร้อมกล่าวในฐานะที่เป็นหนึ่งในคนที่ไม่เห็นด้วยกับ 16 สส. ว่า มีคนเข้าชื่อเกิน 20 คนแล้ว เพราะเห็นว่านำ สส.ใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ไปร่วมด้วยจะมีปัญหา จึงต้องดำเนินการ และมีข้อมูลอยู่แล้วว่าใครเป็นแกนนำ ทั้งเรื่องของการปฎิบัติตัวให้เกิดความเสื่อมเสียและการพูดจากลับไปกลับมา การปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับมอบหมาย

นายสาธิต กล่าวอีกว่า 16 สส.ที่โหวตเห็นชอบนายเศรษฐา ถือว่าเข้าร่วมรัฐบาลแล้วหรือไม่ ยืนยันว่าจะต้องเป็นไปตามกระบวนการ ต้องผ่านที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคร่วมกับ สส. เพราะเมื่อวานนี้ เป็นการโหวตนายกฯ แต่มติในการเข้าร่วมรัฐบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทุกคนเข้าใจถึงข้อบังคับดี

เมื่อถามว่าสรุปแล้วมติพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นเอกสิทธิ์หรืองดออกเสียง นายสาธิต กล่าวว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ แต่ในขั้นตอนของพรรคเมื่อมีการประชุมและเป็น มติ สส. ก็ควรจะปฏิบัติตาม ถ้าถามว่าผิดหรือไม่ ก็ไม่ผิดเพราะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด แต่การกระทำที่เมื่อมีการประชุมแล้ว กลับไปลงมติอีกอย่าง ก็สร้างความแตกแยกและความเสียหายต่อพรรค ส่วนจะถึงขั้นขับออกจากพรรคหรือไม่ ก็พิจารณาตามความหนักเบา แต่ส่วนตัวมองว่า หนักมาก



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/wCiqD34LrCk

คุณอาจสนใจ

Related News